icon
giftClose
profile

(ไอเดีย) แจ่ม (สำหรับ) แจ้ง (คะแนนสอบ)

1240812
ภาพประกอบไอเดีย (ไอเดีย) แจ่ม (สำหรับ) แจ้ง (คะแนนสอบ)

ชวนคุณครูมารักษา Privacy ของนักเรียนช่วงหลังสอบ ด้วยวิธีการแจ้งผลคะแนนสอบแบบไพรเวทและมีความหมาย ไม่มีใครต้องอายและช่วยให้นักเรียนรู้จุดที่ต้องพัฒนาตนเอง

ช่วงสอบออนไลน์แบบนี้ ครูหลาย ๆ คนคงหัวหมุนอยู่กับการคุมสอบออนไลน์กันใช่ไหมครับ แต่ช่วงเวลาหลังจากคุมสอบนี่แหละก็เป็นช่วงเวลาสำคัญอีกช่วงหนึ่ง “การแจ้งคะแนนสอบ”


ในอดีตที่ผ่านมาจากทั้งประสบการณ์ตอนเป็นนักเรียนและประสบการณ์ตอนเป็นครูเราจะพบว่า ช่วงเวลาที่แสนตื่นเต้นอีกช่วงหนึ่งของการเป็นนักเรียนคือ การลุ้นคะแนนสอบ


ช่วงเวลาที่ครูประกาศคะแนนหน้าห้องมีทั้งคนที่ลุ้นคะแนนเต็ม ลุ้นคะแนนผ่าน บางคนก็ลุ้นคะแนนที่มากกว่า 0 หลากหลายต่างกันไป ดูเหมือนช่วงเวลาเหล่านี้อาจจะสนุกสนานด้วยเสียงหัวเราะ เฮฮา


แต่เราอาจหลงลืมว่ามีใครบางคนที่แสนจะทรมานกับช่วงเวลานี้ คนที่คะแนนไม่ได้ดีดั่งใจหวัง คนที่ได้คะแนนน้อย คนที่ถูกเปรียบเทียบ บางคนถูกเย้ยหยัน เพราะการแจ้งคะแนนแบบประกาศหน้าห้อง ติดคะแนนหน้าห้อง หรือส่งใบรายชื่อที่มีคะแนนของทุกคนลงในกลุ่มไลน์


เมื่อถึงเวลาที่ตัวเองมาเป็นครูจึงไม่อยากปล่อยให้ช่วงเวลานี้ไปทำร้ายหัวใจใครอีก เพราะเราตระหนักว่าห้องเรียนมีความหลากหลายทั้งความชอบ จุดมุ่งหมาย สไตล์การเรียนรู้ ความสามารถทางวิชาการที่ต่างกัน หัวใจของเด็กแต่ละคนจึงแบกรับความรู้สึกได้ต่างกัน


และหากพูดกันตามหลักสิทธิเสรีภาพและความเป็นส่วนตัวแล้ว ชื่อ-นามสกุลจริง , วันเกิด , อายุ , ที่อยู่ , เบอร์โทรศัพท์ หรือ สิ่งที่แสดงรายละเอียดเกี่ยวกับตัวนักเรียนนั้น ถือเป็นข้อมูลส่วนตัวที่ไม่ควรถูกเปิดเผยด้วย


เลยมานั่งคิดว่า ทำยังไง เราจะแจ้งคะแนนให้นักเรียนได้รู้โดยที่ไม่ต้องประกาศหน้าห้อง หรือติดหน้าห้อง ยิ่งโดยเฉพาะยุคโควิดที่ไม่สามารถยืนประกาศ/ติดคะแนนหน้าห้องได้

 

(ไอเดีย) แจ่ม (สำหรับ) แจ้ง (คะแนนสอบ)

วันนี้ขอมาแชร์วิธีการแจ้งคะแนนให้กับนักเรียนแบบแจ่ม ๆ แถมยังช่วยรักษาสิทธิ ความเป็นส่วนตัวของ และไม่สร้างบาดแผลในใจนักเรียนนะครับ

โดยผมขอแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ 1.วิธีการ/ช่องทาง กับ 2.รายละเอียดที่แจ้ง นะครับ

1.วิธีการ/ช่องทาง

มีได้หลากหลายรูปแบบครับ ได้แก่ เริ่มตั้งแต่ระดับง่าย ๆ ไม่ต้องใช้เทคโนโลยีมาก

  • วิธีที่ 1  การปริ้นท์คะแนนแจก (ถ้าเปิด On Site ได้แล้ว) ครูอาจจะปริ้นท์คะแนนและข้อเสนอแนะ แจกนักเรียนรายบุคคล ใส่กระดาษแล้วตัด พับ แล้วเดินแจกให้ไม่นักเรียนคนอื่น ๆ ในห้องเห็นคะแนนครับ


  • วิธีที่ 2   การให้นักเรียนทัก LINE มาถามส่วนตัว วิธีนี้เหมาะกับโรงเรียน/วิชาที่มีนักเรียนน้อย แต่จะสร้างความวุ่นวายให้แชทของครูนิดนึงครับ


  • วิธีที่ 3   การส่งอีเมลไปหานักเรียน เหมาะกับในช่วงโควิดที่ On Line แบบนี้ครับ กรณีที่โรงเรียนมีอีเมลของนักเรียนอยู่แล้วจะสะดวกมาครับ สามารถใส่ได้ทั้งคะแนนและข้อเสนอแนะรายบุคคล แต่หากนักเรียนหลายคนอาจจะงานเยอะขึ้น แต่มีตัวช่วยครับ ต้องใช้เทคโนโลยีช่วยอีกนิดนึง (อ่านในข้อต่อไป)


ถ้าอาศัยเทคโนโลยีนิดหน่อยก็

  • วิธีที่ 4   การส่งอีเมลไปหานักเรียน โดยจากฐานข้อมูลที่เราใส่ใน Google Sheet วิธีนี้เหมาะกับโรงเรียน/วิชาที่นักเรียนจำนวนมาก หลัก 100-1,000 ขึ้นไป ครูคงไม่สามารถนั่งตอบ หรือส่งอีเมลได้ทีละคน วิธีนี้ให้นำข้อมูลคะแนนและข้อเสนอแนะใส่ลงใน Google Sheet แล้วเขียนโค้ดนิดหน่อย เพื่อให้อีเมลส่งไปหานักเรียน วิธีนี้ได้แรงบันดาลใจจากคลิปคุณ Greecha Katpratoom ใน Youtube ไปดูวิธีกันได้ครับ www.youtube.com/watch?v=mUrDhz5JaEA


  • วิธีที่ 5   ใช้ Google Form กดประกาศคะแนนภายหลังทางอีเมลของนักเรียน ถ้าครูคนไหนเคยใช้ Google Form ในการสร้างข้อสอบอยู่แล้ว อย่าลืมตั้งค่าให้ประกาศคะแนนภายหลังนะครับ นักเรียนจะรู้คะแนนพร้อมกัน (ถ้าไม่ตั้งค่า บางคนเสร็จก่อนรู้คะแนนก่อน) โดยคะแนนจะส่งไปในอีเมล์ที่นักเรียนใช้ทำข้อสอบ
  • วิธีการก็ตั้งค่าให้เป็นแบบทดสอบปกติได้เลยครับแต่ให้เพิ่มนิดหน่อยคือ เข้าไปที่ การตั้งค่า > แบบทดสอบ (ดูที่หัวข้อ ประกาศคะแนน ) > กดเลือก “ภายหลัง หลังจากตรวจสอบด้วยตนเอง” ซึ่งฟอร์มจะเปิดการรวบรวมอีเมล นักเรียนจะต้องกรอกอีเมลที่จะส่งคะแนนไปให้ครับ
  • อีกนิดครับ ควรตั้งค่า หัวข้อ ผู้ตอบสามารถดู ให้เลือกเป็น “ค่าคะแนน”เพียงช่องเดียว ไม่ให้ดู X คำตอบที่ถูก Xคำตอบที่ผิด ป้องกันการส่งต่อคำตอบครับ
  • จากนั้นก็ปล่อย Google Form เมื่อนักเรียนทำครบทุกคนแล้ว ครูจะประกาศคะแนนให้เข้าไปที่ การตอบกลับ > แยกรายการ > ประกาศคะแนน ครับ
  • ตัวอย่างนะครับ
  • จากนั้นก็ปล่อย Google Form เมื่อนักเรียนทำครบทุกคนแล้ว ครูจะประกาศคะแนนให้เข้าไปที่ การตอบกลับ > แยกรายการ > ประกาศคะแนน ครับ

อีกวิธีอาจจะยุ่งยากและอาศัยทักษะทางเทคโนโลยีของครูหน่อยนึงนะครับ แต่จะไม่วุ่นวายและสามารถแจ้งข้อมูลที่เฉพาะเจาะจงรายคนได้

  • วิธีที่ 6   ใช้ LINE Bot ร่วมกับ Dialogflow ใช้ Google Sheet เป็นฐานข้อมูล นักเรียนแอด Line Bot แล้วใส่รหัส (รหัสนักเรียนหรือรหัสที่ครูให้) Bot ก็จะส่งข้อความบอกคะแนนและข้อเสนอแนะของนักเรียนให้เราอัตโนมัติ ไม่วุ่นวายช่องแชทครับ โดยผมก็ดัดแปลงมาจากคลิปของครูอภิวัฒน์ วงศ์กัณหา สามารถดูคลิปต้นทางได้ครับ www.youtube.com/watch?v=XESwlT1STI0
  • มีตัวอย่างที่ทำในเทอมที่แล้วให้ดูนะครับ





2.รายละเอียดที่แจ้ง

อาจจะแจ้งรายละเอียดของคะแนนได้หลายแบบครับ

  • แบบที่ 1 ครูอาจจะแจ้งคะแนนตามที่ได้เฉย ๆ เลยก็ได้ครับ
  • แบบที่ 2 ครูแจ้งคะแนน แยกตามพาร์ท ตอนที่ 1 ตอนที่ 2 ปรนัย อัตนัย
  • แบบที่ 3 ครูแจ้งคะแนน แยกตามพาร์ท แล้วเพิ่มข้อเสนอแนะ ในการพัฒนาตัวเองของนักเรียนลงไปด้วย
  • ซึ่งการให้ข้อเสนอแนะก็มีหลายแบบครับ จะให้กำลังใจโดยรวม จากผลคะแนนที่มาก ปานกลาง น้อยเฉยๆ หรือ
  • แบบละเอียดตามเรื่อง ว่าเด็กยังพลาดเรื่องไหน ซึ่งแบบนี้อาจจะต้องอาศัยการออกแบบ แบบทดสอบหน่อยว่า ข้อที่ 1-5 เป็นเรื่อง XXX ข้อที่ 6-10 เป็นเรื่อง YYY ข้อที่ 11-15 เป็นเรื่อง ZZZ ครูจะเหนื่อยหน่อยครับ

 


ผลตอบรับ

ในเรื่องผลตอบรับจากนักเรียนค่อนข้างดีครับ นักเรียนส่วนใหญ่มีความสุข หลายคนสะท้อนว่า

“หนูชอบมากค่ะ ไม่มีใครต้องมารู้คะแนนหนู”

“เคยอาย และกลัวทุกครั้งที่ครูจะบอกคะแนน ต่อไปไม่ต้องกลัวแล้วค่ะ”

“อยากให้วิชาอื่นๆ ทำแบบนี้บ้าง”

“รู้สึกปลอดภัย สบายใจค่ะ รู้คนเดียว ไม่ต้องอายเพื่อน”

แต่ก็ยังมีปัญหาบางคนแอบดูคะแนนของเพื่อนบ้าง จากการเสิร์ชเลขประจำตัวของเพื่อน ซึ่งปีนี้อาจจะต้องปรับปรุงให้มีความรัดกุมมากขึ้นเรื่อย ๆ ลดโอกาสในการแอบเปิดคะแนนของเพื่อนให้ได้ บางครั้งนักเรียนอาจจะยังเคยชินกับวัฒนธรรมที่ละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวแบบเก่า ๆ ครูจึงต้องสร้างระบบที่ป้องกันการละเมิดให้ได้ใกล้ 100% มากที่สุด

 


อยากให้คุณครูคิดเสมอว่าข้อมูลของนักเรียนเป็นข้อมูลส่วนบุคคล อยากให้ครูช่วยกันพยายามช่วยสร้างห้องเรียนที่เป็นประชาธิปไตยจากห้องเรียนเล็ก ๆ ของเรา โดยฝึกให้นักเรียนและตัวครูเคารพในสิทธิ ความเป็นส่วนตัวของตัวเอง ของเพื่อนและคนอื่น ๆ ซึ่งตรงนี้แหละเป็นหนึ่งในหลักการที่สำคัญอันหนึ่งสังคมประชาธิปไตย ในฐานะครูสังคมศึกษา จึงอยากให้เรามาเริ่มให้ความสำคัญจากเรื่องเล็ก ๆ แต่สำคัญมาก ๆแบบนี้กันครับ


หากใครมีวิธีอื่นมาช่วยกันแชร์ได้นะครับ ^^

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(7)
เก็บไว้อ่าน
(9)