สวัสดีครับ ว่าด้วยรีวิวการสอนวิชาดาราศาสตร์ในเรื่องภัยพิบัติ วันนี้มาถึงบทสุดท้ายก่อนกลางภาค
กับกิจกรรมที่รวบทั้งบทไว้ในกิจกรรมเดียวเป็นกิจกรรมคล้ายภารกิจผ่านด่านที่ค่อนข้างยิ่งใหญ่ คือ ยกเอาสถานการณ์ปัจจุบันของบ้านเมืองมาจำลองในห้องเรียน ให้นักเรียนได้ใช้ทักษะถอดแบบเพื่อลองเป็นรัฐบาลและหน่วยงานที่จะแก้ไขภัยพิบัติที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศขณะนี้ครับ
.
อ้อ ลืมบอกชื่อกิจกรรมครับชื่อว่า
Survival เมื่อภัยมาแล้วเรากลายเป็นนาโย๊ก
.
กิจกรรมนี้ได้ไอเดียจากการรับมือวิกฤตโควิด19ในปัจจุบันของประเทศไทยและประเทศต่างๆทั่วโลก เราเห็นว่าหากเราจำลองสถานการณ์การแก้ไขและรับมือกับโรคระบาด โดยเปลี่ยนรูปแบบการระบาดของโรคเป็นภัยพิบัติที่อาจพบเจอตาม เช่น แผ่นดินไหว และซึนามิ ได้ก็จะทำให้นักเรียนเข้าใจบริบทในการเตรียมรับมือและเกิดทักษะการคิดวิเคราะห์การแก้ปัญหาทั้งในภาพรวมและย่อยๆ รวมถึงแก้ปัญหาหลายๆด้านได้จึงเป็นกิจกรรมนี้ขึ้นมาครับ
.
ขั้นแรก ดึงเข้าสู่กิจกรรม
ทบทวนความรู้เก่าเกี่ยวกับภัยพิบัติ แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด สึนามิ โดยให้นักเรียนเขียนอะไรก็ได้เกี่ยวกับ 3 เรื่องนี้ แชร์บอร์ด menti ตรงนี้จะเกิดการทบทวนและดึงเนื้อหาเก่าคร่าวๆจากนักรียนครับ
จากนั้นนำเข้าสู่ mission แรก โดยเริ่มพูดถึงสถานการณ์ที่ประเทศไทยกำลังเจอในปัจจุบัน และชวนคุยถึงวิธีรับมือของไทยต่อวิกฤต ว่ามีจุดไหนที่ทำได้ดีและไม่ดี เหตุการณ์มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร
ส่งนักเรียนต่อโดยตั้งคำถามว่า หากให้เราเป็นนายก จะมีวิธีแก้ไขสถานการณ์ตอนนี้ยังไง โดยให้นักเรียนแชร์คนละข้อความ ตรงจุดนี้นักเรียนจะได้เริ่มวิเคราะห์สถานการณ์เพื่อแก้ปัญหาเบื้องต้นไวๆก่อนที่จะต้องใช้ทักษะนี้ในกิจกรรมครับ
ตรงนี้สังเกตได้ว่าเด็กๆมีความสนใจสูงมากอาจจะด้วยเป็นสถานการณ์ปัจจุบันที่กำลังประสบอยู่ ทำให้ได้แนวคิดที่เหมาะสมกับการแก้ปัญหาเยอะทีเดียวครับ
.
ขั้นเตรียม
เริ่มเตรียมกิจกรรมโดยสร้างบทบาทสมมติให้นักเรียนได้ลองเป็นรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาและรับมือกับภัยพิบัติที่จะเกิดกับประเทศตนเองครับ
เริ่มจากทำการแบ่งกลุ่มนักเรียนเพื่อเลือกบทบาทสมมติและตั้งรัฐบาล โดยหลักจะแบ่งเป็นสามกลุ่มละประมาณ 10 คน
.
ตัวกิจกรรมจะมีประเทศให้แต่ละกลุ่มเลือกเป็นรัฐบาล แต่ละประเทศจะมีภูมิศาสตร์แตกต่างกันซึ่งจะส่งผลต่อภัยพิบัติที่สามารถเกิดได้ เมื่อเลือกตั้งรัฐบาลที่ประเทศใด กลุ่มนั้นจะต้องสุ่มการ์ดภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประชากรสังคมและประเทศในหลายๆด้านด้วย ดังนั้นในการรับมือเด็กๆเค้าจะได้มองวิธีการแก้ปัญหาและออกแบบวิธีการรับมือภัยพิบัติในหลายๆด้านหลายแบบครับ เช่น อาจเจอแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ ที่มีผู้เสียชีวิตไม่มากแต่ระบบสาธารณูปโภคถูกทำลาย เศรษฐกิจของเมืองที่ใช้การท่องเที่ยวเป็นหลักจะมีการแก้ไขระยะยาวและระยะสั้นในด้านเศรษฐกิต สาธารณสุข การศึกษา การปรุง การบริหารสถาณการฉุกเฉินอย่างไร
.
ด้วยความที่ประเด็นที่จะต้องพิจารณามีมากเลยกำหนดตำแหน่งดังรูปข้างล่างครับเพื่อให้มีหัวหน้าส่วนแต่ละฝ่ายแล้วทำงานประสานกันเป็นทีมลักษณะคล้ายๆเกม co-op
.
นักเรียนจะ
ได้จัดกลุ่ม
วางตำแหน่งคนในกลุ่มเลือกนายกประจำทีม
เลือกประเทศ
สุ่มภัยพิบัติที่จะเป็นโจทย์ของกิจกรรม
.
ขั้นกิจกรรม
หลังจากได้เงื่อนไขและโจทย์ของรัฐบาลแต่ละประเทศแล้วตามรูปด้านล่าง
นักเรียนจะได้ประชุมกันเพื่อทำภารกิจออกมาโดยจะต้องได้
1.แผนการเตรียมรับมือภัยพิบัติ เช่น แผ่นดินไหว
2.แผนอพยพและป้องกันตนเองของประชาชนในช่วงเกิดภัยพิบัติ
3.นโยบายในการแก้ปัญหาระยะสั้น - ยาว ในด้านต่างๆ
ในช่วงนี้นักเรียนจะได้ทำงานร่วมกัน brainstorm รวมหัวกัน หาข้อมูลวิเคราะห์แนวทางการแก้ปัญหาคะเนผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากนโนบายที่ใช้คล้ายกับรัฐบาลของประเทศนั้นจริงๆเพื่อพาประเทศชาติให้รอดให้ได้ซึ่งก็จะเข้ากับสถานการณ์ในปัจจุบันดีครับ
ตรงนี้จะใช้เวลาประมาณ 1 - 2 คาบ
.
ขั้นอภิปราย
ในขั้นนี้ จะเป็นช่วงที่รัฐบาลแต่ละประเทศ จะนำนโยบาย มาชี้แจง เพื่ออธิบายการรับมือกับภัยพิบัติที่ประเทศตนเองได้รับ ซึ่งจะแบ่งเป็น 3 ช่วงใหญ่ๆคือ
- ช่วงแจ้งภัยพิบัติ
- ช่วงเตรียมการ ประชาชนสำหรับการรับมือภัยพิบัติ
- ช่วงแถลงนโยบายช่วยเหลือ
.
ซึ่งในช่วงแรกช่วงเตรียมการนายกรัฐมนตรีหรือตัวแทนรัฐบาลหรือคณะรัฐบาลจะเป็นคนแจ้งภัยพิบัติที่ประเทศจะต้องเจอรวมถึงเงื่อนไขต่างๆที่เกิดขึ้นจากภัยพิบัติ
.
จากนั้นจะเป็นช่วงที่ศูนย์กู้ภัยพิบัติและผอ. ศูนย์ภัยพิบัติแจ้งการเตรียมการประชาชนโดยใช้โบชัวร์หรือสไลด์หรือแนวทางต่างๆในการเตรียมประชาชนเพื่อรับมือภัยพิบัติ หลังจากนั้นจะเป็นการแจ้งแนวทางอพยพและการปฏิบัติตัวเมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้น
.
จากนั้นในช่วงสุดท้าย จะเป็นการแจ้งแนวนโยบายสำหรับรับมือภัยพิบัติและเยียวยาความเสียหายจากภัยพิบัติที่เกิดขึ้น โดยรัฐมนตรีด้านต่างๆและโฆษกรัฐบาล
.
ในทุกๆช่วงประชาชนและอินเฟรนเซอร์ของคนอื่นซึ่งจะได้รับหน้าที่เป็นประชาชนของประเทศที่กำลังแถลงนโยบายและเจอภัยพิบัติอยู่จะสามารถถามคำถามดีเบตโต้แย้งและแนวทางให้กับ รัฐบาลเพิ่มเติมได้
.
ด้วยรูปแบบแบบนี้เลยทำให้นักเรียนค่อนข้างจะเข้าใจ สถานการณ์ในการแก้ไขปัญหาจากภัยพิบัติ รวมถึงเชื่อมโยงกับปัจจุบัน ได้ลองใช้บทบาทสมมติวิพากษ์นโยบายต่างๆของรัฐ ซึ่งอาจจะดีหรือไม่ดีเหมาะหรือไม่เหมาะสมกับสถานการณ์นั้นได้
.
จากนั้นประชาชนจะทำการลงคะแนนไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจรัฐบาลโดยมีคะแนนเต็ม 3 ผลปรากฏโดยส่วนใหญ่รัฐบาลที่มีแนวทางที่ค่อนข้างเหมาะสมและดูแลและประชาชนได้อย่างครอบคลุมจากนโยบายมากกว่ามักจะได้คะแนนที่ดีกว่าครับ ตรงนี้ก็จะเป็นการฝึกให้นักเรียนได้โหวต และเลือกตัดสินใจจากฐานข้อมูลที่ได้รับได้ดี
.
ก็เป็นอันจบไปสำหรับกิจกรรม survivor ซึ่งสมมติ ให้นักเรียนได้รับบทบาทเป็นทั้งรัฐบาลและประชาชนของแต่ละประเทศเพื่อให้เข้าใจการจัดการวิกฤตในสถานการณ์ที่เจอกับภัยพิบัติได้ดีเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่นักเรียนหลายคนชอบ ได้คิดวิเคราะห์ ค้นหาออกแบบนโยบาย และดีเบตกัน ทั้งในกลุ่มรัฐบาลด้วยกันเองซึ่งจะต้องประชุมเกี่ยวกับนโยบายอยู่แล้วและรวมถึงกับประชาชนในช่วงที่ แถลงนโยบายด้วยดีครับ
.
สุดท้ายแล้วกิจกรรมนี้ก็จะมีข้อคิดง่ายๆว่าจริงๆ นโยบายต่างๆไม่ได้มีผิดมีถูกเพียงแต่อยู่ที่ว่าเราจะจัดการมันเหมาะสมกับสถานการณ์หรือไม่
หากผู้ที่จัดการกับภัยพิบัติ เลือกใช้นโยบายที่ไม่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหาก็ควรจะต้องรับผิดชอบกับผลที่ตามมา
หรือถึงแม้เราจะเป็นประชาชนคนธรรมดาก็สามารถแสดงความคิดเห็นได้หากเราพบว่านโยบายบางส่วนมันไม่เหมาะสม เพราะทุกคนควรมีสิทธิ์เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เพื่อให้เกิดสิ่งที่ดีที่สุดต่อตนเองและผู้อื่น
รวมทั้งยอมรับความคิดเห็นต่างของผู้อื่นแม้ว่าจะเห็นไม่ตรงกัน โดยใช้เหตุผล ในการวิเคราะห์วิจารณ์กันอย่างสุภาพ สิ่งนี้ควรจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมในทุกวันนี้ครับ
.
แชร์ไว้เป็นไอเดียเล็กๆเผื่อทุกท่านจะสามารถนำไปใช้ได้ครับ
.
ปล.ในการสุ่มภัยพิบัติจะสุ่มจากภัยที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ที่ประเทศนั้นๆตามตารางครับ
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย
ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!