icon
giftClose
profile

สื่อการสอนมาตราแม่กก (dyslexia)

34291

สื่อการสอนมาตราแม่กก ถูกออกแบบเพื่อนำไปประกอบการสอนสำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางด้านการอ่านและการเขียน (Dyslexia) และสามารถใช้ร่วมกับเด็กทั่วไปได้

เข้าไปชมได้ทาง youtube.com/watch?v=s3FwIDU09ik&t=90s และสามารถดาวน์โหลดเอกสารประกอบการสอนได้ทางด้านล่างคลิปวิดีโอ

ที่มาและความสำคัญ 

ทักษะทางด้านการอ่านถือเป็นทักษะที่สำคัญและมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการเรียนรู้ในขั้นที่สูงขึ้นของมนุษย์ กล่าวคือหากมนุษย์มีความสามารถในการเข้าใจภาษา จนสามารถถอดรหัสและเข้าใจการสื่อสารความหมายในรูปแบบของลายลักษณ์อักษรได้ จะทำมนุษย์สามารถเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ได้มากยิ่งขึ้น หรือแม้แต่สามารถถ่ายทอดและส่งต่อข้อมูลไปให้กับผู้อื่นได้ การอ่านจึงเป็นทักษะสำคัญและเป็นทักษะพื้นฐานที่ทำให้มนุษย์เกิดการเรียนรู้ จนนำไปสู่การพัฒนาตนเองในทักษะด้านอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิต 

 สำหรับผู้ที่มีความบกพร่องในการอ่านและการเขียน หรือผู้ป่วยในกลุ่ม Dyslexia นั้น เป็นที่ทราบกันดีว่าผู้ป่วยในกลุ่มนี้จะมีความยากลำบากในการเรียนรู้ หรือแม้แต่การปรับตัวให้เข้ากับผู้คนในสังคม แต่สำหรับภาวะอาการดังกล่าวผู้ป่วยสามารถได้รับการวินิจฉัยและพบอาการของโรคได้ตั้งแต่ยังเด็ก ซึ่งหากได้รับการรักษาและให้การช่วยเหลือด้วยวิธีการที่ถูกต้อง พบว่าร้อยละ 56-92 ของเด็กกลุ่มนี้จะสามารถอ่านได้ในระดับปกติ (มนัท สูงประสิทธิ์, ม.ป.ป.) 

จากเว็บไซต์ brainandlifecenter (2563) ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับอาการในกลุ่ม Dyslexia ไว้ว่า คือความบกพร่องในการอ่านและการเขียน จัดเป็นความผิดปกติด้านการเรียนรู้ (Learning Disorder) ประเภทหนึ่ง ซึ่งมีสาเหตุมาจากความผิดปกติของสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเรียนรู้ ทำให้ผู้ที่เป็นมีปัญหาในการอ่าน การเขียน แม้แต่การแปลภาษาหรือสัญลักษณ์ง่าย ๆ ไม่สามารถเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้เหมือนคนทั่วไป ซึ่งโรคนี้สามารถพบได้ถึง 10% ของประชากร (ย่อหน้าที่ 1) 

ความบกพร่องในการอ่านและการเขียน (Dyslexia) ในกลุ่มเด็ก สามารถเห็นได้ชัดเจนช่วงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 เนื่องจากระดับชั้นดังกล่าว เป็นช่วงที่เด็กมีความจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ผ่านการอ่านและการเขียนด้วยตนเองมากยิ่งขึ้น หากเด็กไม่สามารถอ่านออกเขียนได้เช่นเดียวกับเด็กในวัยเดียวกัน มีแนวโน้มได้ว่าเด็กอาจมีความผิดปกติด้านการเรียนรู้ ประเภทความบกพร่องในการอ่านและการเขียน ซึ่งการที่จะวินิจฉัยและให้การช่วยเหลือได้นั้นต้องอาศัยความใส่ใจ รวมทั้งการให้ความสนใจต่อตัวเด็กมากยิ่งขึ้น โดยผู้ปกครองและคุณครูควรหมั่นสังเกตว่าบุตรหลานหรือนักเรียนในชั้นเรียนของตน มีประสิทธิภาพในการเรียนรู้ที่เหมาะสมตามวัยหรือไม่ 

จากการศึกษาและค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวคณะผู้จัดทำมีความเห็นว่า ปัญหาในด้านการอ่านและการเขียนของเด็กในวัยประถมศึกษานั้น เป็นปัญหาที่พบได้ทั่วไปตามโรงเรียน และในเด็กบางคนแม้จะมีภาวะของการอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ หรือมีความสามารถในการเรียนรู้ที่ช้ากว่าเด็กในวัยเดียวกัน แต่เด็กกลุ่มนี้อาจไม่ได้มีอาการ Dyslexia ทั้งนี้อาจเป็นเพราะรูปแบบของการเรียนรู้ในห้องเรียนนั้นไม่ตอบโจทย์สำหรับเด็ก จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่คุณครูควรให้ความสำคัญในการสร้างห้องเรียนให้เป็นพื้นที่ในการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับเด็ก โดยเฉพาะในเด็กที่มีปัญหาและต้องการได้รับการช่วยเหลือ คุณครูควรสร้างห้องเรียนที่สามารถรองรับความแตกต่างหลากหลาย และเป็นพื้นที่ที่เอื้ออำนวยในการให้ความช่วยเหลือเด็กได้อย่างเต็มที่ไม่ว่าเด็กจะมีความผิดปกติด้านการเรียนรู้หรือไม่ก็ตาม 

ในการออกแบบสื่อทั้ง 7 ชิ้น ที่ทางคณะผู้จัดทำได้ร่วมกันจัดทำขึ้นมานั้น ได้มีการคำนึงถึงความแตกต่างหลากหลายภายในห้องเรียนเป็นสำคัญ เพื่อให้สื่อการสอนดังกล่าวสามารถตอบโจทย์ความต้องการและวิธีการในการเรียนรู้ที่เหมาะสมต่อตัวเด็กให้ได้มากที่สุด โดยคณะผู้จัดทำได้มีการศึกษาวิธีการในการให้ความช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหาในด้านการอ่านและการเขียน ตั้งแต่หลักการในการสร้างการเรียนรู้ที่ส่งผลดีต่อตัวเด็ก การวัดประเมิน ตลอดจนการออกแบบสื่ออย่างไรจึงจะสามารถสร้างบรรยากาศในชั้นเรียน ที่ทำให้ผู้เรียนเกิดความสนใจ จนสามารถเกิดการเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพสูงสุด 

 

วัตถุประสงค์ 

  1. เด็กสามารถบอกความหมายของคำในมาตราตัวสะกด แม่กก ได้ 
  2. เด็กสามารถเข้าใจความแตกต่างของมาตราตัวสะกด แม่กก ที่ตรงมาตรา และไม่ตรงมาตรา 
  3. เด็กสามารถอ่าน และสะกดคำในมาตราตัวสะกด แม่กก ที่ตรงมาตรา และไม่ตรงมาตราได้ 

 

การออกแบบและพัฒนาสื่อ 

คณะผู้จัดทำได้มีการออกแบบสื่อโดยศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับผู้ที่มีปัญหา ความบกพร่องในการอ่านและการเขียน (Dyslexia) ถึงการเรียนรู้ที่เหมาะสมและทำให้ผู้เรียนสามารถเข้าใจความหมายของคำ ความแตกต่างของตัวสะกดที่ตรงมาตราและไม่ตรงมาตราในมาตราตัวสะกด แม่กก ได้ จนนำไปสู่การที่ผู้เรียนสามารถอ่านและสะกดคำในมาตราตัวสะกด แม่กก ได้ตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้  

สำหรับสื่อที่เหมาะสมสำหรับผู้เรียนที่มีปัญหาดังกล่าวนั้น ควรเป็นสื่อที่ทำให้ผู้เรียนได้ใช้ประสาทสัมผัสที่หลากหลาย ทางคณะผู้จัดทำจึงออกแบบสื่อโดยยึดตามหลัก Differentiated และ VAKT (Visual-Auditory-Kinesthetic-Tactile) ดังนี้ 

 

Differentiated 

  1. ด้านเนื้อหา  
  2. ผู้จัดทำได้กำหนดเนื้อหา และวางขอบเขตของสื่อการสอนอย่างชัดเจน คือ การสอนอ่านและสะกดคำในมาตราตัวสะกด แม่กก แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่  
  • ตัวสะกดตรงมาตรา 
  • ตัวสะกดไม่ตรงมาตรา 
  1. ผู้จัดทำได้มีการวางรูปแบบของสื่อโดยคำนึงถึงขั้นตอนในการเรียนรู้และวิธีในการเรียนการสอน เช่น มีการใช้เพลงช่วยจำก่อนจะเริ่มการสอนสะกดคำ 
  2. ผู้จัดทำได้มีการเรียงลำดับเนื้อหาการสอนจากง่ายไปยาก  
  3. ผู้จัดทำได้มีการเลือกใช้ชุดคำที่มีความหลากหลายภายในสื่อการสอนทั้ง 7 ชิ้น อีกทั้งยังเป็นชุดคำที่อยู่รอบตัวและเด็ก ๆ สามารถเข้าถึงได้ในชีวิตประจำวัน 
  4. ผู้จัดทำได้มีการใช้ชุดคำชุดเดิมกับสื่อทั้ง 7 ชิ้น และเป็นชุดคำที่เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ผ่านสื่อบัตรสอนอ่านสะกดคำแจกลูก มาตราตัวสะกด แม่กก เพื่อเน้นย้ำให้เด็กจดจำได้ดีมากยิ่งขึ้น  
  5. ด้านกระบวนการ ผู้จัดทำออกแบบสื่อโดยคำนึงถึงการใช้งาน ที่เอื้อให้ผู้สอนสามารถปรับรูปแบบการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับผู้เรียนได้ เช่น สื่อบัตรภาพและคำทำความรู้จัก มาตราตัวสะกด แม่กก ซึ่งคุณครูสามารถแทรกเนื้อหาความรู้ให้นักเรียนระหว่างใช้ได้ 
  6. ด้านผลงาน ผู้จัดทำได้มีการออกแบบสื่อโดยออกแบบใบงานที่มีความหลากหลาย เช่น ใบงานโยงเส้นจับคู่คำภาพและคำในมาตราตัวสะกด แม่กก ซึ่งแบ่งใบงานออกเป็น 3 กิจกรรม กิจกรรมละ 2 ชุด เพื่อสนับสนุนและให้การช่วยเหลือผู้เรียน ในชั้นเรียนเรียนที่มีความแตกต่างหลากหลาย 
  7. ด้านสิ่งแวดล้อม ผู้จัดทำได้คำนึงถึงความสนุกสนานภายในห้องเรียนที่จะส่งผลต่อการตื่นตัวในการเรียนรู้ของผู้เรียน จึงออกแบบสื่อให้มีความน่าสนใจ และมีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น นิทาน เพลง เกม ฯลฯ 

 

VAKT (Visual-Auditory-Kinesthetic-Tactile)  

ผู้จัดทำได้ใช้หลัก VAKT (Visual-Auditory-Kinesthetic-Tactile) ในการออกแบบสื่อการสอน โดยคำนึงถึงให้ผู้เรียนได้ใช้ประสาทสัมผัสที่หลากหลาย ดังนี้ 

  1. ด้านการมองเห็น (Visual) เช่น สื่อการสอนบัตรภาพและคำทำความรู้จักมาตราตัวสะกด แม่กก มีการใช้รูปภาพน่ารัก สีสันสดใส เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านประสาทสัมผัส ด้านการมองเห็น นอกจากนี้ยังมีการเน้นสีลงบนมาตราตัวสะกด แม่กก เพื่อเน้นย้ำให้ผู้เรียนจดจำตัวสะกดในมาตราตัวสะกด แม่กก ได้ดีมากยิ่งขึ้น 
  2. ด้านการได้ยิน (Auditory) เช่น เพลงช่วยจำคำในมาตราตัวสะกด แม่กก เป็นการสร้างการเรียนรู้ผ่านประสาทสัมผัส ด้านการได้ยิน เพื่อให้ผู้เรียนสามารถจดจำมาตราตัวสะกด แม่กก ได้ผ่านบทเพลง 
  3. ด้านการเคลื่อนไหวของอวัยวะต่าง ๆ โดยไม่ต้องมองเห็นซึ่งสัมผัสได้โดยอาศัยประสาทสัมผัสในกล้ามเนื้อเอ็นข้อต่อ (Kinesthetic) เช่น กิจกรรมเกมฝาขวดสะกดคำในมาตราตัวสะกด แม่กก ผู้จัดทำต้องการให้กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่ให้เด็ก ๆ ทบทวนความรู้หลังจากที่ได้เรียนมา เพื่อประเมินว่าผู้เรียนมีความเข้าใจในเนื้อหาที่เรียนจนสามารถสะกดคำในมาตราตัวสะกด แม่กก ได้หรือไม่ จึงออกแบบสื่อที่ใช้ประเมินให้มีความน่าสนใจ และมีรูปแบบของสื่อที่แตกต่างไปจากใบงาน เพื่อให้เด็ก ๆ ได้มีการเคลื่อนไหวร่างกายและเพลิดเพลินไปกับกิจกรรมดังกล่าว 
  4. ด้านการสัมผัสซึ่งอยู่บริเวณผิวหนัง (Tactile) เช่น บัตรคำสอนอ่านสะกดคำแจกลูกมาตราตัวสะกด แม่กก จะเห็นว่าสื่อชิ้นนี้ประกอบไปด้วยชุดบัตรที่มีความหลากหลาย และในบัตรทุกชุดจะมีหน่วยเสียงกำกับทั้งตัวพยัญชนะต้น สระ และมาตราตัวสะกด แม่กก ระหว่างที่เด็ก ๆ หัดอ่านออกเสียงสะกดคำเสียงของตัวพยัญชนะ เด็ก ๆ จะใช้ประสาทสัมผัสบริเวณลำคอ ลิ้น เพดานปาก ปุ่มเหงือก ฟัน และริมฝีปาก ในการปล่อยลมออกมาผ่านช่องปากหรือช่องจมูกจนเกิดเป็นเสียงของพยัญชนะขึ้น หรือแม้แต่ระหว่างที่เด็ก ๆ กำลังแจกลูกอ่านสะกดคำไปพร้อมกับการอ่านออกเสียง ในช่วงนี้เด็ก ๆ จะได้ใช้ประสาทสัมผัสบริเวณผิวของนิ้วมือ ในการสัมผัสรูปแบบของตัวอักษรโดยการลากนิ้วจากตำแหน่งเริ่มต้นจนถึงตำแหน่งสุดท้ายของพยัญชนะควบคู่กันไปด้วย 


ผู้จัดทำ

  1. ณัฐชยา โรจนาปิยาวงศ์
  2. พัฒน์นรี สุวรรณรัตน์
  3. วิลาสินี ศรภักดี


เพิ่มเติม drive.google.com/file/d/1y0ONdwKGnSWgVrHT__MjpPNIl0dtGtiP/view

แท็กที่เกี่ยวข้อง

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(8)
เก็บไว้อ่าน
(0)