icon
giftClose
profile

How to survive in a disaster?

91429
ภาพประกอบไอเดีย How to survive in a disaster?

มองวิทยาศาสตร์ให้เป็นเรื่องง่าย

เกมการ์ด How to survive in a disaster?

วันนี้เราก็ขอเป็นส่วนหนึ่งในการที่จะลองเสนอไอเดียการใช้สื่อการสอนที่ทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามธรรมชาติของช่วงวัยคือ การได้เล่น ลองผิดลองถูก เรียนรู้ด้วยตนเอง เราจึงได้มีการนำเกมสอดแทรกพร้อมๆกับเนื้อหาที่เรียน โดยทฤษฎีการเรียนรู้ผ่านเกมนั้นเรียกกันว่า Games-Based Learning เหมาะมากหากจะนำมาสอนกับช่วงวัยนี้(ประถม) เพราะเด็กในช่วงวัยนี้เป็นวัยที่ชอบเล่นเกมกับเพื่อน แข่งขัน และสนุกเพลิดเพลินในการทำกิจกรรม เขาจึงจะสามารถจดจ่อ และให้ความสนใจหรือความร่วมมือในการเรียนรู้ได้ ซึ่งเป็นแรงเสริมบวกและไม่ให้ผู้เรียนเครียดในการเรียน โดยสื่อการสอนผ่านเกมนั้นสามารถพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ของผู้เรียนได้เป็นอย่างดี เราจึงขอเสนอการ์ดเกมที่ทำให้ผู้เรียนจับต้องได้ โดยสอดแทรกรูปแบบเนื้อหาที่สรุปสั้นๆเข้าใจได้ง่าย เห็นเป็นรูปธรรม และสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง เกมจะไล่ระดับความง่ายไปยากของเกมเพื่อให้ดูน่าตื่นเต้นและน่าค้นหา แต่ไม่ยากหรือง่ายจนเกินไปตามช่วงวัยชองเด็ก ด้วยเหตุนี้การเรียนรู้ผ่านเกมจึงส่งผลให้ผู้เรียนสนุกไปกับการเรียนรู้ และทำให้ทัศนคติของผู้เรียนที่มีต่อรายวิชาไปในทิศทางที่ดี แต่สำหรับการเรียนรู้เชิงวิทยาศาสตร์ที่แท้จริงนั้น เด็กควรจะได้ลงมือทำและปฏิบัติจริงมากกว่าทฤษฎี ลองผิดลองถูก ทดลอง ค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง เพราะช่วงวัยการเรียนรู้ของเขาจะเข้าใจในสิ่งที่เป็นรูปธรรมมากกว่า  แต่เนื้อหาบางหน่วยการเรียนรู้ก็ไม่สามารถทดลองหรือลงไปพื้นที่จริงได้ เราผู้ที่ชอบและทดลองออกแบบสื่อ จึงขอเลือกใช้สื่อนี้เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมสั้นๆสำหรับการสรุปบทเรียน และการประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันในอนาคต และเราเชื่อว่าเกมนี้จะทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ร่วมกันกับเพื่อน มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน ร่วมกันสังเกต วิเคราะห์ สืบค้นข้อมูล และแก้ปัญหาผ่านภารกิจเกมที่ได้รับ ซึ่งเป็นทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญที่ผู้เรียนจะต้องเกิดการเรียนรู้ที่เหมาะสมภายในห้องเรียน เราจึงมองว่าการเรียนรู้ผ่านเกมนั้นเป็นส่วนสำคัญในการนำมาสอนภายในห้องเรียนเป็นอย่างมาก หากข้อมูลหรือเนื้อหาไม่สอดคล้องกับหน่วยการเรียนรู้หรือมีข้อผิดพลาดอย่างไรเราก็พร้อมจะนำไปปรับแก้ในอนาคตค่ะ



เรื่อง ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ป.6

กลุ่มสาระ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หน่วยการเรียนรู้ เรื่อง สิ่งมีชีวิตกับสิ่งแวดล้อม

สาระการเรียนรู้ วิทยาศาสตร์โลกและอวกาศ

จุดประสงค์ของรายวิชา

1. อธิบายลักษณะของภัยพิบัติที่มีผลต่อมนุษย์และสภาพแวดล้อมในท้องถิ่น  

2. อภิปรายแนวทางในการปฏิบัติตนให้ปลอดภัยจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ

แนวทางการจัดการเรียนการสอน

Introduction - ชวนนักเรียนคุยเรื่องทั่วไปในชีวิตประจำวันคร่าวๆ แล้วค่อยถามเรื่องภัยพิบัติในชีวิตประจำวัน ว่ารู้จักหรือไม่ เคยเห็นจากที่ไหนบ้าง ให้นักเรียนเล่าออกมา (***เพื่อให้เกิดความผ่อนคลายในห้องเรียน อีกทั้งยังประเมินความเข้าใจเบื้องต้นของผู้เรียนในเนื้อหาที่จะสอน)

Content เมื่อถามถึงการรู้จักภัยพิบัติแล้ว ก็ค่อยยกตัวอย่าสถานการณ์ผ่านการเปิดคลิปหรือสื่อเนื้อหาที่น่าสนใจพร้อมกับเล่าสรุปสั้นๆที่เห็นเป็นรูปธรรม ผ่านการฟังการเห็นจากสื่อที่ครูผู้สอนเปิดสอน ในเรื่องประเภทของภัยพิบัติ ชนิด สาเหตุของการเกิด ผลกระทบของการเกิด และการรับมือหรือเอาตัวรอดบางสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในชุมชนของเรา ใช้เวลาในการอธิบาย 20 นาทีที่เหมาะสมในการเรียนรู้ของเด็ก เด็กจะได้ไม่เบื่อและยังให้ความสนใจ เมื่อสอนเนื้อหาเสร็จก็ค่อยพาทำกิจกรรมต่อไปคือการเล่นการ์ดเกมค่ะ ซึ่งเกมเป็นขั้นตอนสุดท้ายในการเรียน 1 คาบนั้นเพื่อเป็นการวัดความเข้าใจในเนื้อหาที่ใช้สอนและการนำไปปฏิบัติที่ถูกวิธี และที่สำคัญเด็กยังเกิดทักษะที่สำคัญทางวิทยาศาสตร์

สมรรถนะที่เด็กควรได้รับจากการเล่นการ์ดเกม

1.      การอธิบายปรากฏการณ์เชิงวิทยาศาสตร์

2.      การสืบเสาะหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ (ผ่าน QR code สื่อออนไลน์ หนังสือ)

3.      การฝึกการวิเคราะห์ และการแก้ปัญหาที่สอดคล้องตามบริบทที่ได้รับ

จุดประสงค์ของการ์ดเกม

1.      ทำความเข้าใจเกี่ยวกับประเภทของภัยพิบัติทางธรรมชาติ

2.      เข้าใจสาเหตุและผลกระทบของปรากฏการณ์ภัยพิบัติธรรมชาติใกล้ตัว (ในประเทศหรือชุมชนของตนเอง)

3.      วิเคราะห์และแก้ปัญหาในการปฏิบัติตนให้ปลอดภัยจากภัยพิบัติทางธรรมชาติใกล้ตัว (ในประเทศหรือชุมชนของตนเอง)

4.      เห็นความสำคัญเกี่ยวกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ

จำนวนผู้เล่น การ์ดเกมนี้เหมาะกับการเล่นแบบกลุ่มในการทำภารกิจ ซึ่งจะให้ผู้เล่นแบ่งกลุ่ม กลุ่มละ 5 คน ใช้เวลาเล่นทั้งหมด 30 - 40 นาที ( มีทั้งหมด 3 ภารกิจ )

อุปกรณ์         1. การ์ดเกม

2. หมากเดินเกม

3. บอร์ดภารกิจ

4. ปากกา ดินสอ กระดาษ

5. โทรศัพท์

6. ชีทเรียนหรือหนังสือเรียน

วิธีการเล่น    

ภารกิจที่ 1 จัดประเภทและชนิดของภัยพิบัติให้ถูกต้องทั้ง 5 ประเภท โดยใช้เวลาในการทำภารกิจภายใน 5 นาที

-         ให้ผู้เล่นในกลุ่มทุกคนสุ่มหยิบการ์ดชนิดของภัยพิบัติ(การ์ดสีน้ำเงิน)ขึ้นมาคนละ 1 ใบ เมื่อหยิบได้อะไรก็ให้นำวางลงในหมวดนั้น โดยจะมีการ์ดประเภทภัยพิบัติ(สีแดง) 5 ประเภท ที่วางบนบอร์ดอยู่แล้ว

-         คนถัดไปหยิบและวางต่อ เล่นจนกว่าการ์ดชนิดภัยพิบัติหมด

-         เมื่อการ์ดในกองหมด ให้ปรึกษากันภายใน 1 นาที ว่าวางถูกหรือผิดก็สามารถปรับเปลี่ยนได้ (ครูจะคอยสังเกตการสื่อสารแลกเปลี่ยนระหว่างกันผ่านความเข้าใจของผู้เรียน และมีการถ่ายรูปบอร์ดเกมตอนนักเรียนวางการ์ดเสร็จ เพื่อนำไปประเมินความเข้าใจของผู้เรียน ว่าเข้าใจหรือไม่เข้าใจในประเภทไหนบ้าง)  

ภารกิจที่ 2 ให้เลือกชนิดของภัยพิบัติที่มักจะเกิดขึ้นในประเทศไทยหรือชุมชนของตนเอง และต้องวิเคราะห์ถึงสาเหตุและผลกระทบของภัยพิบัติที่เลือกให้ถูกต้อง 3 ชนิด ภารกิจนี้ใช้เวลา 5 - 10 นาที

           - ให้ผู้เล่นในกลุ่มปรึกษากันเพื่อเลือกการ์ดชนิดภัยพิบัติที่ใกล้ตัวตามประสบการณ์ของผู้เรียนที่พบเจอ ไม่ว่าจะเจอจากประสบการณ์ตรง ในข่าว อินเทอร์เน็ต ได้หมดตามการรับรู้ของผู้เรียน โดยให้วางการ์ดชนิดไว้ตำแหน่งภารกิจที่สอง 3 ชนิด

               - ให้ผู้เล่นแต่ละคนสุ่มหยิบการ์ดสาเหตุการเกิดภัยพิบัติ(การ์ดสีเขียว) และการ์ดผลกระทบของการเกิดภัยพิบัติ(การ์ดสีเทา) อย่างละ 1 ใบ ในแต่ละครั้งผู้เล่นจะมี 2 ใบอยู่ในมือและให้เลือกวาง แล้วค่อยให้คนถัดไปหยิบและวางต่อ  

               - เล่นวนกันครบทั้ง 5 คนและเล่นจนกว่าการ์ดในกองจะหมด

               - ท้ายสุดของภารกิจจะให้เวลาปรึกษากัน 2 นาทีในการสลับปรับเปลี่ยน และเตรียมพร้อมรับมือกับภารกิจต่อไป (การ์ดแต่ละใบมี 50 points หากวางถูกตามชนิดของภัยพิบัติรับไปทันที)

ภารกิจที่ 3 ช่วยกันเอาตัวรอดต่อสถานการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้น โดยจะต้องร่วมมือกันสืบค้นข้อมูล วิเคราะห์และแก้ปัญหาร่วมกันภายในกลุ่มเพื่อให้เอาตัวรอดต่อภารกิจที่ได้รับ ภารกิจนี้ใช้เวลาทั้งหมด 20 นาที

               - ให้ตัวแทนสุ่มหยิบภารกิจที่ 3 โดยจะมีภารกิจที่มีสถานการณ์แตกต่างกันไป ผู้เล่นทุกคนในกลุ่มจะต้องเอาตัวรอดจากสถานการณ์นั้นให้ได้ตามเวลาที่กำหนด ช่วยกันวิเคราะห์ แก้ปัญหา แบ่งบทบาท และใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าหรือเหมาะสมตามภารกิจที่ได้รับ

           - การเอาตัวรอดครั้งนี้จะต้องไปซื้อสิ่งของที่จำเป็นหรือซื้ออุปกรณ์ในการรับมือต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น หรือจะเอาสิ่งของที่นอกเหนือจากเกมได้ แต่ต้องมีเหตุผลรองรับในการซื้อสิ่งของเหล่านั้นเพื่อเอาตัวรอดจากสถานการณ์ ก็จะรับไป 20 point เพราะเป็นการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองเพิ่มเติม โดยเหตุผลนั้นจะมาจากความคิดของผู้เรียนที่มาจากการเรียนในคาบเรียน หรือมีการสืบค้นผ่าน QR code ของเกม หนังสือ ชีทเรียน หรือนอกเหนือจากนี้ได้ตามความสนใจของผู้เรียน ภายในเวลา 10 นาที

           - เมื่อทุกคนเลือกซื้อเสร็จให้มาร่วมกันพูดคุยอีกครั้ง และวางสิ่งของลงในกระดาษที่ครูมอบหมายให้พร้อมกับเขียนอธิบายสรุปสั้นๆตามความเข้าใจ 10 นาที

           - ให้ตัวแทน 1-2 คนอยู่ในกลุ่มเพื่ออธิบายให้เพื่อกลุ่มอื่นฟัง และเวียนฐานกันฟังคำตอบในแต่ละกลุ่ม

***ภารกิจที่สามคือการเรียนรู้ที่สำคัญของผู้เรียน เพราะให้ผู้เรียนวิเคราะห์ถึงปัญหา หาแนวทางการแก้ปัญหาที่เหมาะสมบนหลักของเหตุผล ซึ่งคำตอบนั้นไม่มีถูกไม่ผิด แต่ให้ผู้เรียนมีความพยายามในการค้นหาคำตอบ เกิดทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และอธิบายความเชื่อมโยงให้สอดคล้องกับบริบทที่ได้รับ อีกทั้งยังเสนอวิธีการแก้ปัญหาที่เข้าใจได้ง่าย ไม่ซับซ้อนตามความเข้าใจของผู้เรียน


ไฟล์ที่เกี่ยวกับไอเดีย

ไฟล์ที่ 1 จากทั้งหมด 1

ชื่อไฟล์​: ภูเขาไฟ ระเบิด.pdf

ดาวน์โหลดแล้ว 165 ครั้ง


รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(8)
เก็บไว้อ่าน
(13)