หลังจากเรียนหลักการเกี่ยวกับมาตราตัวสะกดไปแล้ว
จะทำอย่างไรดีล่ะเพื่อให้ความรู้นั้นคงทน...
ถ้าจะเน้นไปที่การทำแบบฝึดหัดในใบงาน
ก็กลัวเหลือเกินว่านักเรียนจะพาลเบื่อเอาง่ายๆ
ถ้าอย่างนั้นมาลองเอา “เกมโดมิโน” ที่คุ้นเคย
มาช่วยในการทบทวนและยังเป็นแบบฝึกหัดไปในตัวมาใช้กับนักเรียนดูสิ!
วันนี้ผมเลยหยิบเอานวัตกรรมที่ไม่ได้ใหม่อะไรมากมาย
เรียกได้ว่าถ้าพูดชื่อ “โดมิโน” ขึ้นมาเป็นต้องร้องอ๋อกันหมด
จะด้วยวิธีการเล่นที่ง่ายแสนง่าย แค่เรียงต่อกันไปเรื่อยๆจนกว่าจะหมด
หรือชื่อที่คุ้นหูเพราะมีการถูกหยิบไปใช้ในเรื่องต่างๆมากมายก็แล้วแต่
ความสนุกของเกมโดมิโนก็คือการที่ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการเล่น
จะอาศัยดวงในการเล่นก็ถูกครึ่งหนึ่ง แต่การวางแผนผ่านสมองช่างสังเกต
ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้เล่นเอาชนะได้นั่นล่ะเป็นสิ่งสำคัญ
ทริคของการเล่นเกมโดมิโนที่เราคุ้นเคยถูกนำมาปรับให้มันสนุกขึ้นด้วยกลไกที่เพิ่มความสนุก และให้ผู้เรียนได้รับความรู้เกี่ยวกับเรื่องมาตราตัวสะกดอย่างเต็มที่ โดยที่ความรู้นั้นติดทนติดนาน ได้ทั้งความสนุกแถมโปรโมชั่นความรู้แบบนี้ ไม่ว่าชั้นเรียนไหนๆก็ต้องชอบ!
อุปกรณ์
1. พื้นที่โล่งๆสำหรับการเล่นเกมโดมิโน ครูอาจจัดการเคลียร์โต๊ะเพื่อให้มีพื้นที่โล่งสำหรับการเล่นและได้ใกล้ชิดกับผู้เรียน หรืออาจนำโต๊ะมาต่อกันเพื่อให้ได้กระดานสำหรับเล่นเกม
2. ชุดกิจกรรม “โดมิโนพิฆาต! : มาตราตัวสะกด” ประกอบไปด้วย โดมิโนคำศัพท์ ซึ่งโดมิโนคำศัพท์จะเป็นโดมิโนที่มีสองช่อง แต่ละช่องมีคำศัพท์หรือฟังก์ชั่นพิเศษสำหรับการเล่น ซึ่งในที่นี้ได้ปรับให้มีช่องพิเศษ 2 รูปแบบ คือ
2.1 ช่อง “Free” สำหรับวางต่อคำใดก็ได้
2.2 ช่อง “แม่ตัวสะกด” ช่องที่กำหนดให้วางได้เฉพาะคำจากแม่นั้นๆเท่านั้น จะมาวางช่อง Free (ต่อ)เหมือนกันไม่ได้!
การจัดการเรียนรู้
หลังจากทบทวนความรู้เรื่อง “มาตราตัวสะกด” เรียบร้อยแล้ว ครูชวนนักเรียนมาจัดแจงพื้นที่สำหรับการเล่นเกมโดมิโนกัน ในระหว่างนี้ครูอาจใช้การกระตุ้นผู้เรียนให้มี่ความตื่นเต้นพร้อมที่จะเล่นเกมโดมิโนกัน โดยอธิบายกติกาในการเล่นดังต่อไปนี้
กติกาในการเล่น
1. ครูจะแจกโดมิโนคำศัพท์ให้นักเรียนคนละ 5-6 อัน (อาจเพิ่ม-ลดตามจำนวนของผู้เรียน ทั้งนี้ควรกะเวลาให้ยักเรียนทุกคนได้มีส่วนร่วม) ส่วนที่เหลือวางไว้เป็นกองกลางสำหรับจั่วเพิ่ม ในกรณีที่เป็นเด็กเล็ก แนะนำให้คุณครูชวนเล่นทั้งห้องเรียน แต่หากเป็นเด็กโตอาจมีการแบ่งกลุ่มเพื่อให้นักเรียนได้ใช้เวลากับการเล่นอย่างเต็มที่ ส่วนครูทำหน้าที่เป็นผู้แนะนำ ดูแลช่วยเหลือ และตรวจสอบความถูกต้องให้นักเรียน
2. ครูเริ่มต้นโดมิโนคำศัพท์ตัวแรก ผ่านการสุ่มโดมิโนคำศัพท์ขึ้นมา 1 อัน พร้อมอธิบายว่าวิธีการเล่นคือ เราจะต้องต่อโดมิโนคำศัพท์ไปเรื่อยๆ โดยเวียนตามเข็มนาฬิกา ซึ่งโดมิโนที่วางลงไปนั้นจะต้องมีมาตราตัวสะกดเดียวกันกับโดมิโนช่องก่อนหน้า หากนักเรียนไม่มีโดมิโนที่จะวางในรอบนั้น ให้จั่วหยิบขึ้นมาจากกองกลาง 1 อัน วนไปเรื่อยๆ เกมจะสิ้นสุดเมื่อมีผู้เล่นจนโดมิโนหมด (หรือครูอาจปรับรูปแบบเกมให้ผู้เรียนได้วางโดมิโนจนครบ แล้วนับลำดับที่แทน)
3. ความสนุกของโดมิโนพิฆาต คือจะมี “ช่องพิเศษ” อยู่ 2 รูปแบบ เป็นกลไกที่ทำให้เกมโดมิโนสนุกขึ้น คือ
3.1 “ช่อง Free” คือช่องที่ใช้แทนมาตราตัวสะกดอะไรก็ได้ (ครูอาจให้นักเรียนยกตัวอย่างคำที่ใช้แทน เพื่อตรวจสอบความรู้นักเรียน)
3.2 ช่อง “แม่ตัวสะกด” คือช่องที่จะมีคำว่า “แม่...” ซึ่งกำหนดให้ผู้เรียนจะต้องนำคำในแม่นั้น ๆ มาต่อเท่านั้น จะไม่สามารถโดมิโนที่มีช่อง Free มาต่อได้
การนำไปใช้/การทดลองเล่นจากผู้ทดลอง
1. พบว่าการเพิ่มกลไกให้กับโดมิโนทำให้โดมิโนมาตราตัวสะกดมีความสนุกมากขึ้น ด้วยรูปแบบของเกมที่มีความสนุกสนานอยู่แล้ว ทำให้ผู้เล่นได้ทบทวนความรู้เรื่องมาตราตัวสะกดไปในตัว
2. ผู้เรียนมีความแม่นในเรื่องมาตราตัวสะกดมากขึ้น ผ่านการสอดแทรกความรู้เพิ่มเติมของครู เช่น เรื่องตัวสะกดที่ไม่ตรงตามมาตรา ผ่านการฝึกอ่านคำๆนั้น
3. นอกจากนำไปใช้ในการเล่นโดมิโนมาตราตัวสะกดแล้ว ครูอาจมีการนำไปใช้เป็นบัตรคำเพื่อให้นักเรียนได้ฝึกอ่านด้วย เช่น อาจมีการสุ่มให้นักเรียนทดลองอาจให้ฟัง พร้อมบอกว่าคำๆนั้นเป็นคำที่สะกดด้วยมาตราอะไร พร้อมกับให้ข้อเสนอแนะและข้อสังเกตสำหรับผู้เรียน
หวังว่า “โดมิพิฆาต! : มาตราตัวสะกด” จะเป็นอีกหนึ่งเกมที่ช่วยให้คุณครูได้มีไอเดียในการสอนวิชาภาษาไทยเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งช่องทางนะครับ สามารถดาวน์โหลดไฟล์ "โดมิโนพิฆาต! : มาตราตัวสะกด" เพื่อนำไปใช้จัดกิจกรรมการเรียนรู้ในห้องเรียนได้เลยนะครับ หากมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมหรือมีไอเดียเพิ่มเติมสามารถคอมเมนท์ไว้ได้เลยนะครับ ดีใจที่ได้แบ่งปันสื่อการสอนสนุกๆกับทุกคนนะครับ :)
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย
ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!