🌟5 ขั้น สอนออนไลน์ ทำยังไงให้เด็กๆ กล้าพูด😊
.
🎙การพูดคุย แลกเปลี่ยนกัน เป็นรากฐานสำคัญในการเรียนรู้ เพราะจะช่วยให้เราเห็นความเห็นที่หลากหลาย
และได้ทำความเข้าใจและตรวจสอบมันไปพร้อมๆ กัน
.
(1) ก่อนจะไปดูไอเดียการสร้างบรรยากาศให้เด็กๆ กล้าพูด เรามาเช็ค ✅ กันก่อนว่าห้องเรียนคุณครูตอนนี้
เป็น “บรรยากาศปลอดภัย” ในการพูดคุยหรือยังนะ
🗣ภาษาที่ครูใช้: ทางการ หรือ ห่างเหินเกินไปหรือเปล่านะ อาจไม่ต้องเป็นห้องเรียนที่ล้อเล่น ตลกเฮฮา ก็ได้
แต่ต้องเป็นห้องเรียนที่ “ครูอยู่เท่ากับเด็ก” ไม่สั่งหรือออกอำนาจ แต่รับฟัง แลกเปลี่ยนกัน เหมือนคุยกับเพื่อน
ด้วยภาษาที่เป็นมิตร อบอุ่น เปิดรับ
🧑🏽🏫 ห้องเรียน: ระหว่างสอน มีการเว้นช่วงถาม-ตอบ ให้เด็กๆ หรือยัง คุณครูอาจลองเว้นช่วงหลังพูดหัวข้อหนึ่งจบ
แล้วถามเด็กๆ ดูดีไหม หรืออาจจะให้เริ่มจากพิมพ์มาถามก็ได้นะ
จุดสำคัญ: คุณครูอาจต้อง “ใจเย็น” ❤️⛄️
เราอาจต้องทำความเข้าใจก่อนว่า เด็กๆ อาจไม่ได้ถูกฝึกให้แสดงความเห็นในห้องเรียนมาก่อน
หรือเราไม่รู้ว่าเด็กๆ เจอครูหรือประสบการณ์การพูดในห้องเรียนแบบไหนมาบ้าง
การพูดในที่สาธารณะอาจไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ฝึกได้ เพียงแค่ต้องใช้เวลา เราเชื่อว่าเด็กๆ มีเรื่องอยากจะพูดอยู่แล้ว
ขอแค่มีคุณครูที่ค่อยๆ รับฟังและเปิดใจเขา เขาจะกล้าแสดงความเห็นแน่นอน 😊
(2) เอาล่ะ เมื่อห้องเรียนเราปลอดภัยมากพอแล้ว เราจะเริ่มยังไงให้เด็กๆ กล้าพูดดีนะ? 🤔
💬ถ้ายังไม่กล้าพูด ก็ยังไม่ต้องพูดก็ได้: เริ่มละลายพฤติกรรมด้วยการให้พิมพ์หรือเขียนมาในช่องแชทก่อน
บางทีเด็กๆ อยากพูด แต่อาจเรียบเรียงความคิดไม่ถูก การพิมพ์หรือเขียนจะช่วยให้เด็กๆ ได้เรียบเรียงก่อน
ยังไม่กล้าพูดไม่เป็นไร ค่อยๆ พิมพ์มาก่อนก็ได้
💡Tips & Trick: คุณครูอาจลองให้เด็กๆ เป็น “นิรนาม” โดยการให้เปลี่ยนรูป เปลี่ยนชื่อ ไม่บังคับเปิดกล้องก่อนก็ได้
หรืออาจทำผ่านแพลตฟอร์มการแสดงความคิดเห็นนิรนามอย่าง menti.com ที่ให้เด็กตอบคำถามแบบไม่ต้องเปิดชื่อก็ได้นะ
วิธีใช้: https://inskru.com/idea/-MgFkj3_PeCjDFMFCb3W
🌷ครูอาจสุ่มหยิบคำตอบหลายๆ อันมาพูด อันที่แปลกก็ด้วย อันที่ไม่ถูกก็ไม่เป็นไร
แต่ให้เด็กๆ รู้สึกว่าสิ่งที่เขาตอบมา “จะถูกหรือผิด มันก็โอเคนี่นา”
🎵 อาจลองเปิดเพลงระหว่างการคุย ให้บรรยากาศสบายๆ ขึ้น
หรือให้ธีมในการพูด เช่น “ออกมาพูดแบบรับบทเป็นทนาย”, “รับบทเป็นพิธีการข่าว” หรือ “พูดแบบตัวละคร...” ฯลฯ
(3) พอเด็กๆ เริ่มกล้าพิมพ์แล้ว เรามาลองชวนคุยกันต้นคาบ 🙋🏻
🌈เริ่มจากเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องเรียนก่อน:
ให้เด็กๆ ได้รู้จักและคุ้นเคยกับเพื่อนๆ และครูก่อน ว่าแต่ละคนเป็นยังไง เมื่อเราเปลี่ยนจากการคุยกับ “คนไม่รู้จัก” มาเป็นการคุยกับ “เพื่อน” อาจช่วยลดความกังวลในการแสดงความคิดเห็นได้ และยังช่วยให้เด็ก ๆ ได้รู้ว่าเพื่อนและครูที่เขากำลังคุยด้วยเป็นคนยังไงกันบ้าง
💡Tips & Trick: ครูอาจเริ่มด้วยการให้หัวข้อชิลๆ เช่น “การตูนเรื่องโปรด” หรือ “ชีวิตช่วงนี้เป็นยังไงบ้าง” ฯลฯ
แบ่งเด็กๆ เป็นกลุ่มย่อยๆ (เข้า breakout room) ให้ได้เริ่มคุยกับเพื่อนกลุ่มเล็กๆ และอาจวนเปลี่ยนกลุ่มไปเรื่อยๆ จนครบห้อง
🧑🏽🏫บทบาทที่คุณครูทำได้: กระตุ้นให้เด็กแชร์ความเห็นระหว่างกันเอง เช่น “ใครชอบเหมือนเพื่อนบ้าง”, “ชอบอะไรที่เพื่อนพูดบ้าง” ฯลฯ
(4) เมื่อเด็กๆ เริ่มกล้าพูด ค่อยนำเข้าสู่เรื่องเรียน เมื่อเด็กๆ พูดหรือตอบมา อยากชวนคุณครูมา...
👂รับฟังทุกความเห็น แบบไม่ตัดสิน: ฟังใครไม่ทันขอให้เด็กๆ พูดอีกที
✏️ช่วยเรียบเรียงหรือทวนความคิดเด็ก: เพื่อให้เด็กๆ ได้ทวนความคิด มั่นใจมากขึ้น หรือ ฝึกอธิบายความคิดถ้าครูเข้าใจไม่ตรงกัน
*โดยที่คุณครูไม่ใส่ความคิดเห็นตนเองไป อาจถามว่า “น้องอินส์หมายความว่า...ใช่ไหมน้า”
💬โยนคำถามต่อ: ถามต่อจากคำตอบเด็กๆ ให้เขาคิดเพิ่ม หรืออาจจะให้เด็กๆ ส่งคำถามต่อให้เพื่อน ๆ อีกคนในห้อง เพื่อกระตุ้นให้เด็กๆ คุยกันเองเพิ่มขึ้น
🌷ขอบคุณหรือชม สำหรับความเห็น สร้างแรงเชิงบวกในการพูด: หลีกเลี่ยงคำว่า “ผิด”, “ยังไม่ใช่/ยังไม่ถูก”
หาจุดชมคำตอบของเด็กๆ เช่น “ตอบได้ตรงประเด็นมาก”, “ตัวอย่างน่าสนใจ/คิดต่อ”, “จับประเด็นเก่งจัง”,
“ขยายความเพื่อน/คำถามครูได้ดีมากเลย” หรือ “คำถามน่าสนใจมาก”
ถ้ายังไม่มีจุดไหนที่ชมได้ อย่างน้อยเราลอง “ขอบคุณที่แชร์นะ” เพื่อให้เด็กๆ รู้ว่า การแสดงความเห็นของเขามีความหมาย
และจะนำพาบทเรียนของห้องเราไปได้ไกลมากขึ้นด้วยกัน
(5) พาห้องเรียนไปให้ไกลมากกว่าการกล้าพูด: เปิดรับความเห็นต่าง
ถ้าเด็กๆ ไม่กล้าแสดงความเห็นที่ต่างจากเพื่อนๆ: คุณครูอาจลองเล่นบทเป็นความเห็นอีกฝั่งหนึ่งให้เด็กๆ ได้คิด
(แม้ที่จริงแล้วคุณครูจะเห็นด้วยกับฝั่งเด็กๆ ก็ตาม) เช่น เด็กๆ ทั้งห้องเทกันไปที่ “เห็นด้วยกับการยกเลิกใส่ชุดนักเรียน”
คุณครูอาจลองเล่นบทนำข้อถกเถียงของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยมาพูด เพื่อกระตุ้นให้เด็กๆ ฝึกปกป้องข้อถกเถียงของตนเอง (defend)
หรือฝึกการหาเหตุผล ยกตัวอย่างมาสนับสนุนความเห็นของตนเพิ่มขึ้น
หรือถ้าเด็กที่ตอบแตกต่างมีน้อย ครูอาจลองสวมบทฝ่ายเดียวกับความเห็นส่วนน้อยดู เพื่อให้เด็กรู้สึกว่า การเห็นต่างไม่ได้ผิดนะ แล้วกระตุ้นให้แลกเปลี่ยนกันแทน
💬Feedback ให้เป็นเรื่องปกติ:
ระหว่างการพูดคุย หรือเมื่อจบคาบเรียน มาลอง Feedback กัน
เด็กๆ คนไหนพูดได้ตรงประเด็น คนไหนมีท่าทีการนำเสนอเจ๋งๆ คนไหนวาทศิลป์ดี โน้มน้าวได้ พูดน่าฟัง
หรือ ใครแสดงความเห็นบ่อยๆ จนได้มุมมองใหม่ๆ ให้บรรยากาศการ feedback สบายๆ เป็นเรื่องปกติ
หรือจะให้เด็กๆ feedback กันเองด้วยก็ยิ่งดีเลย!
**นอกจากครู feedback เด็กๆ แล้ว ก็ให้เด็กๆ feedback ครูด้วย เขาจะยิ่งรู้สึกว่าห้องเรียนนี้ปลอดภัยในการแสดงความเห็นนะ ก็แสดงความเห็นกับคุณครูยังได้เลยนี่นา กับเพื่อนๆ ก็คุยกันได้
❣️ข้อควรระวัง❣️:
การพูด ถาม ตอบ ไม่ควรใช้คะแนนเป็นแรงจูงใจมากเกินไป เพราะอาจกดดันให้เด็กๆ ต้องตอบเพื่อตอบ มาสร้างแรงเชิงบวกให้เด็กที่กล้าพูดอยู่แล้ว พูดเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ และให้คนที่ยังไม่กล้าพูดรู้ว่า “ความเห็นเขามีค่ามากๆ กับห้องเรียน” กันดีกว่า
.
.
ขอบคุณไอเดียดีๆ จาก ครูทิว เพจครูขอสอน
พี่เทอร์โบ จาก deschooling จาก Live facebook.com/InskruThailand/videos/4682777368423591
และครูแนน ปาริชาติ มาที่นี้ด้วยนะคะ 😊
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย
ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!