ถ้าพูดถึงสังคมที่เราอยากอยู่ เราอยากอยู่ในสังคมแบบไหน? หลายคนคงมีสังคมในฝันที่อยากยอยู่ แต่เมื่อสังคมเป็นพื้นที่แห่งความหลากหลาย การสร้างพื้นที่ปลอดภัยร่วมและโอบอุ้มความหลากหลายจึงเป็นสิ่งสำคัญ ฉะนั้นจึงต้องมีการสร้างข้อตกลงร่วมในการอยู่ร่วมกันของสังคมเพื่อลดความวุ่นวายจากความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นและเคารพความหลากหลายในสังคมให้อยู่ร่วมกันได้
ถ้าเปลี่ยนจาก “สังคม” เป็น “ห้องเรียน” ล่ะ อยากมีห้องเรียนแบบไหน?
ครูต้น-ภาธรณ์ ภาธรณ์ สิรวรรธกุล ชวนนักเรียนร่วมกันออกแบบห้องเรียนที่น่าอยู่ แล้วมันคือแบบไหน? นั่นก็คือ...ห้องเรียนที่นักเรียนมีส่วนร่วมในการออกแบบข้อตกลงในห้องเรียน เพื่อที่จะสามารถอยู่ร่วมกันได้ โดยมีเคารพกฏกติกา เคารพซึ่งกันและกัน ลดความขัดแย้ง ลดการบูลลี่ในห้องเรียน ที่สำคัญคือเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับนักเรียนและคุณครูในการอยู่ร่วมกัน เพราะการแหกกฏ ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากคนออกแบบไม่ได้เป็นคนใช้ แต่คนที่ได้ใช้ก็ไม่ได้เป็นคนออกแบบเช่นกัน ครูต้นจึงออกแบบกระบวนการได้ดังนี้
กระบวนการ
1. Check in ความพร้อมของนักเรียน เช่น การถามคำถามว่า ห้องเรียนที่น่าอยู่คืออะไร? คุณครูอาจจะได้รับคำตอบที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวัสดุ อุปกรณ์ สภาพแวดล้อม ซึ่งมันอาจจะมีทั้งเกี่ยวข้องกับสิ่งที่จะชวนทำต่อไปหรือไม่เกี่ยวข้อง
2. ครูต้นชวนนักเรียนพูดคุยต่อจนเชื่อมโยงไปถึงการสร้างห้องเรียนปลอดภัยที่น่าอยู่บนพื้นฐานของประชาธิปไตย
3. ครูต้นชวนนักเรียนพูดคุยถึงข้อตกลงในห้องเรียนเก่าที่เคยมี จากนั้นครูต้นชวนนักเรียนร่วมกันออกแบบข้อตกลงการอยู่ร่วมกันใหม่ให้น่าอยู่ขึ้น
4. ครูต้นชวนถอดบทเรียนข้อตกลงร่วมกันที่ได้ร่างขึ้นมาใหม่
5. ครูต้นเชิญชวนให้นำข้อตกลงนี้ไปใช้กันอย่างแพร่หลายมากขึ้น ทั้งในชีวิตประจำวันหรือใช้กับห้องเรียนอื่นๆ
การออกแบบข้อตกลงในห้องเรียน โดยให้นักเรียนพูดคุยกันเองกับเพื่อน จากนั้นให้เลือกข้อตกลงที่ทุกคนยอมรับและสามารถปฏิบัติได้ การเปิดพื้นที่ให้นักเรียนร่วมกันแสดงความคิดเห็นนี้ เป็นการสร้างพื้นที่แห่งการรับฟังกัน อาจมีความคิดที่เห็นเหมือนบ้างต่างบ้าง แต่สามารถเคารพในความแตกต่างระหว่างบุคคลและการเห็นคุณค่าของคนอื่น ซึ่งเป็นหนึ่งในการพัฒนาการอยู่ในสังคมประชาธิปไตยที่เริ่มจากห้องเรียน ผู้เขียนได้รวบรวมตัวอย่างข้อตกลงที่เกิดจากการร่วมกันคิด ร่วมกันออกแบบ ร่วมกันก่อตั้งของนักเรียนทั้งห้องเอง มีดังนี้
- ให้เกียรติซึ่งกันและกัน
- ห้ามจ๊วบจ๊าบเพื่อน
- ให้ความเท่าเทียม
- ห้ามพิมพ์นะค่ะ
- ไม่ Body shaming
- สั่งงานเดือนละ 1 ชิ้น (งานเดี่ยว)
- รับฟังให้มากขึ้นไม่ด่วนตัดสินใจ
- เคารพความคิดเห็นของผู้อื่น
- ไม่ล้อชื่อแฟนเก่าและพ่อแม่
- กินลูกอมในห้องได้
- เล่นเป็นเล่น เรียนเป็นเรียน
- นอนเขียนได้
- ห้ามสายเกิน 10 นาที
- ไม่ยึดคาบว่าง
- มองเพื่อนให้เป็นคนเหมือนกัน
- ฯลฯ
จากข้อตกลงดังกล่าวจะเห็นได้ว่า นักเรียนกำหนดแนวทางการอยู่ร่วมกันที่หลากหลาย มีทั้งเรื่องการเนื้อหาการเรียน การเข้าชั้นเรียน การบ้าน การสอนของคุณครู การปฏิบัติตนของเพื่อน การใช้ภาษาง่าย ๆ ที่เข้าใจกันภายในห้อง การผ่อนคลายจากการเรียนก็มีเช่นกัน แสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับการสร้างบรรยากาศที่เหมาะสมในการอยู่ร่วมกัน หรือ การสร้างพื้นที่ปลอดภัย การเคารพตัวเองและเพื่อนผ่านการเคารพกฏกติกาที่ตั้งขึ้นร่วมกัน
การกำหนดข้อตกลงร่วมกันนี้ คงมีบ้างบางครั้งที่มีการแหกกฏและไม่เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้ เมื่อเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้น สามารถจัดการด้วยการช่วยกันดูข้อตกลงร่วมกันอีกครั้ง เพราะเมื่อคนในสังคมเปลี่ยนแปลงไป กฏระเบียบหรือข้อตกลงก็จะต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน ในกระบวนการทั้งหมดนี้ครูต้นเป็นเพียงผู้สร้างกระบวนการสร้างพื้นที่ปลอดภัยแก่นักเรียน แต่นักเรียนจะเป็นผู้ออกแบบห้องเรียนด้วยตัวเอง นักเรียนจึงรู้ว่าสึกว่า “สังคมนี้เป็นของเรา”
ขอบคุณไอเดียจาก ครูต้น-ภาธรณ์ ภาธรณ์ สิรวรรธกุล
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย
ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!