icon
giftClose
profile

ปกป้องนักเรียนจากการ Body Shaming

29861
ภาพประกอบไอเดีย ปกป้องนักเรียนจากการ Body Shaming

เพราะ Body Shaming (การวิจารณ์รูปร่าง) ทำร้ายจิตใจและสร้างบาดแผลให้กับผู้ที่ถูกกระทำมากกว่าที่คิด หลากหลายไอเดียในการสร้างการเรียนรู้ให้กับนักเรียนและแนวทางในการทำงานกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การวิจารณ์รูปร่าง (Body Shaming) จบลงที่รุ่นของเรา

อ้วน , หน้าสิว , ผอม , ดำ , ขาเบียด และอีกหลากหลายคำทักทาย คำล้อเล่น ที่ดูเหมือนจะไม่มีอะไร แต่แท้จริงแล้วคำเหล่านี้ที่เป็นการทักทายในเรื่องของรูปร่างและร่างกายสามารถก่อให้เกิดความไม่สบายใจ ไปจนถึงการสร้างบาดแผลทางจิตใจให้กับคนที่ฟัง



My Body , My Choice

เพราะร่างกายของเรา คือสิทธิของเรา

(และร่างกายของคนอื่น ก็เป็นเรื่องของพวกเขาเช่นเดียวกัน)





ไอเดียและแนวทางต่อไปนี้ เป็นการออกแบบร่วมกันของผู้เข้าร่วมในกิจกรรม Online Workshop "Teacher Against Cyberbully"

การอบรมออนไลน์เรื่องการสร้างการเรียนรู้เรื่อง Body Shaming (การวิจารณ์รูปร่าง)

โดยพี่เจี๊ยบ (มัจฉา พรอินทร์) นักเคลื่อนไหวปกป้องมนุษยชนและสิทธิความหลากหลายทางเพศ


ซึ่งไอเดียและแนวทางที่กลุ่มออกแบบนั้น คิดและพัฒนาจากกรณีศึกษา

ที่มีนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษากระโดดตึกเพื่อฆ่าตัวตาย เนื่องจากนักเรียนมีภาวะซึมเศร้า สาเหตุคาดว่าเกิดจากการโดนล้อเลียนเป็นประจำ

โดยเฉพาะถูกล้อว่า "อ้วน"


แนวทางสำหรับคุณครูในการสอนและการดำเนินการเพื่อป้องกัน Body Shaming (การวิจารณ์รูปร่าง) ให้กับนักเรียน

  • สร้างความตระหนักรู้ในเรื่องของ Body Shaming & สิทธิของร่างกาย ผ่านกิจกรรมและแคมเปญการสื่อสารต่าง ๆในรร.
  • จัดตั้งกลุ่มเพื่อรับฟังปัญหา (โดยเป็นกลุ่มรับฟังแบบ Deep & Active Listening หรือการฟังอย่างไม่ตัดสิน) 
  • การปลูกฝังให้เกิดการยอมรับและความแตกต่างแต่ละบุคคล
  • ตัวอย่างกิจกรรมการเรียนรู้ในชั้นเรียน "กิจกรรมสำรวจความรู้สึกเมื่อเราต่างถูกล้อเลียน จะรู้สึกอย่างไร" โดยมีวิธีการดังนี้


  1. แจกแฟรชการ์ด / post - it ให้นร.แต่ละคนเขียนคำพูดที่เมื่อได้ยินแล้วรู้สึกสะเทือนใจ
  2. นำคำพูดที่นร.ทุกคนเขียนมารวมกัน
  3. ให้นร.แต่ละคนสุ่มหยิบการ์ด แล้วสะท้อนว่าถ้านร.เจอคำแบบนี้กับตัวเองจะรู้สึกอย่างไร และคิดว่าเพื่อนจะรู้สึกอย่างไร
  4. แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและร่วมกันพูดคุยต่อว่า ถ้าเพื่อเจอสถานการณ์แบบนี้ เราจะให้กำลังใจเพื่อนอย่างไรได้บ้าง


  • พัฒนาการเยี่ยมบ้าน เพื่อทำให้ได้รู้สถานการณ์ของนักเรียน พร้อมทั้งมีการพูดคุยบนพื้นที่ของความรู้สึกปลอดภัย
  • ครูเป็นศูนย์กลางในการสื่อสารระหว่างนร.และผู้ปกครอง
  • รวบรวมและประชาสัมพันธ์ให้เห็นช่องทางหรือหน่วยงานที่นักเรียนสามารถขอรับคำปรึกษาได้ (ทั้งแบบระบุและไม่ระบุตัวตน)
  • เปลี่ยนชั่วโมง Homeroom ให้มีความหมาย โดยให้ครูประจำชั้นจัดกิจกรรมในชั่วโมง Homeroom (ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่นร.ในที่ปรึกษาจะได้อยู่กับครูที่ปรึกษา) ให้มีเนื้อหาที่ครอบคลุมเรื่องของ Body Shaming



แนวทางในเชิงโครงสร้างและนโยบาย

  • เริ่มต้นจากการที่ผู้บริหารให้ความสำคัญและผลักดันนโยบายในการดำเนินงานต่าง ๆ ภายในสถานศึกษา
  • เริ่มสร้างความตระหนักรู้และสร้างการเรียนรู้ให้กับบุคลากรทุกคนในโรงเรียน ผ่านการเข้าร่วมอบรมหรือเข้าร่วมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องเพื่อทำให้เกิดความเข้าใจและมีเครื่องมือหรือแนวทางในการทำงานเรื่อง Body Shaming
  • ผนวกเรื่องของ Body Shaming เข้าไปในวิชาครูแต่ละท่านสอน
  • มีการทำงานอย่างเป็นระบบและสร้างเป็นศูนย์การทำงาน (Center) ที่ดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ พร้อมทั้งสนับสนุนการทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง (เช่น นักจิตวิทยาในรร.) โดยทำงานทั้งเชิงรุก และเชิงรับ มีการรับฟัง คัดกรอง และทำช่องทางที่ทำให้ทุกคนในรร.สามารถปรึกษาในเรื่องนี้ได้



จะเห็นได้ว่า เรื่องของ Body Shaming (การวิจารณ์รูปร่าง) เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและส่งผลต่อความรู้สึกของผู้ฟัง ซึ่งการจะแก้ไขปัญหานี้ได้ต้องเป็นไปในทั้งในระดับบุคคลและในระดับนโยบาย


หากวันนี้คุณครูอยากเริ่มต้นปกป้องเด็ก ๆ จากสิ่งเหล่านี้ สามารถเริ่มได้จากการเติมองค์ความรู้ให้กับตนเอง ผนวกประเด็นนี้ไปกับวิชาที่คุณครูสอนหรือในคาบโฮมรูม หรืออาจจะสังเกต พูดคุยกับนักเรียน และรับฟังเรื่องราวความไม่สบายใจของเด็ก ๆ อย่างตั้งใจ ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นในการปกป้องและดูแลเด็กๆได้แล้วค่ะ


ผู้ร่วมออกแบบไอเดีย : ครูพุทธามาศ , ครูแตงโม , ครูช่อ , ครูมิ้ว , ครูเดียร์ , ครูเติบโต

ผู้เขียนและกระบวนกร : แนน

แท็กที่เกี่ยวข้อง

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(2)
เก็บไว้อ่าน
(2)