วิชาวิทยาศาสตร์เป็นวิชาที่นักเรียนหลายคนชอบ เพราะมีการทดลองสนุก ๆ ที่หลากหลาย แต่ในความเป็นจริงหลายๆ ห้องเรียนอาจจะต้องตัดการทดลองที่สนุก และน่าสนใจเหล่านั้นออกไปเพราะเหตุปัจจัย หรือสถานการณ์ที่ไม่เอื้อต่อการจัดกิจกรรม ทำให้นักเรียนของเราขาดความกระตือรือร้น และเบื่อหน่ายในเนื้อหาวิชา วันนี้ krupaewscience มีกิจกรรมสนุก ๆ มาเชิญชวนคุณครูให้นำไปลองจัดกิจกรรมให้กับนักเรียน เพื่อช่วยให้ห้องเรียนกลับมาสนุกสนาน ไม่น่าเบื่อ สามารถเรียนรู้ได้ตลอดเวลา สร้างเจตคติที่ดีทางด้านวิทยาศาสตร์ให้กับนักเรียนของเราด้วยค่ะ ซึ่งกิจกรรมนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากกิจกรรมดี ๆ ของ สสวท.ร่วมกับ Application Tiktok โดย krupaewscience นำมาบูรณาการกับกิจกรรม STEM เพื่อฝึกทักษะการคิดแก้ปัญหาใกล้ตัวที่อาจเกิดขึ้นกับทุกคนได้
กิจกรรมที่ krupaewscience นำมาใช้ครั้งนี้เป็นเนื้อหาในหน่วยการเรียนรู้ เรื่อง โลกและการเปลี่ยนแปลง โดยนำภัยธรรมชาติบนผิวโลก เกี่ยวกับน้ำท่วมมาเป็นประเด็นปัญหาให้นักเรียนของเราได้ร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์เพื่อเอาชีวิตรอดในวิกฤตน้ำท่วมให้ได้ค่ะ มาเริ่มกิจกรรมกันเลยนะคะ
ก่อนอื่นเราต้องกระตุ้นความสนใจนักเรียนของเราด้วยการชมวิดิทัศน์เกี่ยวกับผิวโลกของเรา และการขุดเจาะหลุมที่ลึกที่สุด (ขอบคุณวิดิโอจาก Bright Side Thai : https://www.youtube.com/watch?v=GY9JEqmhqWA จากนั้นให้นักเรียนร่วมกันสืบค้นข้อมูลที่สนใจ แล้วนำเสนอในรูปแบบของวิดิโอใน Application Tiktok นักเรียนสามารถทำเป็นงานเดี่ยวหรืองานคู่ก็ได้นะคะ เผื่อว่าเพื่อนบางคนเก่งในด้าน Content บางคนเก่งในด้านการตัดต่อวิดิโอจะได้ช่วยเหลือกันได้ค่ะ และนี่คือตัวอย่างผลงานจากนักเรียนค่ะ
สามารถติดตามผลงานเพิ่มเติมได้ทาง QR Code ในภาพเลยนะคะ
เมื่อนักเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับโลกและการเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลกครบตามตัวชี้วัดแล้วก็มาถึงเวลากิจกรรมสนุก ๆ อีกกิจกรรมขอบอกว่าเป็นกิจกรรมที่ท้าทายความสามารถ ความคิดสร้างสรรค์ ความสามัคคี และน้ำใจนักกีฬามาก ๆ เลยค่ะ เพราะเป็นการแข่งขันที่นักเรียนต้องยอมรับในผลงานของกลุ่มตัวเอง และพร้อมที่จะรับคำแนะนำ เมื่อเกิดข้อผิดพลาดในการออกแบบ หรือผลการทดลองที่อาจจะไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้
กิจกรรมเริ่มต้นจากการให้นักเรียนได้ระบุปัญหา สาเหตุ ที่เกิดขึ้นจากอุทกภัยหรือภัยจากน้ำท่วมในท้องถิ่น และผลกระทบที่เกิดขึ้นซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ปัญหาการขาดแคลนน้ำจืดสำหรับอุปโภค บริโภค จากประเด็นนี้ krupaewscience ได้จัดกิจกรรมในรูปแบบ STEM เพื่อให้นักเรียนได้ออกแบบเครื่องกรองน้ำ โดยมีเงื่อนไขดังนี้
1. สร้างเครื่องกรองน้ำได้เพียง 1 เครื่องต่อ 1 กลุ่ม โดยสามารถนําไปกรองน้ำที่ครูเตรียมไว้ให้ภายในเวลา 60 นาที (รวมเวลาปรับแก้ไขสิ่งประดิษฐ์ ให้ปรับแก้ได้เพียง 1 ครั้ง)
2. เครื่องกรองน้ำสามารถลอยทรงตัวอยู่ในอ่างน้ำขนาด 80 x 50 cm ได้ตลอดเวลา โดยไม่มีส่วนหนึ่งส่วนใดของเครื่องกรองน้ำอยู่ชิดติดขอบของอ่างน้ำ
3. ในการกรองน้ำของแต่ละกลุ่มกำหนดให้กรองได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง แต่ให้เวลาในการกรองเพียง 5 นาที โดยน้ำที่กรองได้ต้องมีกลิ่นไม่เป็นที่รังเกียจ มีค่า pH อยู่ระหว่าง 6.5 – 8.5 มีค่า TDS ต่ำกว่า 500 ppm ตามมาตรฐานน้ำดื่ม (คำนวณจากค่าเฉลี่ย 3 ซ้ำ)
กิจกรรมที่ krupaewscience จัดขึ้นจะสนุกสนาน ลุ้นกันสุดตัวแค่ไหน มาดูผลงานของนักเรียนกันค่ะ
ติดตามวิดิโอเพิ่มเติมได้ในช่อง youtube ของ krupaewscience นะคะ
https://www.youtube.com/channel/UCOxJys-5IGoB_6W8DjEy5zA หากคุณครูท่านใดสนใจกิจกรรมบูรณาการ STEM สามารถกด download ไฟล์แผนการจัดการเรียนรู้ ที่แนบไว้ได้เลยค่ะ
เป็นอย่างไรกันบ้างค่ะ สำหรับกิจกรรม เรียนวิทย์สนุก เรียนเชิงรุกออนไลน์ บูรณาการ STEM หากมีข้อเสนอแนะประการใดเขียนความคิดเห็นให้กับ krupaewscience ได้ปรับปรุงแก้ไขได้นะคะ เพื่อที่จะได้นำไปพัฒนาการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ต่อไปค่ะ และหากมีความผิดพลาดประการใด krupaewscience ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยนะคะ
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย