inskru
gift-close
insKru Selected

สอน Online เพียงใช้ Line ให้บูรณาการและได้สมรรถนะ

2
0
ภาพประกอบไอเดีย สอน Online เพียงใช้ Line ให้บูรณาการและได้สมรรถนะ

การวางแผนและการจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะจาก OLE (โอเล่) เพิ่มเติมเป็น LOLE (โลเล) และแผนการจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะที่บูรณาการวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ โดยใช้การเรียนรู้ฐานสมรรถนะเพื่อส่งเสริมสมรรถนะการสื่อสาร และการคิดขั้นสูง ผ่านการเรียนออนไลน์โดยใช้แพลตฟอร์มไลน์ (Line)

การเรียนรู้ฐานสมรรถนะ


1. หลักการของการเรียนรู้ฐานสมรรถนะ (CBE)

         ผู้เขียนในฐานะผู้เข้าร่วมกิจกรรม Online อย่างไรให้ได้สมรรถนะจัดโดยโครงการก่อการครู Bangkok & พันธมิตร ได้สรุปบทเรียนสำหรับการวางแผนและการจัดการเรียนเรียนรู้ฐานสมรรถนะ ดังนี้

         วิธีการวางแผนและการจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะขอให้ยึดหลักง่าย ๆ ว่า LOLE ซึ่งผู้เขียนจำแบบทีเล่นทีจริงแบบไทย ๆ ว่า “โลเล” คล้ายกับหลัก OLE ที่หลายคนมักจำกันแบบทีเล่นทีจริงว่า “โอเล่”

         หากพิจารณาความแตกต่างระหว่าง LOLE (โลเล) กับ OLE (โอเล่) จะพบว่า การวางแผนและการจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะจะให้ความสำคัญที่มากกว่าการวางแผนและการจัดการเรียนรู้ในแบบปกติที่เราคุ้นเคย ซึ่งมักจะให้ความสำคัญเพียง OLE (โอเล่) ได้แก่ วัตถุประสงค์การเรียนรู้ (Objective , O) ประสบการณ์การเรียนรู้ (Learning experience , L) และการประเมินผล (Evaluation , E) แต่การวางแผนและการจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะจะให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นจาก OLE (โอเล่) เป็น LOLE (โลเล) โดยที่ตัว L ตัวแรกที่เพิ่มขึ้นมาคือ ผู้เรียน (Learner , L)


         กระนั้น การเรียนรู้ฐานสมรรถนะตามหลักง่าย ๆ LOLE มีรายละเอียดดังนี้

1) ผู้เรียน (Learner , L) ครูจำเป็นต้องทำความรู้จักผู้เรียน และมองให้เห็นการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นรายบุคคล สิ่งเหล่านี้จำเป็นต่อการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้อย่างยิ่ง

2) วัตถุประสงค์การเรียนรู้ (Objective , O) เป็นเป้าหมายที่ครูต้องการให้ผู้เรียนทำอะไรได้สำเร็จ ซึ่งการกระทำของผู้เรียนที่ใช้ความสามารถรอบด้านทั้ง ความรู้ ทักษะ และเจตคติหรือคุณลักษณะ ในการแก้ปัญหา หรือนำไปใช้ในสถานการณ์หนึ่งจนประสบความสำเร็จจะก่อเกิดเป็นสมรรถนะของผู้เรียน

3) ประสบการณ์การเรียนรู้ (Learning experience , L) ครูควรจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้แบ่งออกเป็นด่าน หรือเป็นขั้น ๆ เพื่อจะได้รู้ว่าผู้เรียนแต่ละคนไปถึงขั้นไหนแล้ว นอกจากนี้กิจกรรมที่เป็นด่านจะทำให้ง่ายต่อการประเมินผลนักเรียนว่าสามารถทำกิจกรรมในแต่ละด่านสำเร็จหรือไม่ อย่างไร ครูควรช่วยเหลือหรือส่งเสริมนักเรียนอย่างไรให้สามารถทำกิจกรรมจนบรรลุความสำเร็จได้

4) การประเมินผล (Evaluation , E) เนื่องจากครูจัดกิจกรรมเป็นด่านทำให้ครูสามารถเก็บหลักฐานหรือร่องรอยการเรียนรู้ในแต่ละด่านไว้ ในท้ายที่สุดครูสามารถนำหลักฐานหรือร่องรอยการเรียนรู้นั้นมาใช้ในการประเมินความก้าวหน้าของผู้เรียน (formative assessment) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ


2. แผนการจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะ

1) การจัดการเรียนรู้ : การเรียนรู้ฐานสมรรถนะ

2) เนื้อหาสาระ

         2.1) วิทยาศาสตร์ สารสูญเสียความร้อนทำให้เกิดการเปลี่ยนสถานะของสารจากของเหลวไปเป็นของแข็ง เรียกการเปลี่ยนสถานะนี้ว่า การแข็งตัว

         2.2) คณิตศาสตร์ กำไรคำนวณได้จากผลต่างระหว่างราคาขายกับต้นทุน (กำไร = ราคาขาย - ต้นทุน) และอัตราส่วนและปริมาตรที่ใช้ในการผลิตสินค้า

         2.3) สังคมศึกษา ปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกสินค้าและบริการที่มีมากมาย ซึ่งขึ้นอยู่กับผู้ซื้อ ผู้ขาย และตัวสินค้า

3) เป้าหมาย หรือวัตถุประสงค์การเรียนรู้ (O) :

         3.1) Action / Challenge ที่ให้ผู้เรียนพิชิต คือ เด็ก ๆ สร้างไอศกรีมซอร์เบต์ให้ได้สูตรที่ดีที่สุดโดยมีเงื่อนไขใช้ต้นทุนการผลิตต่ำและกำหนดราคาขายให้ได้กำไรและไอศกรีมมีคุณภาพเหมาะสมกับราคาที่จำหน่าย

         3.2) สมรรถนะ (Competency) ได้แก่ การสื่อสาร การคิดสร้างสรรค์ และการคิดการแก้ปัญหา

         3.3) ความรู้ (Knowledge , K) : การเปลี่ยนแปลงสถานะของสารโดยการแข็งตัวของน้ำสมุนไพร, กำไร-ขาดทุน

         3.4) ทักษะ (Skill , S) : การคำนวณกำไร, ทักษะการคิดสร้างสรรค์, ทักษะการแก้ปัญหาเพื่อให้ได้ไอศกรีมสูตรที่ดีที่สุด

         3.5) คุณลักษณะ (Attribute , A) : ความใจกว้างรับฟังความคิดเห็นของเพื่อน, การเคารพกติกาจากเสียงส่วนใหญ่

4) ผู้เรียน หรือนักเรียน (L) มีลักษณะดังนี้

         4.1) นักเรียนระดับชั้นป.6

         4.2) จำนวนนักเรียน 35 คน

         4.3) เรียนออนไลน์โดยใช้แพลตฟอร์มไลน์ (Line)

         4.4) สไตล์การเรียนรู้ของนักเรียนเน้นการลงมือทำ

         4.5) นิสัยของนักเรียน คือไม่จดจ่อหน้าจอ เบื่อง่าย

         4.6) ข้อจำกัดของพื้นที่เรียนออนไลน์ คือพื้นที่การเรียนรู้ของเด็กไม่เอื้ออำนวย

5) ประสบการณ์การเรียนรู้ หรือกิจกรรมที่เป็น “ด่าน” (L) พร้อมกับการประเมินผล หรือการเก็บร่องรอยและหลักฐานการเรียนรู้ (E) 

         5.1) ด่านที่ 1 ครูล้วงความรู้และประสบการณ์เดิมของเด็กๆ เกี่ยวกับไอศกรีมที่เด็กๆ รู้จักและลักษณะของไอศกรีมซอร์เบต์

         การเก็บร่องรอยและหลักฐานการเรียนรู้ในด่านที่ 1 เด็กๆ พิมพ์คำตอบซึ่งครูจะถามคำถามโดยสร้างเป็นโน๊ตในไลน์กลุ่มเด็กๆ

         5.2) ด่านที่ 2 ให้เด็กๆ เตรียม เกลือ, น้ำแข็งป่น, น้ำสมุนไพร, ถ้วย ถุงพลาสติก เป็นต้น และเด็กๆ คำนวณต้นทุนของวัสดุในการทำไอศกรีมซอร์เบต์ของตนเอง

         การเก็บร่องรอยและหลักฐานการเรียนรู้ในด่านที่ 2 เด็กๆ บันทึกลงการคำนวณต้นทุนลงสมุด และถ่ายรูปอุปกรณ์ส่งผ่านไลน์ในอัลบั้มที่ครูเตรียมไว้

         5.3) ด่านที่ 3 เด็กๆ ลองผิดลองถูกเพื่อทำไอศกรีมซอร์เบต์จนได้วิธีทำและสูตรเป็นของตนเอง จากนั้นเด็กๆ นำเสนอวิธีทำและสูตร

จากนั้นเด็กๆ อภิปรายร่วมกันเพื่อสร้างความรู้เรื่องการแข็งตัวของน้ำสมุนไพร ในประเด็นดังนี้

(1) อุณหภูมิของน้ำสมุนไพรก่อนและหลังการทำไอศกรีมซอร์เบต์มีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ อย่างไร

(2) ในระหว่างทำไอศกรีมซอร์เบต์น้ำสมุนไพรได้รับหรือสูญเสียความร้อน อย่างไรบ้าง

(3) สถานะของน้ำสมุนไพรก่อนและหลังการทำไอศกรีมซอร์เบต์มีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ อย่างไร

(4) นักเรียนจะอธิบายปรากฏการณ์ที่น้ำสมุนไพรเปลี่ยนสถานะจากของเหลวเป็นของแข็งอย่างไร

ตัวแทนเด็ก ๆ สรุปความรู้ที่ได้จากการอภิปรายนี้ว่า น้ำสมุนไพรสูญเสียความร้อนให้กับน้ำแข็งผสมเกลือทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสถานะของสารจากของเหลวไปเป็นของแข็ง เรียกการเปลี่ยนสถานะของน้ำสมุนไพรไปเป็นไอศกรีมซอร์เบต์นี้ว่า การแข็งตัว

         การเก็บร่องรอยและหลักฐานการเรียนรู้ในด่านที่ 3 เด็กๆ บันทึกลงสมุด และถ่ายรูปวิธีทำและสูตรไอศกรีมของตนเองส่งผ่านไลน์ในอัลบั้มที่ครูเตรียมไว้

         5.4) ด่านที่ 4 เด็กๆ นำไอเดียของเพื่อนๆ มาปรับปรุงวิธีทำและสูตรไอศกรีมซอร์เบต์ เพื่อให้ได้สูตรที่ดีที่สุด โดยจะต้องมีต้นทุนต่ำ และกำหนดราคาขายให้ได้กำไรสูงสุดและมีคุณภาพเหมาะสมกับราคา จากนั้นนักเรียนลงคะแนนเลือกไอศกรีมสูตรที่ดีที่สุด

         การเก็บร่องรอยและหลักฐานการเรียนรู้ในด่านที่ 4 เด็กๆ แบ่งปันสูตรที่ปรับปรุงลงเป็นโน๊ตในไลน์ และครูสร้างโพลในไลน์ให้เด็กๆ โหวตคะแนนเลือกไอศกรีมสูตรที่ดีที่สุด

         5.5) ด่านที่ 5 เด็กๆ ที่ได้คะแนนสูงสุด 3 ลำดับแรกออกมานำเสนอ จากนั้นเพื่อน ๆ โหวตเพื่อหาวิธีทำและสูตรที่ดีที่สุด หลังจากนี้เด็กๆ จะช่วยกันวางแผนและทำการจำหน่ายไอศกรีมสูตรที่ดีที่สุดในช่วงที่โรงเรียนจัดนิทรรศการแสดงผลงานของนักเรียน โดยคำนึงถึงปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกสินค้าในที่นี้คือไอศกรีมซอร์เบต์จากน้ำสมุนไพร ซึ่งขึ้นอยู่กับผู้ซื้อ ผู้ขาย และตัวสินค้า

         การเก็บร่องรอยและหลักฐานการเรียนรู้ในด่านที่ 5 เด็กๆ โหวตคะแนนโดยครูสังเกตจากการชูนิ้วของเด็กๆ เพื่อหาวิธีทำและสูตรที่ดีที่สุดในการทำไอศกรีม และเขียนแผนการจำหน่ายไอศกรีมโดยคำนึงถึงปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกสินค้า และอนุทินสรุปความรู้ทั้งหมดส่งครูโดยถ่ายรูปลงทางไลน์ในอัลบั้มที่ครูเตรียมไว้


* แผนการจัดการเรียนรู้ตั้งต้นจากผู้เขียน ครูพัฒน์ และครูบัส เพื่อนำเสนอในกิจกรรม Online อย่างไรให้ได้สมรรถนะ แต่แผนการจัดการเรียนรู้ฉบับตั้งต้นนั้นถูกเขียนได้เพียงครึ่งเดียว ผู้เขียนจึงทำการเขียนแผนการจัดการเรียนรู้นี้ต่อจนสำเร็จเป็นรูปเป็นร่างแบบนี้ ฉะนั้นผู้เขียนขอขอบคุณครูพัฒน์ และครูบัส ตลอดจนทีมผู้อำนวยความสะดวก (facilitator) ในการช่วยกันจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ฉบับตั้งต้น

ไฟล์ที่แบ่งปัน

    CBEonlineวิทยาศาสตร์แผนการสอนวิทย์ยายุทธมัธยมต้นสอนออนไลน์ทักษะการคิดวิเคราะห์ScienceLearningDesigner

    ไอเดียนี้เป็นไงบ้าง?

    2
    ได้แรงบันดาลใจ
    0
    ลงไอเดียอีกน้า~
    แบ่งปันโดย
    Constructivist Teacher
    Research Interests: Earth System Science Education, Pedagogical Content Knowledge (PCK), Professional Learning Communities (PLC), Curriculum Development, Instructional Supervision

    อยากร่วมแลกเปลี่ยน?

    please login

    แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru

    เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย

    icon-please-commentมาเป็นคนแรกที่แลกเปลี่ยนสิ!

    ไอเดียน่าอ่านต่อ