เรื่องส้มๆ เป็นเรื่องที่ดูแล้วเป็นเรื่องง่ายๆ เข้าใจง่าย แต่บางที่เรื่องส้มๆ ก็ไม่ได้ง่ายเหมือนการปอกส้มรับประทาน นักอนุกรมวิธานเข้าใจถึงความสับสนและความยุ่งยากของส้มมานาน และเป็นที่ถกเถียงในการจำแนกและตั้งชื่อชนิดของส้มจนไม่อยากสนใจว่าส้มชนิดใด พันธุ์อะไร การจำแนกกลุ่มยังขึ้นกับนักอนุกรมวิธานด้วย เช่น สวิงเกิล (Swingle) จำแนกได้ 16 ชนิด, ทานาคา (Tanaka) จำแนกได้ 162 ชนิด และฮอจสัน (Hodgson) จำแนก 36 ชนิด ขณะที่นักอนุกรมวิธานบางท่านเสนอว่าส้มทั้งหลายจัดเป็นพืชชนิดเดียวกันที่สามารถผสมพันธุ์ระหว่างกันได้ ด้วยเหตุนี้จึงไม่แปลกหากเราจะพบชื่อวิทยาศาสตร์ของส้มหลายชนิดที่แตกต่างกัน ดังนั้นเพื่อความแน่นอน จึงมักจะระบุถึงนักอนุกรมวิธานผู้จำแนกเอาไว้ด้วยพืชตระกูลส้ม
ทำไมส้มจึงลอยน้ำ
เรามาพิจารณาที่ผลส้มกันก่อน ที่ผลส้มมีเปลือกส้มห่อหุ้มอยู่ โดยเปลือกส้มแบ่งออกเป็น 3 ชั้นได้แก่
ภาพ ผลส้มตามแนวตัดขวาง
ที่มา dnp.go.th/botany/BFC/image/Fruit/hesperidium.jpg
1. เปลือกผลชั้นนอก เรียกว่า ฟลาเวโด (flavedo) เป็นส่วนที่อยู่ชั้นนอกสุดของผล ประกอบด้วยเซลล์อีพิเดอมีส (epidermis) เป็นเนื้อเยื่อที่อยู่ด้านนอกสุดของผลเป็นเซลล์ชั้นเดียว เรียงชิดกันจนไม่มีช่องว่างระหว่างเซลล์ มีชั้นคิวติเคิลหุ้มหนามากซึ่งเป็นไขลดอุณหภูมิและการคายน้ำ มีต่อมน้ำมันซึ่งส้มสร้างตั้งแต่ในระยะที่เป็นรังไข่ของดอก ต่อมน้ำมันจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นในระยะที่ผลขยายใหญ่ ใต้ชั้นของอีพิเดอมีสจะมีชั้นของเซลล์ซึ่งเมื่อผลสุกจะมีการสร้างสารพวกคาโรตินอย ทำให้ผลส้มเกิดสีสันตามลักษณะประจำพันธุ์
2. เปลือกผลชั้นกลาง เรียก อัลบิโด (albedo) เซลล์ชั้นกลางของเปลือกผลเป็นเซลล์พวกสปองจิพาเรงไคมา ซึ่งทำหน้าที่เก็บสะสมอาหาร ลำเลียงน้ำ สังเคราะห์ด้วยแสง คล้ายกับสปองจิมีโซฟิลในใบ เปลือกผลชั้นกลางนี้มีสีขาวๆ อ่อนนุ่มในระยะแรกของการเจริญเติบโตของผล การเพิ่มขนาดของผลในระยะแรกเกิดจากการเพิ่มความหนาของเปลือกผลชั้นกลางนี่เอง ในส้มเขียวหวาน เปลือกที่เป็นชั้นของเปลือกชั้นนอกและชั้นกลางมีลักษณะบางมากและเป็นใยขาวๆ หุ้มอยู่ แต่ในส้มโอจะมีชั้นของเปลือกผลชั้นของเปลือกหนามาก
3. เปลือกผลชั้นใน จัดเป็นชั้นในสุดของเปลือกผล คือ ส่วนที่เป็นช่องหรือกลีบผล (segment) และผนังของพูรังไข่ ก่อนที่ช่องผลจะขยายขนาด ส่วนที่เป็นจุดกำเนิดถุงน้ำหวาน (juice sac primordia) จะจัดเรียงกันอย่างหนาแน่นและเป็นระเบียบ เมื่อช่องผลขยายขนาดเต็มที่ถุงน้ำหวานจะกระจัดกระจายออกไม่เป็นระเบียบ ผนังของเปลือกชั้นในจะยืดตัวออกจนตึงและปกคลุมด้วยชั้นคิวติเคิล
เมื่อเราทราบว่าผิวเปลือกส้มนั้นมี 3 ชั้น การห่อหุ้มส้มไว้ให้คงความสดอยู่เสมอจึงอยู่ที่เปลือกส้มนั่นเอง และเปลือกส้มนั่นเองที่ทำให้ส้มนั้นลอยน้ำได้
การที่ส้มลอยน้ำนั่นแสดงว่า ส้มยังมีความสดอยู่ และยังไม่เสียความชื้นไปในอากาศ แต่ถ้าเปลือกส้มมีผิวพรุนหรือเกิดจากการที่มีหนอนเข้าไปชอนไชภายในเปลือก จะทำให้ผิวชั้นกลางที่เรียกว่าอัลบิโดเปลี่ยนแปลงไปและทำให้ส้มนั้นมีการเน่าในเวลาต่อมา
แรงลอยตัวมีผลอะไรต่อส้ม
แรงลอยตัวเป็นแรงที่ช่วยในการพยุงให้วัตถุนั้นลอยน้ำ ถ้าแรงลอยตัวมีค่ามากกว่าน้ำหนักจะทำให้วัตถุนั้นลอยน้ำ ในขณะเดียวกันถ้าน้ำหนักมากกว่าแรงลอยตัววัตถุนั้นก็จะจมน้ำ การเพิ่มแรงลอยตัวสามารถทำได้จากการนำวัสดุมาห่อหุ้ม เช่น เวลาเราไปทะเลจะต้องใช้ห่วงยางหรือชูชีพในการลอยตัวให้อยู่ในน้ำเพื่อเป็นการเพิ่มแรงลอยตัวให้ตัวเรา
ในส้มจะมีเปลือกถึง 3 ชั้น ซึ่งแต่ละชั้นจะมีเนื้อเยื่อที่ช่วยห่อหุ้มส้มไม่ให้เกิดการคายน้ำและทำให้ส้มดูสดอยู่เสมอ โดเฉพาะผิวชั้นนอกมีความมัน ทำให้น้ำไม่เกาะที่ผิวส้ม ในเปลือกส้มชั้นกลางและชั้นในจะมีเยื่อสีขาวๆ ซึ่งทำหน้าที่รักษาความสดของส้มและยังทำให้ส้มน้ำมีความหวานตามมาด้วย
ดังนั้นถ้านำส้มไปใส่ในน้ำ ส้มก็จะลอยน้ำ หากส้มไม่มีเปลือกส้มหรือเปลือกส้มถูกหนอนหรือเชื้อราเข้ากัดกินทำร้าย เปลือกส้มก็จะมีรูพุรน ส้มก็จะจมน้ำ
ส้มดีส้มเน่าจึงดูได้จากการที่ส้มลอยหรือไม่ลอยน้ำ แต่ถ้าเราเจอส้มจมน้ำนั่นแสดงว่าส้มนั้นกำลังจะเน่าแล้วล่ะ
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย
ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!