เมนเดลบาทหลวงชาวออสเตรียทำการทดลองปลูกถั่วลันเตา โดยสังเกตลักษณะของต้นถั่วลันเตารุ่นพ่อแม่ (P) ลูกรุ่นที่ 1 (F1) และลูกรุ่นที่ 2 (F2) พบว่า เมื่อรุ่นพ่อแม่ที่ผสมกัน 2 ลักษณะ ได้ลูกรุ่นที่ 1 ลักษณะเดียวเท่านั้น เกิดเป็นข้อสงสัยว่า อีกลักษณะหนึ่งหายไปไหน และเมื่อลูกรุ่นที่ 1 ผสมกันเอง ได้ลูกรุ่นที่ 2 สองลักษณะ ซึ่งอัตราส่วนของลักษณะที่ปรากฏในรุ่นที่ 1 ต่อ ลักษณะที่หายไปจะเป็น 3:1 เมนเดลพบว่าเมื่อทำการทดลองกับถั่วลันเตา 7 ลักษณะจำนวน 7 ปี ได้ผลการทดลองลูกรุ่นที่ 1 และลูกรุ่นที่ 2 คล้ายกัน วันนี้นักเรียนจะมาสวมบทบาทของเมนเดลในการทำการทดลองผสมถั่วลันเตา ในวันนี้ที่เราโชคดีที่ความลับของการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมได้เปิดออก เราจะมาเรียนรู้ผ่านบอร์ดเกม “วันหนึ่งฉันชื่อเมนเดล” กัน
อุปกรณ์ที่ใช้ในบอร์ดเกมวันหนึ่งฉันชื่อเมนเดล
- แผ่นบอร์ดเกมวันหนึ่งฉันชื่อเมนเดล สำหรับใช้เป็นที่วางการ์ด
- การ์ดลักษณะทางพันธุกรรมของต้นถั่วลันเตา 7 ลักษณะ 14 แบบ การ์ดแต่ละใบจะแสดง ภาพลักษณะทางพันธุกรรม ชื่อลักษณะทางพันธุกรรมภาษาอังกฤษ และจุด โดยลักษณะทางพันธุกรรมในแต่ละแบบจะใช้สีกรอบเหมือนกัน จุดขาวกับจุดดำแทนลักษณะเด่นกับลักษณะด้อย เช่น การ์ดลักษณะทางพันธุกรรมสีของดอกถั่วลันเตาจะใช้กรอบสีม่วงอ่อน โดยดอกสีม่วงจะมีภาพดอกสีม่วง กำกับด้วยคำว่า Purple จุดสีดำ แสดงว่า ดอกสีม่วงเป็นลักษณะเด่น ดอกสีขาวจะมีภาพดอกสีขาว กำกับด้วยคำว่า White จุดสีขาว แสดงว่า ดอกสีม่วงเป็นลักษณะด้อย
- การ์ดรูปแบบคู่ของแอลลีล มี 3 แบบ ได้แก่ BB Homozygous Dominance, Bb Heterozygous และ bb Homozygous Recessive
- การ์ด P & G มี 2 แบบ ได้แก่ การ์ด P Phenotype และ การ์ด G Genotype
- การ์ดพิเศษ มี 5 แบบ ได้แก่ การ์ดยกเลิกการผสม การ์ดนี้ใช้สำหรับยกเลิกการผสม คนที่ลงการ์ดก่อนหน้าทั้งหมดจะต้องทิ้งการ์ดลงกองกลาง การ์ดสลับตำแหน่งผู้เล่น การ์ดนี้ใช้สำหรับสลับตำแหน่งผู้เล่นตามที่ผู้ลงการ์ดต้องการ การ์ดรับเงิน การ์ดนี้ผู้เล่นจะได้รับเงิน 4 เหรียญ การ์ดเสียเงิน ผู้เล่นคนอื่นต้องเสียเงิน 4 เหรียญให้กองกลาง และการ์ดเมนเดล ผู้ลงการ์ดสามารถยกเลิกการ์ดที่ผู้เล่นลงก่อนหน้าและเลือกลักษณะทางพันธุกรรมตามที่ต้องการ
- เงิน ใช้ฟิวเจอร์บอร์ดแทนเหรียญ
- ลูกเต๋า
วิธีดำเนินกิจกรรม
- ผู้เล่น 3 คน ต่อบอร์ดเกม 1 ชุด
- ผู้เล่น 3 คน ทอยลูกเต๋า คนที่ได้แต้มมากที่สุดจะเป็นผู้เล่นคนที่ 1 คนที่ได้แต้มรองลงมาจะเป็นผู้เล่นคนที่ 2 และคนที่ได้แต้มน้อยที่สุดจะเป็นผู้เล่นคนที่ 3 โดยผู้เล่นคนที่ 1 และ 2 จะเป็นรุ่นพ่อแม่ (P) และผู้เล่นคนที่ 3 จะเป็นรุ่นลูก (F)
- ผู้เล่นได้รับเงิน คนละ 40 เหรียญ การ์ดลักษณะทางพันธุกรรมของต้นถั่วลันเตา การ์ดรูปแบบคู่ของแอลลีล การ์ด P & G และ การ์ดพิเศษ อย่างละ 10 ใบต่อคน โดยการสุ่ม
- ผู้เล่นคนที่ 1 ลง การ์ดลักษณะทางพันธุกรรมของต้นถั่วลันเตา และการ์ดรูปแบบคู่ของแอลลีล ให้สัมพันธ์ อย่างละ 1 ใบ โดยถ้าเป็นลักษณะเด่นดูได้จากจุดสีดำ จะลงการ์ดรูปแบบคู่ของแอลลีล ได้ 2 แบบ ได้แก่ BB Homozygous Dominance หรือ Bb Heterozygous ถ้าเป็นลักษณะด้อยดูได้จากจุดสีขาว จะลงการ์ดรูปแบบคู่ของแอลลีล ได้ 1 แบบ ได้แก่ bb Homozygous Recessive
- ผู้เล่นคนที่ 2 ลงการ์ดลักษณะทางพันธุกรรมของต้นถั่วลันเตา ให้สัมพันธ์กับผู้เล่นคนที่ 1 และลงการ์ดรูปแบบคู่ของแอลลีลให้สัมพันธ์กับการ์ดลักษณะทางพันธุกรรมของต้นถั่วลันเตา เช่น ถ้าผู้เล่นคนที่ 1 ลงการ์ดลักษณะทางพันธุกรรมเป็นสีดอกของต้นถั่นลันเตา ผู้เล่นคนที่ 2 ต้องลงการ์ดลักษณะทางพันธุกรรมเป็นสีดอกของต้นถั่นลันเตา
- ผู้เล่นคนที่ 3 ลงการ์ดลักษณะทางพันธุกรรมของต้นถั่วลันเตา และการ์ดรูปแบบคู่ของแอลลีล ให้สัมพันธ์กับการผสมของผู้เล่นคนที่ 1 และผู้เล่นคนที่ 2 (รุ่นพ่อแม่)
- ผู้เล่นคนที่ 3 ลงการ์ด P & G เพื่อใช้สำหรับการคิดเงิน ถ้าลงการ์ด P Phenotype จะต้องคิดเงินตามอัตราส่วนของฟีโนไทป์ ถ้าลงการ์ด G Genotype จะต้องคิดเงินตามอัตราส่วนของจีโนไทป์ ดังตัวอย่าง
- ถ้าผู้เล่นคนที่ 3 ไม่สามารถลงการ์ดลักษณะทางพันธุกรรมของต้นถั่วลันเตา หรือการ์ดรูปแบบคู่ของแอลลีล ให้สัมพันธ์กับการผสมของผู้เล่นคนที่ 1 และผู้เล่นคนที่ 2 (รุ่นพ่อแม่) ได้ ถ้าผู้เล่นคนที่ 3 ลงได้เพียงการ์ดลักษณะทางพันธุกรรมต้องจ่ายเงินตามอัตราส่วนของฟีโนไทป์ให้กับผู้เล่นที่ 1 และ ผู้เล่นที่ 2 และถ้าผู้เล่นคนที่ 3 ลงได้เพียงการ์ดรูปแบบคู่ของแอลลีลต้องจ่ายเงินตามอัตราส่วนของจีโนไทป์ให้กับผู้เล่นที่ 1 และ ผู้เล่นที่ 2
- ถ้าผู้เล่นคนที่ 3 ไม่สามารถลงการ์ดลักษณะทางพันธุกรรมของต้นถั่วลันเตา และการ์ดรูปแบบคู่ของแอลลีล ให้สัมพันธ์กับการผสมของผู้เล่นคนที่ 1 และผู้เล่นคนที่ 2 (รุ่นพ่อแม่) ได้เลย ผู้เล่นคนที่ 3 ต้องเสียเงินให้ผู้เล่นคนที่ 1 และ 2 คนละ 4 เหรียญ
- ถ้าผู้เล่นคนที่ 1 และ 2 ไม่สามารถลงการ์ดลักษณะทางพันธุกรรมของต้นถั่วลันเตาหรือการ์ดรูปแบบคู่ของแอลลีลได้ให้สุ่มการ์ดลักษณะทางพันธุกรรม หรือการ์ดรูปแบบคู่ของแอลลีล จนกว่าจะลงการ์ดได้
- เมื่อเล่นครบ 1 รอบ ให้ทิ้งการ์ดที่ลงก่อนหน้าทั้งหมดลงกองกลาง ผู้เล่นทั้งหมดจะได้รับการ์ดลักษณะทางพันธุกรรมของต้นถั่วลันเตาและการ์ดรูปแบบคู่ของแอลลีลคนละ 1 ใบ โดยการสุ่ม และเงินคนละ 2 เหรียญ และเปลี่ยนตำแหน่งผู้เล่นคนที่ 3 เป็นผู้เล่นคนที่ 1 ผู้เล่นคนที่ 1 เป็นผู้เล่นคนที่ 2 และผู้เล่นคนที่ 2 เป็นผู้เล่นคนที่ 1 โดยเปลี่ยนตำแหน่งของผู้เล่นไปเรื่อย ๆ ตามลำดับทุกครั้งที่เล่นครบ 1 รอบ
- ผู้เล่นคนที่ 2 และ 3 สามารถลงการ์ดพิเศษ ได้ก่อนลงการ์ดลักษณะทางพันธุกรรมของต้นถั่วลันเตาและการ์ดรูปแบบคู่ของแอลลีล โดยเมื่อลงการ์ดพิเศษผลของการ์ดพิเศษจะทำงาน กรณีของการ์ดยกเลิกการผสมและการ์ดเมนเดล การ์ดที่ผู้เล่นลงก่อนหน้าจะเป็นโมฆะและต้องทิ้งการ์ดลงกองกลาง
การชนะเกมวันหนึ่งฉันชื่อเมนเดล
ถ้าผู้เล่นคนใดล่มละลายไม่มีเงินเหลืออยู่ ผู้เล่นที่มีเงินมากที่สุดจะเป็นผู้ชนะ
บอร์ดเกมวันหนึ่งฉันชื่อเมนเดลจะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ในมาตรฐานและตัวชี้วัดในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ว 1.3 ม.3/2 อธิบายการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมจากการผสมโดยพิจารณาลักษณะเดียวที่แอลลีลเด่นข่มแอลลีลด้อยอย่างสมบูรณ์ และว 1.3 ม.3/3 อธิบายการเกิดจีโนไทป์และฟีโนไทป์ของลูกและคำนวณอัตราส่วนการเกิดจีโนไทป์และฟีโนไทป์ โดยครูสามารถนำไปใช้หลังจากสอนการคำนวณอัตราส่วนจีโนไทป์และฟีโนไทป์เพื่อตรวจสอบความเข้าใจของนักเรียนและเปิดโอกาสให้นักเรียนได้สร้างสรรค์โจทย์ในการผสมลักษณะทางพันธุกรรมของต้นถั่วลันเตา บอร์ดเกมวันหนึ่งฉันชื่อเมนเดลจะทำให้นักเรียนเพลิดเพลินกับการเรียนวิทยาศาสตร์ การคำนวณที่เป็นยาขมของนักเรียนผ่านการเล่นเกม และสามารถนำไปพัฒนาต่อในการผสมมากกว่า 1 ลักษณะซึ่งเป็นความรู้ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ท้ายที่สุดผู้เขียนหวังว่าแนวคิดนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการศึกษาวิทยาศาสตร์ต่อไป ขอให้แนวคิดนี้ทำให้นักเรียนสนุกสนานกับความใคร่รู้ในโลกวิทยาศาสตร์เถิดนะ!
แหล่งที่มาของภาพที่ใช้ทำการ์ด: Campbell, N. A., Reece J. B., Urry, L. A., Cain, M. L.,Wasserman. S. A., and Minorsky, P. V.(2017) . Biology: A Global Approach. (11th ed). Boston: Pearson Education Limited.