icon
giftClose
profile

มหัศจรรย์ปอดเทียมด้วยมือหนู

165795
ภาพประกอบไอเดีย มหัศจรรย์ปอดเทียมด้วยมือหนู

เปลี่ยนการทดลองที่หลายคนคิดว่ายากเนื่องจากอุปกรณ์มีราคาแพงและอาจจะหายากในสถานการณ์โรคระบาดในปัจจุบันให้กลายเป็นเรื่องง่ายโดยการใช้วัสดุที่หาได้ง่ายในบ้านเรา


เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ทำให้การเรียนการสอนในปัจจุบันจึงต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบใหม่เป็นรูปแบบออนไลน์ซึ่งส่งผลต่อการทำกิจกรรมการทดลองของนักเรียน เนื่องจากไม่สามารถมาทำการทดลองได้ที่ห้องปฏิบัติการที่โรงเรียนอีกทั้งอุปกรณ์ที่ใช้ในการทดลองยังมีราคาแพงและค่อนข้างที่จะหาซื้อได้ยาก

ครูจิ๋วจึงมีแนวคิดและไอเดียที่ว่า “ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนเรียนในรูปแบบใดนักเรียนของครูจิ๋วก็จะสามารถทำการทดลองและเรียนรู้ได้ด้วยตัวเองได้โดยมีครูจิ๋วเป็นที่ปรึกษาคอยให้คำแนะนำต่างๆแก่นักเรียน” โดยครูจิ๋วจะทำการทดลองร่วมกับนักเรียนในลักษณะการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์โดยการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์การทดลองให้นักเรียนสามารถทดลองได้ง่ายๆที่บ้านของตนเองจากวัสดุที่หาง่ายและมีราคาถูก ซึ่งในวันนี้ครูจิ๋วจะมานำเสนอไอเดียการสอนนักเรียนทำการทดลองเรื่องแบบจำลองการทำงานของปอดให้กับคุณครูหลายท่านที่กำลังสอนนักเรียนออนไลน์ในปัจจุบันนี้ว่าเราจะทำอย่างไรให้นักเรียนเข้าใจและสนุกกับการทดลองวิทยาศาสตร์


STEP 1: แลกเปลี่ยนเรียนรู้

ครูและนักเรียนร่วมกันออกความคิดเห็นและหาวัสดุที่สามารถนำมาดัดแปลงแทนอุปกรณ์การทดลองที่อาจจะหาได้อยากและมีราคาแพง โดยอุปกรณ์ที่ใช้ในการทดลองเรื่องแบบจำลองปอดจะประกอบไปด้วย 1.ยางวงแหวน 2.หลอดแก้วรูปตัว Y 3.ลูกโป่งเล็ก 4.ครอบพลาสติก และ5.แผ่นยาง ดังรูปที่1

รูปที่1 แบบจำลองการทำงานของปอด


เมื่อรู้จักอุปกรณ์การทดลองแล้วครูและนักเรียนก็จะร่วมกันออกความคิดเห็นว่าเราจะสามารถใช้วัสดุอะไรได้บ้างที่เราหาเองได้จากในบ้านและมีราคา

ไม่แพง จากการออกความคิดเห็นร่วมกันของนักเรียน ครูจึงได้ข้อสรุปว่าเราจะเลือกใช้วัสดุที่หาได้ในบ้าน ได้แก่ 1. หลอดแบบงอแทนหลอดรูปตัว Y 2. ลูกโป่งจำนวน 3 ลูก ซึ่งอาจจะมีขนาดใหญ่เท่ากันทั้ง 3 ลูกหรืออาจจะมีลูกเล็กจำนวน 2 ลูกและลูกใหญ่อีก 1 ลูก ก็ได้ตามสะดวกว่าบ้านของใครมีวัสดุอย่างไร โดยจะนำลูกโป่งจำนวน 1 ลูกมาใช้แทนแผ่นยาง 3. แก้วหรือขวดพลาสติกแทนครอบพลาสติก 4. ดินน้ำมันแทนยางวงแหวน ดังรูปที่2


รูปที่2 อุปกรณ์ที่หาได้ในบ้านสำหรับทำการทดลอง


STEP2 : ลงมือปฏิบัติ

ครูและนักเรียนร่วมกันประดิษฐ์แบบจำลองการทำงานของปอด โดยครูจะให้นักเรียนส่งรูปแบบจำลองการทำงานของปอดที่นักเรียนได้ประดิษฐ์ขึ้นเองมาเพื่อตรวจแก้ไขและให้คำแนะนำแก่นักเรียนว่าทำสอดคล้องกับการทำงานของปอดหรือไม่ ดังรูปที่3


รูปที่3 ตัวอย่างแบบจำลองการทำงานของปอดที่นักเรียนประดิษฐ์ขึ้นเอง


STEP3 : สังเกต

เมื่อประดิษฐ์อุปกรณ์การทดลองเสร็จแล้วครูและนักเรียนร่วมกันทดลองและสังเกตการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ดังรูปที่4


รูปที่4 ทดลองและสังเกตการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น


STEP4 : อธิบายได้

ครูและนักเรียนร่วมกันอภิปรายผลการทดลอง โดยให้ใช้เกมหมุนวงล้อสุ่มชื่อของนักเรียนเพื่อมานำเสนอการทดลองจำนวน 2 คนว่าการทดลองเป็นอย่างไรบ้างและส่วนต่างๆของอุปกรณ์เหล่านั้นเปรียบเสมือนอวัยวะใดบ้างดังรูปที่5 โดยนักเรียนจะสามารถอธิบายแบบจำลองการทำงานของปอดได้ดังนี้

เมื่อทำการทดลองโดยการดึงหรือดันลูกโป่งที่ครอบแก้วหรือขวดพลาสติกจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความดันอากาศภายในแก้วหรือขวดพลาสติก

และมีผลทำให้ความดันอากาศในลูกโป่งเล็กสองลูกเกิดการเปลี่ยนแปลง กล่าวคือ เมื่อเราใช้นิ้วดันลูกโป่งใบใหญ่ที่ครอบแก้วหรือขวดพลาสติกอยู่ขึ้น

จะทำให้ความดันอากาศภายในแก้วเพิ่มขึ้น ส่งผลทำให้ลูกโป่งใบเล็กแฟบ เนื่องจากอากาศภายในจะเคลื่อนที่ออกจากลูกโป่ง และเมื่อเราใช้นิ้วดึงลูกโป่งใบใหญ่ที่ครอบแก้วหรือขวดพลาสติกอยู่ลง ส่งผลทำให้ลูกโป่งใบเล็กพองออก เนื่องจากความดันอากาศภายในแก้วลดลง อากาศภายนอกจึงเคลื่อนที่เข้าสู่ลูกโป่ง

จากการทดลองดังกล่าว ทำให้นักเรียนสามารถเปรียบเทียบวัสดุที่นำมาใช้กับอวัยวะของระบบหายใจได้ดังนี้

  • ลูกโป่งใหญ่ เปรียบเสมือนกับ กะบังลม
  • ลูกโป่งลูกเล็กจำนวน 2 ลูก เปรียบเสมือนกับ ปอดทั้ง 2 ข้าง

จากการทดลองดังกล่าว ครูจิ๋วจึงได้เชื่อมโยงให้นักเรียนเข้าใจว่าปอดเป็นอวัยวะที่สำคัญต่อระบบหายใจ ดังนั้นการป้องกันตนเองต่อการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่จะทำลายปอด จึงถือเป็นเรื่องสำคัญต่อสุขภาพของนักเรียนทุกคน

รูปที่5 สรุปและอภิปรายการทดลอง


STEP5 : โชว์ผลงาน

ครูจิ๋วให้นักเรียนส่งรูปภาพหรือคลิปวิดีโอการแบบจำลองการทำงานปอดที่นักเรียนประดิษฐ์ขึ้นเองเพื่อใช้ในการประเมินผลการทำกิจกรรมแบบจำลองการทำงานปอดของนักเรียน ดังรูปตัวอย่าง


ไฟล์ที่เกี่ยวกับไอเดีย

ไฟล์ที่ 1 จากทั้งหมด 13

ชื่อไฟล์​: 60A0132E-B2E3-43F9-AE54-2D098EA51388.png

ดาวน์โหลดแล้ว 82 ครั้ง


รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(12)
เก็บไว้อ่าน
(2)