ภาพยนตร์จะช่วยให้นักเรียนได้เรียนรู้ทุกเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ในหลาย ๆ แง่มุม เช่น ดาราศาสตร์ ชีววิทยา เคมี ธรณีวิทยา และฟิสิกส์ เป็นต้น โดยเฉพาะหากครูออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอนที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้เลือกภาพยนตร์เรื่องที่ตนเองชื่นชอบและสนใจ ในวันนั้นชั้นเรียนของเราก็จะเต็มไปด้วยความสนุกสนาน ซึ่งจะทำให้นักเรียนชื่นชอบในการเรียนวิทยาศาสตร์มากยิ่งขึ้น
เมื่อพูดถึงวิชาวิทยาศาสตร์นักเรียนหลาย ๆ คนอาจะชื่นชอบ ในขณะที่อีกหลาย ๆ คนอาจจะไม่ชื่นชอบในการเรียน ด้วยปัจจัยหลาย ๆ อย่าง หากคุณครูต้องการทำให้นักเรียนหันมาสนใจและมีความสุขกับการเรียนวิทยาศาสตร์ที่ไม่เหมือนกำลังนั่งเรียน แต่ให้ความรู้สึกเหมือนกำลังดูภาพยนตร์ที่ตนเองชื่นชอบสักเรื่องหนึ่ง การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนโดยใช้ภาพยนตร์เป็นสื่อกลางในการเรียนรู้ นับเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยคุณครูได้ ยิ่งในช่วงนี้นักเรียนหลายโรงเรียนต้องเรียนออนไลน์ รูปแบบกิจกรรม สื่อ ใบงานก็ต้องเปลี่ยนไปให้สอดคล้องกับสถานการณ์
ตัวอย่างกิจกรรมที่มาแลกเปลี่ยนกับคุณครูทุกท่านในวันนี้ เป็นกิจกรรมการเรียนการสอนในรายวิชาโลก ดาราศาสตร์และอวกาศ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หน่วยการเรียนรู้โลกในเอกภพ ประกอบด้วยเรื่อง เอกภพ ดาวฤกษ์ ระบบสุริยะ และเทคโนโลยีอวกาศ
แนวทางการจัดกิจกรรมการเรียนรู้
เตรียมการสอน
1) เลือกภาพยนตร์ เพื่อวิเคราะห์ความสอดคล้องกับสาระสำคัญและตัวชี้วัด ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษา ฯ
2) วิเคราะห์เนื้อหาทางวิทยาศาสตร์ที่นำเสนอในฉากต่าง ๆ ของภาพยนตร์
3) ออกแบบกิจกรรมให้ครอบคลุมเนื้อหาความรู้หลาย ๆ หัวข้อ โดยมุ่งเน้นไปที่วิธีการนำเสนอความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เพื่อกระตุ้นกระบวนการคิดของนักเรียน
ดำเนินการสอน
ขั้นนำ/สร้างความสนใจ/กระตุ้นคิด
1) นำเข้าสู่บทเรียนและเชื่อมโยงเข้าสู่เนื้อหาด้วยการเปิดภาพตัวอย่างของภาพยนตร์เรื่องนั้น ๆ ..โดยในคาบเรียนนี้ ครูได้เลือกภาพยนตร์เรื่อง The Matian ซึ่งเป็นเรื่องราวของนักบินอวกาศคนหนึ่งที่ติดอยู่บนดาวอังคาร พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อติดต่อกับคนบนโลกและใช้ชีวิตให้อยู่รอดบนดาวดวงนี้
ในขั้นนี้คุณครูสามารถใช้คำถามกับนักเรียน ชวนพูดคุยเพื่อสอบถามความรู้พื้นฐานเดิมของนักเรียน ตลอดจนการใช้คำถามกระตุ้นความคิดของนักเรียน นำไปสู่การพูดคุยเกี่ยวกับความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น
· ดาวอังคารมีลักษณะทางกายภาพอย่างไร
· มนุษย์เราสามารถอาศัยบนดาวดวงนั้นได้หรือไม่
· พระเอกในเรื่องเขาใช้วิธีใดในการสื่อสารกับคนบนโลก
· ทำไมเขาถึงสามารถปลูกมันฝรั่งได้ทั้ง ๆ ที่ไม่มีน้ำ
· เขาเอาน้ำมาจากไหน
คำถามเหล่านี้ ล้วนเป็นคำถามปลายเปิด ที่ไปกระตุ้นให้นักเรียนให้ใช้ความคิด และพยายามหาคำอธิบายด้วยการใช้ความรู้และหลักฐานทางวิทยาศาสตร์สนันสนุน
2) จากคำถามข้างต้น ครูให้ระยะเวลานักเรียนในการสืบค้นข้อมูล เพื่อตอบคำถามและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน
3) นักเรียนร่วมกันถอดความรู้ที่ได้จากภาพยนตร์ เพื่อลงข้อสรุปของบทเรียนและสร้างองค์ความรู้ในวันนี้
ขั้นกิจกรรม
ให้นักเรียนเลือกภาพยนตร์ที่ตนเองชื่นชอบหรือสนใจมาคนะ 1 เรื่อง วิเคราะห์เนื้อหาทางวิทยาศาสตร์และสาขาอื่น ๆ ที่นำเสนอในฉากต่าง ๆ ของภาพยนตร์ ถอดบทเรียนเนื้อหาความรู้ที่ได้ นำเสนอในรูปแบบที่นักเรียนถนัด ให้อิสระและระยะเวลาในการทำงาน
ขั้นสรุป
นักเรียนแต่ละคนนำเสนอผลงานของตนเองผ่านระบบออนไลน์ Google Meet เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนกับเพื่อน ๆ ในห้อง มีการให้ feedback ซึ่งกันและกันระหว่างครูกับนักเรียน ตลอดจนให้เพื่อน ๆร่วมกันการประเมินและโหวตผลงานที่ประทับใจ
ขั้นเชื่อมโยงความรู้
ภาพยนตร์มีเค้าโครงบางส่วนมาจากเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์จริง แต่บางเรื่องก็มีการเสริมแต่งขึ้นมาเพื่อความบันเทิง จากภาพยนตร์ตัวอย่างที่เพื่อน ๆ นำมาวิเคราะห์ นักเรียนคิดว่ามีเรื่องใดบ้างที่เป็นข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ และข้อเท็จจริงนั้นคือเรื่องราวเกี่ยวกับอะไร
ผลที่เกิดขึ้นจากการจัดกิจกรรม
ครูผู้สอน :
1. ภาพยนตร์สามารถเป็นแหล่งการเรียนรู้ที่ดีได้ การออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอนด้วยวิธีการดังกล่าว จะทำให้เส้นทางการเรียนรู้มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น ปัญหาการควบคุมชั้นเรียนก็หมดไป เพราะนักเรียนทุกคนโฟกัสหรือจดจ่อที่การเรียน
2. ปัญหานักเรียนเบื่อหน่าย ไม่ชอบวิทยาศาสตร์ สอนไม่ทันตามเนื้อหาเหล่านั้นก็จะบรรเทาลง จนวันหนึ่งห้องเรียนวิทยาศาสตร์ของเราจะกลายเป็นห้องเรียนที่มีแต่ความสนุกสนาน ได้สาระความรู้แบบที่ไม่ต้องบรรยาย เพราะนักเรียนได้กลายเป็นผู้นำแห่งการเรียนรู้ไปแล้ว
3. กิจกรรมดังกล่าวครูสามารถใช้เป็นส่วนหนึ่งของการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ได้ โดยไม่ต้องมีการทดสอบด้วยแบบสอบใด ๆ เน้นที่พัฒนาการและการเรียนรู้ของนักเรียน ผ่านการสื่อสารสิ่งที่เขาได้เรียนรู้ด้วยชิ้นงานในรูปแบบที่เขาถนัด
นักเรียน :
1. นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์มากขึ้น เห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์เพราะเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน
2. ช่วยพัฒนากระบวนการคิดวิเคราะห์ คิดเชื่อมโยงบูรณาการความรู้และการสื่อสารทางวิทยาศาสตร์ (Science Communication) ของนักเรียน
3. ช่วยพัฒนาให้นักเรียนเป็นคนมีเหตุมีผล ทุกเรื่องราวสามารถหาคำอธิบายได้ และชื่นชอบการเรียนวิทยาศาสตร์มากยิ่งขึ้น
4. เกิดความภาคภูมิใจในตนเอง จากการสร้างสรรค์ชิ้นงาน
5. นอกจากจะได้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์แล้ว นักเรียนยังได้ความรู้ในสาขาวิชาอื่น ๆ เพิ่มเติมมาอีกด้วย เช่น ความรู้ทางด้านเทคโนโลยี คณิตศาสตร์ ภาษา เป็นต้น
ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม :
สำหรับหลาย ๆ คนแล้ว ภาพยนตร์เป็นหนึ่งในความสุขที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของชีวิต หลายคนใช้เวลาไปกับการดูภาพยนตร์เพื่อผ่อนคลายความเครียด อาจใช้เวลา 2 – 3 ชั่วโมง สร้างรอยยิ้ม เสียงหัวเราะหรือคราบน้ำตาได้ ภาพยนตร์ไม่เพียงแต่ผ่อนคลายความเครียดหรือถ่ายทอดเนื้อหา สาระความรู้เท่านั้น ยังสามารถสื่ออารมณ์ ความรู้สึก เจตคติ การกระทำ วัฒนธรรม ภาษา ฯลฯ อีกด้วย นั่นหมายความว่า เราสามารถนำภาพยนตร์มาเป็นเครื่องมือหรือสื่อการเรียนได้ครอบคลุมทุกวิชา
ตัวอย่างผลงานนักเรียน
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย
ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!