icon
giftClose
profile

Biome ของใคร อารยธรรมไหนที่ใช่เธอ

40967
ภาพประกอบไอเดีย Biome ของใคร อารยธรรมไหนที่ใช่เธอ

จากโจทย์ของการสอนเรื่องไบโอม ในยุคที่ชีวิตของนักเรียนไม่ได้อยู่ใกล้ชิดกับสิ่งแวดล้อมอีกต่อไปการเรียนเรื่องนี้ให้เข้าใจแบบไม่ท่องจำก็ทำได้ยากเย็นเหลือเกิน จึงเป็นที่มาของแนวคิดที่ครูจะพานักเรียนย้อนเวลาไปเรียนรู้วิถีชีวิตในอดีต ในวันที่มนุษย์ใกล้ชิดกับธรรมชาติ ผ่านอารยธรรมต่าง ๆ ทั่วทุกมุมโลก

ไบโอมหรือชีวนิเวศ (Biome) หมายถึง ระบบนิเวศที่มีองค์ประกอบทางกายภาพและทางชีวภาพอยู่ร่วมกัน จากหลักการแบ่งเขตภูมิอากาศแบบเคิปเปิน (Köppen climate classification) ที่มีความเกี่ยวข้องกับไบโอม จะสามารถแบ่งเขตภูมิอากาศโดยพิจารณาจากบริมาณน้ำฝน อุณหภูมิของอากาศ และพืชพรรณธรรมชาติ ออกได้เป็น 5 กลุ่ม คือ

  1. กลุ่ม A ภูมิอากาศแบบร้อน (Tropical)
  2. กลุ่ม B ภูมิอากาศแบบแห้งแล้ง (Dry)
  3. กลุ่ม C ภูมิอากาศแบบอบอุ่น (Temperate)
  4. กลุ่ม D ภูมิอากาศแบบชื้นภาคพื้นทวีปหรือแบบหนาว (Continental)
  5. กลุ่ม E ภูมิอากาศแบบขั้วโลก (Polar)

เนื้อหาไบโอมเป็นเนื้อหาที่ผู้เขียนเองคิดว่าเป็นเนื้อหาที่หาวิธีการสอนนอกเหนือจากการบรรยายได้ค่อนข้างยาก และมีความน่าเบื่อและไม่น่าสนใจดังเช่นเนื้อหาอื่น ๆ จากการ Workshop สำนักวิทย์ยายุทธฉบับครูวิทย์ เกี่ยวกับ Creative Learning Spiral Canvas (CLSC) ประกอบกับกิจกรรมที่วางแผนไว้ จึงเกิดแนวคิดในการจัดการเรียนรู้นี้ขึ้นครับ


รูปการเรียนรู้จาก Creative Learning Spiral Canvas

1. จินตนาการ

  • ครูนำเสนอแนวคิดในการเชื่อมโยงชีวิตประจำวันเข้ากับสิ่งแวดล้อมกับนักเรียน ตั้งคำถามเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของสิ่งแวดล้อมกับวิถีชีวิต "ว่าหากเราได้ย้อนเวลากลับไปในยุคโบราณ เราจะใช้ชีวิตกันยังไง" จากนั้นจึงนำรูปภาพของไบโอมแต่ละรูปแบบเพื่อให้นักเรียนได้ทายอารยธรรมต่าง ๆ ที่เราจะได้เรียนกันในคาบนี้

2. สร้าง

  • แบ่งกลุ่มนักเรียนออกเป็นกลุ่มตามอารยธรรมต่าง ๆ เช่น อารยธรรมมายา (ภูมิอากาศร้อนชื้น: A) อารยธรรมโรมัน (ภูมิอากาศแบบอบอุ่น คือ ภูมิอากาศแบบเมดิเตอร์เรเนียน: C) วัฒนธรรมชนเผ่ามองโกล (ภูมิอากาศแบบแห้งแล้ง: B) จากนั้นให้นักเรียนทำการสืบค้นเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต และสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์ในอารยธรรมนั้น ๆ ร่วมกันในห้อง Break out room

3. เล่น

  • นักเรียนได้ออกแบบวิถีชีวิตและบทบาทหน้าที่ของตัวเองในอารยธรรมนั้น ๆ ก่อนจะเรียบเรียงและเตรียมนำเสนอแก่เพื่อน ๆ ในห้อง Meeting

4. แบ่งปัน

  • นักเรียนแต่ละอารยธรรมแบ่งปันประวัติโดยคร่าวของอารยธรรม วิถีชีวิตของพวกเขา และสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ในอารยธรรมนั้น ๆ ที่พวกเขาพบเจอ

5. สะท้อนการเรียนรู้

  • ครูทำการสรุปความเชื่อมโยงของพืชพรรณ และสัตว์ต่าง ๆ รวมถึงบริบทพื้นที่ กับ Köppen climate classification ว่าเพราะเหตุใดแต่ละพื้นที่จึงมีความแตกต่างกัน มีปัจจัยอะไรที่เกี่ยวข้องบ้าง


จากการทดลองใช้ในการเรียนออนไลน์พบว่านักเรียนเข้าใจเกี่ยวกับพื้นที่และไบโอมของอารยธรรมตัวเองได้ดีมาก ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่จะทำให้เรื่องไบโอมที่ต้องอาศัยการท่องจำลักษณะต่าง ๆ มาเป็นการนึกถึงอารยธรรมต่าง ๆ วิถีชีวิตของคนในสมัยนั้น และทำให้เกิดการเชื่อมโยงถึงลักษณะภูมิอากาศและไบโอมนั้น ๆ ได้เองครับ


หลังจากผ่านคาบเรียนไปแล้วผู้เขียนเองก็ไม่แน่ใจว่ากิจกรรมในบทความนี้จะเป็นกิจกรรมที่สร้างความคิดสร้างสรรค์ อันเป็นจุดประสงค์ของรูปแบบการจัดการเรียนรู้แก่นักเรียนได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะหรือไม่ แต่การมีปฏิสัมพันธ์ของนักเรียนที่ได้กลับมาในคาบเรียนนี้รวมถึงการที่นักเรียนเข้าใจจุดประสงค์การเรียนรู้ในคาบเรียน สิ่งที่เกิดขึ้นก็คุ้มค่ากับการเตรียมการสอนของครูมากแล้วครับ เชื่อว่าหากมีคาบเรียนเช่นนี้อีกหลาย ๆ ชั่วโมง จะสามารถสร้างความคิดสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นในนักเรียนของเราได้ครับ


สมส่วน with คุณครูรพี ครูสังคมสุดแซ่บ

ไฟล์ที่เกี่ยวกับไอเดีย

ไฟล์ที่ 1 จากทั้งหมด 1

ชื่อไฟล์​: Biome.pdf

ดาวน์โหลดแล้ว 140 ครั้ง


รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(16)
เก็บไว้อ่าน
(8)