icon
giftClose
profile

ห้องเรียนในฝันของป่าน juli baker and summer

23141
ภาพประกอบไอเดีย ห้องเรียนในฝันของป่าน juli baker and summer

คุยกับคุณป่าน juli baker and summer หนึ่งในศิลปินที่มาสร้างสรรค์ผลงานจากไอเดียการสอนของคุณครู ถึงมุมมองเรื่องการศึกษาและเหตุผลที่ตัดสินใจเข้าร่วมโปรเจกต์กับ InsKru และ Skip School

Ep. แรกนี้ศิลปินที่เราชวนมาพูดคุยแนวคิดต่อการศึกษาและเบื้องหลังการสร้างสรรค์ผลงานจากไอเดียของคุณครูคือ นักวาดภาพอิสระและนักออกแบบที่มีผลงานเป็นเอกลักษณ์อย่าง ‘คุณป่าน หรือ juli baker and summer’

ด้วยลายเส้นที่น่ารัก สีสันของภาพวาดที่สดใส ฉูดฉาด และดูเป็นกันเอง ทำให้ juli baker and summer มีแฟนๆ ติดตามผลงานมากมาย และยังได้ร่วมออกแบบกับแบรนด์ต่างๆ นอกจากนี้คุณป่านยังเป็นศิลปินคนหนึ่งที่สื่อสารประเด็นการเมืองและสังคมผ่านผลงานของเธออยู่เสมอ

ในบทความนี้เราจะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับคุณป่านในแง่มุมต่างๆ ทั้งประสบการณ์วัยเด็กเกี่ยวกับการศึกษา ชวนคุยเรื่องระบบการศึกษาไทย จินตนาการถึงการศึกษาที่ดีและห้องเรียนในฝันที่คุณป่านอยากให้เป็น รวมถึงเหตุผลที่ตัดสินใจมาร่วมสร้างสรรค์ผลงานจากไอเดียการสอนกับ InsKru พื้นที่แบ่งปันไอเดียการสอน และนิทรรศการ Skip School 

แนะนำตัว

ชื่อป่านนะคะ เป็นนักวาดภาพ ใช้ชื่อว่า juli baker and summer ตอนนี้เป็นนักวาดภาพอิสระกับคอลัมนิสต์ที่ a day online อยู่ค่ะ

ถ้าให้เปรียบเทียบตัวเองเป็นภาพวาดหนึ่งภาพ คิดว่าเป็นอะไร

คิดว่าเป็นภาพวาดของตัวเองในแต่ละช่วงวัย เพราะเป็นคนชอบวาดรูปตั้งแต่เด็ก รู้สึกว่าทุกภาพวาดมันเหมือนสะท้อนตัวตนเรา ณ ช่วงเวลานั้นๆ ของชีวิต ชีวิตหรือระบบการศึกษาที่ตัวเองได้ประสบเจอมาก็แอบสะท้อนมาจากรูปวาดเราเหมือนกัน เช่น ตอนเด็ก ๆ เราวาดรูปตัวเองอยากเป็นเจ้าหญิง โตมาหน่อยพอชอบแฟชั่นก็อยากเป็นดีไซเนอร์ เราก็วาดคน แฟชั่นต่างๆ 

ประสบการณ์ในวัยเด็กที่ได้เรียนรู้อะไรบางอย่าง

ตอนประมาณอนุบาล 2 ในวิชาศิลปะ ป่านวาดรูป ครูก็ให้โจทย์วาดรูปเด็กผู้หญิง ป่านก็วาดเด็กผู้หญิง โดยที่เราลงสีผมเป็นสีม่วงๆ กับอีกหลายสีเลย ในขณะที่เพื่อนๆ เขาก็จะลงสีดำ สีน้ำตาล ตามสีธรรมชาติที่เห็นเนอะ พอคุณครูเห็นภาพวาดเรา เขาก็บอกว่าเราน่าจะมีปัญหาด้านการมองเห็นหรือการใช้สี ก็เลยจะโทรแจ้งผู้ปกครองเรียกไปคุยว่าเราน่าจะมีปัญหานะ แต่โชคดีที่แม่เราค่อนข้างเข้าใจ แม่ก็เลยคิดว่ามันไม่ใช่ปัญหา แค่เราอาจจะมีความคิดสร้างสรรค์แล้วก็ชอบศิลปะมากกว่าคนอื่น

จากเหตุการณ์วันนั้น แม่เราก็เลยส่งเราไปเรียนศิลปะเพื่อให้เราได้เรียนวาดรูปมากขึ้น ถ้าเกิดเราโชคร้าย แม่เราก็เห็นว่ามันเป็นปัญหาเหมือนกับที่คุณครูเห็น เราก็อาจจะไม่ถูกผลักดันแล้วก็อาจจะไม่ได้รักการวาดรูปเหมือนตอนนี้

ปมในใจวัยเด็ก

ตอนเด็ก เราโดนคุณครูว่าตลอดว่าเป็นคนทำงานไม่เรียบร้อย ลงสีก็ออกนอกเส้น ลายมือก็ไม่สวย จำได้เลยว่าเขาจะใช้คำว่าเขียนตัวใหญ่เป็น ‘หม้อข้าวหม้อแกง’ เขียนออกเส้นบรรทัดอะไรแบบนี้ ก็เป็นเหมือนปมในใจเราเล็กๆ ว่าเราเป็นคนที่ไม่ได้มีทักษะการวาดรูปที่อยู่ในกรอบ

การศึกษาที่ดีควรจะเป็นยังไง 

เราคิดว่าหน้าที่ของการศึกษาน่าจะเป็นการทำให้คนๆ หนึ่งได้ค้นหาสิ่งที่ตัวเองรักหรือทำได้ดี เพื่อที่จบออกมาแล้วจะได้ใช้ชีวิตในแบบที่ตัวเองเป็นได้ในสังคม เพราะฉะนั้น การศึกษาที่ดีน่าจะเป็นการศึกษาที่ผลักดันให้แต่ละคนได้ค้นพบวิธีของตัวเอง ไม่ใช่วิธีเดียวกัน เพื่อที่จะออกมาใช้ชีวิตในแบบของตัวเอง ไม่ใช่แบบเดียวกันเหมือนเป็นผลิตภัณฑ์ที่พิมพ์ออกมาจากโรงงาน เพราะมนุษย์มันมีความหลากหลาย และโรงเรียนน่าจะเป็นพื้นที่ตรงนั้นที่ให้ทุกคนได้ทดลองแม้เราจะมีต้นทุนชีวิตที่ต่างกัน

แล้วการศึกษาไทยยังขาดอะไรบ้าง

เรามีเพื่อนที่เรียนตามค่านิยม ว่าคนเรียนเก่งต้องเรียนสายวิทย์ โตมาเป็นหมอ ได้ทำอาชีพที่เคยคิดว่าดี แต่ว่าไม่มีเวลาค้นพบว่าตัวเองรักมันมากพอไหม แต่ก็ต้องทำอาชีพนั้นต่อไป เพราะอาจจะไม่มีต้นทุนพอที่จะไปทดลองทำอย่างอื่น เราคิดว่ามันน่าเศร้า แล้วก็สะท้อนถึงความล้มเหลวในระบบการศึกษาไทย

หรืออย่างตัวเราที่โตมาในครอบครัวชนชั้นกลาง มีโอกาสได้เรียนโรงเรียนดีๆ หรือเรียนพิเศษ แต่พอเราไปสอนศิลปะในชุมชน เราก็ได้ค้นพบว่ามันมีเด็กที่เรียนหลายระดับชั้นอยู่ในห้องเล็กๆ ด้วยกัน ซึ่งเราไม่เคยรู้ว่ามันมีแบบนั้นด้วย แล้วก็อะไรหลายอย่างๆ ที่ทำให้เรารู้สึกว่ามันต่างจากชีวิตที่เราเคยเรียนหรือเคยเติบโตมาจังเลย

ก็เลยคิดว่าการศึกษามันน่าจะมีมาตรฐานที่ทุกคนเข้าถึงได้เท่าๆ กัน ไม่ใช่ว่าใครมีเงิน มีต้นทุนมากกว่าถึงจะเข้าถึงได้ การศึกษาน่าจะเป็นสวัสดิการที่ประชาชนทุกคนน่าจะได้รับเท่าๆ กัน ไม่น่าจะมีคนที่ได้รับมากกว่าเพราะมีเงินมากกว่า หรือได้รับน้อยกว่าเพราะต้นทุนน้อยกว่า 

เพราะอะไรถึงสนใจมาร่วมโปรเจกต์สร้างสรรค์ผลงานจากไอเดียคุณครูกับ InsKru

ป่านพอรู้จัก InsKru อยู่แล้วว่าเป็นกลุ่มที่ช่วยออกแบบการศึกษาให้สนุกขึ้นก็เลยสนใจ จริงๆ เราเป็นนักวาดภาพที่ปกติเราก็วาดเพื่อขายของอยู่แล้ว เลยคิดว่าถ้าเราพอจะทำอะไรให้สังคมที่เราอยู่มันดีขึ้นได้ด้วยความสามารถที่เรามีก็ยินดีจะทำอยู่แล้ว

คิดว่าถ้าได้ลองเรียนจากไอเดียการสอนที่เราเลือกมาทำเองว่าจะเป็นยังไง

อันที่ป่านเลือกมาคือเรื่อง ‘ปิตาธิปไตยกับระบบขนส่ง’ อย่างแรกที่คิดเลยคือ ถ้าเราได้เรียนเรื่องนี้ในห้องเรียนตั้งแต่เด็กๆ ชีวิตเรามันคงจะเปลี่ยนไปมากกว่านี้ เพราะตัวป่านเองค่อนข้างตื่นตัวช้าในเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ถ้าเราได้ตระหนักเรื่องนี้ตั้งแต่สมัยมัธยมหรือประถม มันก็น่าจะมีผลต่อชีวิตและการมองโลกของเรามากกว่านี้มากๆ เลย

สปอยล์ผลงานให้ฟังนิดนึง

ไอเดียการสอนที่ป่านเอามาทำผลงานศิลปะ จะเป็นการชวนเด็กๆ ในห้องมาถกกันในหัวข้อง่ายๆ เลยว่า ทำไมผู้ชายต้องลุกให้ผู้หญิงนั่งบนรถเมล์ด้วย แล้วก็ให้ช่วยกันเขียนข้อดี ข้อเสีย ถ้าเด็กได้ถกกันมันก็จะได้ข้อสรุปออกมาว่าเราทุกคนต่างก็ถูกกดทับด้วยแนวคิดปิตาธิปไตยหรือชายเป็นใหญ่ ที่ผู้ชายต้องเสียสละให้ผู้หญิง

แล้วก็โยงไปถึงว่าระบบขนส่งสาธารณะที่ดีควรจะออกแบบให้ทุกคนสามารถใช้ได้อย่างเท่าเทียม เราว่ามันน่าสนใจที่อะไรใกล้ตัวอย่างการขึ้นรถเมล์ก็จุดประกายให้เด็กๆ เข้าใจแนวคิดประชาธิปไตยได้ด้วย เราก็เลยเอามาทำเป็นภาพวาด digital painting บนสเก็ตบอร์ด ที่เป็นภาพคนทุกเพศทุกวัยสามารถไถสเก็ตบอร์ดได้ 

การเรียนรู้ในห้องเรียนสามารถส่งเสริมแนวคิดความเป็นพลเมืองได้ยังไงบ้าง

เราคิดว่ามันจำเป็นมาก พอเราโตแล้วย้อนกลับไปก็ค้นพบว่าเราไม่ได้ถูกปลูกฝังเกี่ยวกับการศึกษาเรื่องพลเมืองเท่าไร ว่าเราในฐานะประชาชนในประเทศมีหน้าที่ทำอะไรบ้างนอกจากทำงานหาเลี้ยงตัวเอง คิดว่าถ้าเราหยอดเรื่องสิทธิ เสรีภาพ และหน้าที่ของพลเมืองให้เด็กๆ ผ่านกิจกรรม น่าจะทำให้เขามีแนวคิดเกี่ยวกับสังคมหรือส่วนรวมมากขึ้น

เพราะว่าตอนเด็กๆ หลายวิชาเราเรียนแต่การท่องจำ โดยเฉพาะวิชาประวัติศาสตร์ พอเราโตเราถึงรู้ว่ามันมีอะไรหลายอย่างที่มันไม่ใช่แบบที่เราเคยคิด ระบบการศึกษามันน่าจะโตไปพร้อมๆ กับการเมืองของประเทศด้วย ถ้าเรามีประชาธิปไตยที่แข็งแรง เราก็จะได้เขียนประวัติศาสตร์ที่ถูกต้อง คนก็จะได้เรียนรู้หน้าที่พลเมืองอย่างที่ควรจะเป็น

อยากชวนคุณป่านออกแบบห้องเรียนในฝัน

ถ้าเกิดในฝันเราเลยนะ เราก็อยากให้ทุกคนมีตารางเรียนเป็นของตัวเอง ทุกอย่างถูกออกแบบมาสำหรับแต่ละคน อย่างเช่น เราสนใจศิลปะ เราก็อาจจะได้เรียนศิลปะมากกว่าคนอื่น แล้วศิลปะมีแง่ไหนบ้าง คนเป็นศิลปินต้องเรียนรู้สังคม การเมือง อาจจะเรียนคณิตศาสตร์น้อยหน่อย อยากให้มันถูกออกแบบมาเพื่อนักเรียนแต่ละคนโดยเฉพาะ แล้วก็อยากจะให้การเรียนมันฟรี หมายถึงว่าไม่ต้องเสียเงิน ไม่ต้องเป็นอะไรที่พ่อแม่ต้องมากังวลว่าลูกจะได้รับการศึกษาที่ดีไหม

แล้วก็คิดว่าอยากให้ในโรงเรียนมีเสรีภาพมากที่สุด แล้วก็มีอำนาจนิยมได้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ อยากให้ครูเป็นเหมือนเพื่อนคนหนึ่งที่เราเปิดใจแล้วคุยได้ทุกเรื่อง อยากให้เลขที่ในห้องเรียนไม่ต้องเรียงจากผู้ชายก่อนผู้หญิง ให้ทุกอย่างถูกออกแบบมาอย่างมีความเท่าเทียมมากที่สุด ถ้าเราเติบโตมาในห้องเรียนแบบนั้นคงทำให้เราไม่เคยชินกับความไม่เท่าเทียม

คนทั่วไปที่ไม่ได้เป็นครูหรืออยู่ในระบบการศึกษาจะสามารถมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงให้การศึกษาดีขึ้นได้ยังไงบ้าง

เราคิดว่าอย่างการที่เรามาร่วมโปรเจกต์นี้กับ InsKru ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่เราทำได้ จริงๆ ทุกคนทำได้หมด โดยเฉพาะศิลปิน อาจจะเป็นหน้าที่ส่วนหนึ่งของศิลปินด้วยซ้ำที่จะพูดถึงสิ่งต่างๆ ผ่านงานของตัวเอง อย่างเช่นเรามีภาพวาดกับคอลัมน์ของตัวเอง ก็ใช้มันพูดถึงปัญหา สิ่งที่เราใฝ่ฝันแต่ประเทศเรายังไม่มี เพื่อให้คนอื่นเห็นแล้วเขาอาจจะตั้งคำถามกับสิ่งเหล่านั้นตาม

หรือว่าในฐานะประชาชนคนทั่วไป สิ่งที่ทำได้อาจจะไม่ได้โดยตรงกับการศึกษา แต่อาจจะออกมาพูด ตอนนี้ทุกคนมีแพลทฟอร์มในการส่งเสียงของตัวเอง มีโซเชียลมีเดีย มีเว็บไซต์ต่างๆ ที่แสดงความเห็นได้ หรือองค์กรอย่าง InsKru ซึ่งทุกคนสามารถเข้าร่วมได้ หรือการออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย เราว่าก็เป็นส่วนหนึ่งในการทำให้ระบบการศึกษาดีขึ้น ถ้าการเมืองมันดี เราน่าจะมีการศึกษาที่ดีขึ้นหรือมีสวัสดิการด้านการศึกษา

มีอะไรอยากฝากถึงคุณครูที่กำลังมุ่งมั่นในการเปลี่ยนแปลงการศึกษาไหม

จริงๆ แล้วเรามีประชากรที่มีคุณภาพเยอะมากๆ แต่อาจจะด้วยระบบหรือต้นทุนทางชีวิตต่างๆ ที่ทำให้ระบบการศึกษามันยังไม่ดีเท่าที่ควร เราเลยรู้สึก appreciate ทุกคนที่ทำอาชีพครูตอนนี้ ให้สารภาพเลยคือจริงๆ ป่านมีความฝันอยากเป็นคุณครูสอนศิลปะมาตลอด แต่ไม่เคยคิดว่าจะเป็นได้ เพราะเราก็ยอมรับว่าการเป็นนักออกแบบมันหาเงินได้มากกว่า เรายังมีครอบครัวที่ต้องเลี้ยง อาจจะด้วย privilege ตรงนี้ เราเลยเลือกทำงานด้านนี้มากกว่า

ทั้งที่จริงๆ แล้วเราก็คิดมาตลอดว่าเรามีความสุขกับการได้สอนศิลปะ เราก็เลยประทับใจและเห็นคุณค่าทุกคนที่ประกอบอาชีพครูมากๆ ที่มี creativity ช่วยออกแบบการสอนที่มันมีประโยชน์มากๆ เราขอเป็นกำลังใจให้คุณครูทุกคนที่ทำสิ่งนี้อยู่ แล้วก็หวังว่ารัฐบาลหรือผู้มีอำนาจจะเห็นคุณค่าของบุคลากรเหล่านี้ และให้สวัสดิการหรือค่าตอบแทนที่เป็นธรรมกับสิ่งที่เขาทำมากขึ้น

ชวนคนมางานหน่อย

ก็อยากจะฝากทุกคนนะคะ ไม่ว่าจะเป็นคุณครู นักเรียน เรียนจบไปแล้ว หรือใครก็ตาม อยากจะชวนให้มางาน Skip School นะคะ ซึ่งก็จะเป็นงานที่พูดถึงระบบการศึกษาในแบบที่เต็มไปด้วยความหวังมากๆ ตัวป่านเองทำงานชิ้นนี้ก็รู้สึกมีความหวังกับระบบการศึกษาไทยมากขึ้นมากๆ แล้วก็มาดูกันว่ามันมีความเป็นไปได้ที่ดีขึ้นของระบบการศึกษาไทยยังไงบ้าง ในงานก็จะมีศิลปินหลายๆ คนเลยไม่ใช่แค่ภาพวาด 

ฝากติดตามเพจหน่อยค่ะ

สามารถติดตามรายละเอียดงานได้ที่เพจ Skip School และ InsKru ค่ะ

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(1)
เก็บไว้อ่าน
(0)