หากถามนักเรียนระดับประถมศึกษาว่า “รู้จักดวงจันทร์ไหม?” ทุกคนต้องตอบว่ารู้จักแน่นอน นักเรียนต่างมีประสบการณ์จากการสังเกตมาแล้ว เรื่องนี้ไม่น่ายาก เรามาเริ่มต้นการสอนกันเลย
ในภารกิจนี้นักเรียนจะถูกกระตุ้นด้วยคำถามที่เกี่ยวข้องกับดวงจันทร์รายบุคคล เพื่อตรวจสอบความรู้เดิม โดยนักเรียนแสดงแนวคิดเกี่ยวกับดวงจันทร์ผ่านการพูด การวาดภาพ และการปั้นดินน้ำมัน ผลที่เกิดขึ้นจากการเปิดเผยความรู้เดิม ทำให้เกิดความประหลาดใจ เราพบแนวคิดที่คลาดเคลื่อนอย่างมากมายทั้งที่เกิดจากการสังเกตของนักเรียน และการนำนิทานท้องถิ่นมาอธิบายปรากฏการณ์ที่เกี่ยวข้องกับดวงจันทร์ ดังนี้
“ดวงจันทร์มีลักษณะกลมแบนๆ บางครั้งก็เหมือนกล้วย”
“ดวงจันทร์มีแสงของมันเอง”
“ดวงจันทร์เป็นสิ่งมีชีวิต เพราะมันเคลื่อนที่ได้ไปทางซ้ายกับชวา”
“ดวงจันทร์อยู่ที่เดิมตลอด ไม่เคลื่อนที่”
“แสงดวงจันทร์ เกิดจากดำกับขาวมาตีกัน วันไหนที่ดำชนะเราจะไม่เห็นดวงจันทร์”
“บนดวงจันทร์มีกระต่ายอยู่”
“วันที่เราไม่เห็นดวงจันทร์ เกิดจากราหูอมจันทร์”
แนวคิดการออกแบบการสอนใน ภารกิจที่ 1
1. นักเรียนดูวีดีโอที่แสดงรูปร่างลักษณะของดวงจันทร์
2. อภิปรายในประเด็นคำถาม “ทำไมเมื่อมองขึ้นไปบนท้องฟ้ากลับเห็นด้วยจันทร์แบน แทนที่จะเป็นลักษณะทรงกลมตามรูปร่างที่แท้จริง”
3. นักเรียนหยิบลูกบอล หลังจากนั้นวาดภาพลูกบอลที่มองเห็นเมื่อเคลื่อนเข้ามาใกล้ดวงตา และวาดภาพลูกบอลที่มองเห็นเมื่อเคลื่อนออกห่างจากดวงตา ผลที่เกิดขึ้นจากภารกิจนี้ จะช่วยแก้ไขแนวคิดที่คลาดเคลื่อนที่เชื่อว่าดวงจันทร์เป็นสิ่งมีชีวิต และทำให้นักเรียนเข้าใจว่าดวงจันทร์เป็นวัตถุทรงกลม การที่เรามองขึ้นไปบนท้องฟ้าแล้วเราเห็นดวงจันทร์มีลักษณะแบนเนื่องจากข้อจำกัดจากการสังเกต ดวงจันทร์มีขนาดที่ใหญ่มากเมื่อเทียบกับเรา เราจึงมองเห็นเฉพาะผิวหน้า ไม่สามารถมองเห็นความโค้งที่ผิวของดวงจันทร์ เช่นเดียวกับลักษณะลูกบอลที่มองเห็นเมื่อเคลื่อนเข้ามาใกล้ดวงตา
แนวคิดการออกแบบการสอนใน ภารกิจที่ 2
1. นักเรียนทำกิจกรรม Move it Move it เพื่อสร้างความเข้าเรื่อง ทิศ (กิจกรรมนี้พัฒนามาจากหลักสูตรฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ การส่งเสริมการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาทักษะด้านโค๊ดดิ้ง สู่สังคมดิจิทัลในอนาคต ระดับประถมศึกษา)
คำชี้แจง ให้นักเรียนทำท่าทางที่ให้ผู้เล่นส่งสัญญาณแขน ให้ผู้เล่นอีกคนเดินทางที่ถูกต้อง
1) ด้านล่างเป็นท่าทางที่ให้ผู้เล่นส่งสัญญาณแขน ให้ผู้เล่นอีกคนเดินตาม
2) ฝึกฝน 2-3 ครั้ง เพื่อให้ผู้เล่นทั้ง 2 คน แน่ใจแต่ละสัญญาณนี้ตรงกัน
คำชี้แจง ให้นักเรียนศึกษาท่าทางของคำสั่ง เพื่อส่งสัญญาณในการเดินที่ถูกต้อง
1) กระจาย แบ่งกลุ่มนักเรียนเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 2-3 คน แจกชุดของแผนที่ Move it, Move it และกระดาษตารางเปล่าให้แต่ละกลุ่ม อาจให้นักเรียนตัดหรือพับแผนที่ออกเป็นครึ่งหนึ่ง
2) Set-Up ในแต่ละกลุ่ม
ผู้เล่นคนที่ 1 เลือกแผนที่ที่จะเล่น
ผู้เล่นคนที่ 2 Programmer
ผู้เล่นคนที่ 3 หุ่นยนต์เคลื่อนที่
3) ดำเนินกิจกรรม ดังคำชี้แจงด้านล่าง
3.1) เลือกว่าใครจะทำหน้าที่อะไร
3.2) ให้ผู้เล่นคนที่ 1 ทำแผนที่กระดานบนพื้น (แผนที่ 1 ชุด ประกอบด้วยกระดาษ A4 ที่มีรูปเข็มทิศ 1 แผ่น กระดาษที่มีรูปเพชร 1 แผ่น กระดาษเปล่าอีก 4 แผ่น) โดยให้มีขนาดใหญ่พอให้นักเรียนยืนได้ (แผนที่มีลักษณะเหมือนกับที่แสดงในแผนที่ Move it) ยกเว้นตรงที่เป็นสมบัติ (เพชร) ให้คว่ำไว้
3.3) ให้ผู้เล่นคนที่ 3 เริ่มด้วยการยืนที่เข็มทิศ
3.4) ให้ผู้เล่นคนที่ 2 บอกให้ผู้เล่นคนที่ 3 เดินไปทีละขั้นตอน โดยใช้สัญญาณแขน
3.5) เมื่อผู้เล่นคนที่ 2 ให้สัญญาณว่า “หยุด” ให้ผู้เล่นคนที่ 3 พลิกกระดาษแผ่นที่ยืนอยู่ ถ้ากระดาษแผ่นนั้นเป็นรูปเพชร ก็จบเกม
3.6) หากยังไม่หมดเวลา ให้ผู้เล่นแต่ละคนสลับหน้าที่กันบ้าง
2. ครูสาธิตการวัดมุมเงยให้แก่นักเรียน
“วิธีหาค่ามุมเงยของดวงดาวดวงหนึ่ง ทำได้โดยเหยียดแขนออกไปจนสุดแขน หลับตาข้างหนึ่งเล็งไปที่ปลายมือ ใช้มือวัดมุมเงยโดยเริ่มต้นจากเส้นขอบฟ้าต่อขึ้นไปเรื่อย ๆ จนถึงตำแหน่งดาวที่ต้องการทราบค่ามุมเงย”
3. นักเรียนบันทึกรูปร่างปรากฏของดวงจันทร์ในเวลา 5 สัปดาห์ โดยระบุทิศ และมุมเงยที่สังเกตดวงจันทร์
หมายเหตุ ในทุกๆสัปดาห์ นักเรียนนำผลที่ได้จากการสังเกตมาอภิปรายในประเด็นต่อไปนี้
- ดวงจันทร์ที่มองเห็นแต่ละคืนมีรูปร่างต่างกันหรือไม่อย่างไร
- ในวันเดียวกัน ณ เวลา 18.00 น. และเวลา 21.00 น. ดวงจันทร์ที่มองเห็นแต่ละมีรูปร่างต่างกันหรือไม่อย่างไร
- ในวันเดียวกัน ณ เวลา 18.00 น. และเวลา 21.00 น. ดวงจันทร์ที่มองเห็นมีตำแหน่งที่ปรากฏบนท้องฟ้าต่างกันหรือไม่อย่างไร
-ให้นักเรียนทำนายตำแหน่งและรูปร่างของดวงจันทร์ในสัปดาห์ถัดไป
แนวคิดการออกแบบการสอนใน ภารกิจที่ 3
ครูมอบหมายงาน และดำเนินกิจกรรมตามหลักการคิดเชิงคำนวณ
“เมื่อสังเกตไปบนท้องฟ้ายามค่ำคืน นักเรียนจะมองเห็นส่วนสว่างของดวงจันทร์เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละวัน เกิดเป็นปรากฏการณ์ข้างขึ้น-ข้างแรม ซึ่งถูกใช้เพื่อกำหนดพิธีกรรมที่สำคัญในท้องถิ่นของนักเรียน ดังนั้นเพื่อให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับแบบรูปของดวงจันทร์ ให้นักเรียนออกแบบและโปรแกรมบอร์ด Micro:bit รับค่าและแสดงผลข้อมูลแสดงแบบรูปของดวงจันทร์”
ขั้นตอนที่ 1 การย่อยปัญหา (Decomposition)
นักเรียนระบุปัญหา และวินิจฉัยคำตอบที่ทำได้ เป็นการวิเคราะห์งาน การวิเคราะห์ภารกิจ เป้าหมาย และรายการภารกิจที่จะต้องทำ ผลลัพธ์เหล่านี้จะถูกนำเข้าไปยังขั้นตอนการออกแบบต่อไป
ขั้นตอนที่ 2 การจดจำรูปแบบ (Pattern Recognition)
นักเรียนนำภาพที่ได้จากการสังเกตดวงจันทร์ตลอด 5 สัปดาห์ มาจัดจำแนกภาพเป็นกลุ่มตามแนวคิด Machine learning (หลักการป้อนข้อมูลข้อมูลให้คอมพิวเตอร์ แล้วคอมพิวเตอร์จะนำข้อมูลที่คล้ายกันไปจัดกลุ่มให้อยู่กลุ่มเดียวกัน) ผลที่เกิดขึ้นจากภารกิจนี้ นักเรียนสามารถจำแนกดวงจันทร์ เป็นดวงจันทร์เต็มดวง จันทร์เสี้ยว จันทร์ครึ่งดวง เดือนดับ ตามภาพที่ได้จากการสังเกต
ขั้นตอนที่ 3 ความคิดด้านนามธรรม (Abstraction)
นักเรียนทำกิจกรรม Sorting โดยเคลื่อนภาพดวงจันทร์ไปตามเงื่อนไข จนสามารถเรียงแบบรูปของดวงจันทร์ได้ เกิดคอนเซ็ปต์ “ดวงจันทร์ที่มองเห็นแตกต่างกันไปในแต่ละวัน โดยบางวันดวงจันทร์จะมีรูปร่างปรากฏเป็นเสี้ยว เต็มดวง หรือบางวันมองไม่เห็นดวงจันทร์เลย การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้เป็นแบบรูปซ้ำกันทุกเดือน”
1. นักเรียนสรุปแบบรูปของดวงจันทร์ เขียนขั้นตอนพัฒนาโปรแกรม Micro:bit
2. นักเรียนหาความเชื่อมโยงระหว่างแบบรูปของดวงจันทร์กับพิธีกรรมที่สำคัญในท้องถิ่นและโปรแกรมบอร์ด Micro:bit รับค่าและแสดงผลข้อมูลแสดงแบบรูปของดวงจันทร์
3. นักเรียนแต่ละกลุ่มเสนอโปรแกรมบอร์ด Micro:bit การรับค่าและแสดงผลข้อมูลแสดงแบบรูปของดวงจันทร์หน้าชั้นเรียน หลังจากนั้นนักเรียนใช้โปรแกรม ClassDojo ในการประเมินชิ้นงานของแต่ละกลุ่ม
แนวคิดการออกแบบการสอนใน ภารกิจที่ 4
· ภารกิจนี้นอกจากจะเน้นสร้างคอนเซ็ปต์ เรื่อง แบบรูปของดวงจันทร์ นักเรียนจะเข้าใจหลักการทำงานของนักวิทยาศาสตร์ “เมื่อนักวิทยาศาสตร์มองเห็นแบบรูปในธรรมชาติ นักวิทยาศาสตร์จะสามารถทำนายปรากฏกการณ์ในธรรมชาติได้อย่างแม่นยำ”
· ภารกิจนี้พยายามเชื่อมต่อความรู้ทางวิทยาศาสตร์กับความเชื่อ วัฒนธรรม วิถีชีวิตในท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีความหมาย
· ภารกิจนี้มีการประยุกต์ใช้คอนเซ็ปต์ เรื่อง อัลกอริทึมแบบวนซ้ำ
“การเรียนรู้คอนเซ็ปต์เกี่ยวกับดวงจันทร์ ถือว่าเป็นแนวคิดขั้นพื้นฐาน หากนักเรียนเกิดแนวคิดที่คลาดเคลื่อนจะส่งผลต่อการเรียนคอนเซ็ปต์การเกิดข้างขึ้น-ข้างแรม การเกิดอุปราคาในระดับสูง ซึ่งจัดเป็นคอนเซ็ปต์ที่มีความซับซ้อน นอกจากนี้การสอนดาราศาสตร์ไม่ใช่การเรียนรู้ผ่านการท่องจำเพียงอย่างเดียว ดังนั้นควรพัฒนาทักษะการสังเกต ทักษะมิติสัมพันธ์ และการคิดเชิงคำนวณไปพร้อม ๆ กัน”
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย