icon
giftClose
profile
frame

เกมหน้าต่าง 4 บานของโจฮารี (Johari Window)

5012112
ภาพประกอบไอเดีย เกมหน้าต่าง 4 บานของโจฮารี (Johari Window)

หลายครั้งที่เรามองเห็นตัวเองผ่านสายตาของคนอื่นได้ชัดเจนยิ่งกว่ายืนมองดูตัวเองหน้ากระจกเงา การปฏิสัมพันธ์และการได้เรียนรู้ลักษณะนิสัยใจคอของกันและกันจึงมีความน่าสนใจ หากทำกิจกรรมนี้ผ่านเกม เพื่อเข้ามาช่วยเชื่อมโยงกับเนื้อหาที่สอนได้อย่างเพลิดเพลิน ทำให้ผู้เรียนเข้าใจตัวตนของตัวเองและผู้อื่นได้มากขึ้น

เตรียมตัวก่อนคาบที่ 1 (อ่านทฤษฎีนิดนึงครับเพื่อได้ concept)

หน้าต่างสี่บาน หรือ หน้าต่างโจฮารี (Johari Window) แนวคิดทางจิตวิทยา ถูกนำเสนอในปี 1955 โดยนักจิตวิทยาชาวอเมริกันสองท่านคือ Joseph Luft และ Harrington Ingham ซึ่งมีใจความเกี่ยวกับความสัมพันธ์ภายในและระหว่างบุคคล โดยแบ่งรูปแบบพฤติกรรมของบุคคลหนึ่งๆ ออกเป็น 4 แบบ ลงบนโมเดลรูปหน้าต่าง ดังนี้

1. Open Area หรือ บริเวณเปิดเผย (เรารู้ เขารู้) เป็นตัวตนที่เปิดเผยอย่างตรงไปตรงมา เรารู้ตัวและตั้งใจแสดงพฤติกรรมนั้นซึ่งมีจุดประสงค์ชัดเจนให้คนอื่นเห็นและเข้าใจได้ทันที เช่น ยิ้มให้ หัวเราะเสียงดัง รวมถึงความคิดความอ่าน ทัศนคติ มุมมอง ยิ่งเรามีท่าทีเปิดกว้างต่อความเป็นตัวเองมากเท่าไหร่ ยิ่งมีความเป็นไปได้ว่าผู้อื่นก็จะตอบโต้ด้วยท่าทีที่เปิดเผยเหมือนกัน ทำให้เกิดความใกล้ชิดสนิทสนมมากขึ้น

2. Blind Area หรือ บริเวณจุดบอด (เราไม่รู้ เขารู้) เป็นพื้นที่บอด เพราะเราแสดงพฤติกรรมออกไปโดยไม่รู้ตัว แต่ผู้อื่นรับรู้ได้ เขามองเห็นตัวเราในมุมที่เราเองไม่เคยสังเกตมาก่อน ส่วนใหญ่เป็นข้อเสียหรือจุดบกพร่องที่เราอาจทำผิดพลาดจากความไม่ตั้งใจและไม่ได้ตระหนักรู้ว่าตนเองได้ทำสิ่งที่ไม่เหมาะสมลงไป เราจะรับรู้ได้ก็ต่อเมื่อผู้อื่นเตือนหรือชี้แนะ ซึ่งต้องยอมรับและปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้น หากไม่เปลี่ยนแปลงตัวเอง จะยิ่งสร้างปัญหาและความขัดแย้งกับผู้อื่น

3. Hidden Area หรือ บริเวณซ่อนเร้น (เรารู้ เขาไม่รู้) เป็นตัวตนที่เราเก็บซ่อนไว้ไม่ให้ใครล่วงรู้ มักจะเป็นความรู้สึกนึกคิดภายในใจ หรือเป็นพฤติกรรมลับที่ไม่เคยแสดงออกให้ใครเห็น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่า หากคนอื่นรู้เข้าจะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทันที อาจสร้างความห่างเหินหรือทำให้ไม่สนิทใจจนไม่อยากรู้จักกันอีกต่อไป เช่น ในใจเกลียดชังคนนี้มาก แต่ต้องทำทีท่าว่ารู้สึกดี ภาพที่คนอื่นเห็นจึงตรงข้ามกับความจริงที่ใจคิด

4. Unknown Area หรือ บริเวณมืดมน (เราไม่รู้ เขาไม่รู้) เป็นตัวตนที่รอการค้นพบ โดยไม่รู้ว่าจะเจอหรือไม่ และจะเจอเมื่อไหร่ แต่จะรู้ได้ก็ต่อเมื่อพบเจอประสบการณ์ใหม่หรือเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึง เช่น เราอาจไม่รู้ว่าตัวเองมีความสามารถหรือพรสวรรค์ด้านใดด้านหนึ่งมาก ๆ จนกว่าจะได้ลองทำหรือหยิบจับสิ่งนั้น นอกจากนี้ยังรวมถึงพฤติกรรมที่เราอาจแสดงออกมาภายใต้สถานการณ์คับขัน เช่น เมื่อต้องต่อสู้เอาชีวิตรอด

ซึ่ง Open Area และ Hidden Area มีผลกับสัมพันธภาพระหว่างบุคคลโดยตรง ส่วน Blind Area และ Unknown Area มีผลกับสัมพันธภาพระหว่างบุคคลโดยอ้อม


1.Intro เรียกความพร้อม

ครูพูดประโยค ‘Johari window’ เข้าใจเรา เข้าถึงเขา มองเห็นตัวตนของกันและกัน ผ่านหน้าต่าง 4 บานของโจฮารี ให้ครูพูดอีกครั้งอาจไม่เหมือนเดิมนะ หัวข้อเช็คชื่อในวันนี้ขอ 3 คำที่เป็นตัวเรา เริ่ม (ครูเรียกชื่อนักเรียน นักเรียนก็จะพูด 3 คำที่เป็นเขา)


2. Stimulate กระตุ้นให้อยากรู้

2.1 ครูพูดคุยชวนนักเรียนมาทำความรู้จักกันให้มากขึ้น (ก่อนหน้านี้ก็ทำความรู้จักกันระดับนึงแล้ว) ครูเล่าให้นักเรียนฟังถึงนิสัยบางอย่างไม่กล้าบอก เกรงใจ คนสนิทก็ไม่รู้ ยิ่งนิสัยบางอย่างอยากให้รู้แต่ไม่สามารถพูดออกมาจากปากได้ บางอย่างก็ลำบากใจที่จะบอก

2.2 ครูอธิบายทฤษฎี Johari Window ให้นักเรียนฟังพอสังเขป จากนั้นชวนนักเรียนเล่นเกม ครูอธิบายวิธีการเล่น และ แบ่งกลุ่มนักเรียน (กลุ่มตามใจชอบ ไม่บังคับ แต่จำนวนสมาชิกแต่ละกลุ่มควรใกล้เคียงกัน)


3. Learn เรียนรู้ร่วมกัน

ครูแจกการ์ด Johari Window Adjective Card ให้นักเรียน (2-3 ชุด / 1 กลุ่ม)


-ให้สมาชิกในกลุ่มทุกคนเลือกการ์ดที่เป็นตัวเองคนละ 10 ใบ

-ให้นักเรียนพิจารณา 10 ใบนั้น แล้วคัดออกให้เหลือ 5 ใบที่ชัดเจนมากที่สุด

-เรียงลำดับ 5 ใบนั้นไว้ในใจโดยไม่บอกเพื่อน (เรียงจากบนลงล่าง เพื่อการอ่านง่ายขึ้น)

-สมาชิกในกลุ่มชวนให้เพื่อนในกลุ่มมาทายตัวเองทีละคน เริ่มจากใครก่อนก็ได้ วิธีคือ

1) วางการ์ดทั้ง 5 ใบต่อหน้าเพื่อน ไม่เรียงลำดับ

2) เพื่อนเรียงลำดับการ์ดนั้น ทีละคนจนครบทุกคน (ให้เจ้าของการ์ดสังเกตถึงการเห็นต่างของเพื่อนแต่ละคน)

3) ให้เจ้าของการ์ดเฉลย (วิธีเฉลย ให้เฉลยด้วยภาษาใบ้ หรือทำท่าทางประกอบ แล้วให้เพื่อนเรียงใหม่ )

4) สลับกันทายจนครบทุกคน


4. Conclusion ทวน/ถอดบทเรียนร่วมกัน

-แชร์ในกลุ่มของตนเอง 5 ใบที่เก็บไว้และ 5 ใบทิ้งไป

-พูดถึงความรู้สึกที่ได้รู้จักกันมากขึ้นและความรู้สึกที่เพื่อนรู้จักเราที่เป็นตัวเราเอง คนละ 2 นาที ฝึกการฟัง


5. Apply ชวนให้ปรับใช้ในชีวิต ประจำวัน

ข้อความส่งท้ายให้นักเรียน

1. เปิดเผยตัวตนมากขึ้น โดยแบ่งปันเรื่องราว ประสบการณ์ และมุมมองของชีวิตกับผู้คนรอบตัว เพื่อให้เกิดความความเชื่อใจและไว้วางใจต่อกัน เพิ่มความสนิทชิดเชื้อ

2. หมั่นถามความเป็นเราจากคนที่คิดดีและหวังดีกับเรา อาจเป็นคนในครอบครัว คนรัก เพื่อนสนิท เพราะทำให้เรามองเห็นตัวตนในอีกแง่มุมได้ เพื่อพัฒนาส่วนที่ดี และแก้ไขส่วนที่แย่

3. สังเกตและทบทวนความสัมพันธ์ บางครั้งความเกรงใจทำให้คนอื่นเลือกไม่พูดถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของเราโดยตรง แต่เขาจะแสดงออกด้วยท่าทีที่ผิดไปจากปกติ ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนให้เราระวังการกระทำของตัวเองให้มากขึ้น

ท้ายที่สุดเมื่อเราขยาย open self ได้ใหญ่กว่าช่องอื่น ๆ แสดงว่าเราเข้าใจตัวเอง และเข้าใจตัวตนของผู้อื่น ซึ่งความเข้าใจนี้จะคอยทำหน้าที่เป็นกาวคอยเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างกันและกันให้คงอยู่ไม่จางหาย แต่ถ้าหากชีวิตปราศจากความเข้าใจ ก็คงไม่อาจรักษาความสัมพันธ์ใด ๆ ไว้ได้เช่นกัน


คาบที่ 2 ลงลึกทฤษฎี (ไม่สอนก็ได้นะครับ)

ชวนนักเรียนทำใบงานหน้าต่าง 4 บาน เป็นการรู้จักผู้เรียนเป็นรายบุคคล ให้นักเรียนทำไปพร้อม ๆ กันทีละ 1 บาน (Johari Window Handout)

บานที่ 1 Open Area นักเรียนกรอกเองและให้เพื่อนกรอกข้อมูลให้ (หลาย ๆ คนก็ดี จะได้เปิดเผยตรงตามจุดประสงค์ของหน้าต่างบานนี้)

บานที่ 2 Blind Area ให้คนสนิทกรอกข้อมูลให้ (เพราะนักเรียนไม่เห็นตัวเองจริง ให้ครูย้ำให้นักเรียนฝึกรับฟังข้อมูลที่แตกต่างหลากหลายและรับคำวิจารณ์ได้บ้าง)

บานที่ 3 Hidden Area นักเรียนกรอกเอง (หากนักเรียนไม่อยากเปิดเผย ให้ว่างไว้ก็ได้)

บานที่ 4 Unknown Area ชวนนักเรียนคิดว่าเราจะทำบานนี้อย่างไร สำรวจตัวเองว่ามีสิ่งใดที่เราทำออกไปแบบไม่รู้ตัวบ้าง ให้จับคู่สลับกันพูดและฟังคนละ 3 นาที


Check out ปิดวงใหญ่ โดยให้นำเสนอตัวตนผ่านคนอื่น (นักเรียนไม่ต้องนำเสนอตัวเอง ให้ขออนุญาตเพื่อนเล่าให้ฟังสัก 2-3 คน ตามเวลาจะอำนวย)



research.eef.or.th/online-learning-with-game

ไฟล์ที่เกี่ยวกับไอเดีย

ไฟล์ที่ 1 จากทั้งหมด 9

ชื่อไฟล์​: messageImage_1625714098044.jpeg

ดาวน์โหลดแล้ว 427 ครั้ง


รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(48)
เก็บไว้อ่าน
(37)