มีเรื่องมากมายให้เราค้นหาคำตอบในภูมิปัญญาไทยทรัพย์ในดินที่เรารู้จักกันในนาม " ดินสอพอง "
ถ้าหากจะจำลองสถานการณ์ให้ผู้เรียนเป็นนักสืบ..........อยากรู้ว่า "แป้งสีขาว" กระป๋องใดกันหนอที่แม่หญิงการะเกดสาวงามแห่งเมืองอโยธยาใช้เป็นประจำเป็นเครื่องประทินความงาม จากกระแสฟีเวอร์ช่วงก่อนหน้านี้ " ละครบุพเพสันนิวาส" ทำให้พวกเราออเจ้าทั้งหลายได้เรียนรู้ภูมิปัญาไทยหลายเรื่องที่น่าสนใจและหนึ่งในนั้นก็คือ "ดินสอพอง"เครื่องประทินความงามของคนในสมัยโบราณ ( ย้อนความหลังเปิดคลิปละครให้ดูสักตอนเป็นการระลึกความหลังเมื่อละครฟีเวอร์ )
มองตามตำนานเล่าขานกันต่อมา
ตามตำนานของดินสอพองจังหวัดลพบุรี ที่ขึ้นชื่อในเรื่องของแหล่งดินสอพองที่มีคุณภาพมากที่สุดแห่งหนึ่งของไทย ที่เล่าขานกันว่า
“เมื่อครั้งที่พระราม ปราบทศกัณฐ์ได้สำเร็จ พระองค์ จึงคิดปูนบำเหน็จ ให้กับหนุมาน ซึ่งเป็นทหารเอก โดยการแผลงศรออกไปและถ้าศรตกลง ที่ใดบริเวณนั้นก็จะเป็นของหนุมาน ศรของพระรามเป็นศรศักดิ์สิทธิ์ เมื่อแผลงมาตกที่ทุ่งพรหมมาสตร์ (หมายถึง จังหวัดลพบุรี ในปัจจุบัน) ก็ทำให้แผ่นดินลุกเป็นไฟ หนุมานจึงใช้หางกวาดเปลวไฟให้ดับ บริเวณที่ถูกไฟจึงสุกกลายเป็นสีขาวและเถ้าดิน ที่ถูกหางหนุมาน กวาดออกไปก็กลายเป็นภูเขา ล้อมรอบจังหวัดลพบุรีนั่นเอง”
มองแบบวิทยาศาสตร์
พจนานุกรมศัพท์ธรณีวิทยา ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2544 ได้ให้นิยามดินสอพองว่าเป็นหินปูนเนื้อมาร์ล (marly limestone) ที่เป็นดินที่เนื้อเป็นสารประกอบแคลเซียมคาร์บอเนตเป็นส่วนใหญ่ เมื่อเอามะนาวบีบใส่ น้ำมะนาวมีกรดซึ่งเมื่อทำปฏิกิริยากับแคลเซี่ยมคาร์บอเนตเกิดเป็นแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์เป็นฟองฟูขึ้น ดูเผิน ๆ ก็เห็นว่าดินนั้นพองตัว จึงเรียกกันว่า ดินสอพอง
ดินสอพองมีลักษณะเป็นดินขาวมีสารประกอบหินปูนที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า แคลเซียมคาร์บอเนตผสมอยู่มากกว่า 80 % ซึ่งดินที่มีแคลเซียมคาร์บอเนตผสมอยู่จำนวนมากนี้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ดินมาร์ล (Marl หรือ limestone) และมีส่วนประกอบอื่น เช่น แมกนีเซียมคาร์บอเนต, แคลเซียมออกไซด์, ซิลิกอนออกไซด์, อะลูมิเนียมออกไซด์, เหล็กออกไซด์ และแมกนีเซียมออกไซด์ เป็นต้น ลักษณะทั่วไปคล้ายดินขาวหรือหินผุ โครงสร้างเป็นชั้นบางๆ มีรูพรุนเนื้อร่วนซุย ดินสอพองสดจะมีสีขาวและอาจพบสีเทา, สีเทาอมฟ้า, สีน้าตาลหรือสีน้าตาลแกมเหลือง ขึ้นอยู่กับปริมาณของสารประกอบอื่นที่ผสมอยู่ ดินสอพองเป็นชั้นดินที่อยู่ลึกจากผิวดินประมาณ 0.5 – 2 เมตร มีอยู่เกือบทุกภาคของประเทศไทย แหล่งผลิตใหญ่ที่สุดอยู่ที่ตำบลทะเลชุบศร อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี
เรียนรู้ในประเด็นวัตถุต้นกำเนิดดิน ธาตุและสารประกอบในดินสอพอง
รู้จักดินสอพองกันมากขึ้นแล้ว สงสัยใคร่รู้อ่านข่าวมาเจอประเด็นดินสอพองปลอม อยากใช้ของแท้จะตรวจสอบอย่างไร
วิธีการตรวจสอบที่แสนจะง่ายดาย
อย่าช้ารอรีรีบผ่าลูกมะนาวและบีบลงไปทันใดนั้นจะเห็นฟองฟู่เกิดขึ้น
ขวดที่ว่างเปล่านำมาใส่ผงดินสอพองที่บดละเอียดเป็นผงแล้วประมาณ 3 - 5 ช้อนโต๊ะ จากนั้นเทน้ำมะนาวที่เราคั้นน้ำไว้แล้ว 1 ลูก รีบปิดฝาเขย่าๆๆให้เข้ากัน สังเกตสิ่งที่เกิดขึ้น ฟองฟู่ๆๆ >>> เก็บแกีสไว้ในขวดเดี๋ยวเรานำมาทดสอบกันดู
ถ้าเป็นแก๊สออกซิเจนจะช่วยให้ไฟติด แต่ถ้าเป็นแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ทำให้ไฟดับ
เพิ่มเติมความรู้เพื่อนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน "การติดไฟ" ต้องเพิ่มออกซิเจน เช่น การพัดโบกเวลาที่ติดเตาถ่าน "การดับไฟ" ต้องทำให้ออกซิเจนมีน้อยจนในที่สุดไม่มีไฟก็จะดับ เช้น การใช้ผ้าชุบน้ำคลุม การใช้ถังดับเพลิงที่บรรจุแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ หรือการใช้โฟมดับไฟ
แลกเปลี่ยนความคิดอภิปรายร่วมกัน ยกประเด็นเหตุการณ์เพลิงไหม้ประกอบการอธิบายเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่มากขึ้น
อย่าช้ารอรีรีบสังเกตการเปลี่ยนแปลงจากธูปที่ติดไฟอยู่เมื่อนำเข้าไปในขวดที่มีแก๊สอยู่ ไฟที่ก้านธูปค่อยๆดับลง
รู้แล้วใช่ไหม แก๊สอะไรที่เกิดขึ้น >>> ถ้ามีแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ไฟจะดับเพราะคาร์บอนไดออกไซด์ไม่ได้ช่วยใน การติดไฟของสารจึงนำมาใช้เป็นก๊าซดับเพลิงได้
ดินสอพองของแท้ต้องมีฟองฟู่เกิดขึ้นเมื่อหยดกรดลงไป ( น้ำมะนาวมีฤทธิ์เป็นกรดมีชื่อว่ากรดซิตริก (Citric acid))
จากการทดลองมีคำตอบให้เราได้รู้ที่มาของชื่อ...."ดินสอพอง" มาจากไหน
“ดินสอพอง” มาจากคำว่า “ดิน” ผสมกับคำว่า “สอ” ซึ่งเป็นภาษาเขมร แปลว่า “ขาว” หรืออาจหมายถึง “วัสดุเชื่อม” ซึ่งเป็นคำโบราณ ส่วนคำว่า “พอง” ก็มาจากคุณสมบัติที่ว่าเมื่อถูกกับกรด จะทำปฏิกิริยาจนมีลักษณะเป็นฟองฟู่
สังเกตได้เมื่อบีบมะนาวซึ่งมีฤทธิ์เป็นกรดลงไป
ดินสอพองจะเกิดการพองตัวขึ้นเป็นฟองก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
ลอยตัวออกจากเนื้อดิน คล้ายกับว่าดินกำลังพองตัว
สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ ดินสอพอง ก็คือโคลน หรือหินโคลนที่มีส่วนประกอบของแคลเซียมคาร์บอเนต (Calcium Carbonate) ผสมอยู่ถึง 80% หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ดินมาร์ล (Marl)
ภารกิจนักสืบตามล่าหาแป้งสีขาวแป้งดินสอพองที่แม่การะเกดใช้สำเร็จแล้ว
เรามาทำความรู้จักกับดินสอพองกันให้มากขึ้นดีกว่านะออเจ้าทั้งหลาย
ดินสอพองประโยชน์มากมายมิใช่แค่มีไว้เล่นในช่วงสงกรานต์
1.ใช้ในด้านความสวย-ความงาม
ดินสอพองมีฤทธิ์เป็นด่างสามารถใช้ฆ่าเชื้อและลดการอักเสบของผิวได้ จึงนิยมนำมาใช้รักษาสิว แก้ผดผื่น และ อาการคัน รวมถึงนำมาใช้ขัดผิว เพื่อช่วยให้ผิวเรากระจ่างใส เนียนนุ่ม อีกทั้งดินสอพองยังมีฤทธิ์เย็นไม่ทำให้ร่างกายเหนียวเหนอะหนะแล้ว ยังช่วยลดความร้อนหรืออุณหภูมิของผิวได้จึงนิยมนำมาใช้ผสมน้ำปะพรมกันในวันสงกรานต์
Tips ควรเลือกดินสอพองชนิดที่ผ่านการฆ่าเชื้อแล้วมาใช้ เพราะ ดินสอพองเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้มาจากดินธรรมชาติจึงอาจมีเชื้อและจุลินทรีย์ปะปนอยู่
“คนสมัยโบราณจะนำดินสอพองมาอบร่ำให้กลิ่นหอม เป็นแป้งร่ำ น้ำอบ เป็นแป้งทาผิวหน้า ผิวกาย ส่วนใหญ่นิยมใช้ดูแลด้านความงาม เครื่องหอมไทย ดินสอพองถือเป็นสมุนไพรรสยาเย็น ใช้แก้พิษร้อนกับร่างกาย ถอนพิษอักเสบ แก้ผด ผื่นคัน และที่พิเศษคือเป็นยาห้ามเหงื่อ นอกจากไม่ทำให้ร่างกายเหนียวเหนอะจากอากาศร้อนแล้ว ยังทำให้ร่างกาย เย็นสบาย และช่วยป้องกันแดดได้ระดับหนึ่ง ผลิตภัณฑ์ดินสอพองแปรรูปที่ใช้กับผิวหน้าและผิวกายเพื่อความสะอาด ความสวยงาม หรือส่งเสริมให้เกิดความสวยงาม จัดเป็นเครื่องสำอางตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง ตามประกาศกระทรวง”
2.ใช้เป็นสารปรับปรุงดิน
ความเป็นกรด-เบสเป็นตัวควบคุมการละลายของธาตุอาหารในดิน เพื่อให้พืชสามารถดูดซึมและนำไปใช้งานได้ ซึ่งถ้าหากดินมีความเป็นกรด-เบสไม่เหมาะสม ธาตุอาหารในดินอาจละลายออกมาได้น้อยไม่เพียงพอต่อความต้องการของพืช หรือ อาจละลายออกมามากเกินไปจนเป็นพิษต่อพืชได้ และ เนื่องจากดินสอพองมีส่วนประกอบของแคลเซียมคาร์บอเนต เป็นองค์ประกอบหลัก ทำให้มีฤทธิ์เป็นเบส จึงสามารถนำมาใช้ปรับสภาพดินที่เป็นกรดหรือใช้แก้ดินเปรี้ยว รวมถึงฆ่าเชื้อโรคในดินได้ โดยการนำดินสอพองไปโรย ในอัตราส่วน 1 ถัง – 1 ถังครึ่ง ต่อดินเปรี้ยว 1 ไร่ เพื่อปรับค่าความเป็นกรดของดินให้เป็นกลาง (pH = 7) ซึ่งส่วนใหญ่จะนิยมใช้ในนาข้าว ไร่ข้าวโพด ข้าวฟ่าง หรือ สวนผลไม้
3.ใช้สำหรับการปรับความเป็นกรด-เบส ของน้ำ
ค่าความเป็นกรด-เบสของน้ำ มีผลต่อการนำน้ำจากแหล่งน้ำไปใช้ประโยชน์ อย่าง การอุปโภค บริโภค การนำไปรดน้ำต้นไม้
รวมไปถึงมีผลต่อการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำอีกด้วย โดยค่า pH ที่เหมาะสมต่อสัตว์น้ำ จะอยู่ระหว่าง 6.5 – 9.0 หรือ เป็นด่างเล็กน้อย ซึ่งถ้าหากน้ำมีสภาพเป็นกรดหรือด่างมากจนเกินไปก็อาจทำให้สัตว์น้ำเกิดความเครียดหรือตายได้ ทำให้ดินสอพองถูกนำมาใช้ เพื่อปรับสภาพน้ำให้มีความเป็นด่างมากขึ้น โดยจะนิยมใช้เติมปรับสภาพน้ำในแหล่งน้ำขังตามบ้าน ฟาร์ม แปลงเกษตร และ กระบวนการบำบัด น้ำเสีย รวมไปถึงใช้ฆ่าเชื้อในแหล่งน้ำ (wastewater treatment) ได้อีกด้วย
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย
ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!