icon
giftClose
profile

วิธีวัดและประเมินผล เด็กใช้ Rubric ประเมินตัวเอง✨

50180
ภาพประกอบไอเดีย วิธีวัดและประเมินผล เด็กใช้ Rubric ประเมินตัวเอง✨

เปลี่ยนการสอบมาให้เด็กๆ วัดและประเมินผล ผ่านการใช้ Rubric และงานที่เด็กๆ เลือกมาส่งเอง วัดผลแบบนี้ทำยังไง ดียังไง ออกแบบ Rubric ยังไง FAQ คำถามที่ครูถามบ่อย ลองอ่านกันในโพสต์นี้ได้เลยค่า


วิธีวัดผลแบบให้เด็กประเมินตนเองทำยังไงนะ?

.

วิธีการวัดและประเมินผลแบบนี้ ไม่ใช่การสอบ

แต่จะให้เด็กๆ ประเมินตัวเองจากหลักฐานการเรียนรู้

ที่เด็กๆ เลือกเอง อะไรก็ได้ที่สื่อว่าเขาเข้าใจเรื่องที่เรียน

เทียบกับ “Rubric” หรือ “ระดับการพัฒนาที่ครูให้

โดยหัวข้อที่ครูกวางจะชวนเด็กๆ มาประเมิน 

คือ: แก้ปัญหาเกี่ยวกับจำนวนในชีวิตจริง

.

วิธีการคือ ครูกวางจะให้ 

1) เด็กๆ เลือกหลักฐานการเรียนรู้ที่เด็กๆ คิดว่า

แสดงให้เห็นว่าตัวเองสามารถนำเนื้อหาเรื่องจำนวน 

ไปแก้ปัญหาหรือใช้ในชีวิตจริงได้ 

และตอบตามจุดประสงค์การเรียนรู้

อาจจะเป็น แบบฝึกหัดที่ทำกันในห้อง 

ใบเสร็จการซื้อของที่เด็กๆ เห็นว่าพนักงานคิดเงินผิด 

การหารค่าอาหารกับเพื่อนที่ไม่ลงตัว ฯลฯ 


2) ให้ Rubic หรือเกณฑ์ในการประเมินแก่เด็กๆ 

เพื่อให้เด็กวิเคราะห์การเรียนรู้ของตัวเอง

ว่าอยู่ในระดับไหนของเกณฑ์ 

และให้เด็กประเมินตัวเองว่าเขาอยู่ระดับไหน

**ให้เด็กๆ ปรึกษาเพื่อนๆ ได้ แต่ว่าอย่าทำตามกันน้า


3) จากนั้นครูประเมินเด็กๆ ตาม Rubric อีกที

พร้อมให้เด็กๆ หาหลักฐานอื่นๆ 

และมาประเมินใหม่กับครูได้อีกครั้ง



ทำความรู้จัก Rubric กันหน่อย

.

Rubric ของครูกวาง คือ “ระดับ/เกณฑ์การเรียนรู้”

ว่าเด็กๆ เข้าใจและตอบจุดประสงค์การเรียนรู้แค่ไหน

โดยครูกวางกำหนด “จุดประสงค์การเรียนรู้” ไว้ 2 ข้อ

แล้วแบ่งการเรียนรู้ของเด็กเป็น 4 ระดับ ได้แก่ 

(1) Beginning- ตอบจุดประสงค์ได้ไม่ถึง 1 ข้อ

(2) Developing- ตอบจุดประสงค์ได้ 1 ข้อ

(3) Proficient- ตอบจุดประสงค์ได้ 2 ข้อ 

[เป็นจุดที่ครูคาดหวังว่าเด็กๆ จะทำได้]

(4) Advance- เกินกว่าจุดประสงค์ที่ครูตั้ง 

เช่น เด็กไม่ใช่แค่แก้โจทย์คณิตในชีวิตจริงได้ แต่สร้างโจทย์ปัญหาได้

** 4 ระดับนี้ ไม่ใช่เกรดนะ! 

แต่เป็น “ขั้นบันไดของการเรียนรู้และพัฒนา”



ตัวอย่างการให้เด็กประเมินตัวเองโดยใช้หลักฐานการเรียนรู้

.

น้องแพรว: วันนั้นกินข้าวกับเติ้ล 

เติ้ลมาเก็บเงินค่าข้าวเราคนละ 70 บาท

แต่ค่าข้าวที่เรากินสองคนมันแค่ 100 เอง 

หนูว่าเติ้ลคิดเงินผิดค่ะ

หนูประเมินตัวเองให้เบอร์ 2 


ครูกวาง: แต่หนูเอาไปใช้ในชีวิตประจำวันได้

มีการใช้การคูณเป็นด้วย ครูกวางให้ระดับ 3 

เพราะหนูทำได้ทั้งสองข้อเลย 

(ระดับสี่ต้องทวงเงินเติ้ลให้ได้ อ่ะ ครูล้อเล่น!)


Note: Flow & Fair เด็กมีส่วนร่วมสะท้อนตัวเองแบบปลายเปิดแฟร์ ๆ จากงานที่ตัวเองเลือก ครูไม่ใช่คนตัดสิน แต่ช่วยผลักดันให้เด็กเห็นว่าเขาต้องไล่ระดับความเข้าใจไปต่อยังไง

.

น้องแสน: ผมแบ่งขนมให้เติ้ลกินครับ

เติ้ลกินไปเกือบหมดห่อเลย เหลือแค่ก้นๆ ห่อครับ

เติ้ลควรช่วยผมออกค่าขนมนะครับ

อืม ผมประเมินตัวเองระดับ 1 ครับ ผมยังงงๆ อยู่เลย


ครูกวาง: อืม ครูให้ระดับ 1 ก่อนนะ

เพราะน้องแสนยังไม่ได้เอาคณิตมาแก้ปัญหาคำนวน

ว่าขนมหายไปเท่าไหร่ แล้วเราจะให้เติ้ลช่วยออกเงินกี่บาท 

แต่มปรนะ เดี๋ยวมาคุยกัน ประเมินตัวเองใหม่ก็ได้นะ


Note: เด็กพัฒนาได้ ไม่โดนครูตัดสินไปเลยเหมือนตอนสอบ เด็กๆ รู้สึกว่าเขาพัฒนาได้



เทคนิคการออกแบบรูบิก

.

เริ่มจากการตั้งจุดประสงค์ในใจว่า 

“อยากให้เด็กๆ ได้รู้อะไรจากบทเรียนนี้” 

(เริ่มจากระดับ 3 ที่เราคาดหวังว่าเด็กๆ จะได้) 

แล้วค่อยลด-เพิ่มให้เป็นเกณฑ์ข้อ 1,2 และ 4

หรือให้เด็กๆ มาช่วยเติมก็ได้นะ 

ว่าจบคาบนี้เขาอยากทำอะไรได้บ้าง

.

กำหนดเกณฑ์และผลลัพธ์ให้ชัดเจนและเป็นรูปธรรม

ยกตัวอย่างเลยว่าเด็กๆ ต้องทำอะไรได้บ้าง

.

เกณฑ์ชัดแล้ว คุยกับเด็กๆ ด้วยว่าเรา “ประเมินไปเพื่ออะไร”

การประเมินการเรียนรู้ เพื่อให้เด็กๆ ได้เห็นว่าเขาทำอะไรได้(ดี) 

และมีตรงไหนที่ยังทำไม่ได้ จะพัฒนายังไงดี

Rubric นี้ไม่ใช่การตัดเกรด แต่เป็นระดับขั้นการเรียนรู้ของเด็กๆ

ที่เขามาทำใหม่ได้ พัฒนาให้เพิ่มขึ้นได้นะ



FAQ: คำถามที่ครูถามบ่อย

.

เด็กเยอะ จะทำยังไง?

>เราอยู่กับเด็กอยู่แล้ว ตอนสอนเราพอเห็นว่าใครทำได้ขั้นไหน

บางคนเราให้เด็กเอาหลักฐานมาคุยกับเราได้เลย

ไปเน้นโฟกัสเด็กที่ยังไม่ค่อยเข้าใจเป็นพิเศษแทน

.

ออกแบบ Rubric ยังไงดี ต้องอิงหลักสูตรไหม?

> Rubric เหมือนเป็นการออกแบบของครู 

สร้างโมเดลพฤติกรรมการเรียนรู้ที่เราคาดหวังขึ้นมา

ซึ่งอาจจะเอามาจากหลักสูตรแกนกลางก็ได้ 

ตัวชี้วัดก็ได้ ลองเอามาปรับรวมกันก็ได้

มันอาจจะเริ่มจากในห้องเลย หลังเราสอนเสร็จ

มา reflect กันเลยว่าเป็นยังไง อยากรู้อะไรเพิ่ม 

ค่อยๆ ปรับจาก feedback เด็กๆ ก็ได้ 

ครูอาจจะต้องใช้พลังงานตอนเริ่มนิดนึง แต่เราว่ามันคุ้ม

.

ทำไงให้เด็กๆ เข้าใจการประเมิน ไม่ประเมินเข้าข้างตัวเอง?

> ครูต้องใจแข็ง ว่าเด็กๆ ทำได้ระดับนี้ก็คือเท่านี้ 

แต่ต้องย้ำกับเขาว่ามันไม่เป็นไร เพราะเขาพัฒนาได้ ทำใหม่ได้

เราอิงจากหลักฐานการเรียนรู้ของเด็กๆ 

ถ้ารูบิคเรายิ่งชัด เด็ก ๆ จะไม่งอแง ต้องใช้เวลาค่อยๆ 

ฝึกเขาให้เทียบหลักฐานการประเมินเข้ากับเกณฑ์ให้ชัดเจน 

บอกเด็กว่า “ครูไม่ใช่คนตัดสิน ไม่ใช่คนให้คะแนน” 

แต่เกณฑ์ของรูบิคและผลงานการเรียนรู้ของเด็กๆ ต่างหาก 

ครูเป็นเพียงคนช่วย ต้องให้เด็กทำความเข้าใจใหม่ด้วยว่า 

“การเรียนรู้ของเขาคือเขาทำเอง ไม่ใช่ครูเป็นผู้ให้”

.

เด็กคัดลอกงานกันมาส่ง ทำยังไงดี?

> ส่วนหนึ่งที่เด็กลอก อาจจะมาจากการตัดสินคะแนน

ผ่านการประเมินแบบเก่า อย่างการสอบ การตัดสิน

อาจจะเริ่มแก้ยาก แต่เราอาจจะต้องเริ่มคุยกับเด็ก

ว่าเป้าหมายการประเมินคืออะไร สำคัญยังไง

กับการเรียนรู้ของเขา อยากให้ครูช่วยอะไรไหม

แต่ไม่ใช่ไปตัดคะแนน อันนั้นมันเป็นการแก้ไขแบบปลายเหตุมากๆ 

มันต้องค่อยๆ ปรับเปลี่ยนกันไปทั้งระบบ

ถ้าเรายังวัดผลแบบเดิม สอนแบบเดิม พฤติกรรมก็อาจจะไม่เปลี่ยน

ครูลองออกแบบข้อสอบแบบที่ลอกกันไม่ได้ไหมนะ

.

สรุปจาก Live “วัดและประเมินผลยังไงให้ดีต่อใจเด็ก” insDemo Class 

โดยครูกวาง จากโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ครูแพรว ครูแสน ครูกอล์ฟ ครูเติ้ล และครูเก๋

ทาง insKru ขอขอบคุณวิธีและมุมองดีๆ จากคุณครูทุกคนด้วยค่า

ดูย้อนหลังแบบเต็มๆ ได้เลยที่: 

https://www.facebook.com/InskruThailand/videos/2825486314408789

.

.

#การวัดผลไม่ได้มีแค่สอบ

#วัดและประเมินผลแบบให้เด็กประเมินตนเอง

#insKru

#เพราะทุกการประเมินผลเป็นไปได้


Content and Graphic by kp.

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(11)
เก็บไว้อ่าน
(3)