icon
giftClose
profile

ภารกิจพิชิตดวงดาวในระบบสุริยะ

48094
ภาพประกอบไอเดีย ภารกิจพิชิตดวงดาวในระบบสุริยะ

เปลี่ยนการที่น่าเบื่อเนื้อหาเยอะ มาเป็นการเรียนแบบActive Learning สร้างความตื่นตาตื่นใจ และความสนุกสนานโดยใช้เทคโนโลยีเสมือนจริงร่วมกับการเล่นการ์ดเกม เรื่องระบบสุริยะ

เนื่องจากเรื่องระบบสุริยะ เป็นเรื่องที่มีเนื้อหาเยอะ ใช้ความจำมาก และสื่อที่นักเรียนได้ดูมีเพียงภาพในหนังสือหรือจากวิดีโอเพียงเท่านั้น นักเรียนจึงเกิดอาการง่วง เหงา หาวนอน ทุกครั้งที่ได้เรียน ครูจึงต้องการแก้ปัญหาเรื่องนี้ จึงนำเอาเทคโนโลยีเสมือนจริงจากแอปพลิเคชัน Galactic Explorer for Merge Cube มาใช้ในการเรียนการสอนประกอบกับการเล่นการ์ดเกมที่ครูผู้สอนได้สร้างขึ้นในกรอบประเด็นของความรู้ที่นักเรียนต้องเข้าใจคือ "ระบบสุริยะ เป็นระบบที่มีดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลาง ประกอบด้วย ดาวเคราะห์บริวารทั้ง 8 ดวง (ดาวพุธ ดาวศุกร์ โลก ดาวอังคาร ดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ ดาวยูเรนัส และดาวเนปจูน) ดาวเคราะห์แคระ ดาวเคราะห์น้อย ดาวหาง และวัตถุขนาดเล็กอื่น ๆ โคจรอยู่รอบดวงอาทิตย์ และดาวเคราะห์แต่ละดวงใช้เวลาในการโคจรไม่เท่ากัน" ภายใต้กระบวนการสอนดังนี้

  • ครูและนักเรียนร่วมกันสนทนาเรื่องระบบสุริยะ ผ่านการใช้คำถามกระตุ้น “ระบบสุริยะในความเข้าใจของนักเรียนคืออะไร” ก่อนเรียนครูให้นักเรียนวาดภาพการจำลองระบบสุริยะตามความเข้าใจของนักเรียน (เพื่อดูพื้นฐานความรู้เดิมของนักเรียน)
  • แบ่งกลุ่มนักเรียนออกเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มละ 5-6 คน แต่ละกลุ่มประกอบไปด้วยนักเรียนที่เรียนเก่ง 1 คน ปานกลาง 3 คน และอ่อน 1 คน ซึ่งกลุ่มที่เรียนอ่อนหมายถึงผู้เรียนที่บกพร่องต่อการเรียนรู้ เป็นกลุ่มที่ครูจัดไว้แล้ว (สาเหตุที่ต้องจัดกลุ่มแบบนี้เพื่อแต่ละกลุ่มจะมีผู้เรียนที่หลากหลาย และป้องกันไม่ให้กลุ่มที่เรียนอ่อนถูกเพื่อนปฏิเสธ และอีกประการหนึ่งคือ นักเรียนยังอยู่แค่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ถ้าให้แบ่งกลุ่มกันเองจะใช้เวลานานมากตามธรรมชาติของเด็กในวัยนี้)
  • ให้ตัวแทนแต่ละกลุ่มมารับสื่อการสอนประกอบด้วย หนังสือสามมิติร่วมกับเทคโนโลยีเสมือนจริง ครูอธิบายวิธีใช้สื่อการสอนคือหนังสือสามมิติที่มีคิวอาร์โค้ดเทคโนโลยีเสมือนจริงอยู่ในหนังสือเล่มนั้น วิธีใช้คือผู้เรียนใช้กล้องหลังของสมาร์ทโฟนผ่านแอปพลิเคชัน Galactic Explorer for Merge Cube ส่องไปที่คิวอาร์โค้ดจะแสดงภาพการจำลองระบบสุริยะในรูปแบบภาพ 3 มิติ และในหนังสือจะประกอบไปด้วยเนื้อหาความรู้เรื่องการจำลองระบบสุริยะ (ครูให้นักเรียนนำสมาร์ทโฟนมาลงแอปพลิเคชันก่อนเรียน) และให้เวลานักเรียนเรียนรู้ร่วมกันผ่านกระบวนการกลุ่ม ครูเป็นผู้สังเกตการณ์ และคอยช่วยเหลือเมื่อนักเรียนเกิดปัญหา 


  • ภาพที่ 1 หนังสือสามมิติร่วมกับเทคโนโลยีเสมือนจริงGalactic Explorer for Merge Cube


  •  เมื่อนักเรียนศึกษาเนื้อหาเสร็จแล้ว ครูและนักเรียนร่วมกันวิเคราะห์และอภิปรายตอบคำถามร่วมกันหลังทำกิจกรรม ในประเด็นของการจำลองระบบสุริยะ อาทิเช่น “นอกจากโลกจะเป็นบริวารของดวงอาทิตย์แล้ว ยังมีดาวหรือวัตถุอื่น ๆ ที่เป็นบริวารของดวงอาทิตย์อีกหรือไม่” “ดาวเคราะห์ที่มีขนาดเล็กที่สุด” “ดาวเคราะห์ที่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด” เป็นต้น เพื่อให้นักเรียนจับประเด็นการจำลองระบบสุริยะได้ถูกต้องมากที่สุด
  • จากนั้นครูอธิบายวิธีการเล่นการ์ดเกม พิชิตดวงดาวในระบบสุริยะ ซึ่งการ์ดเกมการ์ดเป็นเกมถามตอบเกี่ยวกับระบบสุริยะ มีทั้งหมด 2 ชุด ชุดที่ 1 คือ ชุดคำถามเกี่ยวกับการจำลองและการโคจรของระบบสุริยะ ชุดที่ 2 คือชุดคำตอบที่ให้นักเรียนได้เลือกตอบ 


ภาพที่ 2 ชุดคำถาม ภาพที่ 3 ชุดคำตอบที่เลือกจับ

การเล่นการ์ดเกมมีวิธีการดังนี้

  1. ให้ผู้เรียนแต่ละกลุ่มนั่งเป็นวงกลม การ์ดเกมที่เป็นชุดคำถามจะคว่ำการ์ดไว้ การ์ดเกมที่เลือกจับจะหงายไว้ตรงกลาง ซึ่งการ์ดเกมที่เลือกจับ จะประกอบไปด้วย ดวงอาทิตย์ ดาวเคราะห์ ดาวเคราะห์แคระ ฯลฯ
  2. ให้นักเรียนเล่นโอ่น้อยออก เพื่อหาผู้ชนะที่จะได้หยิบการ์ดเกมอ่านเป็นคนแรก โดยมีข้อกำหนดว่าใครที่ได้อ่านการ์ดคำถาม ไม่มีสิทธ์จับดวงดาว แต่ถ้าการ์ดคำถามนั้นเพื่อนในกลุ่มจับไม่ถูก ผู้ที่อ่านจะได้คะแนน โดยได้การ์ดคำถามสะสมเป็นคะแนนไว้ แต่ถ้าในการ์ดคำถามมีเพื่อนเลือกจับดาวถูก เพื่อนก็จะได้การ์ดคำถามสะสมคะแนน เล่นวนกันไปทางขวามือ จนกว่าการ์ดคำถามจะหมด (ถ้าชุดคำถามวนถึงนักเรียนที่เรียนอ่อน นักเรียนจะยกมือให้ครูอ่านคำถามนั้นแทน)

ผลการสอนพบว่า นักเรียนตื่นตาตื่นใจกับเทคโนโลยีเสมือนจริงมาก นักเรียนมีความกระตือรือร้นอยากทำ อยากเรียน อันไหนที่นักเรียนสงสัยนักเรียนจะค้นคว้าหาคำตอบโดยใช้สมาร์ทโฟนก่อนถามครู นักเรียนมีความสุขในการเรียนเป็นอย่างมาก รวมถึงการ์ดเกมเป็นการเรียนที่นักเรียนชอบมาก แม้กระทั่งกลุ่มที่เรียนอ่อน ปกติจะไม่ค่อยแสดงออกความเห็นในการเรียน แต่เมื่อได้เรียนโดยการใช้การ์ดเกม นักเรียนเรียนอย่างมีความสุข หัวเราะ สนุกสนานไปกับเพื่อน พร้อมทั้งบอกกับครูว่า ช่วยทำการ์ดเกมแบบนี้ในวิชาอื่นๆด้วยได้ไหม เพราะเขาชอบมากและเขาสามารถจับประเด็นเรื่องการจำลองระบบสุริยะได้ว่า"ระบบสุริยะ เป็นระบบที่มีดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลาง ประกอบด้วย ดาวเคราะห์บริวารทั้ง 8 ดวง (ดาวพุธ ดาวศุกร์ โลก ดาวอังคาร ดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ ดาวยูเรนัส และดาวเนปจูน) ดาวเคราะห์แคระ ดาวเคราะห์น้อย ดาวหาง และวัตถุขนาดเล็กอื่น ๆ โคจรอยู่รอบดวงอาทิตย์ และดาวเคราะห์แต่ละดวงใช้เวลาในการโคจรไม่เท่ากัน" ถ้าต้องเรียนแบบนี้ทุกวันเขาจะไม่ขาดเรียนเลย

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(69)
เก็บไว้อ่าน
(5)