icon
giftClose
profile
frame

Sexua Harassment ถ้าฉันทำแบบนี้ เธอโอเครึเปล่า? ?

22963
ภาพประกอบไอเดีย Sexua Harassment ถ้าฉันทำแบบนี้ เธอโอเครึเปล่า? ?

Sex Harassment เรื่องใกล้ตัวที่ไม่ควรถูกมองข้าม กับการสร้างการเรียนรู้ และความเข้าใจที่ถูกต้อง


การสร้างเรียนรู้ในครั้งนี้เกิดจากการแบ่งปันและออกแบบไอเดียการสอนร่วมกันของคุณครู ในการเข้าร่วม Workshop online ในหัวข้อ Sexual Harassment โดย พี่เจี๊ยบ มัจฉา พรอินทร์ นักเคลื่อนไหวปกป้องมนุษยชนและสิทธิความหลากหลายทางเพศ ในการสร้างความเข้าใจ และสร้างความตระหนัก เพื่อรับมือกับการคุกคามทางเพศ ทั้งในสังคมออนไลน์และชีวิตจริง


ในปัจจุบันปัญหาการคุกคามทางเพศที่เกิดขึ้นในสังคม ไม่ว่าจะเกิดกับเด็กหรือผู้ใหญ่ ยังคงมีให้เห็นอยู่อย่างต่อเนื่อง ตามหน้าข่าวหนังสือพิมพ์หรือสื่อสังคมออนไลน์ ที่เกิดทั้งในโรงเรียน ชุมชน หรือแม้กระทั่งบ้าน จากผู้กระทำไม่ว่าจะเป็นครู เพื่อน คนแปลกหน้า หรือแม้กระทั่งคนในครอบครัว เด็กๆ จะรู้รึเปล่าว่าสิ่งที่กำลังถูกกระทำสิ่งนั้นคือการคุกคาม และจะรับมือกับสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร ?



รูปภาพจาก wonder.media


แล้วอะไรที่ทำให้เรารู้ว่าสถานการณ์แบบนี้ เรียกว่า "การคุกคามทางเพศ" ในเบื้องต้น


  1. มีการกระทำอะไรก็แล้วแต่ ไม่ว่าจะเป็นพูด มอง ผิวปาก และอื่นๆ ที่เชื่อมโยงกับมิติทางเพศ เช่น น้องสาวจะไปไหนจ้ะ กลับกับพี่รึเปล่า ? , ผิวปากแซว วู้ววิ้ว
  2. เชื่อมโยงกับมิติทางเพศ ด้วยความตั้งใจ
  3. เมื่อได้รับการถูกกระทำ ผู้ถูกกระทำรู้สึกอึดอัด ไม่สบายใจ ไม่ยินยอม


** เอาผู้ถูกกระทำเป็นที่ตั้งต่อการกระทำนั้นๆ ว่ารู้สึกอย่างไร และเป็นข้อสรุปว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือการคุกคามทางเพศหรือไม่



ลองมาดูกันว่าจากกรณีศึกษาและการคุกคามทางเพศที่เกิดขึ้น จะถูกออกให้เกิดการเรียนรู้ในการสร้างความเข้าใจ ความตระหนัก และการรับมือต่อการคุกคามทางเพศของเด็กๆ ได้อย่างไรบ้าง ไปดูกันเลย


Case study


ด.ญ.อายุ 7 ขวบ ถูกรุ่นพี่ 3 คนในโรงเรียนเดียวกัน ซึ่งอยู่ชั้น ป.4 จำนวน 2 คน และ รุ่นพี่ ป.6 ล่วงละเมิดทางเพศในห้องน้ของโรงเรียนและถ่ายคลิปขณะก่อเหตุไปเผยแพร่ในโซเชียล:


3 ก.พ.2563 บิดาของเด็กที่ได้แยกทางกับภรรยา ได้เดินทางกลับมาเยี่ยมลูกและได้พูดคุยกับแม่ของอดีตภรรยา  จนทราบว่าลูกสาวถูกรุ่นพี่ 3 คน ลวงไปล่วงละเมิดทางเพศในห้องน้ำของโรงเรียนและถ่ายคลิป เหตุเกิดเมื่อวันที่ 21 ม.ค.ช่วงเย็นหลังเลิกเรียน ในช่วงเวลาประมาณ 17.00 น.


ทั้งนี้ ด.ช.เอ, ด.ช.บี และ ด.ช.ซี ได้หลอกล่อให้ ด.ญ.นิ่ม ไปที่ห้องน้ำของโรงเรียนแล้วให้ดูคลิปโป๊ ก่อนที่จะผลัดกันข่มขืนแล้วถ่ายคลิปไปแชร์ลงในโซเชียล จนมีเด็กในโรงเรียนเห็นคลิปแล้วนำคลิปไปบอกผู้ปกครอง จากนั้นผู้ปกครองได้นำคลิปไปแจ้งให้ทางโรงเรียนทราบ ก่อนที่ครูและผู้บริหารโรงเรียนจะเรียกเด็กและผู้ปกครองที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาพูดคุย 


ทราบว่าทางโรงเรียนได้ใช้วิธีเรียกตักเตือน ด.ช.ทั้ง 3 คน และสั่งให้ลบคลิปออกให้หมด พร้อมทั้งช่วยเจรจาไกล่เกลี่ยทั้ง 2 ฝ่าย โดยฝ่ายผู้ปกครองของด.ช.ทั้ง 3 คน เสนอจะให้เงินคนละ 3 หมื่นบาท แลกกับการไม่ดำเนินคดี ทั้งนี้แม่ของเด็กหญิงได้รับเงินจำนวนดังกล่าวไว้ และได้หนีออกไปจากชุมชนแล้ว


เมื่อผู้เป็นบิดา ได้ทราบเรื่องราวทั้งหมด จึงพาเด็กหญิงมารับความช่วยเหลือกับองค์กรที่ทำงานด้านการให้ความช่วยเหลือเด็กที่ถูกกระทำทารุณกรรมทางเพศ


เพื่อป้องกันมิให้เหตุการณ์นี้ เกิดขึ้นกับนักเรียนคนใดอีกเลย โรงเรียน ผู้บริหาร คณะครูและบุคคลากรทางการศึกษาควรจะมีบทบาท หน้าที่ ในการป้องกัน คุ้มครอง และส่งเสริมเด็กนักเรียน เรื่องการยุติ Sexaul Harassment ซึ่งเป็นความรุนแรงทางเพศอันนำไปสู่การสร้างสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนให้ปลอดภัยแก่นักเรียนทุกคนได้อย่างไร


จากการศึกษากรณีศึกษา คุณครูได้ร่วมกันแบ่งปันไอเดียจนได้ออกมาเป็นแนวทางเบื้องต้นในการรับมือการคุกคามทางเพศในรั้วโรงเรียน ดังนี้


  • มาตรการการจัดการทั้ง 2 ทาง คือ ทางผู้กระทำและถูกกระทำ ผ่านการเยียวยาผู้ถูกกระทำ และชี้แจงบทลงโทษที่ชัดเจนของผู้กระทำ รวมถึงทุกคนในโรงเรียนรับรู้ถึงบทลงโทษ ป้องกันการเกิดพฤติกรรมการลอกเลียนแบบ


  • จัดการอบรมสร้างความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการคุกคามทางเพศให้กับบุคลากรและนักเรียน โดยผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงคาบ Homeroom ให้ความรู้กับเด็กๆ


  • สร้างมาตรการป้องกันไว้ก่อน เช่น มีมาตรการเดินตรวจรอบบริเวณ รร ป้องกันในเชิงสภาพแวดล้อมความปลอดภัย เด็กกลับหมดหรือยัง ?


  • จัดนิทรรศการละเมิดเพศคืออะไร ให้ความรู้แก่นักเรียน ผ่านภาพ เช่น ภาพเด็กเปิดกระโปรง หรือคำพูดที่สื่อถึงการคุกคามทางเพศ




การออกแบบการจัดการเรียนการสอนและ/หรือการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเรื่อง sexaul harassment


วัตถุประสงค์ 1. เข้าใจการคุกคามทางเพศ 2. แยกแยะพฤติกรรมที่เหมาะสมและไม่เหมาะสมได้


กระบวนการสอน


1.สร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับเด็กๆ เริ่มจากเรื่องของสิทธิขั้นพื้นฐานในการปกป้องตนเอง


2.เชื่อมโยงไปยังเรื่องการคุกคามทางเพศ ยกตัวอย่างให้เด็กๆ ได้เห็นถึงคำพูด หรือพฤติกรรม และชวนคิดว่าพฤติกรรมหรือคำพูดเหล่านี้ เหมาะสมหรือไม่ เพราะอะไร ผ่านมุมมองของเด็กๆ เอง คุณครูจะคอมเสริมความเข้าใจให้เป็นระยะๆ


ตัวอย่างพฤติกรรม เช่น เล่นเปิดกระโปรง, จับหน้าอกเพื่อน, วิ่งไล่จับอวัยวะเพศ, โอบไหล่ เป็นต้น

ตัวอย่างคำพูด เช่น "อยากพาเธอไปซอย", "เจ็บคอแบบนี้ อยากกินอะไรอุ่นๆ มั้ย", "ห้องยังว่างนะ" เป็นต้น


3.ทดสอบ คุณครูมีตัวอย่างคำและพฤติกรรม ถ้าฉัน...(พูด/การกระทำ).... เธอรู้สึก ....... ? ที่ไม่ระบุว่าเป็นการคุกคามทางเพศหรือไม่ ให้เด็กๆ ได้ลองวิเคราะห์และอภิปรายร่วมกันว่าคำหรือพฤติกรรมเหล่านั้น ที่ครูได้หยิบขึ้นมาเป็นการคุกคามหรือไม่ พร้อมเหตุผล ในกรณีนี้ครูอาจแบ่งห้องเรียนเป็นฝั่งแยกออกเป็นเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย พร้อมขีดเส้นสเกลจาก 0 - 100 เพื่อให้นักเรียนได้มีตัวเลือกในการตัดสินใจในความคิดเห็นของตนเอง ต่อกิจกรรมดังกล่าว


4.แชร์ ในสิ่งที่ตัวเองเคยเป็นผู้กระทำ เปิดพื้นที่ให้เด็กๆ ได้ระบายในสิ่งที่ผิดพลาด หรือขอโทษในการกระทำดังกล่าวของตนอง ผ่านการแปะโพสอิทบนกระดาน (ช่วงนี้คุณครูต้องวิเคราะห์ตัวผู้เรียนให้ดี เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัย เพราะเรื่องราวเหล่านี้ค่อนข้างเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนต่อความรู้สึก)


5.สรุปการเรียนรู้ร่วมกัน ถึงความเข้าใจ ควมตระหนัก และการรับมือการคุกคามทางเพศ


รูปภาพจาก wonder.media


เรื่องเพศเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ไม่ควรถูกมองข้าม การสร้างความเข้าใจ และความตระหนักเป็นเครื่องมือสำคัญที่สามรถลดปัญหาและสร้างแนวทางการรับมือกับการคุกคามทางเพศได้






เครดิตไอเดียการสอน : ครูมด ครูมี่ ครูมิน ครูสถาพร ครูสุภาวดี


เขียนและเรียบเรียง โดย สัณห์สิรี จงภู่ (ซอ)

แท็กที่เกี่ยวข้อง

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(0)
เก็บไว้อ่าน
(3)