icon
giftClose
profile

ถามนักเรียนยังไง ให้เกิดประโยชน์จริงๆ

13222
ภาพประกอบไอเดีย ถามนักเรียนยังไง ให้เกิดประโยชน์จริงๆ

เครื่องมือที่จะช่วยให้คุณครูพัฒนา 3C ที่เป็นทักษะสำคัญในศตวรรษที่ 21 ให้แก่นักเรียน อันได้แก่ ทักษะการคิดแบบมีวิจารณญาณ (critical thinking) ทักษะการสื่อสารเพื่อลดความขัดแย้ง (communication) และทักษะความคิดสร้างสรรค์ (creativity)

5 กลุ่มคำถามชวนคิด หรือ Socratic Questioning 

หลังจากที่ครูทิ้งและครูบอส ได้อบรม ‘5 กลุ่มคำถามชวนคิด (Five Groups of Questioning หรือ Socratic Questioning) ’กับ ผศ.นพ.ชัยชนะ นิ่มนวล ก็รู้สึกประทับใจและอยากจะเผยแพร่ต่อ โดยหวังลึกๆว่า เครื่องมือนี้จะเป็นประโยชน์ต่อครู ท่านอื่นๆ ไม่มากก็น้อย 


ประโยชน์ของการใช้ Socratic Questioning

คุณครูสามารถใช้เป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้ครูพัฒนาทักษะ 3C ที่เป็นทักษะสำคัญในศตวรรษที่ 21 ให้แก่นักเรียน อันได้แก่ ทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ (critical thinking) ทักษะการสื่อสารเพื่อลดความขัดแย้ง (communication) และทักษะความคิดสร้างสรรค์ (creativity) 


การตั้งคำถามที่ดี

ก่อนจะไปทำความรู้จัก Socratic Questioning เราควรทำความเข้าใจก่อนว่า “การตั้งคำถามที่ดีนั้นเป็นเช่นไร”

1.ต้องมีความหลากหลาย เช่น ไม่ถามถึงเหตุผล หรือให้ตัวเลือก อย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียว

 คำถามที่หลากหลายจะกระตุ้นให้ผู้ที่ถูกถามได้คิดในหลายๆแง่มุม

2. คำถามแต่ละข้อควรมีความสอดคล้องกัน 

3. พยายามอย่าให้เกิดเดดแอร์ระหว่างสนทนา แต่ก็ควรเว้นระยะเวลาให้ผู้ที่ถูกถามได้คิดก่อนตอบ

4. การใช้ภาษาควรคำนึงถึงบริบทของผู้ที่ถูกถาม เช่น หากถามนักเรียนควรใช้ภาษาง่ายๆในการถามแทนใช้ศัพท์ที่เข้าใจยาก 

5. หลีกเลี่ยงการใช้คำถามชี้นำหรือคาดเดาได้ง่าย (แต่ในกรณีที่นักเรียนไม่ตอบ ครูสามารถชี้นำให้เกิดหลายตัวเลือกแทน อย่างน้อยนักเรียนจะได้ทักษะการฝึกคิดอย่างมีวิจารณญาณ)


5 กลุ่มคำถามชวนคิดมีอะไรบ้าง

1.Selection : การเลือกประเด็น 

โดยการถามถึงแหล่งที่มา และความสำคัญ เป็นการกระตุ้นให้ตรวจสอบที่มาที่ไปของประเด็นที่นักเรียนสนใจ และตระหนักถึงเป้าหมาย หรือ ทิศทางของสิ่งที่ต้องการเรียนรู้ ตัวอย่างคำถามเช่น 

  • นักเรียนคิดว่าเรื่องนี้สำคัญยังไง
  • ทำไมนักเรียนถึงเลือกทำหัวข้อนี้
  • นักเรียนได้คำถามนี้มาจากไหน
  • นักเรียนคิดว่าประเด็นนี้น่าสนใจอย่างไร


2. Clarification : ทำให้ประเด็นกระจ่าง 

โดยการทวนความ ยกตัวอย่าง หรือแยกแยะ เป็นการทำให้คำหรือประเด็นที่คลุมเครือ ชัดเจนขึ้น ช่วยให้เข้าใจตรงกันในขั้นต้น ก่อนจะอภิปรายลึกซึ้งต่อไป ตัวอย่างคำถาม เช่น

  • นักเรียนหมายความว่าอย่างไรที่ว่า……
  • นักเรียนลองอธิบายเพิ่มเติมคำนี้ หน่อยสิคะ
  • นักเรียนลองยกตัวอย่าง…
  • นักเรียนว่ามันต่างจากอันอื่นอย่างไร

3. Testing : ทดสอบความน่าเชื่อถือ

โดยการถามหาหลักฐาน ใช้เหตุผลสนับสนุน ใช้ตัวอย่างแย้ง เป็นการกระตุ้นให้ผู้ที่ถูกถาม สงสัยในความเชื่อเบื้องต้นของตน ซึ่งจะช่วยพัฒนาการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ตัวอย่างคำถาม เช่น

  • มีหลักฐานอะไรที่สนับสนุนว่า….
  • อะไรที่ทำให้นักเรียนเชื่อว่า....
  • นักเรียนทราบได้อย่างไรว่า….
  • เราจะทดสอบกันอย่างไรดีว่า….

4.Alternatives : ประเด็นทางเลือก

โดยการถามถึงทางหรือมุมมองอื่นๆ หรือ เสนอทางเปรียบเทียบ เป็นการขยายความคิดให้หลากหลายมากขึ้น ช่วยจะช่วยพัฒนาความคิดสร้างสรรค์และนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจ ตัวอย่างคำถาม เช่น

  • ถ้าไม่ใช่ x นักเรียนคิดว่าจะเป็นอะไรได้อีกบ้าง
  • คนอื่นจะมีความเชื่อต่างไปยังไงได้บ้าง
  • มีอะไรที่ทำให้นักเรียนเปลี่ยนความเชื่อได้บ้าง

5. Implication or Consequence : ความนัย, ผลที่เป็นไปได้ 

โดยการถามถึงผล หรือนัย หรือข้อสรุป เป็นการพิจารณาผลที่เป็นไปได้จากความเชื่อ ว่าจะมีอะไรได้บ้าง ช่วยให้คิดถึงความเป็นไปได้ในการนำสิ่งที่คิดไปประยุกต์ใช้ ตัวอย่างคำถามเช่น

  • ถ้าเป็นอย่างนั้นจะ เกิดอะไรขึ้น
  • จะมีผลกระทบต่อนักเรียน/สังคม แค่ไหน
  • นักเรียนจะสรุปเป็นหลักการ หรือแนวทางได้ยังไงบ้าง
  • คิดว่าโอกาสจะเป็นเช่นนั้นจริงมากแค่ไหน ยังไง

*ลำดับการถาม ไม่จำเป็นต้องเรียง 1-5 สามารถเลือกใช้ได้ตามความเหมาะสม แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเริ่มต้นด้วยกลุ่มคำถามที่ 1 (Selection) และจบด้วยกลุ่มคำถามที่ 5 (Implication)


ข้อพึงระวังในการใช้

1.ต้องตระหนักถึงความสัมพันธ์ของผู้ถามและผู้ตอบ เพราะการถามแบบ Socratic Queationing นั่นค่อนข้างจุกจิกและละเอียด ดังนั้นถ้าความสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่ายไม่ดี การถามแบบนี้ อาจจะทำให้ผู้ตอบรู้สึกไม่ดี หรือเป็นการถามกวนใจ

2.ควรเลือกใช้ให้ถูกสถานการณ์ ดูว่าเวลานี้เหมาะแก่การให้นักเรียนฝึกคิดไหม 

3.ผู้ถามควรเป็นผู้ฟังที่ดี และต้องไม่ตัดสินคำตอบของผู้ตอบ 


การตั้งคำถามแบบ Socratic Questioning ไม่ใช่เรื่องง่ายทั้งผู้ถามและผู้ตอบ แต่ผู้เขียนเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า หากผู้ถาม(ครู)เข้าใจเครื่องมือนี้และนำไปใช้งานในห้องเรียนกับผู้ตอบ(นักเรียน)อย่างสม่ำเสมอ 3 ทักษะที่เกริ่นไปข้างต้นของนักเรียนจะพัฒนาอย่างเห็นได้ชัดแน่นอน 


ขอบคุณครูทิ้งและครูบอส ครูในโครงการ Teach for Thailand รุ่น 7 ที่แบ่งปันความรู้เครื่องมือนี้

และผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเครื่องมือนี้จะช่วยให้คุณครูคิดคำถามได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อประโยชน์ของนักเรียนอย่างแท้จริง

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(2)
เก็บไว้อ่าน
(5)