icon
giftClose
profile

ค้นหาวิทยาศาสตร์ จากธรรมชาติรอบตัว (DIY Nature)

61362
ภาพประกอบไอเดีย ค้นหาวิทยาศาสตร์ จากธรรมชาติรอบตัว (DIY Nature)

จุดเริ่มต้นความอยากรู้วิทยาศาสตร์ เกิดจากการตั้งคำถามจากสิ่งที่อยู่รอบตัว ธรรมชาติรอบตัวเรานี้ มีเรื่องราวที่ซ่อนความรู้วิทยาศาสตร์อยู่มากมาย แค่เริ่มตั้งคำถามก็สนุกกับการเรียนรู้แล้ว


วิทยาศาสตร์ ถ้าเรียนอยู่ในตำราคงเป็นเรื่องที่น่าเบื่อ แต่จริง ๆ แล้ว วิทยาศาสตร์อยู่รอบตัวเรา ถ้าเราเอาธรรมชาติวิทยาผสมกับเรื่องราวการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่เป็นปัญหาใหญ่ของสังคม ที่ทุกคนควรมีส่วนร่วมในการจัดการปัญหานี้ เริ่มจากจุดเล็ก ๆ จากการเข้าใจธรรมชาติ และรู้ประโยชน์ของสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัว การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมก็ไม่ใช่เรื่องไกลตัวของเด็ก ๆ อีกต่อไป โดยใช้กิจกรรม 6 กิจกรรมที่สามารถทำตามได้ไม่ยาก สร้างการเรียนรู้ที่นอกเหนือจากบทเรียนในห้องเรียนของเด็ก ๆ


กิจกรรมนี้มีรูปแบบและกระบวนการในการจัดกิจกรรมทั้งหมด 6 กิจกรรม โดยแนวคิดเริ่มจากกิจกรรมที่มีในศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาอาจจะยังมีไม่ครบคลุมทุกกลุ่มลูกค้าที่ชอบลงมือประดิษฐ์สิ่งของด้วยตัวเอง ซึ่งความตั้งใจของผู้จัดกิจกรรมนี้อยากให้ผู้ที่เข้ามาร่วมกิจกรรม สามารถนำความรู้ที่ได้กลับไปทำงานประดิษฐ์ต่อยอดได้ โดยเลือกวัสดุที่หาได้จากธรรมชาติ เช่น ดอกไม้ ใบไม้ เมล็ดพืช เป็นต้น เพื่อสร้างมูลค่าให้กับวัสดุธรรมชาติ และสร้างการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เป็นการเรียนรู้ที่อยู่รอบตัวในชีวิตประจำวัน โดยแต่ละกิจกรรมมีรูปแบบที่เน้นให้ผู้เรียนได้ใช้ทักษะการคิด แก้ปัญหา สร้างจินตนาการและได้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ควบคู่กันไปผ่านการลงประดิษฐ์สิ่งของจากการลงมือทำจริง


ซึ่งในทุกกิจกรรมผู้สอนจะมีหน้าที่เป็นผู้แนะนำและตั้งคำถามเพื่อให้ผู้เรียนเป็นผู้แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่พบ และจะแก้ปัญหาเหล่านั้นได้อย่างไร เพราะเชื่อว่าเด็กทุกคนมีความคิดเห็นเป็นของตัวเอง และอยากให้ความคิดนั้นริเริ่มนั้นเกิดขึ้นมาจากตัวผู้เรียนเอง เพื่อให้ผู้เรียนได้เข้าใจและเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม จากเรื่องเล็ก ๆ ที่ผู้เรียนสามารถทำได้อย่างง่าย  รวมทั้งในทุกกิจกรรมที่ประดิษฐ์สิ่งของสามารถกระตุ้นจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ เป็นการเรียนรู้ที่ผสมผสานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และศิลปะเข้าด้วยกัน เกิดเป็นผลงานที่มีชิ้นเดียวในโลก สร้างความภูมิใจและความประทับใจให้กับผู้เรียน


  • กิจกรรมที่ 1 เทียนเจลแห่งท้องทะเล เป็นการเรียนรู้เรื่องระบบนิเวศในท้องทะเล โครงสร้างของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศห่วงโซ่อาหาร ที่ประกอบด้วยผู้ผลิต ผู้บริโภค ผู้ย่อยสลาย รวมทั้งกล่าวถึงปัญหาขยะทะเลที่ส่งผลกระทบกับระบบนิเวศและมนุษย์ หลังจากนั้นจึงให้ผู้เรียนทดลองทำระบบนิเวศจำลอง จากการทำเทียนเจล เรียนรู้รูปแบบของเทียนที่นำมาใช้ในการทำ และร่วมทำกิจกรรมตอบคำถามและร่วมแสดงความคิดเห็นปัญหาขยะทะเล และผลกระทบต่อระบบนิเวศ


  • กิจกรรมที่ 2 Seed art เป็นการเรียนรู้เรื่องลักษณะรูปร่าง ส่วนประกอบและหน้าที่ของเมล็ดพืช ความสำคัญของเมล็ดพืช รวมทั้งการเก็บอนุรักษ์พันธุ์พืช เพื่อรักษาความหลากหลายทางชีวภาพในธนาคารพันธุ์พืช หลังจากนั้นจึงให้ผู้เรียนทดลองนำเมล็ดพันธุ์พืชหลากหลายชนิดมาสร้างคุณค่า โดยการสร้างสรรค์ผลงานจากเมล็ดในรูปแบบงานศิลปะ


  • กิจกรรมที่ 3 Herbarium oil เป็นการเรียนรู้เรื่องการเก็บรักษาพันธุ์ไม้แห้งแบบที่นักพฤษศาสตร์ทำ และรู้จักหอพรรณไม้สถานที่รวบรวมพันธุ์ไม้ เพื่อใช้ในการศึกษาวิจัย หลังจากนั้นจึงให้ผู้เรียนทดลองทำการเก็บดอกไม้แห้งโดยใช้น้ำมัน เพื่อเก็บรักษาสภาพและสีสันของดอกไม้ให้นานขึ้น ซึ่งนิยมนำมาเป็นของขวัญ และทำการ์ดจากใบไม้และดอกไม้แห้ง โดยเทคนิคการอัดแห้ง


  • กิจกรรมที่ 4 สวนสวยในขวดแก้ว เป็นการเรียนรู้เรื่องการเจริญของพืชในพื้นที่จำกัด การปลูกพืชในขวด เพื่อจำลองสภาวะแวดล้อม ที่มีความเกี่ยวข้องกับปัญหาภาวะเรือนกระจก และสาเหตุของโลกร้อนในปัจจุบัน หลังจากนั้นจึงให้ผู้เรียนทดลองจัดสวนขวดด้วยตัวเอง ที่สามารถตกแต่งตามจินตนาการ และร่วมทำกิจกรรมแสดงความคิดเห็นในหัวข้อ วิธีการช่วยลดภาวะโลกร้อน


  • กิจกรรมที่ 5 เทียนไขถั่วเหลือง เป็นการเรียนรู้เรื่องการทำเทียนจากวัสดุธรรมชาติอย่างไขถั่วเหลือง และไขประเภทต่าง ๆ ที่นิยมนำมาใช้ในการทำเทียน เช่น ไขเทียนทีได้จากปิโตรเลียม การใช้ประโยชน์ของไขถั่วเหลือง แสดงความคิดเห็นผลกระทบของปิโตรเลียมที่มีผลต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม หลังจากนั้นจึงให้ผู้เรียนทดลองทำเทียนไขจากไขถั่วเหลืองที่เป็นวัสดุธรรมชาติ และตกแต่งเทียนแบบแขวน เพื่อใช้เป็นของที่ระลึกและสร้างอาชีพได้


  • กิจกรรมที่ 6 การเดินทางของสายรุ้ง เป็นการเรียนรู้เรื่องสารสีจากพืช และการแยกสารสีด้วยเทคนิคโครมาโตกราฟี การใช้ประโยชน์จากสีธรรมชาติในชีวิตประจำวัน เช่น การใช้เป็นสีผสมอาหาร คุณสมบัติการเป็นอินดิเคเตอร์ธรรมชาติ หลังจากนั้นจึงให้ผู้เรียนทดลองแยกสารสีด้วยเทคนิคโครมาโตกราฟี และทำกิจกรรมแต้มสีจากพืชที่เป็นสารสกัดสีจากธรรมชาติ โดยนำผงสีที่สกัดมาละลายน้ำ เพื่อวาดรูปบนการ์ดตามจินตนาการ และร่วมทำกิจกรรมแสดงความคิดเห็นในหัวข้อ เราสามารถใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้อย่างไร

 

กิจกรรมทั้งหมดนี้สามารถดัดแปลงประยุกต์ใช้จัดการเรียนรู้ตามความเหมาะสม และอาจปรับเปลี่ยนมาใช้เป็นวัสดุในท้องถิ่น เช่น ถ้าท้องถิ่นมีสมุนไพรหรือพืชที่ให้สารสีในท้องถิ่น อาจจะนำมาสอนให้ผู้เรียนรู้จักลักษณะของพืช คุณสมบัติพิเศษ ประโยชน์ที่ถูกนำมาใช้ และปลูกจิตอนุรักษ์ให้กับผู้เรียนในการจะรักษาพืชท้องถิ่นนี้ได้อย่างไร โดยใช้การตั้งคำถามให้ผู้เรียนช่วยกันคิดหาคำตอบ ในวิธีที่ผู้เรียนสามารถทำได้ รวมทั้งอาจจะแนะนำหรือเพิ่มแนวคิดในการต่อยอดนวัตกรรม เพื่อเพิ่มมูลค่าวัสดุในท้องถิ่นนั้นให้กับชุมชนต่อไป

จากกิจกรรมนี้ขอขอบคุณศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาที่สนับสนุนงบประมาณในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ทุกคนที่เกี่ยวข้อง นักศึกษาฝึกงาน ที่ร่วมมือกันจัดกิจกรรมในครั้งนี้ และขอบคุณผู้ปกครองทุกท่านที่ให้คำแนะนำ ข้อเสนอแนะ เพื่อใช้ในการปรับปรุงกิจกรรมให้ดีขึ้นต่อไป

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(21)
เก็บไว้อ่าน
(5)