icon
giftClose
profile

นำ-สรุป ด้วยซีรีส์ เมื่อครูรับบทนักพากย์ท่านหนึ่ง

30672

กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่ชวนครูมาสร้างเรื่องและรับบทนักพากย์เพื่อปรับใช้กับขั้นนำและสรุปของแต่ละเนื้อหาในบทเรียน

สวัสดีครับ วันนี้มาแบ่งปันกิจกรรมที่ใช้ในขั้นนำกับขั้นสรุป เผื่อคุณครูนำไปปรับใช้กับวิชาอื่น ๆ ครับ

กิจกรรมนี้ผมใช้ในการสอนวิชาภาษาไทย เรื่อง การใช้พจนานุกรม ป.6 (Online)


เริ่มจากครูสร้างเรื่องโดยการนำตัวละครในซีรีส์มาร้อยเรียงให้เข้ากับเนื้อหาครับ


เนื้อหาที่ผมสร้างมามีโครงเรื่องประมาณว่า


เว่ยอิง (ตัวละครในปรมาจารย์ลัทธิมาร) อพยพมาขอฝากตัวเป็นศิษย์อาจารย์ แต่อาจารย์บอกว่าต้องไปเปลี่ยนชื่อให้เหมือนคนในดินแดนนี้ก่อน

อาจารย์ได้ส่งศิษย์เอก (หลานจ้าน) ไปช่วย และได้หาชื่อมาทั้งหมด 5 ชื่อ (มีแค่ชื่อเดียวทีมีความหมายดีซึ่งจะสอดคล้องกับช่วงสรุป)

แต่ทั้งสองคนก็ไม่รู้ว่าชื่อพวกนี้มีความหมายว่าอย่างไร จึงต้องถาม นร. ชั้น ป.6 ว่า "ถ้าต้องการรู้ความหมายของคำหรือชื่อเหล่านี้จะไปหาได้ที่ไหน" ซึ่งเป็นคำถามสำคัญที่จะส่งต่อให้นักเรียนช่วยกันตอบครับ


กว่านักเรียนจะตอบว่า "พจนานุกรม" ได้ก็ประมาณคนที่ 3-4 ครับ

ความคิดแรกเลยนักเรียนจะตอบว่า Google ตามด้วย ถามครูภาษาไทย จนกระทั่งได้คำตอบที่ครูต้องการ คือ "พจนานุกรม" จึงเริ่มเข้าสู่กระบวนการสอนต่อครับ


กระบวนการสอนในคาบนี้จะให้ความรู้ในส่วนวิวัฒนาการของพจนานุกรมไทยตั้งแต่อดีต - ปัจจุบัน (ข้อมูลจาก วิวัฒนาการของพจนานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิต)

จากนั้นเป็นหลักการเรียงลำดับคำตามพจนานุกรม ตัวอย่างที่ให้นักเรียนช่วยกันทำจะเป็นตัวอย่างที่อยู่ใกล้ ๆ ตัวนักเรียน เช่น ครูใน รร. ดารา วัน เดือน จังหวัด ฯลฯ

จนกระทั่งช่วงสรุป ครูก็รับบทนักพากย์ซีรีส์ต่อ เว่ยอิงสงสัยว่าแต่ละชื่อมีความหมายว่าอย่างไรเพื่อจะได้เลือกไปบอกอาจารย์

ช่วงนี้ครูก็ให้นักเรียนช่วยกันสืบค้นความหมายของคำจากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิต (Online) ใครหาได้ก็ยกมือบอกความหมาย

และถามความคิดนักเรียนว่านักเรียนคิดว่าเว่ยอิงควรเลือกชื่อไหน (ช่วงนี้นักเรียนก็แอบแกงครูครับ กว่าจะตอบ "วรรธนะ" ได้ก็ตอบชื่ออื่น ๆ ก่อน)


สุดท้ายก็เข้าสู่ซีรีส์ต่อ เว่ยอิงตัดสินใจเลือกชื่อ "วรรธนะ" ครับ


จากนั้นครูก็ชวนนักเรียนคุยเกี่ยวกับค่านิยมในการตั้งชื่อในสังคมไทยว่าคำถึงนึงอะไรบ้าง โดยพิจารณาจากชื่อของนักเรียน - ครู - ผู้ปกครอง

โดยสรุปค่านิยมในอดีตกับปัจจุบันก็มีกระแสที่ต่างกันไปแต่ส่วนใหญ่จะเน้นไปทางสายมู คือ เน้นความเป็นสิริมงคล


ผมหวังว่ากิจกรรมนี้จะเป็นไอเดียให้ครูที่เข้ามาอ่านนำไปต่อยอดให้สอดคล้องกับบริบทนักเรียนแต่โรงเรียนนะครับ

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(4)
เก็บไว้อ่าน
(8)