inskru
gift-close

นักสำรวจโลกในบ้าน

1
0
ภาพประกอบไอเดีย นักสำรวจโลกในบ้าน

เมื่อไม่ได้ไปโรงเรียน เราเรียนรู้เรื่องสิ่งมีชีวิต ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม จากที่บ้านได้อย่างไรบ้างน้าาาา

สวัสดีค่ะ :)

ก่อนอื่นต้องขอออกตัวก่อนว่าฉันไม่ใช่ครูค่ะ และไอเดียนี้ก็ไม่เคยเอาไปสอนใครด้วยค่ะ

แต่ในระหว่างที่ฉันเก็บตัวอยู่ที่บ้านจากสถานการณ์โควิด แล้วได้ไปสังเกตเห็นสัตว์โลกน่าเรียนรู้ในบ้าน

ก็เลยคิดว่า เอ๊ะ นี่อาจจะเป็นไอเดีย ที่คุณครูและผู้ปกครองสามารถหยิบไปต่อยอดเป็นกิจกรรมให้เด็กๆ ได้เรียนรู้และผ่อนคลายได้ เมื่อไม่ได้ไปโรงเรียนหรือต้องเรียนออนไลน์ที่บ้านค่ะ



🌍 สังเกตสิ่งรอบตัว

ที่มาของการสำรวจนี้มาจากในแต่ละวันที่ฉันนั่งๆ เดินๆ อยู่ในบ้านแล้วก็เห็นสิ่งมีชีวิตต่างๆ ค่ะ


ตอนเช้า ตื่นมาก็ได้ยินเสียงนกร้อง "กรู้วววว กะดุ้กกุ๊กก" เอ๊ะเสียงนกร้องแบบนี้หน้าตาเป็นยังไงกันนะ


ตอนกลางวัน มองออกไปนอกหน้าต่างก็เห็นผีสีสีสดใสบินโฉบไปมาตามต้นไม้


ตอนค่ำ อุ้ววว จิ้งจกนั่นจ้องเขมือบแมลงอยู่ ..... . . . ในจังหวะที่กลั้นหายใจลุ้น เจ้าจิ้งจกก็งับแมลงเข้าให้แล้ว


ฉันรู้สึกว่าการใช้ชีวิตของสัตว์เหล่านี้น่าสนใจมากเลย และอยากรู้เพิ่มค่ะ



🌍 สำรวจเรื่องราว

เลยสวมบทนักสำรวจ ตามไปดูให้รู้มากขึ้น

จากได้ยินเสียงนก ก็ตามเสียงไปดูว่านกหน้าตาเป็นยังไง หน้าตาแบบนี้คือนกชนิดไหนกันนะ

พอตามไปดู ไปสังเกตเพิ่ม ก็เริ่มจะเข้าใจพฤติกรรมสัตว์ขาประจำมากขี้นค่ะ


เจ้านกเขาชอบมาเกาะกิ่งไม้ข้างหน้าต่างกิ่งนี้นานเป็นสิบนาที แล้วก็มักจะมาตัวเดียว


เจ้านกกระจิบตัวเล็ก มาด้วยกันทีละ 2-3 ตัว บินไปบินมาเร็วกว่านกเขามาก


เจ้านกอีแพรด ชอบไปเล่นน้ำ แล้วบินวนไปมา บางทีไปโฉบกินแมลงแถวเนินดิน



🌍 สืบค้นข้อมูล

แต่ก็ยังมีสัตว์อีกหลายชนิดที่ไม่รู้จักค่ะ

เลยต้องไปสืบค้นข้อมูลต่อด้วยการถามคนในบ้านและเสิร์ชทางอินเทอร์เน็ต


ว่าแต่ถ้าไม่รู้เลยว่าสัตว์ชนิดนี้คืออะไร จะค้นหาข้อมูลยังไงได้บ้างน้าา


ฉันใช้วิธีการพิมพ์คำที่คิดว่าน่าจะเกี่ยวข้องค่ะ เช่น ถ้าเจอนกแหลกหน้า

ก็พิมพ์คำว่า "นก" ตามด้วยลักษณะของมัน เช่น สี ขนาด

แล้วเลือกดูการค้นหาภาพ เพื่อมาเปรียบเทียบว่า ใช่นกที่เราเจอรึเปล่า



🌍 สรุปได้สารพัด

ฉันเชื่อว่าเมื่อได้ออกสำรวจแล้วแต่ละคนก็คงจะมีประเด็นเรื่องราวที่สนใจต่างกันไปค่ะ

อย่างตัวฉันเองรู้สึกสนใจเกี่ยวกับ "ห่วงโซ่อาหาร" ของสรรพสิ่งในบริเวณบ้าน ว่าในระบบนิเวศน์เล็กๆ นี้ มีความหลากหลายและมีความสัมพันธ์กันผ่านการกินยังไงบ้าง

ก็เลยวาดออกมาเป็นภาพห่วงโซ่อาหาร และภาพนี้สามารถมาเติมได้เรื่อยๆ เมื่อได้ไปค้นพบความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตอื่นเพิ่มอีกด้วย


ยังมีประเด็นและคำถามอื่นอีกมากเลยค่ะที่ฉันคิดว่าน่าสนใจที่จะออกไปเปิดโลกค้นหา เช่น

  • ทำไมนกมีเสียงร้องต่างกัน เสียงร้องนี้สื่อสารอะไร
  • ทำไมนกมีท่าทางการเคลื่อนไหวต่างกัน (สมมุติฐาน: ท่างทางการเคลื่อนไหวของนกสัมพันธ์กับอาหารที่นกกิน/ล่า หรือไม่)
  • ผีเสื้อและผึ้งต่างชนิดกัน ชอบดอกไม้ต่างชนิดกันอย่างไรบ้าง
  • ความสัมพันธ์ของระบบนิเวศน์ที่เกี่ยวข้องระหว่างพืชกับสัตว์
  • 5 ปีก่อน บริเวณนี้มีสัตว์ต่างจากปัจจุบันอย่างไรบ้าง เกิดจากปัจจัยใด


สำหรับฉันสื่อสารด้วยการวาดเป็นภาพออกมา

แต่ก็ยังมีวิธีการอื่นๆ อีกมากที่ใช้สื่อสารข้อมูลและความคิด

บางคนอาจจะชอบทำออกมาเป็นการถ่ายคลิปวิดิโอ ถ่ายภาพ การเขียน การพูดเล่าเรื่อง

หรือในอีกขั้นนึงคือเป็นการถ่ายทอดออกมาเป็นผลงานที่ได้รับแรงบันดาลใจจากการสำรวจนี้ โดยที่ไม่ได้สื่อสารข้อมูลโดยตรงก็ฟังดูน่าสนใจจังเลย :D



🌍 สมมุติว่าเอาไปจัดกิจกรรม


ในข้อนี้ฉันลองคิดว่าถ้าเอาไปจัดเป็นกิจกรรมจะเรียนรู้ได้อย่างไรบ้าง


วิชาไหนบ้างนะ -- แอบคิดว่าได้เกือบทุกวิชาเลยค่ะ

  • ฟิสิกส์-แรง พลังงาน
  • ชีววิทยา-พืช สัตว์ สิ่งแวดล้อม
  • เคมี-เคมีเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิต ฮอร์โมน
  • คณิตศาสตร์-สถิติ เลขาคณิต พื้นที่
  • ภาษา-การสื่อสารของสัตว์ การใช้ภาษาสื่อสารเรื่องสัตว์
  • สังคม-สิ่งแวดล้อมกับสังคม
  • โครงงาน-ศึกษาเรื่อง...


ระดับชั้นไหนบ้าง -- แอบคิดว่าปรับได้กับทุกระดับชั้นเลย

ขึ้นกับว่าในช่วงอายุนั้น เด็กๆ กำลังพัฒนาและเรียนรู้ทักษะด้านไหนอยู่บ้าง

  • การสืบค้นข้อมูล
  • การถ่ายทอดความคิด
  • การตั้งสมมุติฐาน
  • การคิดวิเคราะห์และเชื่อมโยง


หรือจะเป็นกิจกรรมที่ไม่ได้มีกรอบของระดับชั้นและวิชา อย่างฉันเองที่จบจากโรงเรียนมานานแล้วก็รู้สึกได้เรียนรู้ค่ะ





เอาภาพวาดนกอีแพรด กับเจ้านกเขาสามตัวที่มาหลบฝนที่ขอบหน้าต่างมาฝากค่ะ



หมายเหตุ

ที่อยู่อาศัยของแต่ละคนมีสภาพแวดล้อมต่างกัน บางบ้าน เช่น อพาทเมนต์ อาจจะไม่ได้พบเจอสรรพสัตว์มากมายแบบบ้านฉันค่ะ อาจปรับเป็นการสำรวจสิ่งอื่นๆ แทนได้

และที่สำคัญ ที่มาส่งต่อไอเดียนี้ด้วยหวังว่าจะช่วยในสถาณการณ์ที่เด็กๆ ไม่ได้ไปโรงเรียนได้ค่ะ โดยส่วนตัวจึงหวังว่าจะเป็นกิจกรรมที่สนุกสนานและได้ผ่อนคลาย ไม่ไปเพิ่มความตึงเครียดกับภาระงาน การบ้านที่นักเรียนต้องเครียดค่ะ แต่มองว่าเป็นการได้ฝึกทักษะและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ 🙏 💕



ข้อแนะนำ

ฉันตั้งกฎส่วนตัวที่อยากให้เป็นส่วนรวมของการส่องสัตว์ไว้ก็คือ...


  1. พยายามอย่าไปทำให้วิถีชีวิตของเขาเปลี่ยน (เช่น เห็นตัวนั้นกำลังจะกินตัวนี้ก็คิดว่าเราใจดีนี่นาต้องช่วยเหยื่อสิ แต่ลองคิดกลับกันว่าเจ้าตัวผู้ล่าถ้าพลาดเหยื่อตัวนี้เขาอาจจะอดตายเลยก็ได้ หรือไม่ก็จะมีเหยื่อตัวอื่นแทน เท่ากับเราช่วยตัวนี้ ทำร้ายตัวนั้น)ฉะนั้น มาเป็นคนที่ไม่สร้างผลกระทบกันค่ะ
  2. ค่อยๆ นะ พยายามระวังอย่าทำให้สัตว์ตกใจค่ะ อย่างพวกนกที่กกไข่อยู่เขาอ่อนไหวกับคนมากเลย บางทีเราเดินไปใกล้ ยัยแม่นกตกกะใจบินหนี บางทีทิ้งรังไปเลย ไข่ก็ไม่ได้ฟักโซแซ้ด ค่อยๆ ย่องและกลมกลืนกับธรรมชาติน่าจะช่วยได้ค่ะ แล้วก็พรางสายตาตัวเราเอง เคยได้ยินมาว่าพวกนกจะกลัวตาที่ไปมอง เลี่ยงๆ ไม่ให้นกเห็นว่าตาเรามองมันอยู่ก็ช่วยนะ (จากความรู้สึกที่เคยลองมา) *ใครมีวิธีไหนอีกแนะนำหน่อย*
  3. ระมัดระวังด้วยนะ แบบว่าตามดูสัตว์แล้วตัวเราเองตกหล่น หรือโดนสัตว์กัดต่อย ก็จะเป็นอันตรายได้ค่ะ



สุดท้ายนี้...

หากคุณครูและผู้อ่านที่ไม่ใช่คุณครู ผ่านมาอ่านไอเดียนี้แล้วมีความคิดเห็น ข้อแนะนำ หรือมีไอเดียต่อยอดออกไปอีก หรือได้ลองเอาไปใช้แล้วได้ผลเป็นอย่างไร มาแบ่งปันความคิดเห็น มาบอกกันได้ที่คอมเมนท์ได้เลยนะคะ

ขอบคุณและชอบคุณมากๆ เลย ที่แวะมาอ่านและมาบอกกันค่ะ 🥰 🙏


วิทย์ยายุทธทุกการสอนออนไลน์เป็นไปได้ทุกระดับชั้นวิทยาศาสตร์สิ่งมีชีวิตกิจกรรมเสริมบูรณาการScienceLearningDesigner

ไอเดียนี้เป็นไงบ้าง?

1
ได้แรงบันดาลใจ
0
ลงไอเดียอีกน้า~
แบ่งปันโดย
Jai Natta
มนุษย์ที่แวะเวียนอยู่ในวงโคจรใกล้ๆ อินสครู

อยากร่วมแลกเปลี่ยน?

please login

แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru

เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย

icon-please-commentมาเป็นคนแรกที่แลกเปลี่ยนสิ!

ไอเดียน่าอ่านต่อ