icon
giftClose
profile

HOMEROOM ONLINE “เพื่อนของฉันคนนี้...ที่สุดแล้ว”

563547
ภาพประกอบไอเดีย HOMEROOM ONLINE “เพื่อนของฉันคนนี้...ที่สุดแล้ว”

เป็นระยะเวลา 1 เดือนกว่าแล้วที่ต้องเรียนออนไลน์ ครูและนักเรียนต่างไม่เคยได้พบเจอหน้ากันเลย วันนี้จึงมีไอเดียมานำเสนอให้กับคุณครูทุกท่านได้ลองไปปรับใช้ในการโฮมรูม เพื่อกระชับสัมพันธภาพที่ดีระหว่างนักเรียนกับนักเรียน และนักเรียนกับครูที่ปรึกษา

“เพื่อนของฉันคนนี้...ที่สุดแล้ว” เป็นหนึ่งในหัวข้อการโฮมรูมของนักเรียนในห้องที่ปรึกษา เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั้งครูและนักเรียนไม่มีโอกาสได้เจอกันเลย มีพียงการสนทนาผ่านระบบออนไลน์เท่านั้น คุณครูหลาย ๆ คนอาจจะประสบกับปัญหาในการจัดกิจกรรมและการสนทนาในหัวข้อต่าง ๆ ไม่รู้เลยว่านักเรียนของเราเขาเป็นอย่างไร เขามีความสามารถด้านไหน เขามีของดีในตัวอะไรบ้าง ส่วนตัวของนักเรียนเองก็อาจจะประสบกับปัญหาความสัมพันธ์ภายในห้องเรียน ที่มีการพูดคุยและทำกิจกรรมกรรมร่วมกันน้อยลง นักเรียนบางคนก็อาจจะเกิดคำถามกับตนเองว่าแล้วฉันเก่งอะไร ฉันถนัดด้านไหน ฉันมีความสามารถอะไรบ้าง ขาดความมั่นใจในตัวเองหรืออยู่ในสภาวะจิตตกเนื่องจากปัญหา COVID-19 และการเรียนออนไลน์


กิจกรรม “เพื่อนของฉันคนนี้...ที่สุดแล้ว”

จุดประสงค์

1. เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนกับนักเรียน และนักเรียนกับครูที่ปรึกษา

2. เพื่อเสริมแรงทางบวกผ่านคำชม

3. เพื่อฝึกให้นักเรียนชื่นชมยินดีในความสามารถของคนอื่นด้วยความจริงใจ

4. เพื่อสร้างมั่นใจให้กับนักเรียน


รายละเอียดการทำกิจกรรม

1. ครูวางแผนเพื่อออกแบบประเมินด้วย Google Form โดยกำหนดรายละเอียดหัวข้อที่สุดของห้องเรียนจำนวน 10 รายการ (โดยบางรายการอ้างอิงจากทฤษฎีพหุปัญญา (Multiple Intelligences) ของโฮเวิร์ด การ์ดเนอร์ (Howard Gardner)) ซึ่งมีความเชื่อว่าเราทุกคนล้วนมีความเป็นอัจฉริยะไม่ด้านใดก็ด้านหนึ่งใน 8 ด้าน ซึ่งแต่ละด้านมีมากน้อยไม่เท่ากันในแต่ละคน ดังนี้

1) ร้องเพลงเพราะที่สุด

2) เรียบร้อยที่สุด

3) ขยันสุด ๆ

4) มนุษยสัมพันธ์ดีสุด ๆ

5) รับผิดชอบที่สุด

6) เก่งภาษาสุด ๆ

7) เก่งเลขสุด ๆ

8) ศิลปะชั้นเลิศ

9) นักอนุรักษ์ตัวยง

10) นักกีฬาเรียกพี่

2. นักเรียนระบุชื่อเพื่อนตามรายการต่าง ๆ

3. ประมวลผลข้อมูลแจ้งในกลุ่มห้องเรียน

4. ให้นักเรียนแสดงความสามารถของตนเองตามผลโหวตของเพื่อน ๆ 555+ (ช่วงเวลานี้ถือว่าสนุกมาก ๆ)

5. ให้นักเรียนสรุปกิจกรรมหรือข้อคิดที่ได้จากการทำกิจกรรมในวันนี้

6. ครูจัดทำเกียรติบัตรมอบให้กับนักเรียน เพื่อเป็นขวัญกำลังใจเล็ก ๆ น้อย ๆ

 

คำชื่นชมสำคัญอย่างไร ?

พลังของคำชื่นชมมันยิ่งใหญ่มาก มีผลต่อจิตใจของผู้ที่ชื่นชมและผู้ที่ถูกชื่นชม การชื่นชมเป็นหนึ่งในวิธีการที่ง่ายและไม่ต้องลงทุนอะไรเลย เพียงแค่เราเอ่ยปากชื่นชมคนอื่นด้วยใจจริง คนที่ได้รับคำชมเขาก็จะมีปฏิกิริยาเชิงบวกกับเราอย่างแน่นอน เช่น รู้สึกปลื้มใจ มีรอยยิ้มออกมาให้เห็น หรือบางคนอาจมีความเขินอายพอได้ยินคนอื่นชม การชื่นชมจะยิ่งทำให้เขาเหล่านั้นเกิดความภาคภูมิใจ ซึ่งจะไปกระตุ้นให้เขามีกำลังใจในการคิดดีและทำดีต่อไป หรือแสดงพฤติกรรมเหล่านั้นต่อไป เป็นต้น

ในการชื่นชมสิ่งที่ต้องจดจำให้ขึ้นใจ คือ เราต้องชื่นชมในความดีหรือสิ่งดี ๆ ที่บุคคลเหล่าทำ หรืออาจจะเป็นคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งของเขาที่โดดเด่น เช่น ลักษณะนิสัย กิริยามารยาท ความรู้ ความสามารถ เป็นต้น และที่สำคัญการชื่นชมคนอื่นต้องมาจากความจริงใจทั้งต่อหน้าและลับหลัง คำชื่นชมที่มาจากใจจริงจะทำให้คนที่ชมมีความมั่นใจ ไม่ประหม่า และพูดจาได้อย่างเป็นธรรมชาติ จนคนฟังสามารถรู้สึกถึงความจริงใจของคนชมได้เช่นกัน ถ้าไม่ค่อยได้ชมคนอื่นก็ให้ฝึกทำบ่อย ๆ จะชินกับการชมคนอื่นไปเอง (ในส่วนนี้คุณครูถือเป็นบุคคลสำคัญในการฝึกฝนนักเรียน)

         ทั้งนี้เราจะเห็นได้ว่า ส่วนใหญ่เรามักจะได้ยินคำติมากกว่าคำชมที่พูดออกมา การชมหรือการเสริมแรงกัน นอกจากทำให้คนที่ได้รับคำชมมีความรู้สึกที่ดี มีกำลังใจแล้ว ยังเป็นผลสะท้อนย้อนกลับไปยังผู้ให้คำชม ที่ทำให้สัมพันธภาพระหว่างผู้ให้คำชมกับผู้รับคำชมดีขึ้นด้วย โดยเฉพาะในโรงเรียนคุณครูก็ควรชื่นชมในพฤติกรรรม กริยาวาจา และผลงานที่ดีของนักเรียน หาจุดชื่นชมให้ได้ และพูดย้ำบ่อย ๆ ผู้ที่ไดัรับคำชมจะเปลี่ยนแปลงตนเองไปโดยอัตโนมัติ และเป็นธรรมชาติ

 

ตัวอย่างภาพกิจกรรมและเสียงสะท้อนของนักเรียน


ปล. เกียรติบัตรรังสรรค์ด้วย CANVA

 

ข้อเสนอแนะอื่น ๆ : รูปแบบกิจกรรมดังกล่าวสามารถนำไปปรับใช้กับรายวิชาในห้องเรียนได้ด้วย เช่น นักเรียนที่ตอบคำถามไวที่สุด นักเรียนที่ส่งงานรวดเร็วที่สุด นักเรียนที่เรียกเสียงฮาที่สุดในห้องเรียนออนไลน์อาจจะจัดกิจกรรมมอบรางวัลเป็นรายสัปดาห์หรือรายเดือน เพื่อกระตุ้นพฤติกรรมอันพึงประสงค์ภายในตัวนักเรียนให้แสดงออกมาอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น

แท็กที่เกี่ยวข้อง

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(67)
เก็บไว้อ่าน
(25)