icon
giftClose
profile

แนวทางการจัดตารางสอนในยุคโควิด19

30126
ภาพประกอบไอเดีย แนวทางการจัดตารางสอนในยุคโควิด19

เมื่อการเรียนการสอนออนไลน์เป็นวิธีหลักในอีกหลาย ๆ วิธีที่หลายโรงเรียนเลือกใช้ เราจะจัดตารางสอนอย่างไรเพื่อเอื้อให้ครูและนักเรียนมีความสุขมากที่สุด

นับตั้งแต่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) นั้น หลายโรงเรียนต้องมีการปรับการจัดการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ให้มากที่สุด และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ออกนโยบายการจัดการเรียนการสอน 5 แบบ อันได้แก่ On-Site, Online, On-Hand, On-Demand, และ On-Air และผมเชื่อว่าคุณครูทุกคนทราบดีว่าแต่ละแบบเป็นอย่างไร


ทั้งนี้ การจัดการเรียนการสอนที่จำเป็นต้องใช้ตารางเรียน คือ On-Site, Online และ On-Air และผมก็เชื่อว่าหลายโรงเรียนใช้วิธีการจัดการเรียนการสอน Online เป็นวิธีหลักในสถานการณ์ตอนนี้ แต่ด้วยความไม่พร้อมของอุปกรณ์และสัญญาณอินเตอร์เน็ต หลายโรงเรียนก็จัดการเรียนการสอนแบบผสม คือการรวมหลาย ๆ วิธีเข้าด้วยกัน เพื่อให้นักเรียนได้เกิดการเรียนรู้อย่างมีศักยภาพสูงที่สุด และครูหลายคนอาจต้องควักกระเป๋าตัวเองเพื่อการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ แต่ตัวผมเองมองว่า "ระบบ" เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะทำให้การขับเคลื่อนองคาพยพนั้นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ


ดังนั้นวันนี้ผมของลองเสนอวิธีการจัดตารางเรียนในยุคโควิด19 เพื่อให้ทั้งคุณครูและนักเรียนมีรอยยิ้มมากขึ้น โดยจะเสอนแยกเป็น 4 วิธี โดยแต่ละวิธีนั้นแยกกันอย่างอิสระ


1. ปรับโยกคาบว่างและคาบกิจกรรมมาไว้วันพุธ

คาบชุมนุม พัฒนาผู้เรียน แนะแนว พัฒนาผู้เรียน (ลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด ผู้บำเพ็ญประโยชน์ และอื่น ๆ) โยกมาไว้วันพุธเพื่อให้นักเรียนได้มีเวลาว่างระหว่างสัปดาห์ เพื่อพักผ่อน ผ่อนคลาย ทำงานที่อาจจะค้างอยู่ รวมถึงมีเวลาช่วยงานที่บ้านด้วย ทั้งนี้ยังเป็นการเปิดโอกาสให้คุณครูที่ปรึกษาได้พบปะ พูดคุย ถามไถ่นักเรียน และสำหรับนักเรียนชั้นม.6 คุณครูแนะแนวหรือครูที่เกี่ยวข้อง สามารถมีเวลาและให้คำปรึกษานักเรียนในเรื่องของการเข้าศึกษาต่อได้อีกด้วย


2. ปรับโยกวิชาหลักมาไว้ช่วงเช้า และวิชารองมาไว้ช่วงบ่าย

ในส่วน 5 วิชาจาก 5 กลุ่มสาระหลักอันได้แก่ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณิตศาสตร์ ภาษาต่างประเทศ ภาษาไทย สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒธรรม ซึ่งอาจจะไม่ใช่ทุกวิชาจากทั้ง 5 กลุ่มสาระฯ นี้ หรือสามารถปรับตามความเหมาะสมตามบริบทหรือจุดเน้นของสถานศึกษาได้ และโยกวิชาที่เน้นการปฏิบัติลงมือทำ ไม่ว่าจะเป็นศิลปะ พลศึกษา การงานอาชีพ อุตสาหกรรม คหกรรม และ งานเกษตร ไปอยู่ในช่วงบ่าย เพื่อเป็นการผ่อนคลายความเครียดที่อาจจะเกิดขึ้น และวิชาต่างๆเหล่านี้สามารถยึดหยุ่นในวิธีการจัดการเรียนการสอนได้


3. รวมคาบเรียนให้เป็น 1 ครั้ง ต่อสัปดาห์

ในหลายโรงเรียนมีการจัดตารางเรียนโดยมีการแบ่งคาบเรียนออกเป็น 2 - 3 ครั้งต่อสัปดาห์ตามบริบทของสถานศึกษา เช่น วิชา 1.5 หน่วยกิต อาจแบ่งเป็น 2 + 1 คาบต่อสัปดาห์ หรือ 1 + 1 + 1 คาบต่อสัปดาห์แล้วนั้น ปัญหาที่พบได้ในช่วงการเรียนออนไลน์คือ ปัญหาด้านเทคนิค ซึ่งทำให้ไม่สามารถเริ่มกิจกรรมการเรียนการสอนตามเวลาที่กำหนดได้ ดังนั้นโรงเรียนสามารปรับเวลาเรียนให้มาเป็นครั้งเดียว คือ 3 คาบต่อสัปดาห์ (ในกรณี 1.5 หน่วยกิต) เพื่อให้นักเรียนและคุณครูได้ดำเนินกิจกรรมการจัดการเรียนการสอน ครั้งเดียวต่อสัปดาห์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความสับสน และภาระงานที่มากเกินไป ทั้งนี้ ยังเป็นการยืดหยุดให้กับนักเรียนกับครูผู้สอนอีกด้วย เช่น เวลาตามตารางเริ่ม 8.30 น. คุณและนักเรียนอาจะทำข้อตกลงกันว่า พบกัน 9.00 น. ซึ่งทำให้เกิดความยืดหยุ่นในการจัดการเรียนการสอนเป็นอย่างมาก และทั้งนี้หากโรงเรียนมีนโยบายให้ปรับให้ลดเวลาสอนจากเดิมให้เหลือเพียง 50 - 70 % หรือตามความเหมาะสม ยิ่งเป็นการดีที่จะทำให้นักเรียนและครูมีเวลาว่าง ได้พักผ่อนก่อนการเรียนการสอนในคาบต่อไป


4. จัดคาบเรียนวิชาเดียวกันให้ตรงกัน

ในรายวิชาเดียวกันคุณครูคนเดียวสอนหลายห้อง ทางโรงเรียนอาจจะปรับโยกคาบเรียนของแต่ละห้องให้ตรงกันในรายวิชาเดียวกัน เช่น วิชาวิทยาศาสตร์ นักเรียน 6 ห้อง ซึ่งถ้าโรงเรียนและคุณครูมองว่านักเรียนกลุ่มใหญ่เกินไป อาจะทำให้การจัดการเรียนการสอนไม่เกิดศักยภาพ ไม่สะดวกในการจัดการเรียนการสอนในวิธีการหรือกิจกรรมที่ครูดำเนินการอยู่ หรืออาจมองว่าถ้าหากเรียนพร้อมกันทั้งระดับชั้น (ห้อง1-6) ซึ่งนักเรียนมีความแตกต่างกันในด้านความสามารถในการเรียน อาจะมีการปรับแบ่งเป็นกลุ่มย่อยมากกว่า 1 กลุ่ม อาจรวมห้องเข้าที่มีศักยภาพการเรียนใกล้เคียงกันเข้าด้วยกันเป็นกลุ่มใหม่ วิธีนี้ จะเป็นการลดภาระครู เพื่อช่วยให้ครูได้มีเวลาในการเตรียมการสอนเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากคุณครูหลายท่านก็ประสบปัญหาในการจัดการเรียนการสอนรูปแบบใหม่เช่นเดียวกัน ดังนั้นถ้าหากครูได้มีเวลาเตรียมก็คงจะส่งผลดีต่อทั้งตัวครูเองและนักเรียนไม่น้อย และทำให้นักเรียนอาจเกิดประสบการณ์การเรียนรู้ใหม่อีกด้วย เนื่องจากเจอเพื่อน ๆ ต่างห้อง


ทั้งนี้ ในการปรับตารางให้เหมาะสมกับสถานการณ์ทั้ง 4 รูปแบบนี้ เป็นข้อเสนอที่ยินดีให้คุณครูที่เข้ามาอ่านบทความนำไปประยุกต์และปรับใช้ หากมีข้อเสนอแนะ ทางผู้เขียนยินดีรับฟังครับ หรือนำไปใช้แล้ว มีข้อดีข้อเสีย ข้อจำกัดอย่างไรบ้าง อย่าลืมมาเล่าให้ฟังนะครับ

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(1)
เก็บไว้อ่าน
(1)