icon
giftClose
profile

แผนการสอนหน้าเดียว เฟี้ยวกว่าแผนการส่งเล่มหนา?

1277713

ในฐานะครู เราต่างทราบดีว่า "แผนการสอนถือเป็นหัวใจสำคัญในการจัดการเรียนรู้ และเป็นตัวช่วยสำคัญที่จะทำให้ครูมีแนวทางในการสอนนักเรียน" จึงอยากตั้งคำถามกับทุกท่านว่า คุณภาพของแผนการจัดการเรียนรู้ควรวัดจากความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในการนำแผนไปใช้จริงโดยครู หรือวัดจากความหนาของเล่มและความสวยงามของหน้าปก

สวัสดีผู้อ่านทุกท่านครับ ผมครูตะวัน แสงทอง หรือครูโทนี่ สอนวิชาภาษาอังกฤษ หลายท่านคงได้อ่านไอเดียแรกที่ผมได้แบ่งปันไว้บน Inskru กันแล้วนะครับ หัวข้อ "การจัดการเรียนการสอนออนไลน์ ด้วยกระบวนการ PWCAFE” bit.ly/3uMlcfH เชื่อว่าหลายท่านคงได้รับประโยชน์ไม่มากก็น้อยนะครับ

ปัจจุบันผมเป็นข้าราชการครูมาได้ 4 ปี 5 เดือนแล้วครับ เห็นว่าช่วงนี้มีการพูดถึงแผนหน้าเดียวกันเยอะมาก จึงเกิดไอเดียที่จะทำให้ทุกท่านเห็นความเป็นไปได้ของแผนหน้าเดียว และจะเล่าถึงแรงบันดาลใจที่มาจากความสุขที่เกิดขึ้นจากการเขียนแผนการจัดการเรียนรู้ (Lesson Plan) ใช่ครับ ฟังไม่ผิดครับ "ความสุขที่เกิดขึ้นจากการเขียนแผนการจัดการเรียนรู้" แรงบันดาลใจนี้ผมได้รับมาจากการเข้าร่วมการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาครูภาษาอังกฤษ (Boot Camp) ซึ่งจัดขึ้นโดย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยมีอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษจาก British Council มาเป็นวิทยากร โดยผมได้รับเกียรติเป็นประธานรุ่นที่ 11

หลายท่านคงสงสัยว่า "การเขียนแผนการสอนจะมีความสุขได้อย่างไร" อยากเรียนทุกท่านจากหัวใจว่า "มีความสุขจริง ๆ ครับ" เนื่องจากไอเดียการเขียนแผนที่ผมจะพูดต่อไปนี้มันเกิดจาก ความคิดของครูและการกำหนดขีดความสามารถของครูในการจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับจุดประสงค์การเรียนรู้ของผู้เรียน "ไม่มีองค์ประกอบที่ซับซ้อน ไม่ต้องเขียนเยอะแยะมากมาย ไม่ต้องทำเล่มให้หนา และไม่ต้องทำปกให้สวยเลิศเลอ"

ระหว่างที่กำลังอ่าน ผมอยากให้ทุกท่านดูภาพประกอบไปด้วย เพื่อความเข้าใจที่ชัดเจนมากขึ้นครับ

แผนการจัดการเรียนรู้ที่ผมได้รับแรงบันดาลใจมาจาก Boot Camp โดยวิทยากรจาก British Council ประกอบไปด้วย

  1. Objective(s) (จุดประสงค์) โดยการเขียนจุดประสงค์ในการจัดการเรียนรู้ เพื่อเป็นเข็มทิศว่านักเรียนจะได้เรียนรู้อะไร เกิดทักษะอะไร และมีทัศนคติอย่างไร
  2. ตารางแผนการสอน (ตามภาพ) ซึ่งประกอบด้วย
  • Stage (ขั้นของการสอน)
  • Timing (ระยะเวลา)
  • Interaction (ปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับผู้เรียน ผู้เรียนกับครู และผู้เรียนกับผู้เรียน)
  • Procedure (วิธีการ/กระบวนการจัดการเรียนรู้)

(จาก British Council มีแค่สองข้อเท่านั้นครับ)

ต่อไปเป็นการประยุกต์แนวทางจาก Boot Camp มาเขียนแผนการจัดการเรียนรู้ของตัวเอง

แน่นอนครับว่าผมคงจะส่งแผนการจัดการเรียนรู้ให้กับฝ่ายวิชาการแบบที่ได้รับการถ่ายทอดมาเลยไม่ได้ ผมจึงประยุกต์เข้ากับหัวข้อต่าง ๆ ที่สำคัญตามหลักการจัดทำแผนทั่ว ๆ ไป ซึ่งประกอบด้วย (โปรดดูภาพประกอบ)

  1. ข้อมูลทั่วไป ได้แก่ หัวข้อ ชื่อวิชา ระดับชั้น จำนวนชั่วโมง และชื่อผู้สอน เป็นต้น
  2. สาระสำคัญ (Main point)
  3. ตัวชี้วัด/ผลการจัดการเรียนรู้ (Indicators/Learning outcomes)
  4. คุณลักษณะอันพึงประสงค์ (Desired characteristics)
  5. สาระการเรียนรู้ (Learning point)
  6. สื่อประกอบการสอน (Materials)
  7. ตารางแผนการสอน ที่ปรับมาจาก Boot Camp
  8. วิธีการประเมินผล (Assessments)

ผมคงตอบทุกท่านไม่ได้ว่า ฝ่ายวิชาการที่โรงเรียนของท่านหรือผู้ประเมินผลงานใด ๆ ของท่านจะยอมรับและอนุมัติไอเดียนี้หรือไม่ แต่คงจะเป็นประโยชน์ไม่น้อยหากเราช่วยกันปรับเปลี่ยน ปรับปรุง และพัฒนาแนวทางการเขียนแผนการจัดการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น เน้นที่คุณภาพและความเหมาะสม มีความสร้างสรรค์ มีความยืดหยุ่น และที่สำคัญ มีความเป็นไปได้ในการนำแผนไปใช้ในการจัดการเรียนรู้จริง มิใช่วัดเพียงจากความหนาของเล่มและความสวยงามของหน้าปก

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เห็นความเป็นไปได้ของแผนการสอนที่ผมให้เป็นไอเดียไว้ แผนการสอน (Lesson Plan) ที่ผมได้แนบภาพมาเป็นตัวอย่างนี้ ทำให้ผมได้รับ “รางวัลผลงานการสอนภาษาอังกฤษที่เป็นแบบอย่าง ระดับคุณภาพดีเยี่ยม” จากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 8 (ราชบุรี-กาญจนบุรี) มาช่วยกันผลักดันให้ความเป็นไปได้มีมากขึ้นนะครับ

ตะวัน แสงทอง (ครูโทนี่)

ครู ติวเตอร์ วิทยากร และเจ้าของเพจ Kru Tony English - English and Inspiration

ไฟล์ที่เกี่ยวกับไอเดีย

ไฟล์ที่ 1 จากทั้งหมด 11

ชื่อไฟล์​: E3F158E1-05D5-4D71-B61B-9FF96B562179.jpeg

ดาวน์โหลดแล้ว 621 ครั้ง


รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(83)
เก็บไว้อ่าน
(9)