inskru
gift-close

เดี๋ยวเรียน...เดี๋ยวเล่น...จนเป็นเรื่อง(ดี ๆ..)

1
0
ภาพประกอบไอเดีย เดี๋ยวเรียน...เดี๋ยวเล่น...จนเป็นเรื่อง(ดี ๆ..)

เด็กไทยไม่ชอบเรียนคณิตศาสตร์ เป็นปัญหาคลาสสิคมาทุกยุคสมัย แต่ที่ห้องเรียนคณิตฯ ชั้น ม.1 ของครูน้ำฝน กลับเป็นห้องเรียนสนุกสนาน ที่ทั้งครูและเด็กชวนกันมาเรียน ๆ เล่น ๆ จนทำให้คณิตศาสตร์ไม่น่าเบื่ออีกต่อไป

มีเหตุผลมากมายที่เด็กไทยไม่ชอบเรียนคณิตศาสตร์

...ภาษาคณิตศาสตร์เหมือนภาษาต่างดาว ที่อ่านแล้วไม่เข้าใจเลย

...ทำไมต้องท่องจำสูตรและสมการตั้งมากมาย แล้วได้ประโยชน์อะไร เพราะกดเครื่องคิดเลขหรือมือถือเอาก็ได้

...เป็นวิชาที่การบ้านเยอะสุด ๆ

...และที่สำคัญคือ ครูคณิตศาสตร์นี่ช่างน่าเบื่อจังเลย


แต่รับรองว่าเรื่องพวกนี้ จะไม่เกิดขึ้นในห้องเรียนคณิตฯ ของครูน้ำฝน โยศรีธา อย่างแน่นอน


ครูน้ำฝน สอนคณิตศาสตร์ ชั้น ม.ๅ ที่โรงเรียนมัธยมวัดหนองแขม กรุงเทพฯ และสอนวิชา IS (Independent Study) ในสาระวิชาคณิตศาสตร์ ชั้น ม.2 ควบคู่ไปด้วย ซึ่งเจ้า IS นี่ มีหลักสำคัญ 4 เรื่อง คือ มุ่งเน้นให้นักเรียนเกิดกระบวนการที่สามารถคิดวิเคราะห์ ตั้งประเด็นปัญหา วิจัยเพื่อหาคำตอบ และรายงานผลการศึกษาด้วยตัวเอง แม้เป็นหลักการที่ฟังดูดีและยิ่งใหญ่ แต่ทำให้ทั้งครูและนักเรียนต่างพากันปวดหัวและกุมขมับไปตาม ๆ กัน


        ครูน้ำฝน และเพื่อนครู ได้ลองนำกิจกรรมและเกมที่หลากหลาย มาใช้ร่วมกับการสอนในชั้นเรียน IS เพื่อให้เด็กได้มีโอกาสขยับเคลื่อนไหวร่างกาย ผ่อนคลายความเครียดจากแรงกดดันในวิชาเรียน จนเมื่อเวลาผ่านไปสักระยะ ก็พบว่าบรรยากาศในชั้นเรียนดีขึ้น เด็ก ๆ สนุก มีความสุข ให้ความร่วมมือ ร่วมคิด ร่วมทำ และมีความกล้าที่จะสื่อสารกับครูเป็นอย่างดี ซึ่งผลสำเร็จที่เกิดขึ้น ครูน้ำฝนจึงนำกิจกรรมและเกม มาใช้ในชั้นเรียนของเด็ก ม.1 บ้าง เป็นการเตรียมความพร้อมให้น้อง ม.1 ที่จะต้องไปเรียน IS แบบพี่ ม.2 ในปีถัดไป


ตัวอย่างเกมที่ใช้ในชั้นเรียน

        ด้วยธรรมชาติของเด็ก ที่จะกลัวครูสุ่มเรียกชื่อหรือเลขที่มาตอบคำถาม บางครั้งถึงขนาดนั่งก้มหน้าไม่ยอมสบตาครูตลอดคาบ ครูน้ำฝนจึงต้องหาเกมสนุก ๆ มาทำกระบวนการละลายพฤติกรรมเด็ก ๆ

        -วันนี้ครูมีโจทย์ง่าย ๆ ที่เชื่อว่าทุกคนทำได้ ดังนั้น ครูจะหา “คนดวงดี” มาตอบคำถาม....

....ให้ทุกคนชูนิ้วทั้งสิบขึ้นมา เมื่อนับ 1-3 ให้ดูว่าครูทำท่าอะไร ใครทำตามได้ถูกต้องก็คือคนดวงดี ต้องเป็นตัวแทนเพื่อนมาตอบคำถามจ้า


-แต่ถ้าวันไหนต้องทำโจทย์ที่ยาก ๆ วันนั้นครูก็จะหา “คนดวงซวย”     

         ...หยิบแบงก์ขึ้นมาคนละ 1 ใบ แล้วครูจะสุ่มตัวเลข ใครมีตัวเลขที่ตรงกับครูจะต้องออกมาทำโจทย์นะคะ

         ตอนแรกก็ยังมึน ๆ งง ๆ กันไปบ้าง แต่เมื่อทำซ้ำไปเรื่อย ๆ เด็กก็เริ่มสนุก แล้วรอลุ้นว่าคาบนี้ครูจะทำท่านิ้วมือแบบไหน หรือจะหยิบแบงก์อะไรขึ้นมา


...ความกระตือรือร้นที่ต้องการมีส่วนร่วม จึงมีอิทธิพลเหนือความกลัวว่าจะตอบโจทย์ไม่ได้... เพราะในชั้นเรียนของครูน้ำฝน เมื่อตอบถูกก็จะได้รับความชื่นชมในความตั้งใจ แต่ถ้าตอบผิดก็ยังมีคำชื่นชมในความกล้าหาญ ก่อนที่เพื่อน ๆ ก็จะเข้าช่วยกันหาคำตอบที่ถูกต้องสำหรับโจทย์ข้อนั้น

ทำให้เห็นว่า การเล่นเกมสนุก ๆ ก็ยังช่วยให้เด็ก ๆ ก้าวผ่านความหว่ดกลัวไปได้อย่างมีนัยยะ


         แต่ก็มีบ้างที่เด็กบางคนไม่ร่วมมือ ต่อต้าน หรือแกล้งลองของ ...เช่น บอกว่าวันนี้ผมไม่มีตังค์จะมาทายตัวเลขกับครูนะ แต่จริง ๆ นั้นก็รู้ว่ามีอยู่...ซึ่งครูน้ำฝนก็ไม่ปล่อยผ่านไปง่าย ๆ แต่จะใช้วิธีให้เด็กกำหนดตัวเลขไว้ในใจ เพื่อเป็นเครื่องมือทดแทนให่นำเข้ากระบวนการเล่นเกมร่วมกับเพื่อน ๆ ต่อไป ซึ่งเป็นการปลูกฝังเรื่องซื่อสัตย์เพิ่มลงไปอีกด้วย ...จริง ๆ แล้วเด็กที่อยากต่อต้านก็มีบ้าง แต่เมื่อเขาเห็นว่าเพื่อนส่วนใหญ่ในห้องสนุก เขาก็จะซึมซับความรู้สึกนั้น และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปในตัว


         มีบางครั้งที่สังเกตเห็นว่านักเรียนไม่อยากเล่นเกมของครู ครูก็เปิดโอกาสให้เด็กสลับบทบาทขึ้นมาทำหน้าที่ผู้นำกิจกรรมแทนได้ ซึ่งเด็กคนนั้นอาจไม่ได้เตรียมตัว ก็มาคิดเกมกันสด ๆ ตอนนั้นเลย บางครั้งพอเล่นแล้วก็หาทางจบไม่ลงอยู่บ้าง หรืออธิบายไม่ถูกว่าเกมนี้จะนำไปสู่การเรียนรู้เรื่องอะไร แต่ครูคิดว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะอย่างน้อยเขาก็เริ่มต้นที่คิดจะทำ....  


         ครูน้ำฝนบอกต่ออีกว่า บางครั้งก็ให้เด็ก ๆ สลับบทบาทมาเป็นครูดูบ้าง ด้วยการให้เด็กจับคู่กัน แล้วไปช่วยกันคิดโจทย์แทนครู นำมาสลับกันถาม พร้อมวิธีการหาคำตอบร่วมกับเพื่อน ๆ


         เมื่อห้องเรียนคณิตศาสตร์ชั้น ม.1 เปลี่ยนโฉมหน้าไป การเรียนที่ควรเป็นสาระกลับมีการเล่นเกม ร้องเพลง หรือลงมาวิ่งไล่กันที่สนาม คำถามที่ตามมาก็คือ จะแน่ใจได้อย่างไรว่าการสอนแบบนี้จะได้ผลดี


ซึ่งครูน้ำฝนเองก็ได้น้อมรับความเห็นเหล่านั้น นำมาใช้ปรับปรุงการทำงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเบื้องหลังกว่าที่จะได้เกมหรือกิจกรรมเหล่านี้มาใช้งาน ต้องผ่านกระบวนการค้นหา ค้นคว้า จากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ นำมาวิเคราะห์และทดลองใช้ เพื่อหาคำตอบและชี้วัดได้ว่า แต่ละกิจกรรมหรือเกมที่เลือกมานั้น จะนำไปสู่การบรรลุตามเป้าหมาย วัตถุประสงค์ และเกิดผลสัมฤทธิ์ที่พึงประสงค์ตามหลักการของสาระวิชาคณิตศาสตร์ และจะพัฒนาผู้เรียนได้อย่างไร

  

         เมื่อการเรียนการสอนดำเนินไปจนครบกระบวน ผลสัมฤทธิ์ที่เห็นได้ชัดคือ นักเรียนมีพัฒนาการความกล้าแสดงออกในเชิงสร้างสรรค์ที่มากขึ้น ผลการเรียนดีขึ้น และวัดจากพฤติกรรมของเด็ก เช่น ทำการบ้านส่งสม่ำเสมอ มีความประพฤติที่ดี และเกิดทักษะชีวิตที่ดีอย่างเหมาะสม...


         และหลังจากนี้ วิชาคณิตศาสตร์ ก็จะไม่น่าเบื่ออีกต่อไป...

 


เล่าเรื่องของโอโซน (แถยท้ายจากครูน้ำฝน)

         น้องโอโซน เป็นเด็ก ม.1 ที่เก่งการคิดคำนวณ แก้โจทย์ยาก ๆ ได้ดี และขยันทำการบ้านมาก แต่โอโซนเป็นคนมีโลกส่วนตัวสูง จนไม่กล้าสื่อสารหรือแสดงออกกับเพื่อน ๆ ครูน้ำฝนจึงคิดแก้ปัญหา โดยตั้งโจทย์ขึ้นมาข้อหนึ่ง แล้วบอกกับโอโซนว่า ...ครูอยากให้หนูทำโจทย์ข้อนี้ ถ้าโอโซนสามารถอธิบายวิธีทำให้เพื่อน ๆ เข้าใจได้ ครูจะมีคะแนนพิเศษให้กับเพื่อนหมดทั้งห้องเลย ...

ตอนนั้น โอโซนมองหน้าครูอยู่ครู่หนึ่งอย่างรู้สึกกดดัง ก่อนตัดสินใจลุกขึ้นมาทำโจทย์ที่บนกระดานหน้าห้อง...

เสียงปรบมือที่ได้รับจากเพื่อน ๆ ในวันนั้น เป็นเหมือนการปลดปล่อยความกลัวในใจ เพราะหลังจากวันนั้น โอโซนก็เริ่มเข้าร่วมกิจกรรมมากขึ้น ร้องเพลง เล่นเกมกับเพื่อนด้วยเสียงหัวเราะที่สดใส กล้าลุกออกมาแสดงวิธีทำโจทย์ที่หน้าชั้นโดยไม่จำเป็นต้องมีเงื่อนไขหรือคะแนนพิเศษใด ๆ นั่นเพราะความมั่นใจและภูมิใจที่ที่ได้รับการยอมรับจากเพื่อน ๆ นั่นเอง...  

คณิตศาสตร์เกมและกิจกรรมมัธยมต้นทักษะความคิดสร้างสรรค์ทักษะการร่วมมือcolumnist club

ไอเดียนี้เป็นไงบ้าง?

1
ได้แรงบันดาลใจ
0
ลงไอเดียอีกน้า~
แบ่งปันโดย
Nakarin Arsawai
หลงรักการเดินทาง ชอบถ่ายรูป แสวงหาของอร่อย และพบปะผู้คนเพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ

อยากร่วมแลกเปลี่ยน?

please login

แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru

เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย

icon-please-commentมาเป็นคนแรกที่แลกเปลี่ยนสิ!
credit idea

ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!

ไอเดียน่าอ่านต่อ