คุณครูจะสามารถสร้างเส้นทางการเรียนรู้ของนักเรียนได้อย่างไร? วันนี้จึงอยากชวนทุกคนมารู้จักเครื่องมือที่จะกลายเป็นผู้ช่วยคนสำคัญของคุณครูในการออกแบบเส้นทางการเรียนรู้ เพื่อเปลี่ยนให้ดวงตาทุกคู่ให้เปล่งประกาย
ครูเมย์ สุวรัตน์ บุญยะรัตพันธ์ ชวนมาแบ่งปันเครื่องมือ Learning Curve (เส้นทางการเรียนรู้) ที่ได้เรียนรู้จากมูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) ตัวช่วยสำหรับคุณครูเพื่อออกแบบการเรียนรู้ที่มีความหมายและเต็มไปด้วยความเป็นไปได้
1. Intro เรียกความพร้อม
ขั้นแรก คือ การนำนักเรียนเข้าสู่บทเรียน ซึ่งเป็นการ “กระตุ้น” ให้นักเรียนอยากเรียนรู้และตื่นตัว ผ่านกิจกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น เกมดึงความสนใจ เพื่อเรียกสติและรวมพลังการเรียนรู้มาอยู่กับปัจจุบัน
2. Stimulate แหย่ให้อยากรู้
คุณครูจะสอนอะไรนะ?
ขั้นนี้จะเป็นการออกแบบ “กิจกรรม” ที่เชื่อมโยงกับเนื้อหาที่จะสอน เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเชื่อมโยงการเรียนรู้ได้ง่ายขึ้น ตัวอย่างกิจกรรมจากครูเมย์ สมมุติว่าในคาบนั้นจะสอนเรื่อง past simple tense คุณครูอาจจะถามนักเรียนด้วยคำถามปลายเปิดว่า เมื่อเช้านี้ทานอะไรมา เพื่อให้นักเรียนได้ลองตอบสิ่งที่ทำไปแล้วด้วย past simple tense นั่นเอง
3. Learn เรียนรู้จากประสบการณ์
การเรียนรู้จากประสบการณ์ คือ การให้นักเรียนลงมือทำด้วยตัวเอง เพื่อเอื้อให้พวกเขาเกิดกระบวนการเรียนรู้ผ่านการคิด การสังเกต จากการลงมือทำ
ในขั้นกระบวนการสร้างการเรียนรู้นี้ ถึงเป็นหัวใจสำคัญที่สุดในขั้นตอนทั้งหมด เพราะในส่วนนี้นักเรียนจะได้ลงมือทำ โดยคุณครูอาจจะออกแบบมาในรูปแบบเกมผสมผสานกับเนื้อหา หรือจะเน้นการทำโจทย์ เพื่อให้นักเรียนได้ฝึกการคิดและการสังเกต ก็ถือเป็นกระบวนการเรียนรู้ได้แล้ว
เมื่อผู้เรียนได้ลงมือทำก็สามารถสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ได้มากกว่า - ครูเมย์ คุณครูประจำวิชาภาษาอังกฤษ
4. Conclusion ทวน/ถอดบทเรียนร่วมกัน
ถอดบทเรียน หรือ การสรุปการเรียนรู้ คือ การชวนผู้เรียนสะท้อนคิด, การเช็คความเข้าใจ (CFU) ผ่านการทำแบบฝึกหัด, สุ่มถาม หรือ บททดสอบหลังเรียน (test) เป็นต้น
ปลายทางของขั้นตอนนี้ ก็เพื่อวัดและประเมินว่านักเรียนเรียนรู้อะไรบ้าง และมีความเข้าใจมากน้อยเพียงไร
5. Apply ชวนให้ปรับใช้ในชีวิตประจำวัน
หลังจากเช็คความเข้าใจในขั้นก่อนหน้า ก็ถึงเวลานำไปใช้จริง
ขั้นนี้คือการที่ผู้นักเรียนสามารถนำความรู้ที่ได้เรียนรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ ซึ่งคุณครูอาจจะมอบหมายงาน (assignment) บางอย่าง เพื่อเป็นการทดสอบว่าสิ่งที่นักเรียนได้เรียนรู้มาพวกเขาสามารถประยุกต์ใช้สิ่งนั้นได้ในชีวิตจริง
ครูเมย์ยกตัวอย่างเรื่องการใช้ past simple tense ว่าในขั้นนี้สามารถทดสอบได้โดยให้นักเรียนลองเล่าประสบการณ์/กิจวัตรประจำวันที่พวกเขาทำในรูปอดีต เพื่อดูว่าพวกเขาสามารถสร้างประโยคได้หรือไม่
การนำไปใช้ สำหรับเมย์มันมากกว่าการสอบแล้ว เพราะมันสำคัญที่ว่าพวกเขาสามารถนำความรู้ไปใช้ในอนาคตข้างหน้าได้อย่างไร - ครูเมย์ สุวรัตน์ บุญยะรัตพันธ์
ขอบคุณไอเดีย Learning Curve เส้นทางการเรียนรู้สู่ความเป็นไปได้ ที่จะค่อย ๆ พาให้ลูกศิษย์ให้ได้ลองคิด ลงมือทำ เพื่อตามหาความหมายและพิชิตการเรียนรู้ด้วยตัวเอง เพื่อค้นพบความเป็นไปได้บนเส้นทางการเรียนรู้ที่มีครูและศิษย์เดินทางไปด้วยกัน
คอลัมนิสต์ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกเส้นทางการเรียนรู้นะคะ
คุณครูเจ้าของไอเดีย: สุวรัตน์ บุญยะรัตพันธ์ (ครูเมย์) คุณครูประจำวิชาภาษาอังกฤษ โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้ถ่ายทอดเรื่องราว: ศิริลักษณ์ สุทธิช่วย (ครูเท็น)
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย
ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!