icon
giftClose
profile
frame

คาบเรียนฟิสิกส์กับเสียงที่ครูอยากได้ยิน

19221
ภาพประกอบไอเดีย คาบเรียนฟิสิกส์กับเสียงที่ครูอยากได้ยิน

ครูหลายท่านคงเบื่อกับห้องเรียนออนไลน์ที่เงียบเหงา ถามไปก็ไม่มีใครตอบ (การพยายามอยู่ฝ่ายเดียวมันท้อเหลือเกิน) มาปรับห้องเรียนวิทยาศาสตร์ให้น่าสนใจกันนะครับ เสียงหัวเราะของนักเรียนที่ครูอยากได้ยินจะกลับมา

เปลี่ยนห้องนั่งเรียน เป็นห้องนั่งเล่น


สวัสดีครับ...วันนี้ผมมีไอเดียการจัดการเรียนรู้มานำเสนอ เมื่อผมได้เข้าร่วมกิจกรรม KRUATOR WORKSHOP ที่ชวนคุณครูมาสร้างสรรค์กิจกรรมการจัดการเรียนรู้รูปแบบใหม่ ๆ ปรับเปลี่ยนห้องเรียนของเราไม่ให้น่าเบื่อผ่าน KRUATOR CARD ตัวช่วยของคุณครูในการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้สุดสร้างสรรค์


โดยผมได้ออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ในรายวิชาฟิสิกส์ ระดับชั้น ม.5 ซึ่งกำลังจะเตรียมการสอนเรื่อง เสียง ผ่านการ์ดไอเดีย การ์ดสถานการณ์ และการ์ดทักษะ เป็นการท้าทายของผมมากเลยครับที่ต้องออกแบบกิจกรรมแต่ละขั้นภายในเวลา 3 นาที


มาเริ่มต้นไอเดียกันเลยครับ...สถานการณ์ คือ นักเรียนขาดแรงจูงใจในการเรียน

ปัญหาสำคัญในการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ เรียนก็ยาก เอาไปใช้ทำอะไร ไม่เห็นเข้าใจอะไรเลย ฟังแต่ครูอธิบาย มองไม่เห็นภาพ จนทำให้นักเรียนไม่อยากเข้าเรียน...



ทักษะที่จะพัฒนานักเรียน คือ ทักษะการแก้ปัญหา (Problem Solving)

ทักษะการแก้ปัญหาเป็นทักษะที่สำคัญในการเรียนวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะการคำนวณ แค่การวิเคราะห์โจทย์ หาสูตร แทนค่าในตัวแปรที่เกี่ยวข้อง ใช้ทักษะทางคณิตศาสตร์ในการหาผลลัพธ์ให้ถูกต้อง เป็นปัญหาที่อยู่คู่กับวิชาฟิสิกส์กับนักเรียนมาหลายรุ่นแล้วครับ


การ์ดไอเดียที่ผมได้ตอนเริ่มต้นมีทั้งหมด 4 ใบ ดังนี้



ขั้นนำ -- การ์ดสื่อออนไลน์

ครูทบทวนความรู้เดิม หรือกระตุ้นความสนใจของนักเรียนก่อนเริ่มเรียน โดยใช้คลิปวิดีโอ รูปภาพ หรือบทความที่มีอยู่ในสื่อออนไลน์ เพื่อให้นักเรียนร่วมกันแสดงความคิดเห็นกับสิ่งที่เกิดขึ้น ถ้าสามารถทำให้นักเรียนเกิดความสงสัย เริ่มอยากรู้เหตุผลต่าง ๆ นักเรียนจะตั้งใจเรียนคาบนี้แน่นอนครับ



ขั้นสอน -- การ์ดแผ่นป้าย การ์ดประมูล การ์ดโหวต

หลังจากขั้นนำ แล้วครูมีการอธิบายสาระสำคัญสิ่งที่นักเรียนควรทราบจากบทเรียนนี้เรียบร้อยแล้ว ก็ได้เวลาที่ครูจะเปลี่ยนห้องนั่งเรียนเป็นห้องนั่งเล่น โดยการทั้ง 3 ใบนี้สามารถออกแบบห้องเรียนของเราใหม่ได้

  • เริ่มจากการแบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่มประมาณ 6 คน (ขึ้นอยู่กับสมาชิกของห้องนะครับ) นักเรียนชอบทำงานกลุ่มร่วมกันไม่กล้าที่จะคิดคนเดียวกลัวผิด กลัวทำไม่ได้
  • เกมตอบคำถามจะใช้การจับคู่ระหว่างแผ่นป้ายคำถาม (โจทย์ปัญหา) กับแผ่นป้ายคำตอบ (ตัวเลข คำอุปสรรค หน่วยของปริมาณที่เกี่ยวข้อง)
  • ก่อนที่นักเรียนจะไปตอบคำถามร่วมกันนั้น นักเรียนแต่ละกลุ่มต้องประมูลแผ่นป้ายคำตอบที่คิดว่าจะต้องนำไปใช้ในการจับคู่คำถาม โดยแต่ละกลุ่มมีทรัพยากร (เงิน) อย่างจำกัด นักเรียนจะได้ฝึกการแก้ปัญหา ทำอย่างไรถึงจะสามารถได้ป้ายคำตอบไปตอบคำถามให้ได้คุ้มที่สุด
  • เมื่อนักเรียนประมูลป้ายคำตอบกันเรียบร้อยแล้ว ครูให้นักเรียนแต่ละกลุ่มช่วยกันคิดและอภิปรายเพื่อหาคำตอบร่วมกัน โดยนักเรียนจะมีสิทธิตอบคำถามได้ต้องมีป้ายคำตอบครบองค์ประกอบสมบูรณ์
  • เมื่อมีกลุ่มใดขอตอบแล้ว เพื่อน ๆ กลุ่มอื่นสามารถใช้การโหวตลงคะแนนให้กับคำตอบนั้นได้ โดยร่วมกันพิจารณาความถูกต้องของคำตอบ มาถึงตอนนี้นักเรียนจะแกล้งกันแล้ว ทำลายความมั่นใจของเพื่อนได้ เพื่อให้เพื่อนไม่แน่ใจในคำตอบ อาจจะมีกติกาเพอ่มเติมให้สนุกมากขึ้น (ผมต้องคิดเพิ่มก่อนนะครับ จะแกล้งนักเรียนต้องวางแผนก่อน)
  • กลุ่มที่ตอบคำถามได้ถูกต้องมากที่สุดจะเป็นผู้ชนะ


การ์ดหมดแล้ว ขอเพิ่ม 1 ใบนะครับ



ขั้นสรุป -- การ์ดถูก/ผิด

ขั้นสรุปเป็นการตรวจสอบความเข้าใจโดยใช้แบบทดสอบ (ถูก/ผิด) หลังเรียน เพื่อประเมินความเข้าใจของนักเรียนว่านักเรียนมีความรู้ความเข้าใจตามจุดประสงค์การเรียนรู้ในคาบนี้มากน้อยเพียงใด ออกแบบข้อคำถามเป็นแบบ speed test หน่อย ๆ น่าจะดีนะครับ ไม่ให้ยากเกินไปวัดแค่ประเด็นความรู้ที่สำคัญ


ไอเดียนี้เพิ่งได้มาสด ๆ ร้อน ๆ อาจจะมีบางอย่างที่ยังไม่เข้าที่เข้าทางนะครับ... เดี๋ยวจะนำไปใช้สอนนักเรียนประมาณกลางเดือนนี้ ผลเป็นอย่างไรจะมาเล่าให้ฟังอีกทีครับ


หวังว่าไอเดียนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงห้องเรียนเดิม ๆ ได้นะครับ


-- ขอบคุณครับ --





รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(3)
เก็บไว้อ่าน
(5)