icon
giftClose
profile

ไม่ว่าเพศไหน ทุกคน คือ "มนุษย์"เหมือนกัน

19691
ภาพประกอบไอเดีย ไม่ว่าเพศไหน ทุกคน คือ "มนุษย์"เหมือนกัน

เป็นไอเดียการจัดการและการป้องกันปัญหา Gender Inequality (ความไม่เท่าเทียมทางเพศ) ในพื้นที่โรงเรียน

Gender Inequality (ความไม่เท่าเทียมทางเพศ) ถ้าพูดถึงเรื่องนี้เชื่อว่าผู้อ่านหลาย ๆ คน อาจคิดว่าต้องเป็นเพศทางเลือกเท่านั้นที่จะประสบกับกับปัญหานี้ แต่แท้จริงแล้วปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย และส่งผลกระทบที่รุนแรงอย่างคาดไม่ถึง มีผู้คนจำนวนมากที่เคยพบเจอกับปัญหานี้ แต่สังคมกลับทำให้เรื่องนี้ที่ไม่ปกติเป็นเรื่องปกติทั่วไป จนทุกคนมองข้ามและคิดว่าไม่ใช่ปัญหาสำคัญ ปัจจุบันปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศยังคงเกิดขึ้นอยู่ และมีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะในโรงเรียน ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าโรงเรียนเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมทางเพศ แต่โรงเรียนก็เป็นส่วนสำคัญอย่างมากที่จะสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ได้ก่อนใคร


บทความนี้ได้รวบรวมไอเดียที่น่าสนใจของคุณครูผู้เข้าร่วมกิจกรรม inskru online workshop เรื่อง #TeachersAgainst Gender Inequality (ความไม่เท่าเทียมทางเพศ) เป็นไอเดียการจัดการและแนวทางการป้องกันปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศ กิจกรรมที่จัดขึ้นในครั้งนี้ อ. Timo น้องปาร์กเกอร์ และน้องเก่ง ได้ร่วมพูดคุยและแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับความไม่เท่าเทียมทางเพศที่เกิดขึ้นในโรงเรียน และเปิดพื้นที่ให้คุณครูผู้เข้าร่วมได้ศึกษา case study และร่วมกันออกแบบใน 2 ประเด็นดังนี้


  1. วิธีการแก้ปัญหา (ช่วยเหลือเหยื่ออย่างไรและทำอย่างไรกับผู้กระทำ)
  2. วิธีการป้องกันเพื่อไม่ให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นอีก


case study


นายเอ และนางสาวบีเป็นนักเรียน ม. 5 และเรียนในห้องเดียวกัน สองคนนี้เคยจีบกันมาสักระยะหนึ่ง จนตกลงเป็นแฟนกัน ช่วงแรกรักกันดี ต่อมาเอชวนบีมาแลกรูปโป๊กัน โดยเอโน้มน้าวบีโดยบอกว่าเป็นสิ่งที่คนเป็นแฟนทำกัน ทำไมส่งให้คนรักไม่ได้ล่ะ บีจึงยอมถ่ายรูปโป๊และส่งให้เอ โดยคิดว่าเป็นความลับโรแมนติกของเขาสองคน 


แต่พอคบกันสักระยะหนึ่ง เริ่มมีเรื่องราวที่ทำให้ทะเลาะกัน จนวันหนึ่งบีบอกเลิกเอ และต่อมาบีคบกับนายซีเป็นแฟน เอรู้สึกโกรธมากจึงเอารูปลับของบีมาโพสต์ในทวิตเตอร์ โดยบอกผู้ติดตามว่า “ดูสิ บีเป็นผู้หญิงไม่ดี มีรูปหลุดแบบนี้ด้วย” โดยอ้างว่าไปเจอรูปในเว็บโป๊มา บีเสียใจมากและเริ่มขาดเรียนเพราะมองหน้าเอไม่ติด และอายสายตาเพื่อน ๆ ด้วย 


ไอเดียจากคุณครูผู้เข้าร่วม


1.วิธีการแก้ปัญหา (ช่วยเหลือเหยื่ออย่างไรและทำอย่างไรกับผู้กระทำ)


วิธีการช่วยเหลือเหยื่อ

  • ต้องพูดคุยกับเหยื่อเป็นอันดับแรก ถามถึงความรู้สึก ตรวจสอบสภาวะอารมณ์ของเหยื่อ และถามถึงสิ่งที่เหยื่อต้องการความช่วยเหลืออย่างไรบ้างจากครู
  • ในกรณีที่ผู้ปกครองไม่ทราบเรื่องนี้ ควรถามเหยื่อก่อนว่าสบายใจที่จะให้บอกผู้ปกครองหรือไม่ เพราะบางครอบครัวผู้ปกครองก็ไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก ดังนั้นจึงควรถามความคิดเห็นของเหยื่อเป็นสำคัญ
  • ในกรณีที่ผู้ปกครองทราบเรื่องอยู่แล้ว ก็ควรถามความสบายใจและความคิดเห็นของเหยื่อเช่นเดียวกัน จากนั้นควรมีคนกลางที่ต้องอธิบาย สร้างความเข้าใจ และหาทางออกร่วมกันกับผู้ปกครอง
  • ใช้คำพูดเชิงบวกที่ให้กำลังใจ และคอยอยู่ข้าง ๆ เหยื่อ สร้างความมั่นใจและเห็นคุณค่าในตัวเอง บอกกับเหยื่อว่า "สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้ลดทอนคุณค่าของเหยื่อ" ทุกปัญหาสามารถหาทางออกได้


วิธีการจัดการกับผู้กระทำ

  • พูดคุยกับผู้กระทำก่อนเป็นอับแรกเช่นกัน ถามเรื่องราวที่เกิดขึ้น เหตุผล เพื่อรับฟังทั้งสองฝ่าย และที่สำคัญต้องคุยอย่างเข้าอกเข้าใจ (Empathy) หากคุยเพื่อสั่งสอน หรือว่ากล่าว จะไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืน ผู้กระทำอาจไม่เข้าใจและลงมือทำซ้ำได้อีก การคุยอย่างEmpathy เพื่อให้ผู้กระทำเข้าใจในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และเข้าใจความรู้สึกของตัวเองและเหยื่อ มองเห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นในขณะนี้และอนาคต
  • ต้องมีการใช้กฎหมายในการดำเนินคดีอย่างเหมาะสม เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่เหยื่อ
  • พูดคุยกับผู้ปกครองของผู้กระทำ เพื่อร่วมกันแก้ปัญหา


จะเห็นว่าวิธีการแก้ปัญหาคือการพูดคุยกับทั้งสองฝ่ายเป็นอันดับแรก และที่สำคัญการพูดคุยนั้นต้องไม่มีการตัดสิน รับฟังทั้งสองฝ่ายอย่างจริงใจ เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับเหยื่อและผู้กระทำ เพื่อที่พวกเขาจะกล้าพูดหรือขอความช่วยเหลือจากครูได้อย่างสบายใจ และถ้าเป็นไปได้การมีนักจิตวิทยาเด็กร่วมพูดคุยด้วย อาจจะให้การช่วยเหลือและข้อแนะนำที่เหมาะสมกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้


2.วิธีการป้องกันเพื่อไม่ให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นอีก


  • ควรมีการสอนเรื่อง การเคารพในสิทธิของตัวเองและผู้อื่น แต่ต้องได้รับความร่วมมือกับคุณครูทั้งโรงเรียน โดยครูอาจจะสอดแทรกเข้าไปในระหว่างการสอน หรือบูรณาการกับวิชาที่สอน
  • จัดอบรมเกี่ยวกับความไม่เท่าเทียมทางเพศ และให้ความรู้ทางด้านกฎหมาย เพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักถึงผลของการกระทำ เป็นเรื่องจริงจังที่ต้องให้ความสำคัญ
  • มีกิจกรรมที่ส่งเสริมการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับนักเรียน ให้นักเรียนเกิดความเคารพในตัวเองและผู้อื่น รักและรับผิดชอบตัวเอง
  • มีกิจกรรมที่ส่งเสริมการเท่าทันสื่อ เข้าใจผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในมุมมองที่หลากหลาย เพื่อให้นักเรียนได้คิดอย่างรอบคอบก่อนการตัดสินใจที่จะทำอะไรลงไป
  • ในการประชุมผู้ปกครอง โรงเรียนควรอธิบายเกี่ยวกับความไม่เท่าเทียมทางเพศ เพื่อให้ผู้ปกครองได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เช่นกัน และแสดงให้เห็นว่าโรงเรียนให้ความสำคัญเรื่องนี้และต้องการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง หากเกิดปัญหาขึ้นผู้ปกครองจะได้ไว้ใจและให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหากับนักเรียนอย่างเต็มที่ และร่วมดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด


ปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศ ไม่ใช่ปัญหาใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานานแล้ว และยังคงสร้างบาดแผลในจิตใจเด็ก ๆ อย่างต่อเนื่อง หากจะแก้ไขปัญหาดังกล่าวจุดเริ่มต้นที่ดีคือโรงเรียน เพราะโรงเรียนคือสถานที่หนึ่งที่เด็ก ๆ ได้ใช้เวลาเรียนรู้และเติบโตจากสถานที่แห่งนี้ ดังนั้นโรงเรียนและครูจึงมีส่วนสำคัญอย่างมากที่จะแก้ไขปัญหานี้ โปรดอย่าละเลยปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศ จงปฏิบัติกับเด็กทุกคนทุกเพศอย่างเท่าเทียมกัน เพราะทุกคนคือ "มนุษย์" เหมือนกัน


ผู้ร่วมออกแบบไอเดีย : ครูนินา ครูฝน ครูหญิง ครูหมิว ครูบัว และครูออม

ผู้เขียนและกระบวนกร: ฟาบิว

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(0)
เก็บไว้อ่าน
(0)