icon
giftClose
profile

บอร์ดเกมโคลงโลกนิติ : ผจญภัยสุดเขตทะเลเหนือ

78894
ภาพประกอบไอเดีย บอร์ดเกมโคลงโลกนิติ : ผจญภัยสุดเขตทะเลเหนือ

การเรียนออนไลน์ก็แสนจะน่าเบื่อ ให้นั่งท่องกลอนเปล่า ๆ ก็คงไม่สนุก งั้นลองพานักเรียนออกทะเลไปผจญภัยให้สุดขอบทะเลกันดีกว่า

สวัสดีค้าบบบ วันนี้จะมานำเสนอไอเดียการสอนวรรณคดีผ่านแนวคิด Gamification จะเป็นอย่างไรหากเราเปลี่ยนห้องเรียนให้กลายเป็นเกมที่นักเรียนทุกคนได้มีส่วนร่วมด้วยกัน แถมเครื่องมือที่ใช้ก็ทำง่าย ๆ จาก Powerpoint ที่ครูทุกคนมีติดเครื่องกันอยู่แล้ว

บอร์ดเกมนี้ได้นำแนวคิดของครูธนากร สร้อยเสพที่นำเกมโจรสลัดมาสอนเรื่องจริยธรรม ในเมื่อโคลงโลกนิติเป็นคำสอนเหมือนกันก็น่าจะใช้ได้น้าาาา


องค์ประกอบหลักของเกม

คะแนน ได้จากการทำภารกิจต่าง ๆ คะแนนที่นักเรียนได้เมื่อเล่นจบเกมจะนำมาหารฉลี่ยให้นักเรียนทุกคนในห้อง

เสบียง ใช้สำหรับทำภารกิจต่าง ๆ เพื่อดำเนินเนื้อเรื่องและตะลุยด่านต่าง ๆ ภายในเกม หากเสบียงหมดเกมจะจบทันที

เกาะต่าง ๆ คือภารกิจและเนื้อเรื่องหลักที่จะทำให้นักเรียนเข้าใจโคลงโลกนิติผ่านสถานการณ์ต่าง ๆ

ตัวเลขกลมๆ คือคำถามย่อยเพื่อเก็บคะแนนทบทวนความรู้

หากจำนวนเสบียงไม่พอ นักเรียนสามารถใช้คะแนนแลกเป็นเสบียงได้

___________________________


ตัวอย่างภารกิจหลักในเกาะต้องห้าม ผมต้องการจะสอนให้นักเรียนพอใจในสิ่งที่ตนเองมี หากนักเรียนเลือกเสี่ยงไปหยิบสมบัติก็อาจตายได้ จึงปิดท้ายด้วยบทประพันธ์นี้เพื่อให้นักเรียนเข้าใจความหมายของพอใจในสิ่งที่ตนเองมี หรือ ทำอะไรให้พอตัว

___________________________


วิธีการเล่นเกม
  1. นักเรียนร่วมกันโหวตกัปตันและรองกัปตัน 2 คนนี้มีหน้าที่ตัดสินใจทำภารกิจ ตอบคำถาม หรือส่งลูกเรือไปทำภารกิจ และ 2 คนนี้จะไม่มีวันตาย (นอกจากกัปตันจะยอมเลือกตายเอง)
  2. นักเรียนที่เหลือเป็นลูกเรือ มีหน้าที่แสดงความคิดเห็นและคาดการณ์สถานการณ์ต่าง ๆ ให้กัปตันและรองกัปตันตัดสินใจ
  3. (ตัวเลือกเพิ่มเติม) นักเรียน 6 คนเป็นหัวหน้าลูกเรือ หวหน้าลูกเรือจะมีบทบาทต่าง ๆ เพื่อใช้ในการทำภารกิจ เช่น เมื่อมีลูกเรือตาย หัวหน้าลูกเรือตำแหน่ง "ผู้ใช้อาคม" สามารถชุบชีวิตลูกเรือได้ โดยหัวหน้าลูกเรือมี 6 ตำแหน่ง โดยสามารถใช้ความสามารถได้แค่ 2 ครั้งต่อเกมเท่านั้น
  4. นักเรียนจะต้องทำภารกิจในเกาะต่าง ๆ เพื่อเก็บคะแนนและเรียนรู้โคลงโลกนิติผ่านสถานการณ์ต่าง ๆ ซึ่งบางด่านอาจมีมินิเกมให้ร่วมเล่น
การดำเนินเกม
  1. เมื่อเลือกตำแหน่งและบทบาทครบแล้ว นักเรียนร่วมกันเลือกว่าจะไปที่ภารกิจใดก่อนโดยลูกเรือเป็นคนแสดงความคิดเห็น และมีกัปตัน รองกัปตัน พิจารณาและตัดสินใจ
  2. ในแต่ละภารกิจกัปตันและรองกัปตันจะต้องวางแผนให้รอบคอบเพื่อให้เสียลูกเรือน้อยที่สุด และได้คะแนนมากที่สุด โดยบางภารกิจกัปตันและรองกัปตันจะต้องส่งลูกเรือไปทำภารกิจ ซึ่งอาจทำให้ลูกเรือตายหรือบาทเจ็บก็ได้
  3. ลูกเรือที่ตายแล้ว (ทั้งลูกเรือและหัวหน้าลูกเรือ) ยังสามารถร่วมเกมได้แต่จะไม่มีบทบาท เช่น ส่งไปทำภารกิจไม่ได้ ส่วนลูกเรือที่บาดเจ็บจะไม่สามารถส่งไปทำภารกิจได้จนกว่าจะได้รับการรักษาจากหมอ (หัวหน้าลูกเรือ)
  4. หัวหน้าลูกเรือสามารถใช้ตอนไหนของเกมก็ได้ เช่น ตำแหน่งทายาทสมุทร สามารถถามครูผู้สอนเกี่ยวกับภารกิจต่าง ๆ ได้ โดยสิ่งที่ครูพูดอาจเป็นจริงหรือไม่ก็ได้ (เพื่อนและกัปตันต้องตัดสินใจว่าจะเชื่อครูหรือไม่) หรือตำแหน่งบาทหลวง หากเห็นว่ากำลังเจอภารกิจยาก ตัดสินใจกันไม่ได้ ก็สามารถใช้สิทธิ์บาทหลวงขอข้ามภารกิจได้เลย แต่จะไม่ได้คะแนนหรือเสบียงจากภารกิจที่ข้าม (ถ้ามี)
  5. เกมนี้เป็นเกมยาว (ใช้ต่อเนื่องหลายคาบ) ทุกครั้งที่จบเกมในแต่ละคาบครูควรสรุปบทเรียนว่านักเรียนได้เรียนรู้เรื่องอะไรไป จำบทประพันธ์ใดได้บ้าง รวมถึงแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดการลูกเรือของกัปตันและรองกัปตันเพื่อพัฒนาในคาบต่อไป


ภารกิจนี้หัวหน้าจะต้องตัดสินใจว่าจะสังเวยชีวิตลูกเรือ (เลือกเพื่อนได้ตามใจ 3 คน) หรือจะอ่านบทอาขยาน (ที่ครูกำหนด) เพื่อช่วยชีวิตเพื่อน หากอ่านผิดครบ 3 ครั้ง จะต้องสังเวยลูกเรือ 3 คนให้ไซเรน

ภารกิจนี้กัปตันและรองกัปตันจะต้องตัดสินใจว่าจะส่งลูกเรือ 5 คนไปสู้รบ หรือจะปล่อยผ่านไป หากกัปตันและรองกัปตัน เลือกส่งเพื่อนไป ก็จะพบบทสรุปว่ามีลูกเรือเสียชีวิตถึง 5 คน (ตอนเลือกให้กัปตันและรองกกัปตันเป็นคนเรียกชื่อเพื่อนทั้ง 5 คนได้เลย ในตอนนี้จะได้เห็นปฏิสัมพันธ์ของนักเรียนกับเพื่อน บางคนยอมเสนอตัว บางคนถูกบังคับ)

บูรณาการทักษะการโค้ดดิ้งด้วยมินิเกมพูดจาภาษาเงือก นักเรียนจะต้องถอดรหัสให้ได้ว่านางเงือกพูดว่าอะไร และต้องถอดรหัสเพื่อออกจากถ้ำ โดยช่วยกันถอดรหัสว่าสัญลักษณ์ดังกล่าวคือบทใดในเรื่องโคลงโลกนิติ

บางครั้งกัปตันและรองกัปตันก็ตัดสินใจพลาดทำหัวหน้าลูกเรือบางคนตายระหว่างทาง หากเจอภารกิจที่ต้องการบทบาทต่าง ๆ ก็อาจเสยเสบียงไปฟรี ๆ ก็ได้

หัวหน้าลูกเรือทั้ง 6 ตำแหน่ง

หากจัดการทรัพยากรไม่ดีอาจไม่พอใช้สู้กับบอสตอนท้ายเกมก็ได้น้าาา

สิ่งที่ได้จากการเล่นเกม
  1. ได้เห็นกระบวนการคิดของนักเรียนมากขึ้น มีห้องนึงที่หัวหน้ากัปตันเลือกทางผิดทำให้ต้องเลือกระหว่างจะยอมสละชีวิต หรือจะส่งลูกเรือไปตายแทน กัปตันตอบว่าผมพาเพื่อนมาผิดทาง ผมรับผิดชอบเอง แล้วทันทีที่กัปตันตาย รองกัปตันก็สั่งผู้ใช้อาคมชุบชีวิตกัปตันขึ้นมาทันที ทำให้เห็นว่านักเรียนสามารถจัดการและแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ดีมากน้อยเพียงใด
  2. ได้สร้างแรงจูงใจให้นักเรียน มีคาบนึงที่ผมโยนบทบาททายาทสมุทรให้นักเรียนคนนึงที่ไม่ค่อยพูด ซึ่งทุกคนก็เฉย ๆ กับเพื่อนคนนี้ จนถึงสถานการณ์ที่ตัดสินใจไม่ได้ ไม่ใช่หาทางออกที่ดีที่สุดได้ นักเรียนคนนั้นก็เปิดไมค์ขึ้นมาแล้วบอกว่า หนูขอถามค่ะ ถ้าทำภารกิจนี้แล้วจะตายมั้ยคะ เราเลือกตอบว่ามีคนบาดเจ็บจ้ะ กัปตันและรองกัปตันก็เลยเตรียมนัดให้ตำแหน่งหมอออกมาพร้อมรักษาทันทีที่เรียก และเพื่อน ๆ ก็ชมนักเรียนคนนั้นที่กล่าถามจนได้เบาะแสทำให้ไขคดีได้ แล้วนักเรียนคนนั้นก็กล้าเปิดกล้องเปิดไมค์พูดมากขึ้น
  3. ได้เห็นรอยยิ้มและความสุขของนักเรียน จะมีอะไรดีไปกว่าการที่นักเรียนได้เล่นได้พูดคุยและสนุกไปกับเนื้อหาที่เรียน หากเป็นการสอนปกติสุ่มนักเรียนอ่านบทประพันธ์ ต่อให้มีคะแนนเขาก็ไม่กล้าที่จะอ่าน แต่พออยู่ในรูปแบบของภารกิจที่เขาจะต้องทำเพื่อช่วยเพื่อนในห้องเรียน นักเรียนรู้สึกมีเป้าหมายที่จะทำ รู้ว่าทำไปเพื่อช่วยเหลือเพื่อนทั้งห้องซึ่งทำให้นักเรียนกล้าและอยากจะทำมากขึ้น
  4. ได้ความเหนื่อยที่คุ้มค่า เกมนี้ใช้เวลาสร้างพอสมควร ขณะเล่นก็มีบักกลางทางบ้าง แต่เมื่อจบคาบนักเรียนฟีดแบกว่าสนุก อยากเล่นอีก ทำให้เรามีแรงที่จะทำและแก้ไขต่อ ไม่รู้สึกเสียแรงที่ตั้งใจทำ


ตอนนี้ตัวเกมอยู่ระหว่างแก้ไขเพื่อให้เกิดบักน้อยที่สุด หากแก้เสร็จแล้วจะมาแจกให้ครูนำไปใช้ต่อกันแน่นอนนนน เป็นกำลังใจให้หน่อยน้าาา


หรือครูท่านใดอยากสร้างเองก็สามารถสร้างได้ง่าย ๆ ด้วย Powerpoint หรือเว็บไซต์ Thinkling ได้เลย

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(70)
เก็บไว้อ่าน
(23)