icon
giftClose
profile

เผยไต๋ ไขกระดาน EP.1

27761
ภาพประกอบไอเดีย เผยไต๋ ไขกระดาน EP.1

ทำไมสัญลักษณ์ของการ์ดมักอยู่ซ้ายมือ เป็นที่เคยชินสำหรับชาวบอร์ดเกมทั่วไปที่การวางตำแหน่งสัญลักษณ์ของการ์ดเกมมักจะอยู่ทางด้านซ้ายมือของผู้เล่นเป็นส่วนใหญ่ คำถาม คือ วิธีคิดแบบนี้มีปัจจัยอะไร เหตุใดจึงเกิดแนวคิดลักษณะเช่นนี้ มาเรียนรู้กัน

เปิดไต๋ ไขกระดาน EP.1

ทำไมสัญลักษณ์ของการ์ดมักอยู่ซ้ายมือ เป็นที่เคยชินสำหรับชาวบอร์ดเกมทั่วไปที่การวางตำแหน่งสัญลักษณ์ของการ์ดเกมมักจะอยู่ทางด้านซ้ายมือของผู้เล่นเป็นส่วนใหญ่ คำถาม คือ วิธีคิดแบบนี้มีปัจจัยอะไร เหตุใดจึงเกิดแนวคิดลักษณะเช่นนี้ และแนวคิดนี้มีความเกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ของสมองอย่างไร เปิดไต๋ ไขกระดานจะนำเสนอมุมมองเชิงวิเคราะห์แนวคิดของการพัฒนาและออกแบบเกม โดยสามารถวิเคราะห์ คำถามสู่คำตอบได้ดังนี้


1. แนวคิดของวัฒนธรรมทางการเขียนและการรับรู้

ในวัฒนธรรมทางการเขียนนั้นมีความสัมพันธ์โดยตรงกับการรับรู้เชิงสัญลักษณ์ ลักษณะของการเขียนมีผลต่อลำดับการรับรู้ของผู้อ่าน โดยวัฒนธรรมของทิศทางการเขียน เช่น เขียนจากซ้ายไปขวา เขียนจากขวาไปซ้าย แนวตั้ง แนวนอน และเขียนหลายทิศทาง ของประเทศต่าง ๆ ล้วนมีเอกลักษณ์ของตนเอง เมื่ออยู่ท่ามกลางวัฒนธรรมทางการเขียนหรือการรับรู้เชิงสัญลักษณ์ทางภาษาแบบใด ก็จะเคยชินกับการรับรู้ การอ่านแบบภาษาเหล่านั้น  ซึ่งประเทศส่วนใหญ่ในโลกรวมถึงประเทศไทยมักจะอ่านจากซ้ายไปขวา ส่วนของประเทศญี่ปุ่น เกาหลี และจีน จะเป็นการอ่านจากขวาไปซ้าย ทั้งนี้มีสาเหตุมาจากวัฒนธรรมการเขียนที่แตกต่างกัน แต่ส่วนใหญ่แล้วการ์ดเกมมักจะออกแบบที่ผลิตออกมาในปัจจุบัน หากมีสัญลักษณ์มุมการ์ด มักจะอยู่ทางมุมการ์ดฝั่งซ้ายมือของผู้เล่นเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนั้นมีการออกแบบใช้สัญลักษณ์ที่ด้านขวา ตรงกลาง และตำแหน่งอื่น ๆ ลดลงมาตามลำดับ วัฒนธรรมการเขียน ความเคยชินในการรับรู้ จึงเกี่ยวข้องกับการออกแบบให้สัญลักษณ์ของการ์ดอยู่ทางด้านซ้ายมือ กล่าวคือ ผู้ออกแบบเกมมักจะออกแบบตามวัฒนธรรมทางการเขียนที่ตนเองเคยชิน คือ จากซ้ายไปขวา เหมือนกับการเขียนอักษร หรือ อ่านอักษรของวัฒนธรรมในพื้นที่ของตนเอง

 

2. แนวคิดของเทคนิคการออกแบบเกม

การพัฒนาเกมให้เล่นง่าย เหมาะกับการหยิบจับ การสัมผัสด้วยมือ เป็นสิ่งที่ผู้ออกแบบพยายามให้เกิดขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้เล่นเล่นง่าย ผ่านกระบวนการออกแบบตัวอักษร สัญลักษณ์ ภาพประกอบ การใช้สี ขนาดของการ์ด และอื่น ๆ โดยลักษณะของการ์ดเกมนั้นต้องถนัดมือ เล่นแล้วสนุก เข้าใจได้ง่าย ไม่สับสน โดยเฉพาะเกมที่ต้องใช้การ์ดเป็นความลับแล้ว ผู้เล่นจะต้องปิดการ์ดของตนเองทุกใบ เพื่อไม่ให้ผู้เล่นคนอื่นเห็นหน้าการ์ดของตนเอง ดังนั้นแล้วการคลี่การ์ดออกเพียงเล็กน้อยแล้วเห็นลักษณ์แล้วเข้าใจได้ว่าจะต้องกระทำการอย่างไรกับขั้นตอนการเล่น จึงเป็นกลยุทธ์สำคัญที่นักออกแบบควรทราบ จากการที่ธรรมชาติของการรับรู้ของมนุษย์ที่มักจะกลัวการเปิดเผยจากเงื่อนไขที่ได้วางไว้ระหว่างการเล่น

อนึ่ง การคลี่การ์ดออกด้วยมือเดียว หรือ สองมือนั้น คนส่วนใหญ่มักจะคลี่การ์ดจากซ้ายไปขวาในมือข้างขวา เพราะการ์ดจะไม่หลุดออกจากมือ หรือ วิธีการอื่น ๆ ซึ่งแน่นอนว่าจะเห็นสัญลักษณ์ฝั่งซ้ายของการ์ดแต่ละใบก่อนเป็นอันดับแรก ๆ การออกแบบให้สัญลักษณ์อยู่ซ้ายมือของตัวการ์ดจึงหลักการออกแบบที่ทำให้ผู้เล่นมองเห็นรายละเอียดได้ชัดจนเป็นลำดับแรก ๆ สู่รายละเอียดย่อย หรือ อาจมองว่าเป็นกระบวนการคิดแบบนิรนัย ที่จะมองจากส่วนหลักแล้วไปหาส่วนย่อยก็ได้ หรือ ในแง่มุมเดียวกันก็สามารถออกแบบเป็นมุมมองแบบอุปนัย ให้มองจากส่วนย่อยไปหาส่วนหลักก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผู้ออกแบบและพัฒนาเกม

 

3. แนวคิดของการรับรู้เชิงสัญลักษณ์ของสมอง

โดยปกติแล้วสมองซักซ้าย (Left Hemisphere) หรือที่นักวิทยาศาสตร์เรียกว่า “สมองแห่งเหตุผล”(Rational Brain) จะทำ หน้าที่ควบคุมการคิดการหาเหตุผล การแสดงออกเชิงนามธรรมที่เน้นรายละเอียด เช่น การนับจำนวนเลข การบอกเวลา และความสามารถในการเรียบเรียงถ้อยคำ ที่เหมาะสม เป็นต้น โดยการรับรู้สัญลักษณ์ในเกมนั้นเกิดจากสมองส่วนนี้ ที่เมื่อรับรู้เชิงสัญลักษณ์แล้วจะเกิดกระบวนการทางสมอง หาความเป็นตรรกศาสตร์ เหตุผล เกิดการรับรู้ผ่านการคิดเรียงลำดับ เมื่อคลี่การ์ดจากฝั่งซ้ายไปขวาที่มีภาพสัญลักษณ์ต่าง ๆ ทำให้เข้าใจอย่างเป็นระบบตามตรรกศาสตร์ของสมองซีกซ้ายที่เคยชินกับวัฒนธรรมการเขียนและการรับรู้ที่เคยปฏิบัติมา เช่น เมื่อเปิดได้การ์ดหมายเลขการ์ดเบอร์ 10 สมองซีกซ้ายจะทำกระบวนการเชิงเหตุและผลในการจับคู่หมายเลขการ์ดที่สอดคล้องกัน ทำความเข้าใจรายละเอียดด้วยการวิเคราะห์สัญลักษณ์และภาษาของเกม หาข้อเท็จจริงของการเล่น ทั้งนี้หากเคยชินกับวัฒนธรรมการเขียนและการรับรู้จากขวาไปซ้ายก็อาจเกิดกระบวนการทางปัญญาในทำนองเดียวกัน

เมื่อสมองซีกซ้ายทำการรับรู้และวิเคราะห์เชิงตรรกศาสตร์แล้ว สมองซีกขวา (Right Hemisphere) หรือที่นักวิทยาศาสตร์เรียกว่า “สมองแห่งสหัชญาณ” (Intuitive Brain) จะทำ หน้าที่เกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ การจินตนาการ การสังเคราะห์ ความซาบซึ้งในดนตรีและศิลปะ ความสามารถในการหยั่งหามิติต่าง ๆ ในการเล่นการ์ดเกม สมองซีกขวาจะพยายามหาแนวทางที่สร้างสรรค์ในการเอาชนะ สังเคราะห์แผนการเล่น หาแนวทางใหม่ ๆที่สามารถเอาชนะเกมได้ ซึ่งกระบวนการดังกล่าวอาจเกิดขึ้นต่อจากสมองซีกซ้าย หรือ เกิดขึ้นพร้อมสมองซีกซ้ายก็ได้

โดยการเล่นการ์ดเกมเราล้วนใช้ทั้งสมองซีกซ้ายและซีกขวา ขึ้นอยู่กับว่าระบบของเกมนั้นจะเน้นสมองซีกไหนมากกว่ากัน หากเน้นเรื่องจินตนาการและการจดจำ เรามักใช้สมองซีกขวามากกว่า แต่หากเน้นเรื่องตรรกศาสตร์ คิดเป็นระบบ เรามักจะใช้สมองซีกซ้ายมากกว่า กระบวนการทางปัญญาทั้งหมดขึ้นอยู่กับระบบและเงื่อนไขของเกมเหล่านั้น

ทำไมสัญลักษณ์ของการ์ดมักอยู่ทางซ้ายมือของผู้เล่นนั้นอาจเกิดจากวัฒนธรรมการเขียนและการรับรู้ที่ส่วนใหญ่แล้วในโลก เรามักมีวัฒนธรรมทางภาษารับรู้จากซ้ายไปขวา นักออกแบบและพัฒนาเกมจึงออกแบบด้วยวิธีคิดที่ตนเองเคยชินเหล่านั้น ให้เหมาะสมกับหลักการเข้าใจง่าย สอดคล้องกับหลักสรีระร่างกายของการใช้มือของมนุษย์ เมื่อเกิดกระบวนการจากซ้ายไปขวาแล้ว สมองเป็นหน่วยทำหน้าที่หลักให้เกิดกระบวนการทางปัญญาดังกล่าว ทั้งสมองซีกซ้ายและสมองซีกขวา ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมทางภาษาที่ผู้ออกแบบและพัฒนาเกมเคยชิน ที่จะส่งมอบความเคยเชินที่เป็นวัฒนธรรมทางภาษาดังกล่าวไปสู่ผู้เล่นตามลำดับ


เอกสารอ้างอิง

ปัญจนาฏ วรวัฒนชัย, (2559). กลไกสมองสองซีกกับความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์. วารสารสารสนเทศ, 2.

เอกณัฏฐ์ สวัสดิ์หิรัญ, (2564, พฤษภาคม 28). สำนักพิมพ์ภาษาและวัฒนธรรม. Retrieved from tpapress.com: tpapress.com/knowledge_detail.php?k=20#

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(19)
เก็บไว้อ่าน
(1)