icon
giftClose
profile

จัดการเรียนโดยใช้ Retrospective : Good Bad Try

17647

นำหลักการ Good Bad Try มาลองจัดรูปแบบการเรียนการสอน โดยใช้เป็นกิจกรรมที่จะช่วยให้นักเรียนร่วมกันให้ความเห็นต่อชิ้นงาน ฝึกการวิจารณ์ชิ้นงานอย่างมีความหมายดีกว่า

Retrospective เป็นหนึ่งในขั้นตอนการทำงานเป็นทีม ที่ทุกคนในทีมจะร่วมกันให้ความคิดเห็น ข้อแเสนอแนะกัน และหนึ่งในรูปแบบที่ใช้กันแพร่หลายคือ Good Bad Try ที่เป็นการสะท้อนความคิดเห็นต่องานที่ทำอย่างตรงไปตรงมา และก่อให้เกิดประโยชน์ต่องานมากที่สุด ผ่านความเห็นของคนในทีม



ซึ่งวันนี้เราจะนำหลักการนี้ มาลองจัดรูปแบบการเรียนการสอนในรายวิชาวิทยาการคำนวณ โดยใช้เป็นกิจกรรมที่จะช่วยให้นักเรียนร่วมกันให้ความเห็นต่อชิ้นงาน ฝึกการวิจารณ์ชิ้นงานอย่างมีความหมาย แต่ก่อนจะไปที่กิจกรรม เรามาทำความรู้จักกับ Good Bad Try กันให้มากกว่านี้กันดีกว่า

ก่อนทำการจัดการเรียนการสอนคุณครูจะต้องอธิบายหลักการให้นักเรียนฟังอย่างละเอียด หากเจ้าของชิ้นงานเป็นเพื่อนร่วมชั้น ครูจะต้องอธิบายเหตุผลว่าทำไมเราควรรับฟังความเห็นของผู้อื่น การฟังความเห็นจะช่วยปรับปรุงชิ้นงานของเราอย่างไรได้บ้าง

ความเห็นที่ดีคือความเห็นที่ทำให้คนรับความเห็นนำไปปรับใช้ได้ แน่นอนว่านักเรียนเข้าใจการรับฟังความเห็นแล้ว แต่แน่นอนว่าอาจจะได้รับทั้งความเห็นที่ทั้งดีและไม่ดีในเวลาเดียวกัน เราจึงควรจัดการแยกสองสิ่งนี้ออกจากกันเพื่อให้โฟกัสกับสิ่งที่เราสนใจ นั่นคือการเอาความเห็นไปปรับใช้มากกว่า

ความเห็นที่ปรับใช้ได้

  • ความเห็นที่ปรับใช้ได้ คือความเห็นที่ใช้ข้อเท็จจริงในการบอกกล่าว สามารถบอกได้ว่าความเห็นนี้จะนำไปสู่อะไร เพื่อให้เกิดการปรับปรุงแก้ไข พูดถึงผลที่ตามมาทั้งในแง่บอกและแง่ลบ ไม่ให้ความเห็นด้วยอคติต่อเจ้าของงาน

ความเห็นที่ปรับใช้ไม่ได้

  • ความเห็นที่ปรับใช้ไม่ได้ คือความเห็นที่พูดลอยๆ โดยไม่มีหลักการมารองรับ ความเห็นที่เกิดจากการโทษผู้อื่น เกิดจากความพยายามตำหนิและจับผิด ไม่บอกแนวทางในการปรับปรุงและใช้อารมณ์เป็นที่ตั้ง

นอกจากนี้ การให้ความเห็นที่ดีอาจจะเหมือนการได้กินเบอร์เกอร์อร่อยๆ หนึ่งชิ้น

  • แฮมเบอร์เกอร์มีชั้นซอสที่อร่อย เหมือนการเริ่มต้นด้วยการให้ความเห็นในแง่บวก และชื่นชมข้อดีและจุดแข็ง
  • มีชั้นผักที่บางคนไม่ชอบ เหมือนการให้คำแนะนำในแง่สิ่งที่พัฒนาต่อได้
  • ปิดท้ายด้วยเนื้อและชีสอร่อยๆ เพื่อเตือนว่าคนที่เราให้คำแนะนำก็เต็มไปด้วยข้อดีเหมือนกัน

เบอร์เกอร์ผักไม่อร่อย แต่เบอร์เกอร์ที่มีแต่เนื้อแห้งๆ ก็ไม่อร่อย (หรืออย่างน้อยก็ไม่ค่อยดีต่อสุขภาพ) เหมือนกัน


การให้ความเห็นด้วยวิธี Good Bad Try


Good: บอกจุดเด่น สิ่งที่ดีอยู่แล้ว คนอื่นๆ ควรนำไปปรับใช้กับตนเอง

Bad: สิ่งที่ยังไม่ดี สิ่งที่สามารถทำให้ดีกว่านี้ได้

Try: วิธีการทำให้สิ่งที่ดีกว่านี้ได้นั้นดีขึ้น (ฺBad และ Try จะล้อกันเสมอ เมื่อบอกว่าไม่ดีควรบอกได้ว่าจะทำให้ดีขึ้นได้อย่างไร)



การจัดการเรียนการสอน

ได้ทำการจัดการเรียนการสอนในรายวิชาวิทยาการคำนวณ ชั้น ม.6 ในหัวข้อการสร้างแฟ้มสะสมงาน ให้นักเรียนได้ลองฝึกทักษะการให้ความเห็น


แนวทางการจัดกิจกรรม

เมื่อนักเรียนทำแฟ้มสะสมผลงานของตนเองเสร็จแล้ว จะต้องทำการนำเสนอผลงานของตนเอง และให้เพื่อนในห้องช่วยกันให้ความเห็นที่เป็นประโยชน์

  • ครูแจกแบบสอบถามผ่าน Google forms เพื่อให้นักเรียนกล้าที่จะให้ความเห็นโดยเป็นความลับ และลดอคติต่อเพื่อนร่วมห้อง
  • นักเรียนเริ่มนำเสนอแฟ้มสะสมผลงานของตนเอง โดยเพื่อนกรอกความเห็นลงในฟอร์มที่ครูให้
  • เมื่อนักเรียนทำกิจกรรมเสร็จ ครูทำการจัดกลุ่มความเห็นและส่งต่อให้นักเรียนที่เป็นเจ้าของผลงาน เพื่อนำไปปรับปรุงชิ้นงานของตนเองต่อ



คำแนะนำ

  • ขั้นตอนการรวบรวมความเห็น ครูเองควรตรวจสอบว่ามีความเห็นที่ไม่พึงประสงค์หรือมีอคติปะปนอยู่หรือไม่
  • เมื่อเราฝึกให้นักเรียนสามารถให้ความเห็นต่อชิ้นงานของเพื่อนในห้องได้อย่างมีความหมายแล้ว อาจจะเริ่มใช้การให้ความเห็นแบบเปิดเผยตัวตนได้
  • การให้ความเห็นไม่จำเป็นต้องทำออนไลน์หรือปกปิดตัวตนเท่านั้น เมื่อนักเรียนของเรามีภูมิคุ้มกันต่อความเห็น และสามารถให้ความเห็นที่เป็นประโยชน์ได้ คุณครูสามารถนำกิจกรรมไปใช้ในห้องเรียน โดยใช้กระดานและกระดาษโพสต์อิทได้


หลักการนี้สามารถนำไปปรับใช้ในการเรียนการสอนได้หลากหลายวิชา รวมถึงกระบวนการทำงานกลุ่ม โครงงาน ที่จะต้องสะท้อนปัญหาในการปฏิบัติงาน หรือแม้แต่สะท้อนการปฏิบัติงานในแต่ละช่วงเวลาของตัวคุณครูเองได้


ในโลกนี้ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ มนุษย์เราจึงต้องค้นหา และปรับปรุงตนเองอยู่เสมอ ใครที่ได้ลองนำวิธีนี้ไปใช้ ได้ผลอย่างไรอย่าลืมมาบอกกันด้วยนะคะ




ที่มา

  • ภาพประกอบ “ความเห็นที่ปรับใช้ได้และไม่ได้” จาก the-conflictexpert.com
  • ภาพประกอบเรซูเม่โดย resumegenius.com
รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(4)
เก็บไว้อ่าน
(1)