icon
giftClose
profile
frame

กลวิธี POE Strategy สอนออนไลน์เรื่องโครงสร้างโลก

621712
ภาพประกอบไอเดีย กลวิธี POE Strategy สอนออนไลน์เรื่องโครงสร้างโลก

แผนการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลก เรื่องโครงสร้างโลก โดยใช้การเรียนรู้แบบสืบสอบเป็นฐาน (inquiry based learning) ในที่นี้คือ กลวิธีทำนาย-สังเกต-อธิบาย (POE Strategy) เพื่อส่งเสริมทักษะการสร้างคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ กระบวนการกลุ่ม และจิตวิทยาศาสตร์

แผนการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและอวกาศ ในรายวิชาพื้นฐาน วิทยาศาสตร์โลกและอวกาศ

เรื่องการแบ่งชั้นของโครงสร้างโลกตามองค์ประกอบทางเคมี  


สาระ/เนื้อหา

การแบ่งชั้นของโครงสร้างโลกตามองค์ประกอบทางเคมีโดยศึกษาจากองค์ประกอบทางเคมีของหิน แร่ และอุกาบาต ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 3 ชั้น ได้แก่ เปลือกโลก เนื้อโลก และแก่นโลก  


การจัดการเรียนรู้

รูปแบบการเรียนการสอนคือ รูปแบบการเรียนการสอนแบบสืบสอบในที่นี้คือ กลวิธีทำนาย-สังเกต-อธิบาย (POE Strategy) ร่วมกับการใช้แบบจำลองเชิงเปรียบเทียบ (Analogue Model) ในการส่งเสริมให้นักเรียนมีความสามารถสร้างคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ การให้เหตุผลทางวิทยาศาสตร์ กระบวนการกลุ่ม และเจตคติทางวิทยาศาสตร์


วัตถุประสงค์การเรียนรู้

เมื่อเรียนจบคาบนี้นักเรียนจะสามารถ

1. อธิบายความหมายของโครงสร้างโลกตามองค์ประกอบทางเคมีได้อย่างถูกต้อง (K)

2. สร้างแบบจำลองโครงสร้างโลกจากการแบ่งชั้นตามองค์ประกอบทางเคมีได้อย่างถูกต้อง (K)

3. ปฏิบัติกิจกรรมการเรียนรู้อย่างมีทักษะปฏิบัติทางวิทยาศาสตร์ (P)

4. ประพฤติตรงตามความเป็นจริงต่อตนเองและผู้อื่นได้อย่างเหมาะสม (ซื่อสัตย์) (A)

5. ปฏิบัติตามข้อตกลงของชั้นเรียนได้อย่างเหมาะสม (มีวินัย) (A)

6. ตั้งใจ เพียรพยายามในการเรียน และเข้าร่วมกิจกรรมการเรียนรู้ได้อย่างเหมาะสม (ใฝ่เรียนรู้) (A)


กิจกรรมการเรียนรู้

ขั้นนำเข้าสู่บทเรียน (เวลา 5 นาที)

1.   ครูใช้แพลตฟอร์มกูเกิลมีต (Google Meet) สำหรับการประชุมทางวิดีโอของชั้นเรียนในการออนไลน์ และครูตรวจสอบรายชื่อนักเรียนที่เข้าเรียนวันนี้ จากนั้นครูทบทวนความรู้เดิมเรื่องการแบ่งชั้นโครงสร้างโลกตามสมบัติเชิงกล

2.   ครูให้นักเรียนดูรูปที่ 1 ไข่ต้ม จากนั้นครูถามนักเรียนเพื่อกระตุ้นการเรียนรู้ว่า “โครงสร้างของไข่ต้มเป็นอย่างไร” (นักเรียนแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระ)

 

รูปที่ 1 ไข่ต้ม (ที่มา : today.com/food/how-long-are-hard-boiled-eggs-good-how-store-hard-t172153)

 

3.   ครูถามนักเรียนว่า “นักเรียนใช้อะไรเป็นเกณฑ์ในการแบ่งโครงสร้างของไข่ต้มออกเป็นเปลือกไข่ ไข่ขาว และไข่แดง” (นักเรียนแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระ) ครูให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “นักเรียนใช้สี ขนาด และเนื้อสัมผัส ในการแบ่งชั้นของไข่ต้มล้วนเรียกว่า ลักษณะทางกายภาพ” จากนั้นครูถามนักเรียนต่อไปว่า “นอกจากการใช้ลักษณะทางกายภาพเป็นเกณฑ์แล้วยังมีเกณฑ์อะไรอีกบ้างที่แบ่งไข่ต้มออกเป็นเปลือกไข่ ไข่ขาว และไข่แดง” (นักเรียนแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระ) จากนั้นครูให้ข้อมูลนักเรียนว่า “เปลือกไข่ประกอบด้วยแคลเซียมคาร์บอเนตเป็นส่วนใหญ่และธาตุอื่น ๆ ไข่ขาวประกอบด้วยน้ำและโปรตีนเป็นส่วนใหญ่ และไข่แดงประกอบด้วยน้ำและไขมันเป็นส่วนใหญ่” แล้วครูถามนักเรียนว่า “นอกจากลักษณะทางกายภาพแล้ว เปลือกไข่ ไข่ขาว และไข่แดง มีอะไรบ้างที่แตกต่างกัน” (นอกจากลักษณะทางกายภาพของเปลือกไข่ ไข่ขาว และไข่แดง ที่แตกต่างกันแล้วยังมีองค์ประกอบทางเคมีที่แตกต่างกันด้วย) จากนั้นครูถามนักเรียนต่อไปว่า “เกณฑ์ในการแบ่งโครงสร้างของไข่ต้มออกเป็นเปลือกไข่ ไข่ขาว และไข่แดง สามารถแบ่งได้จากอะไรอีกบ้าง” (ใช้เกณฑ์องค์ประกอบทางเคมีในการแบ่งโครงสร้างของไข่ต้มออกเป็นเปลือกไข่ ไข่ขาว และไข่แดง เพราะทั้ง 3 สิ่งนี้มีองค์ประกอบทางเคมีที่แตกต่างกันด้วย)

4.   ครูใช้คำถามเพื่อกระตุ้นการเรียนรู้ของนักเรียนว่า “นอกจากการแบ่งชั้นโครงสร้างโลกตามสมบัติเชิงกลแล้วนักวิทยาศาสตร์แบ่งชั้นโครงสร้างโลกโดยใช้เกณฑ์อื่นอีกหรือไม่ อย่างไร” (นักเรียนแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระ)


ขั้นกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้กลวิธีทำนาย-สังเกต-อภิปราย (POE Strategy) (เวลา 40 นาที)

ขั้นทำนาย (Predict) 10 นาที

5.   ครูให้นักเรียนดูวีดิทัศน์การกำเนิดโลก (ที่มา : youtube.com/watch?v=O8BwEH_qCz8 เริ่มตั้งแต่นาทีที่ 2.54 – 3.40 )

จากนั้นครูให้ข้อมูลประกอบวีดิทัศน์ว่า “โลกเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 4,500 ล้านปีก่อนในระบบสุริยะ ช่วงต้นของการกำเนิดโลกเป็นช่วงที่โลกมีอุณหภูมิสูง สสารที่ประกอบเป็นโลกยังหลอมรวมกันด้วยความร้อนเนื่องจากการปะทะของวัตถุอื่น ๆ ที่หลงเหลือจากการก่อตัวของดวงอาทิตย์ การที่โลกถูกวัตถุที่หลงเหลือจากการก่อตัวของดวงอาทิตย์พุ่งชนนั้น นอกจากจะทำให้มีอุณหภูมิสูงขึ้นแล้ว ยังทำให้โลกมีขนาดใหญ่ขึ้นจึงมีแรงโน้มถ่วงเพิ่มมากขึ้น สามารถดึงดูดวัตถุอื่น ๆ เข้ามาปะทะมากขึ้น โลกในขณะนั้นเปรียบเหมือนลูกบอลไฟขนาดใหญ่ที่เป็นสารเหลวร้อน ที่ผิวมีอุณหภูมิสูงถึง 2,000 องศาเซลเซียส

จากนั้นครูถามคำถามเพื่อให้นักเรียนคาดคะเนคำตอบในประเด็นต่อไปนี้

1)     นักเรียนคิดว่าสสารต่างชนิดกันและมีความหนาแน่นต่างกันเมื่อนำมาผสมกันแล้วไม่เกิดการละลายจากนั้นสสารจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร (นักเรียนแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระ)

2) นักเรียนคิดว่า ถ้าอุณหภูมิของโลกค่อย ๆ ลดลงแล้วสสารจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร (นักเรียนแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระ)

3)     นักเรียนคิดว่าสสารที่รวมตัวอยู่บริเวณใจกลางโลกเป็นอย่างไร (นักเรียนแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระ)

4)     นักเรียนคิดว่าสสารที่รวมตัวอยู่บริเวณรอบนอกของโลกเป็นอย่างไร (นักเรียนแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระ)

ขั้นสังเกต (Observe) (เวลา 10 นาที)

6.   ครูชวนนักเรียนสังเกตการทำกิจกรรมที่ 1.2 การแบ่งชั้นโครงสร้างโลกตามองค์ประกอบทางเคมี โดยครูสาธิตกิจกรรมดังนี้

1)     ครูเตรียมสสารทั้ง 3 ชนิด ได้แก่

(1) สสารชนิดที่ 1 (น้ำผสมสีผสมอาหารสีแดง) มีความหนาแน่น 1 กรัมต่อลูกบาศก์เซนติเมตร

(2) สสารชนิดที่ 2 (น้ำมันพืช) มีความหนาแน่น 0.9 กรัมต่อลูกบาศก์เซนติเมตร

(3) สสารชนิดที่ 3 (แอลกอฮอล์) มีความหนาแน่น 0.789 กรัมต่อลูกบาศก์เซนติเมตร

ลงในบีกเกอร์

2)     ครูเลือกเทสสารทั้ง 2 ชนิด ได้แก่ สสารชนิดที่ 1 มีความหนาแน่น 1 กรัมต่อลูกบาศก์เซนติเมตร สสารชนิดที่ 2 มีความหนาแน่น 0.9 กรัมต่อลูกบาศก์เซนติเมตร ที่ครูเตรียมไว้ลงในบีกเกอร์

3)     ครูใช้แท่งแก้วคนสารทำการคนสสารในบีกเกอร์

4)     ครูค่อย ๆ ลดการคนสสารจนกระทั่งหยุดคนสสารทั้ง 2 ชนิด

5)     จากนั้นนักเรียนสังเกตการเปลี่ยนแปลงของสสารทั้งสองชนิดแล้วจึงใส่สสารชนิดที่ 3 มีความหนาแน่น 0.789 กรัมต่อลูกบาศก์เซนติเมตร ลงในบีกเกอร์

6)     ครูใส่สสารชนิดที่ 3 ที่มีความหนาแน่น 0.789 กรัมต่อลูกบาศก์เซนติเมตร ลงในบีกเกอร์ จากนั้นนักเรียนสังเกตการเปลี่ยนแปลงของสารทั้ง 3 ชนิดในบีกเกอร์ และบันทึกผลการสังเกต

จากนั้นครูถามนักเรียนว่า “จากกิจกรรมข้างต้นนักเรียนจะทราบได้อย่างไรว่า สสารมีการเปลี่ยนแปลง” (สังเกตจากการผสมรวมตัว หรือการแยกตัวกันของสสาร ตลอดจนการเคลื่อนตัวของสสาร) และนักเรียนสังเกตการเปลี่ยนแปลงของสสารทั้ง 3 ชนิดในบีกเกอร์ จากนั้นนักเรียนบันทึกรายละเอียดลงใบกิจกรรมที่ 1.2 การแบ่งชั้นโครงสร้างโลกตามองค์ประกอบทางเคมี

ขั้นอธิบาย (Explain) (เวลา 20 นาที)

7.   ครูชวนนักเรียนอภิปรายในประเด็นต่อไปนี้

1)     ถ้านักเรียนค่อย ๆ ลดการคนสสารลงแล้วสสารทั้ง 3 ชนิดจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร (สสารมีการแยกตัวออกจากกันตามความหนาแน่น)

2)     สสารที่จมลงสู่ด้านล่างมีความหนาแน่นเป็นอย่างไรเมื่อเทียบกับความหนาแน่นของสสารในบริเวณอื่น (สสารมีความหนาแน่นมาก)

3)     สสารที่รวมตัวอยู่ด้านบนมีความหนาแน่นเป็นอย่างไรเมื่อเทียบกับความหนาแน่นของสสารในบริเวณอื่น (สสารมีความหนาแน่นน้อย)

4)     สสารทั้ง 3 ชนิดมีลำดับการแยกจากกันตามความหนาแน่นอย่างไร (สสารที่มีความหนาแน่นมากที่สุดจะจมลงด้านล่างสุด สสารที่มีความหนาแน่นน้อยลงมาจะรวมตัวอยู่ด้านบนสสารที่มีความหนาแน่นมากที่สุดหรืออยู่ตรงกลางระหว่างสสารทั้ง 2 ชนิด และสสารที่มีความหนาแน่นน้อยที่สุดจะรวมตัวอยู่ด้านบนสุด)

5)     หากเทียบเคียงสสารทั้ง 3 ชนิด กับสสารภายในโครงสร้างโลก ได้แก่

(1) สสารที่ประกอบด้วยธาตุส่วนใหญ่คือ เหล็ก และนิกเกิล โดยมีความหนาแน่นเฉลี่ย 13 กรัมต่อลูกบาศก์เซนติเมตร

(2) สสารที่ประกอบด้วยธาตุส่วนใหญ่คือ ซิลิกอน แมกนีเซียม และเหล็ก โดยมีความหนาแน่นเฉลี่ย 4.5 กรัมต่อลูกบาศก์เซนติเมตร

(3) สสารที่ประกอบด้วยธาตุส่วนใหญ่คือ ซิลิกอน อะลูมิเนียม และพบแมกนีเซียมบ้าง โดยมีความหนาแน่นเฉลี่ย 2.8 กรัมต่อลูกบาศก์เซนติเมตร

แล้วนักเรียนคิดว่า เมื่ออุณหภูมิของโลกค่อย ๆ ลดลงแล้วสสารภายในโครงสร้างโลกจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร (สสารมีการแยกตัวออกจากกันตามความหนาแน่น โดยสสารที่ประกอบด้วยธาตุส่วนใหญ่คือ เหล็กและนิกเกิล ซึ่งมีความหนาแน่นมากที่สุดจะรวมตัวอยู่บริเวณใจกลางโลก

สสารที่ประกอบด้วยธาตุส่วนใหญ่คือ ซิลิกอน อะลูมิเนียม และแมกนีเซียม ซึ่งมีความหนาแน่นน้อยรองลงมาจะรวมตัวอยู่ด้านบนสสารที่มีความหนาแน่นมากที่สุดหรืออยู่ตรงกลางระหว่างสสารทั้ง 2 ชนิด

และสสารที่ประกอบด้วยธาตุส่วนใหญ่คือ ซิลิกอน อะลูมิเนียม และพบแมกนีเซียมบ้าง ซึ่งมีความหนาแน่นน้อยที่สุดจะรวมตัวอยู่บริเวณรอบนอกของโลก)

8.   ครูให้นักเรียนดูรูปที่ 2 องค์ประกอบทางเคมีของโลก จากนั้นครูถามคำถามนักเรียนต่อไปว่า “นักเรียนคิดว่าสสารภายในโครงสร้างโลกที่ครูกำหนดอยู่ภายในชั้นใดของโครงสร้างโลกดังรูปที่ 2” ( 1) สสารที่ประกอบด้วยธาตุส่วนใหญ่คือ เหล็ก และนิกเกิล โดยมีความหนาแน่นเฉลี่ย 13 กรัมต่อลูกบาศก์เซนติเมตร คือ สสารที่อยู่ในชั้นแก่นโลก

2) สสารที่ประกอบด้วยธาตุส่วนใหญ่คือ ซิลิกอน แมกนีเซียม และเหล็ก โดยมีความหนาแน่นเฉลี่ย 4.5 กรัมต่อลูกบาศก์เซนติเมตร คือ สสารที่อยู่ในชั้นเนื้อโลก

3) สสารที่ประกอบด้วยธาตุส่วนใหญ่คือ ซิลิกอน อะลูมิเนียม และพบแมกนีเซียมบ้าง โดยมีความหนาแน่นเฉลี่ย 2.8 กรัมต่อลูกบาศก์เซนติเมตร คือ สสารที่อยู่ในชั้นเปลือกโลก)

 

รูปที่ 2 องค์ประกอบทางเคมีของโลก (ที่มา : สสวท., 2562)

 

9.   ครูถามนักเรียนว่า “นอกจากการแบ่งชั้นโครงสร้างโลกตามสมบัติเชิงกลแล้วนักวิทยาศาสตร์แบ่งชั้นโครงสร้างโลกโดยใช้เกณฑ์อื่นอีกหรือไม่ อย่างไร” (นักวิทยาศาสตร์สามารถการแบ่งชั้นโครงสร้างโลกโดยใช้องค์ประกอบทางเคมีเป็นเกณฑ์ และการแบ่งชั้นโครงสร้างโลกตามองค์ประกอบทางเคมี แบ่งออกเป็น 3 ชั้น ได้แก่ แก่นโลก เนื้อโลก และเปลือกโลก)”

10.ครูให้นักเรียนดูวีดิทัศน์การ์ตูน (youtu.be/CmXi-eFzaEw?list=PLRJFsQged51GSS-Rj7R_jmu_rr5bONvm7) จากนั้นถามนักเรียนว่า “จากการ์ตูนดังกล่าวนักเรียนคิดว่า ตัวการ์ตูนตามหาสิ่งใดที่ตกมายังพื้นโลก” (อุกาบาตเหล็ก) จากนั้นครูให้นักเรียนดูรูปที่ 2 และรูปที่ 3 ประกอบกับการให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “ชั้นของโครงสร้างโลกชั้นในสุดที่ระดับความลึกตั้งแต่ 2,900 กิโลเมตรจากผิวโลกมาจนถึงใจกลางโลก ประกอบด้วยธาตุเหล็กเป็นส่วนใหญ่ และธาตุอื่น ๆ ได้แก่ ออกซิเจน ซิลิกอน และซัลเฟอร์ เรียกว่า แก่นโลก (core)” และ “นักวิทยาศาสตร์พบอุกกาบาตเหล็ก (iron meteorites) และศึกษาองค์ประกอบทางเคมีของอุกกาบาตเหล็กเปรียบเทียบกับหินในชั้นอื่น ๆ ของโลก ซึ่งอุกกาบาตเหล็กมีองค์ประกอบทางเคมีที่แตกต่างออกไป และจากการคำนวณหาค่าความหนาแน่นของแก่นโลกพบว่ามีค่าใกล้เคียงกับสารประกอบเหล็กของอุกกาบาตเหล็ก รวมทั้งการพบสนามแม่เหล็กโลก ซึ่งคาดการณ์ว่าเกิดจากการเหนี่ยวนำด้วยธาตุเหล็กที่มีสถานะเป็นของเหลวภายในโลก จึงสันนิษฐานว่าอุกกาบาตเหล็ก เป็นชิ้นส่วนของวัตถุที่เหลือจากการกำเนิดระบบสุริยะ และเกิดขึ้นในเวลาใกล้เคียงกับการก่อกำเนิดโลก โดยแก่นโลกน่าจะมีองค์ประกอบทางเคมีเป็นเหล็ก ร่วมกับข้อมูลจากคลื่นไหวสะเทือนที่เคลื่อนที่ผ่านโลกทำให้นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่า แก่นโลก เป็นชั้นในสุดของโลกอยู่ที่ระดับความลึกตั้งแต่ 2,900 กิโลเมตรจากผิวโลก จนถึงใจกลางโลก ประกอบด้วยธาตุเหล็กเป็นส่วนใหญ่ และธาตุอื่น ๆ ได้แก่ นิกเกิล ออกซิเจน ซิลิกอน และซัลเฟอร์”

 

รูปที่ 3 อุกกาบาตเหล็ก (iron meteorites) (ที่มา : turnstone.ca/rom129to.htm)

 

จากนั้นครูให้นักเรียนดูรูปที่ 4 ประกอบการให้ข้อมูลต่อไปว่า “ทฤษฎีเกี่ยวกับการเกิดสนามแม่เหล็กโลก) กล่าวว่า การเกิดกระแสการพาความร้อนในแก่นโลกชั้นนอกที่เป็นของเหลวรวมกับผลของแรงโคลิออลิสทำให้เกิด สนามแม่เหล็กโลก”

 

รูปที่ 4 กระแสการพาความร้อนในแก่นโลกชั้นนอก (ที่มา : lesa.biz/earth/lithosphere/earth-structure/magnetosphere)

 

11.ครูให้นักเรียนดูรูปที่ 2 และรูปที่ 5 ประกอบกับการให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “ชั้นของโครงสร้างโลกที่อยู่บนแก่นโลกที่ระดับความลึกตั้งแต่ 70 กิโลเมตรจากผิวโลก มาจนถึงที่ระดับความลึกตั้งแต่ 2,900 กิโลเมตรจากผิวโลก ประกอบด้วยธาตุซิลิกอน แมกนีเซียม และเหล็กเป็นส่วนใหญ่ เรียกว่า เนื้อโลก (mantle)” และ “นักวิทยาศาสตร์ศึกษาหินแปลกปลอม (xenolith) ที่ขึ้นมาพร้อมกับลาวาซึ่งเป็นหินที่อยู่ในระดับลึกใต้ผิวโลก เมื่อศึกษาองค์ประกอบทางเคมีของหินแปลกปลอมเปรียบเทียบกับองค์ประกอบ

ทางเคมีของหินบนเปลือกโลกพบว่ามีความแตกต่างกัน จึงสันนิษฐานว่าเนื้อโลกมีองค์ประกอบหลักเป็นสารประกอบของซิลิกอนเหล็กและแมกนีเซียมเช่นเดียวกับหินแปลกปลอม ประกอบกับข้อมูลคลื่นไหวสะเทือนที่เคลื่อนที่ผ่านในโลกจึงทำให้ทราบว่า เนื้อโลกมีขอบเขตตั้งแต่ใต้เปลือกโลกจนถึงระดับความลึกประมาณ 2,900 กิโลเมตร”


รูปที่ 5 หินดันไนต์เป็นหินแปลกปลอม (xenolith) (ที่มา : สสวท.,2562)

 

12.ครูให้นักเรียนดูรูปที่ 6 ประกอบกับการให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “ชั้นของโครงสร้างโลกที่อยู่นอกสุด โดยมีระดับความลึกตั้งแต่ 70 กิโลเมตรจากผิวโลก ประกอบด้วยธาตุซิลิกอน อะลูมิเนียม เป็นส่วนใหญ่ และพบแมกนีเซียมและธาตุอื่น ๆ รองลงมา เรียกว่า เปลือกโลก (crust) ซึ่งเปลือกโลกประกอบด้วยเปลือกโลกทวีป (continental crust) และเปลือกโลกมหาสมุทร (oceanic crust)”

 

รูปที่ 6 เปลือกโลกทวีป และเปลือกโลกมหาสมุทร (ที่มา : สสวท.,2562)

 

13.ครูให้นักเรียนดูรูปที่ 7 และรูปที่ 8 ประกอบการให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “เปลือกโลกทวีปมีทั้งส่วนพื้นทวีป และไหล่ทวีป (continental shelf) รวมไปถึงลาดทวีป (continental slope) ประกอบด้วยธาตุซิลิกอน (Si) และอะลูมิเนียม (Al) เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นองค์ประกอบแบบหินแกรนิต จึงเรียกว่า เปลือกโลกส่วนที่มีองค์ประกอบแบบหินแกรนิต หรือ ไซอัล (SIAL) โดยประกอบด้วยหินแกรนิตเป็นส่วนใหญ่ และมีความหนาประมาณ 35-70 กิโลเมตร และมีความหนาแน่นเฉลี่ย 2.7 กรัมต่อลูกบาศก์เซนติเมตร”

และ “เปลือกโลกมหาสมุทรเป็นส่วนที่รองรับมหาสมุทร ประกอบด้วยธาตุซิลิกอน (Si) และแมกนีเซียม (Mg) เป็นส่วนใหญ่ จึงเรียกว่า ไซม่า (SIMA) โดยประกอบด้วยหินบะซอลต์เป็นส่วนใหญ่ และมีความหนาประมาณ 5-10 กิโลเมตร และมีความหนาแน่นเฉลี่ย 2.9 กรัมต่อลูกบาศก์เซนติเมตร”

 

รูปที่ 7 ไหล่ทวีปและลาดทวีป (ที่มา : สสวท.,2562)

 


รูปที่ 8 รอยต่อระหว่างแผ่นเปลือกโลกทวีปและแผ่นเปลือกโลกสมุทร (ที่มา : knowledgebunker123mindloader.wordpress.com/2016/07/16/ocean-floor-everything-you-need-to-know)

 

ขั้นสรุปบทเรียน (เวลา 5 นาที)

14. ครูให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “นักเรียนแบ่งชั้นโครงสร้างโลกจากการศึกษาองค์ประกอบทางเคมีของหินบนผิวโลก หินแปลกปลอมในระดับลึกใต้เปลือกโลกที่ลาวานำขึ้นมา และอุกกาบาตเหล็ก โดยการแบ่งชั้นดังกล่าวเรียกว่า การแบ่งชั้นโครงสร้างโลกตามองค์ประกอบทางเคมี” จากนั้นนักเรียนร่วมกันสรุปโครงสร้างโลกจากการแบ่งชั้นโครงสร้างโลกตามองค์ประกอบทางเคมีว่า “การแบ่งชั้นโครงสร้างโลกตามองค์ประกอบทางเคมีแบ่งได้ 3 ชั้น ได้แก่ เปลือกโลก เนื้อโลก และแก่นโลก” จากนั้นนักเรียนส่งใบกิจกรรมที่ 1.2 การแบ่งชั้นโครงสร้างโลกตามองค์ประกอบทางเคมีโดยถ่ายภาพส่งไฟล์ในช่องทางแพลตฟอร์มกูเกิลคลาสรูม (Google Classroom) ที่ครูเตรียมไว้

15. ครูมอบหมายภาระงานโดยให้นักเรียนเขียนอนุทิน (Journal writing) หลังการเรียนรู้ของนักเรียน จากนั้นส่งไฟล์ในช่องทางแพลตฟอร์มกูเกิลคลาสรูม (Google Classroom) ที่ครูเตรียมไว้ และสร้างแบบจำลองโครงสร้างโลกจากการแบ่งชั้นตามองค์ประกอบทางเคมี จากนั้นส่งไฟล์รูปภาพในช่องทางแพลตฟอร์มกูเกิลคลาสรูม (Google Classroom) ที่ครูเตรียมไว้โดยกำหนดระยะเวลาส่ง 1 สัปดาห์

ไฟล์ที่เกี่ยวกับไอเดีย

ไฟล์ที่ 1 จากทั้งหมด 1

ชื่อไฟล์​: ศิรวิทย์_แผนการจัดการเรียนรู้รายคาบเรื่องการแบ่งชั้นของโครงสร้างโลกตามองค์ประกอบทางเคมี inskru.pdf

ดาวน์โหลดแล้ว 165 ครั้ง


รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(19)
เก็บไว้อ่าน
(11)