icon
giftClose
profile
frame

คิดวิเคราะห์ผ่านกิจกรรม "สิ่งที่เห็น สิ่งทีเป็น"

35693
ภาพประกอบไอเดีย คิดวิเคราะห์ผ่านกิจกรรม "สิ่งที่เห็น สิ่งทีเป็น"

กิจกรรมฝึกคิดวิเคราะห์เรื่องหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ผ่านทฤษฎีภูเขาน้ำแข็ง กิจกรรมนี้ทำให้นักเรียนมีความรู้เรื่องหลักฐานทางประวัติศาสตร์ มีทักษะการคิดวิเคราะห์มากขึ้น และเห็นความสำคัญของหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เพียงแค่ตั้งคำถามว่า "สิ่งที่เห็น กับสิ่งที่เป็น"

กิจกรรมฝึกคิดวิเคราะห์เรื่องหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ผ่านทฤษฎีภูเขาน้ำแข็ง

กิจกรรมนี้ครูอยากให้นักเรียนมีความรู้เรื่องหลักฐานทางประวัติศาสตร์ มีทักษะการคิดวิเคราะห์มากขึ้น และเห็นความสำคัญของหลักฐานทางประวัติศาสตร์

ซึ่งครูได้รับแรงบันดาลใจในการทำกิจกรรมนี้มาจากทฤษฎีภูเขาน้ำแข็ง ของ David McClelland ค่ะ ทฤษฎีนี้ก็คือ ส่วนที่อยู่เหนือน้ำ สามารถสังเกตเห็นได้ง่าย ส่วนที่อยู่ใต้น้ำ สังเกตเห็นได้ยาก ส่วนที่อยู่ใต้น้ำแข็งก็เหมือนสาเหตุที่ทำให้เกิดสิ่งต่าง ๆ ขึ้นนั่นเองค่ะ แต่คนเรามักจะตัดสินแค่สิ่งที่เห็นอยู่เหนือน้ำค่ะ

ประกอบกับหลักการคิดวิเคราะห์ที่ต้องมีการคิดแยกแยะส่วนย่อยออกจากองค์ประกอบ โดยการใคร่ครวญ ไตร่ตรอง คิดอย่างรอบคอบว่าประกอบไปด้วยสิ่งใด มีความสำคัญอย่างไร และสามารถบอกได้ว่า เรื่องราวหรือเหตุการณ์ต่าง ๆ เป็นอย่างไร มีแนวโน้มไปในทางใด เพื่อประกอบการตัดสินใจอย่างสมเหตุสมผล    

เกิดเป็นกิจกรรมการสอนเรื่อง “สิ่งที่เห็น กับ สิ่งที่เป็น” กิจกรรมนี้ครูลองทำแล้วช่วยให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการเรียนออนไลน์มากขึ้น พูดคุยกับครู รู้จักตั้งคำถามมากขึ้นอีกด้วยนะคะ

เริ่มจากครูน้ำภาพภูเขาน้ำแข็งมาให้นักเรียนดู และให้นักเรียนสังเกตภูเขาที่อยู่เหนือน้ำ เหมือนจะเป็นทุกส่วนของภูเขาแล้ว แต่จริง ๆ ภูเขาที่เห็นอยู่เหนือน้ำไม่ใช่ทั้งหมด จริง ๆ แล้วมีส่วนที่อยู่ใต้น้ำด้วย

เหมือนเรื่องราวทางประวัติศาสตร์บางทีเราก็รับรู้แต่ในสิ่งที่เห็น แต่ถ้าอยากเข้าใจประวัติศาสตร์จริง ๆ จะต้องเข้าใจสาเหตุของเหตุการณ์นั้น ๆ ด้วย เหมือนต้องเข้าใจส่วนของภูเขาน้ำแข็งที่อยู่ใต้น้ำด้วย

กิจกรรมนี้เมื่อนักเรียนเข้าใจหลักการของภูเขาน้ำแข็งแล้ว ครูจะนำภาพมาให้นักเรียนดู และตั้งคำถามกับนักเรียนว่าสิ่งที่เห็น คืออะไร และสิ่งที่เป็นคืออะไร ซึ่งสิ่งที่เป็นก็คือการตั้งคำถามว่า ทำไม (Why) เพื่อลองวิเคราะห์สาเหตุว่าทำไมจึงเกิดเหตุการณ์ในภาพนั้นได้

โดยภาพแรกที่ครูนำมาให้นักเรียนดูคือภาพโจ๊กเกอร์ เพื่อให้นักเรียนเข้าใจชัดเจนว่า “สิ่งที่เห็นอาจไม่ใช่สิ่งที่เป็น” การที่โจ๊กเกอร์ทำให้ตัวเองเป็นแบบในภาพเพราะอะไร ถ้าเราต้องการเข้าใจเขาโดยไม่ตัดสินเขาจากภายนอก จึงต้องลองให้นักเรียนวิเคราะห์ที่มา “นั่นคือสิ่งที่เป็น” ภาพนี้มีทั้งนักเรียนที่รู้จักเรื่องราวของโจ๊กเกอร์และไม่รู้จัก แต่นักเรียนที่ไม่รู้จักก็สามารถแยกประเด็นสาเหตุออกมาได้ใกล้เคียงข้อเท็จจริงของหนังเรื่องโจ๊กเกอร์มาก ๆ มาลองดูคำตอบของนักเรียนกันค่ะ

“สิ่งที่เห็น” น่ากลัว เขาดูเศร้า เขาดูแกล้งยิ้ม โรคจิต ตัวตลก หลังจากนั้นครูถามนักเรียนต่อถึงสิ่งที่เป็นด้วยการใช้คำถามว่า ทำไม (Why) เช่น ทำไมเขาต้องน่ากลัว ทำไมเขาต้องแกล้งยิ้ม

“สิ่งที่เป็น” จากคำตอบของนักเรียน เช่น เพราะเขาถูกรังแกต้องทำให้ตัวเองน่ากลัวจะได้ไม่มีใครกล้ามายุ่ง เขาแกล้งยิ้มเพราะจริง ๆ เขาไม่มีความสุข แต่ต้องทำเป็นเข้มแข็ง เขาดูเศร้าเพราะน่าจะมีคนรังแกเขา หรือไม่มีใครรับฟังปัญหาของเขา

ซึ่งถ้านักเรียนสามารถวิเคราะห์ถึงสาเหตุได้ จะทำให้นักเรียนไม่ตัดสินประวัคิศาสตร์จากอคติส่วนตัว แต่เข้าใจความเป็นมา และสามารถย้อนไปหาจุดเริ่มต้นที่เป็นปัจจัย หรือสาเหตุ ที่ควรปรับปรุง แก้ไข เป็นการแก้ไขได้ตรงจุดมากที่สุด เหมือนที่เข้าใจว่าทำไม่โจ๊กเกอร์ถึงกลายเป็นคนไม่ดี

ภาพต่อไปที่ครูนำมาให้นักเรียนดูเป็นภาพในอดีต ก่อนหน้านี้ครูเริ่มจากภาพที่ใกล้ตัวนักเรียน นักเรียนรู้จัก เป็นภาพที่ชัดเจนว่าสิ่งที่เห็นอาจไม่ใช่สิ่งที่เป็นก็คือภาพโจ๊กเกอร์

หลังจากนั้นครูเลือกภาพเหตุการณ์ในอดีตที่ใช่หลักการวิเคราะห์แบบเดียวกันในการทำกิจกรรมดังนี้

ภาพเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2561

เมื่อดูภาพนี้ “สิ่งที่นักเรียนเห็น” ก็คือ คนเยอะ คนมาชุมนุม อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หลังจากนั้นครูตั้งคำถามว่า ทำไมคนต้องมาชุมนุม มีเหตุผลอะไรบ้างที่ต้องมาชุมนุม แล้วทำไมต้องที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

ซึ่งคำตอบของนักเรียนในหัวข้อ “สิ่งที่เป็น” ก็คือ เข้าน่าจะมารวมกันเพื่อเรียกร้องอะไรบางอย่างมาที่อนุเสาวรีย์ประชาธิปไตยก็น่าจะมารวมตัวเกี่ยวกับเรื่องประชาธิปไตยรึเปล่า เขามาดูคอนเสิร์ตรึเปล่า

ซึ่งคำตอบของนักเรียนครูยังไม่อยากจำกัดว่าต้องถูกต้องตามความจริงทางประวัติศาสตร์ แต่ให้นักเรียนวิเคราะห์ความเป็นไปได้ที่เป็นเหตุเป็นผลของสาเหตุที่เกิดการชุมนุมครั้งนี้ขึ้น ซึ่งนักเรียนบางคนไม่ได้รู้เรื่องราวในภาพมาก่อน แต่สามารถวิเคราะห์ได้ใกล้เคียงความเป็นจริงมาก ๆ

ในประเด็นนี้ครูสามารถถามนักเรียนเพื่อวิเคราะห์ไปถึงสาเหตุของการชุมนุมต่อได้อีก เช่น

ครู : เข้ามารวมตัวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยเพราะอะไร

นักเรียน: เพราะไม่มีประชาธิปไตยในสมัยนั้น

ครู: ทำไมในสมัยนั้นถึงไม่มีประชาธิปไตย

นักเรียน: เพราะผู้นำไม่เป็นประชาธิปไตย

ครู: ทำไมผู้นำถึงไม่เป็นประชาธิปไตย

นักเรียน: เขาไม่ได้มาจากการเลือกตั้งรึเปล่าคะ

อย่างที่ครูบอกว่าคำตอบของนักเรียนอาจจะไม่จริง 100% แต่นักเรียนก็พยายามวิเคราะห์อย่างเป็นเหตุเป็นผลมากที่สุด ซึ่งหากจะหาข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ ต้องมีการแยกเป็นประเด็น และหาหลักฐานมากกว่านี้

นอกจากนี้ครูยังถามนักเรียนต่อว่าหลักฐาน ภาพเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2561 นี้เป็นหลักฐานชั้นต้น หรือชั้นรอง ลายลักษณ์อักษร หรือไม่เป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อจะได้รู้ว่าหลักฐานชิ้นนี้ควรเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน ให้นักเรียนได้เห็นความสำคัญของการแยกประเภทหลักฐานจริง ๆ ว่าจะทำให้เรารู้ว่าควรนำหลักฐานชิ้นนั้นมาใช้อ้างอิงหรือไม่

ภาพผังเมืองอยุธยา

ภาพนี้นักเรียนส่วนใหญ่รู้จักกันดีค่ะ แต่ที่ครูเลือกภาพนี้ว่าอยากจะให้นักเรียนเข้าใจหลักการของการคิดวิเคราะห์ค่ะ “สิ่งที่เห็น” ก็คือ เกาะ แม่น้ำล้อมรอบ บ้านเมือง วัด ผังเมือง ครูตั้งคำถามเชื่อมโยงไปถึงสิ่งที่เป็นว่า ทำไมต้องมีแม่น้ำล้อมรอบ “สิ่งที่เป็น” ที่นักเรียนตอบก็คือ เพราะต้องป้องกันข้าศึก เพราะต้องใช้น้ำดำรงชีวิต หลังจากนั้นครูตั้งคำถามให้นักเรียนวิเคราะห์ต่อ เช่น ทำไมต้องป้องกันข้าศึก ตรงนี้นักเรียนก็จะเริ่มคิดแล้วว่าทำไมในสมัยนั้นจะต้องมีการทำศึกสงครามกันด้วย เกิดจากอะไร ทำไมสมัยนี้ไม่มีการทำศึกษาสงครามแบบในสมัยนั้นแล้ว

ภาพศิลาจารึก



ภาพนี้อาจจะดูไม่มีอะไร แต่ความไม่มีอะไรจริง ๆ มันก็มีอะไรนะคะ

ภาพนี้ส่วนใหญ่ “สิ่งที่นักเรียนเห็น” ก็คือ หิน แท่งหิน ตัวอักษร ศิลาจารึก ซึ่งครูตั้งคำถามเชื่อมโยงไปถึงสิ่งที่เป็นว่า ทำไมต้องมีตัวหนังสือ ทำไมต้องเป็นแท่งหิน ทำไมต้องมีตัวหนังสือบนแท่งหิน

ซึ่งคำตอบของนักเรียนในหัวข้อ “สิ่งที่เป็น” ก็คือ เพราะคนสมัยนั้นต้องการบันทึกเรื่องราว เพราะในสมัยนั้นอาจจะยังไม่มีกระดาษจึงต้องเขียนลงบนหิน คำตอบของนักเรียนเป็นการวิเคราะห์ถึงเหตุผลในการสร้างสิ่งนี้ได้แล้ว โดยไม่รู้ตัว

ครูยังสามารถตั้งคำถามต่อจากคำตอบของนักเรียนได้อีก เช่น แล้วทำไมคนในสมัยนั้นต้องบันทึกเรื่องราว เพื่อให้นักเรียนวิเคราะห์ได้อีกว่าเหตุผลของคนในสมัยไหนเขาต้องการบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ เพื่ออะไร

"จากคำตอบของนักเรียนครูอธิบายเพิ่มเติมว่าบางอย่างเป็นเพียงข้อสันนิษฐาน แต่ก็เป็นการสันนิษฐานถึงความเป็นไปได้มากที่สุด ถ้าจะสรุปว่าเป็นจริงหรือไม่ก็ต้องหาหลักฐานอื่น ๆ มาประกอบด้วย"

นอกจากนี้ครูยังถามนักเรียนต่อได้อีกว่า ศิลาจารึก เป็นหลักฐานชั้นต้น ชั้นรอง ลายลักษณ์อักษร หรือไม่เป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งครูต้องการให้นักเรียนเห็นความสำคัญของหลักฐานแต่ละอย่างว่าทุกหลักฐานมีเหตุผลในการสร้าง และการที่เราเข้าใจประเภทของหลักฐานจะทำให้เรารู้ว่าหลักฐานแต่ละประเภทน่าเชื่อถือแค่ไหน ควรเลือกใช้หลักฐานแบบไหน และทุกหลักฐานสะท้อนถึงเรื่องราวในอดีตได้อย่างไร

สิ่งที่นักเรียนได้เรียนรู้ และความรู้สึกของนักเรียนหลังจากทำกิจกรรมนี้ จากการให้นักเรียนทำแบบประเมินของ inskru

I like สิ่งที่ชอบและอยากให้ครูทำต่อไป...

·ชอบการที่ครูหารูปแบบการสอนให้ไม่น่าเบื่อ ทำให้น่าเรียนมากยิ่งขึ้น

·ชอบเวลาครูหากิจกรรมมาให้ทำ มันทำให้เข้าใจง่ายขึ้นด้วย

·ครูทำให้ประวัติศาสตร์ไม่ยุ่งยากแบบที่คิดเลยค่ะ

·ครูเป็นเอง รับฟังทุกคน สอนสนุกเข้าใจง่ายค่ะ

·ครูสนใจในการอ่านข้อความของทุกคน

I learn สิ่งที่ฉันได้เรียนรู้ในคาบนี้...

·สิ่งที่เราเห็นอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เป็นเสมอไป ต้องคิดว่าอะไรถึงทำให้เราคิดแบบนั้น และความเป็นจริงคืออะไร

·ได้เรียนรู้การแยกแยะหลักฐานชั้นต้นกับชั้นรองแบบเข้าใจง่ายๆ

·ได้เข้าใจว่าการมองสิ่งที่เห็นกับสิ่งที่เป็น​ เป็นยังไง​ ทำให้เราเเยกเเยะการวิเคราะห์​การสมมติ​ฐานของเราได้ดี

·ทุกสิ่งที่เห็นอาจไม่ใช่ความจริงทุกอย่าง

·สิ่งที่เห็นมีเหตุ เเละผลมาจากสิ่งที่เป็น

·ได้เรียนรู้เรื่องของการวิเคราะห์หลักฐานเบื้องต้นการแยกประเภทของหลักฐาน

ติดตามกิจกรรมการสอนอื่น ๆ ได้ที่ Facebook : ครูมิ้นไปสอน Youtube : kruminteach

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(8)
เก็บไว้อ่าน
(17)