icon
giftClose
profile

การสื่อสารเพื่อสร้างสัมพันธภาพ

33220
ภาพประกอบไอเดีย การสื่อสารเพื่อสร้างสัมพันธภาพ

การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพระหว่างบุคคล ควรเป็นการสื่อสารแบบสองทาง และควรเป็นไปในลักษณะที่ให้ความสําคัญกับการสร้างสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน ดังนั้นการฝึกทักษะการสื่อสารสองทางเพื่อสร้างสัมพันธภาพ จะช่วยให้บุคคลอยู่ร่วมกันและสื่อสารกันอย่างเข้าใจ เกิดมิตรภาพที่ดีต่อกันยิ่งขึ้น

ครูต้นขอใช้กระบวนการของมะขามป้อมนะครับ จัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยการใช้กระบวนการเรียนรู้ Learning Curve 5 ขั้นตอน


ชั่วโมงที่ 1

1. Intro เรียกความพร้อม

 

วันนี้เราจะเรียนเรื่องการสื่อสารแต่ Wifi ไม่มี เอาไงดีหล่ะนักเรียน เช็คชื่อก่อนแหละ วันนี้โจทย์คือเครื่องมือสื่อสารอะไรก็ได้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เริ่ม จิรายุ -นกพิราบ เบลล่า - Line ฯลฯ ต่อด้วยเกมดารากับการสื่อสาร **ใช่หรือไม่** วิธีเล่น ครูตั้งโจทย์ขึ้นมาถามนักเรียน ใครเห็นว่าใช่ให้อยู่ฝั่งขวาของครู ใครคิดว่าไม่ใช่ให้อยู่ฝั่งซ้าย เช่น ณเดชน์ไม่เคยเป็นพรีเซ็นเตอร์เครื่องมือสื่อสาร

 

2. Stimulate กระตุ้นให้อยากรู้

 

ครูสอบถามนักเรียนว่า หากเกิดสถานการณ์ต่อไปนี้กับนักเรียน นักเรียนจะทําอย่างไร

  •  - ปวดอุจจาระมาก จนขนาดอั้นไว้ไม่อยู่ แต่ถึงคิวต้องออกไปรายงานหน้าห้อง
  •  - ทํางานส่งครูไม่ทันจริงๆ เพราะเมื่อคืนพ่อกับแม่ทะเลาะกันจนบ้านแทบแตก ไม่มีสติและสมาธิที่จะทําอะไร จะต้องถูกครูหักคะแนน
  •  - ไปตามนัดกับเพื่อนไม่ได้จริง ๆ เพราะแม่ป่วยต้องเข้าโรงพยาบาลกะทันหัน
  •  - แม่ถามว่าจะไปไหน โรงเรียนเลิกแล้วไม่ใช่หรือ
  •  - เพื่อนคุยกันเสียงดัง ไม่ได้ยินที่ครูสอน
  •  - แฟนงอนไม่พูดด้วยสามวันแล้ว ฯลฯ (ตามที่เห็นว่าเป็นสถานการณ์ที่ต้องใช้การสื่อสาร)

 

ครูฟังคําตอบนักเรียน และพูดคุยให้นักเรียนตระหนักว่า การพูด การบอกความคิด ความรู้สึก หรือเหตุผลความจําเป็นต่าง ๆ กับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเรา เป็นเรื่องธรรมดาในชีวิตประจําวัน ตราบใดที่เราต้องอยู่ร่วมกับบุคคลอื่น ซึ่งเราจะเรียกว่า “การสื่อสารระหว่างบุคคล” 

 

3. Learn เรียนรู้จากประสบการณ์

 

ให้นักเรียนเรียนรู้รูปแบบการสื่อสารระหว่างบุคคล 2 แบบ คือ การสื่อสารทางเดียว กับ การสื่อสารสองทาง โดยให้ทํากิจกรรมตามลําดับดังนี้

 

1) แบ่งนักเรียนเป็นกลุ่ม ๆ ละ 6-10 คน แต่ละกลุ่มส่งตัวแทน 1 คน เพื่อเป็นคน คนออกคําสั่งให้สมาชิกในกลุ่มวาดรูปตามแบบที่ครูเตรียมไว้ โดยมีกติกาว่า “ห้ามสมาชิกซักถาม ให้ทําตาม คําสั่งอย่างเดียว” และ “ผู้สั่ง สั่งอย่างเดียว ไม่ให้ใช้กิริยาท่าทางบอกใบ้” (หมายเหตุรูปที่เตรียมไว้ คือรูปที่สามารถอธิบายเป็นคำได้ไม่ยาก เช่น รูปทุ่งหญ้ากว้างมีกังหันลม มีนกบินอยู่บนท้องฟ้า ให้ดูว่านักเรียนสามารถคิดซับซ้อนได้หรือไม่ ตามใจครูครับ)

  

2) เมื่อสมาชิกทุกคนวาดเสร็จ ครูสุ่มสมาชิกที่วาดรูปไม่เหมือนกัน 7 – 8 คน ออกมาแสดงผลงานที่ตนวาดให้สมาชิกอื่น ๆ ดู

  

3) ให้แต่ละกลุ่มวาดรูปตามแบบเดิมอีกครั้ง โดยให้คนสั่งทําหน้าที่เหมือนเดิม แต่ ครั้งนี้เปิดโอกาสให้สมาชิกซักถามได้ถ้าสงสัยหรือไม่เข้าใจคําสั่ง

  

4) เมื่อสมาชิกวาดรูปเสร็จ ครูสุ่มสมาชิกที่วาดรูป 7 – 8 คน ออกมาแสดงผลงานที่ ตนวาดให้สมาชิกอื่น ๆ ดู

  

5) ให้สมาชิกเปรียบเทียบภาพที่วาดทั้งสองครั้ง ว่าการวาดครั้งใดเหมือนหรือ ใกล้เคียงกับรูปต้นแบบ เพราะเหตุใด

  

4. Conclusion ทวน/ถอดบทเรียนร่วมกัน

 

ให้นักเรียนร่วมกันอภิปราย ในประเด็นต่อไปนี้ - เพราะอะไรเราต้องสื่อสารสองทาง - เราสื่อสารสองทางได้ประโยชน์อย่างไร - วิธีการสื่อสารสองทางอย่างมีประสิทธิภาพมีอะไรบ้าง

  

5. Apply ชวนให้ปรับใช้ในชีวิต ประจำวัน

 

ให้นักเรียนสรุปแนวคิดที่ได้จากกิจกรรม (แนวสรุป : การสื่อสารที่ดี ควรเป็นการสื่อสาร สองทาง (Two-Way Communication) จากฝ่ายหนึ่งไปยังอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งเป็นการสื่อสารที่ผู้รับข้อมูลจะ สามารถสื่อสาร โต้ตอบกับผู้ให้ข้อมูลได้ มีการใส่ใจซึ่งกันและกัน เปิดโอกาสให้ผู้รับข้อมูล มีโอกาสสอบถามข้อ สงสัย มีโอกาสแสดงความคิดเห็น ก่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกันทั้งผู้ส่งและผู้รับ นําไปสู่สัมพันธภาพที่ ดีต่อกัน เพราะรากฐานที่แท้ของการสื่อสาร คือการเชื่อมโยงจิตใจของคนเข้าด้วยกัน)


ชั่วโมงที่ 2

กิจกรรม **ใบ้คำทายคำ** (วิธีเล่น 1.นักเรียนนั่งเป็นแถวตอนลึกตามกลุ่มเมื่อชั่วโมงที่แล้ว 2. นักเรียนได้รับโจทย์ที่ครูเตรียมไว้ ได้แก่ รุ่นของโทรศัพท์ แต่ละกลุ่มได้ชื่อของรุ่นไม่ซ้ำกัน 3.นักเรียนคนแรกที่ได้รับโจทย์อ่านไม่ออกเสียง (ลิปซิ้งค์) ยี่ห้อโทรศัพท์นั้นๆให้เพื่อนคนที่ 2 เดาจากการขยับปาก เมื่อคนที่ 2 อ่่านปากแล้ว ก็กลับหลังหันทำแบบนี้จนถึงคนสุดท้าย) หมายเหตุ ครูอาจเตรียมสุภาษิตคำพังเพยหรือเนื้อเพลงไว้เล่นต่อสัก 2-3 รอบ


ทบทวนรูปแบบการสื่อสารระหว่างบุคคล 2 รูปแบบ จากการเรียนรู้ในชั่วโมงที่ผ่านมาและถามนักเรียนว่า ในการสื่อสารสนทนากับบุคคลต่าง ๆ ที่ผ่านมา มีบ้างไหมที่เคยพูดกันไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจกัน บางครั้งก็ทะเลาะกัน บางครั้งก็เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา ให้นักเรียนอาสาสมัคร 1 คู่บอกเล่า โดยการแสดงบทบาทสมมติการสื่อสารที่ไม่เข้าใจนั้น ๆ จากประสบการณ์ที่เคยเจอมา

ให้นักเรียนอภิปรายการแสดงบทบาทสมมติของเพื่อน ในประเด็นต่อไปนี้

  • - เป็นการสื่อสารทางเดียว หรือ สองทาง (เป็นการสื่อสารสองทาง แต่เป็นไปในทางที่ไม่เข้าใจกัน)
  • - คิดว่าใครผิด เพราะอะไร (ผิดทั้งคู่ เพราะต่างๆไม่ฟังกัน)
  • - สัมพันธภาพระหว่างคู่สนทนาดีหรือไม่ดี (ไม่ดี)
  • - อะไรทําให้เกิดความไม่เข้าใจกัน (การไม่ใส่ใจกัน ไม่ฟังกัน เอาตัวเองเป็นหลัก)
  • - ผลของการสื่อสารที่ไม่เข้าใจก่อให้เกิดผลอะไรตามมาบ้าง เป็นผลดีหรือไม่ดีต่อสัมพันธภาพของบุคคลทั้งสองฝ่าย

ครูนําเสนอหลักคิดและแนวปฏิบัติในการสื่อสารเพื่อสร้างสัมพันธภาพที่ดี ดังนี้

หลักคิด : การสนทนาการสื่อสารกันเพื่อให้รับรู้เรื่องราวที่เป็นประโยชน์ เกิดสัมพันภาพที่ดีต่อกัน

แนวปฏิบัติ : ใส่ใจฟังอย่างตั้งใจ สนใจทั้งความคิดและความรู้สึกของคู่สนทนา

: ใส่ใจถาม เพื่อให้รู้ เพื่อให้เข้าใจคู่สนทนามากขึ้น ให้เกียรติและเชื่อว่าทุกคนมีความคิดและเหตุผลของตนเอง

: มีสติรู้ตัวทุกขณะเวลาสื่อสารกับผู้อื่น

**เพื่อนช่วยเพื่อน** ให้นักเรียนร่วมกันสร้างบทสนทนาการสื่อสารระหว่างบุคคล 2 แบบของบุคคล 3 คู่ 1.นักเรียน-พ่อ 2. นักเรียน-แม่ 3.นักเรียน-เพื่อน 4.นักเรียน-คนอื่นๆ แบบไม่เข้าใจกัน และแสดงออกมา จากนั้นให้กลุ่มเดิมร่วมกันแก้ไขบทบทสนทนาให้เข้าใจกันมากขึ้น และชวนพูดคุยในประเด็นในประเด็นต่อไปนี้

  • - การสื่อสารแบบใดได้เป็นประโยชน์ เกิดความเข้าใจกัน มีสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน
  • - คิดว่าใครเป็นคนเปลี่ยน ถึงทําให้เข้าใจกัน
  • - อะไรทําให้เกิดความเข้าใจและเกิดสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน (การใส่ใจกัน ฟังกันไม่เอาตัวเองเป็นหลัก)


การบ้าน ให้นักเรียนทบทวนหลักคิดและแนวปฏิบัติในการสื่อสารเพื่อสร้างสัมพันธภาพที่ดีต่อกันและมอบหมายให้นักเรียนนําไปฝึกฝน โดยการแบ่งนักเรียนเป็นกลุ่มๆละ 10 คน (หรือตามความเหมาะสม) ให้แต่ละกลุ่มจับฉลากเลือกหัวข้อ ในการสื่อสารเพื่อสัมพันธภาพที่ดีต่อกันในสถานการณ์ต่าง ๆ และให้เตรียมนําเสนอโดยการแสดงบทบาทสมมติในชั่วโมงต่อไป

กลุ่มที่ 1 การสื่อสารที่เข้าใจกัน ระหว่างนักเรียน กับ พ่อ

กลุ่มที่ 2 การสื่อสารที่เข้าใจกัน ระหว่างนักเรียน กับ กับแม่

กลุ่มที่ 3 การสื่อสารที่เข้าใจกัน ระหว่างนักเรียน กับ กับครู

กลุ่มที่4 การสื่อสารที่เข้าใจกัน ระหว่างนักเรียน กับ กับเพื่อน

กลุ่มที่ 5 การสื่อสารที่เข้าใจกัน ระหว่างนักเรียน กับ คนอื่น ๆ (กําหนดตามความเหมาะสม)


ชั่วโมงที่ 3 Roleplay

ให้แต่ละกลุ่มนําเสนอการสื่อสารที่เข้าใจกัน ด้วยการแสดงบทบาทสมมติตามหัวข้อที่จับฉลากได้และให้เพื่อนต่างกลุ่มช่วยกันประเมินว่าเป็นการสื่อสารที่เหมาะสมมีผลต่อการสร้างสัมพันธภาพที่ดีต่อกันหรือไม่

นักเรียนสรุปประโยชน์การสื่อสารสองทางเพื่อสร้างสัมพันธภาพ และแนวปฏิบัติในการสื่อสาร ที่มีเป้าหมายสําคัญคือ สัมพันธภาพที่ดีต่อกัน เกิดความเข้าใจ ความสบายใจ ผ่านการสนทนาสื่อสารที่ต่างฝ่ายต่างใส่ใจซึ่งกันและกัน รับฟังกัน และถามเมื่อไม่เข้าใจ ให้โอกาสอีกฝ่ายได้บอกเล่าความคิด เหตุผลความรู้สึก ความจําเป็น ให้อีกฝ่ายได้รับทราบ ให้เกียรติ และเชื่อว่าทุกคนต่างมีความคิดและเหตุผลของตนเอง

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(6)
เก็บไว้อ่าน
(7)