icon
giftClose
profile

วิทยาศาสตร์จากโต๊ะอาหาร "กิจกรรมกระดูกปริศนา"

33734
ภาพประกอบไอเดีย วิทยาศาสตร์จากโต๊ะอาหาร "กิจกรรมกระดูกปริศนา"

"ครูคะ/ครูครับ กระดูกของจริงมั้ย" "ครูเอามาจากไหน" "ครูกระดูกอะไร" "ครูทำไมสีเป็นแบบนี้" "ครูกลิ่นมันแปลกๆ" "ครูๆ" เพียงครูแจกกระดูกให้นักเรียนในห้องเรียน คู่ละ 1 ชิ้น นักเรียนก็ตั้งคำถามขึ้นเองโดยอัตโนมัติ บรรยากาศในชั้นเรียน ดูจะวุ่นวาย แต่เต็มไปด้วยข้อสงสัย ความสนใจ และความกระตือรือร้นในการเรียน

วิทยาศาสตร์จากโต๊ะอาหาร กิจกรรมกระดูกปริศนา

"ไอเดียการสอนใหม่ๆ มักเกิดขึ้น ตอนครูมีความสุข นั้นคือ ตอนครูได้กินอาหารอร่อย ๆ หรือตอนครูได้พักผ่อนเพียงพอ หรือตอนครูได้ไปท่องเที่ยวในสถานที่ใหม่ๆ" จริงหรือไม่? .....จริงไม่จริงอย่างไร แต่ไอเดียนี้เกิดขึ้นบนโต๊ะอาหารจากร้านไก่ทอดแห่งหนึ่ง เมื่อครูสั่งไก่ทอดแลัวจัดการไก่จนหมด เหลือเพียงกระดูกชิ้นน่ารักๆ จำนวนหนึ่ง ครูนำกระดูกจากร้านอาหารห่อด้วยกระดาษเยื่อ เก็บใส่กระเป๋ากลับบ้าน พนักงานร้านคงตกใจ โต๊ะนี้กินไก่ ไม่เหลือแม้กระดูก!!!! จากนั้น นำมาทำความสะอาดและแช่ใน ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ เพื่อทำให้สีของกระดูกขาวขึ้น จนพอใจในสีของกระดูก จากนั้นตากให้แห้งและเก็บไว้ไปให้นักเรียนศึกษาต่อไป



ขั้นตอนการจัดกิจกรรม

1. ขั้นสร้างความสนใจ

1.1 ครูนำสื่อการสอน โครงกระดูกไก่มาแสดงให้นักเรียนดู แล้วถามคำถามนักเรียนว่า

-นักเรียนจะทราบได้อย่างไรว่า โครงกระดูกนี้เป็นโครงกระดูกของสัตว์ชนิดใด

-นักเรียนคิดว่ามนุษย์มีโครงกระดูกเหมือนหรือแตกต่างกันกับตัวอย่างโครงกระดูกนี้

-นักเรียนคิดว่า สัตว์ที่ไม่มีโครงกระดูก มีส่วนใดที่ทำหน้าที่แทนโครงกระดูก

1.2 ครูถามนักเรียนเกี่ยวกับระบบโครงกระดูกของสิ่งมีชีวิต 3 ชนิด คือ หอย ปลา และ แมงกะพรุน ว่ามีระบบโครงกระดูก เหมือน หรือ แตกต่างกันอย่างไร

2. ขั้นสารวจและค้นหา

2.1 ครูแบ่งกลุ่มของนักเรียนออกเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 5 คน

2.2 นักเรียนสมาชิกแต่ละกลุ่มค้นหา สืบค้น ข้อมูล รูปแบบของระบบโครงร่างของสิ่งมีชีวิต

2.3 ครูคอยให้คำแนะนำและตอบคำถาม ชี้แนะแนวทางในการสืบค้นข้อมูล

2.4 สมาชิกในแต่ละกลุ่มเขียนสรุปผลศึกษาประเภทของระบบโครงร่างและจัดจำแนกระบบโครงร่างของสิ่งมีชีวิตทั้ง 3 ชนิด พร้อมให้เหตุผลประกอบ

3. ขั้นอธิบายและลงข้อสรุป

3.1 ครูและนักเรียนร่วมกันอภิปรายเกี่ยวกับประเภทของระบบโครงร่าง ซึ่งประกอบด้วย ระบบโครงกระดูกภายนอก (exoskeleton) ระบบโครงกระดูกภายใน (endoskeleton) และระบบโครงกระดูกของเหลว (hydrostatic skeleton)

3.2 ครูและนักเรียนอภิปรายเกี่ยวกับระบบโครงร่างของมนุษย์เปรียบเทียบกับโครงกระดูกของไก่

4. ขั้นขยายความรู้

4.1 ครูแจกกระดูกปริศนาให้นักเรียนแต่ละกลุ่ม คู่ละ 1 ชิ้น โดยให้นักเรียนลองสังเกตและเปรียบเทียบว่าเป็นกระดูกแกนหรือกระดูกระยางค์

4.2 นักเรียนแต่ละกลุ่มศึกษาประเภทของกระดูก สมาชิกวาดภาพกระดูกที่ตนเองได้รับ (ภาพเสมือนจริง)

4.3 ครูให้นักเรียนสังเกต ตัวอย่างกระดูกเปรียบเทียบกับโครงกระดูกไก่แล้วตอบคำถาม ดังต่อไปนี้ 1.ชื่อกระดูก 2.หน้าที่ของกระดูก 3.ขนาดของกระดูก

4.4 ครูพานักเรียนสรุปแล้วอภิปรายเกี่ยวกับประเภทของกระดูก

5.ขั้นประเมิน

5.1 ครูถามคำถามเกี่ยวกับการดูแลรักษาระบบโครงร่างของมนุษย์

5.2 ครูชวนอภิปรายเกี่ยวกับอาหารที่บำรุงกระดูก

5.3 นักเรียนร่วมกันแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประโยชน์ที่ได้รับจากการปฏิบัติกิจกรรม และการนำความรู้ที่ได้ไปใช้ประโยชน์

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(1)
เก็บไว้อ่าน
(2)