icon
giftClose
profile

เรื่องเล่าจากห้องเรียนฟิสิกส์

13033
ภาพประกอบไอเดีย เรื่องเล่าจากห้องเรียนฟิสิกส์

นับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) รูปแบบกิจกรรมก็เปลี่ยนแปลงไป นักเรียนไม่ได้มีโอกาสจับอุปกรณ์การทดลองเลย แต่ ๆ อย่าให้ปัญหาหรืออุปสรรคใด ๆ มากีดขวางการเรียนรู้ในเมื่อเรามีเทคโนโลยีที่ทันสมัย สามารถทำการทดลองได้จากบ้านของนักรียนเอง

เชื่อว่าครูฟิสิกส์กำลังปวดหัวกับการสอนออนไลน์อย่างแน่นอน พยายามคิดหากิจกรรมมาจัดในห้องเรียน เพื่อให้นักเรียนชื่นชอบกับการเรียนฟิสิกส์และเรียนฟิสิกส์ได้อย่างเข้าใจ วิชาการเกินไปก็ไม่ได้ ....ดังนั้น กิจกรรมห้องเรียนฟิสิกส์ในภาคเรียนนี้ จึงได้ออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอนที่ให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติผ่านการคิดวิเคราะห์ การอภิปรายร่วมดัน ตลอดจนให้นักเรียนทำการทดลองด้วยโปรแกรมทดลองออนไลน์ ซึ่งเปรียบเสมือนกับการทดลองในห้องปฏิบัติการจริง โดยให้นักเรียนจับกลุ่มร่วมกันศึกษาเอกสารประกอบการเรียนล่วงหน้า ครูแนะนำพร้อมสาธิตการใช้โปรแกรมทดลองออนไลน์ (โปรแกรมทดลองออนไลน์ที่ใช้ได้แก่ PhET, SciMath, physicclassroom , javalab เป็นต้น) เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกัน พร้อมให้นักเรียนบันทึกผลการทำกิจกรรมและตอบคำถามลงใน Google Doc , Google Slide , liveworksheets หรือ Padlet หลังจากนั้นจึงนำเสนอและอภิปรายผลร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การลงข้อสรุปและสร้างคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์


ตัวอย่างกิจกรรมการเรียนการสอนออนไลน์ เรื่อง สมบัติการหักเหของคลื่น

ขั้นนำ/สร้างความสนใจ/กระตุ้นคิด

1.ครูเตรียมความพร้อมให้กับนักเรียนโดยการแจ้งช่องทางการเรียนให้กับนักเรียนกลุ่ม Online ผ่านระบบ Google Meet พร้อมทั้งชี้แจงหัวข้อและวัตถุประสงค์ของการเรียนในวันนี้ให้นักเรียนรับทราบ

2.ครูตั้งประเด็นปัญหาให้นักเรียนช่วยกันหาคำตอบผ่านกิจกรรม “มายากลล่องหน” โดยเล่นมายากลให้นักเรียนรับชมผ่านวิดีโอที่ครูทำการการทดลองมา พร้อมใช้คำถามเพื่อกระตุ้นความคิดของนักเรียน

         2.1 ครูให้นักเรียนแต่ละคนสังเกตดูเหรียญที่วางอยู่บริเวณก้นของบีกเกอร์(ดูในแนวระดับสายตา) หลังจากนั้นค่อย ๆ เทน้ำเปล่าลงไปในบีกเกอร์จนเกือบเต็ม ในระหว่างนั้นให้นักเรียนสังเกตไปพร้อม ๆ กัน โดยถามนักเรียน ดังนี้

-ในตอนแรกที่ยังไม่เทน้ำลงไป นักเรียนสังเกตเห็นอะไรบ้าง

(แนวคำตอบ เหรียญที่อยู่ในบีกเกอร์ )

-หลังจากที่ครูค่อย ๆ เทน้ำลงไป นักเรียนสังเกตเห็นอะไร 

(แนวคำตอบ มองไม่เห็นเหรียญที่อยู่ในบีกเกอร์)

2.2 มายากลล่องหนเรื่องที่ 2 ครูให้นักเรียนสังเกตดูเมล็ดพืชที่อยู่ในหลอดทดลองและกำลังจะจุ่มลงไปในน้ำ โดยใช้ถามกับนักเรียน ดังนี้

-ในตอนแรกที่ยังไม่จุ่มหลอดทดลองลงไป นักเรียนสังเกตเห็นอะไรบ้าง

(แนวคำตอบ เห็นเมล็ดพืชที่อยู่ในหลอดทดลอง)

-หลังจากที่ครูจุ่มหลอดทดลองลงไปในน้ำ นักเรียนสังเกตเห็นอะไร 

(แนวคำตอบ มองไม่เห็นเมล็ดพืชที่อยู่ในหลอดทดลอง ราวกับว่าหายไป)

-นักเรียนคิดว่าเป็นเพราะเหตุใด เราถึงมองไม่เห็นเหรียญในบีกเกอร์เมื่อเทน้ำลงไป และมองไม่เห็นเมล็ดพืชในหลอดทดลองหลังจากจุ่มลงไปในน้ำ

(แนวคำตอบ สาเหตุเกิดจากการหักเหของแสงที่ทำให้เราเห็นเหรียญหายในบีกเกอร์หายไป หรือมองไม่เห็นเมล็ดพืชในหลอดทดลอง ประกอบกับมีการเดินทางคลื่นแสงผ่านตัวกลาง 2 ชนิดได้แก่ น้ำ และแก้ว แล้วเกิดการหักเห ทำให้มองเห็นภาพผิดปกติไปจากความเป็นจริง)

3. จากสถานการณ์ข้างต้น นักเรียนและครูร่วมกันอภิปรายคำตอบ พร้อมทั้งเขียนคำสำคัญต่าง ๆ ไว้บนสไลด์ประกอบการเรียน พร้อมทั้งใช้สถานการณ์ข้างต้นเชื่อมโยงเข้าสู่บทเรียนเรื่อง สมบัติการหักเหของคลื่นในวันนี้ 

 

ขั้นกิจกรรม

   4. แบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 3-4 คน เพื่อปฏิบัติกิจกรรมร่วมกัน

   5. ครูส่ง Link การทดลองออนไลน์ให้นักเรียนในกลุ่มไลน์ประจำวิชา พร้อมทั้งชี้แจงจุดประสงค์การทำกิจกรรม อธิบายวิธีการใช้งานโปรแกรม วิธีการปฏิบัติกิจกรรม และสาธิตการทดลองเบื้องต้นให้นักเรียนเกิดคามรู้ความเข้าใจร่วมกันอย่างถูกต้อง โดยสื่อการทดลองดังกล่าวเป็นการใช้โปรแกรมจำลองสถานการณ์การทดลองออนไลน์ของเว็บไซต์ PhET สื่อที่ครูผู้สอนเลือกมาเป็นการใช้สื่อทดแทนบทเรียน ซึ่งสามารถใช้แทนบทเรียนเรื่องสมบัติการหักเหของคลื่นได้ (ที่มา : https://phet.colorado.edu/sims/html/bending-light/latest/bending-light_th.html

6. เมื่อนักเรียนเข้าใจวิธีการใช้งานและจุดประสงค์ของการเรียนโดยใช้โปรแกรมจำลองสถานการณ์การทดลองออนไลน์ของเว็บไซต์ PhET แล้ว นักเรียนแต่ละกลุ่มรับแบบบันทึกกิจกรรม เรื่อง สมบัติการหักเหของคลื่นเพื่อบันทึกผลการทดลองลงใน Google Doc (การบันทึกและรายงานผลการทดลองคุณครูสามารถใช้ Google Slide , liveworksheets หรือ Padlet ได้เช่นเดียวกัน) ให้สมาชิกแต่ละกลุ่มแบ่งหน้าที่ทำงานให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนด (กำหนดเวลาในการทำกิจกรรม 30 นาที) นักเรียนสามารถประชุมกลุ่มย่อยได้ผ่านระบบเทคโนโลยีที่นักเรียนถนัดหรือครูอำนวยความสะดวกด้วยการสร้างห้องประชุมกลุ่มย่อยใน Google Meet เพื่อให้นักเรียนเข้าไปทำกิจกรรมกลุ่มร่วมกัน

7. ครบกำหนดเวลา นักเรียนแต่ละกลุ่มกลับมายังห้องประชุมใหญ่ นำเสนอผลการทดลอง เรื่อง สมบัติการหักเหของคลื่น โดยนำเสนองานผ่าน

8. นักเรียนแต่ละกลุ่มอภิปรายผลการทดลองร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การลงข้อสรุปเกี่ยวกับหลักการหักเหของคลื่นที่ถูกต้อง พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้แต่ละกลุ่มชักถามร่วมกัน

9. จากการลงข้อสรุปการทดลอง เรื่อง สมบัติการหักเหของคลื่น ครูอธิบายความรู้เพิ่มเติมให้กับนักเรียนโดยใช้สื่อ Power Point ร่วมกับ โปรแกรม PhET เพื่อสร้างองค์ความรู้ที่ถูกต้องให้กับนักเรียนพร้อมทั้งเชื่อโยงกิจกรรมการทดลองกับบทเรียนของคลื่นน้ำในกรณีที่คลื่นเคลื่อนที่จากบริเวณน้ำลึกไปน้ำตื้น หรือน้ำตื้นไปน้ำลึก เทียบเคียงกับผลการทำกิจกรรม

ขั้นสรุป

10. นักเรียนร่วมกันสรุปองค์ความรู้จากการเรียนเรื่อง สมบัติการหักเหของคลื่น โดยใช้ชื่อกิจกรรมว่า “กิจกรรมเกมส์ลูกโซ่” ด้วยการให้นักเรียนสรุปความรู้คนละ 1 ประโยค ที่ได้จากการเรียนในวันนี้ ลงใน Google Doc ที่ครูสร้างขึ้น ซึ่งนักเรียนทุกคนจะได้เห็นข้อความของเพื่อน ๆ พร้อมกัน (กิจกรรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ที่ปรับเปลี่ยนจากการตอบคำถามในใบงานหรือแบบฝึกหัดมาเป็นการสะท้อนคิดสิ่งที่ได้เรียนรู้ ซึ่งจะช่วยให้ครูผู้สอนสามารถประเมินผู้เรียนได้เป็นรายบุคคลได้อย่างชัดเจน)

 

ขั้นเชื่อมโยงความรู้

   11. นักเรียนแสดงความคิดเห็นร่วมกันเกี่ยวกับการนำความรู้เรื่อง การหักเหของคลื่นไปใช้ในชีวิตประจำวัน

12.ชิ้นงานมอบหมายคลื่นกลในชีวิตประจำวัน


ผลที่เกิดขึ้นจากการจัดกิจกรรม

  1. กิจกรรมการเรียนการสอนเน้นการลงมือปฏิบัติที่เป็น Active Learning ให้นักเรียนได้สืบเสาะหาความรู้ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์
  2. นักเรียนได้ฝึกกระบวนการทำงานกลุ่ม การวางแผนการทำงานและแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าร่วมกัน
  3. กิจกรรมการอภิปรายและสรุปหลังบทเรียน ผู้สอนสามารถประเมินได้ว่าการเรียนรู้ในวันนี้นักเรียนแต่ละคนผ่านจุดประสงค์การเรียนรู้หรือไม่ 


⭐️ โปรแกรมต่าง ๆ เหล่านี้คุณครูหลาย ๆ ท่านน่าจะมีประสบการณ์ในการใช้งานมาบ้างแล้ว ผ่านการสาธิตให้นักเรียนดู แต่เราสามารถออกแบบกิจกรรมให้นักเรียนลงมือปฏิบัติด้วยตนเองได้ อาจจะต้องบริหารจัดการชั้นเรียนและใช้ระยะเวลามากกว่าปกติ เนื่องจากเป็นกิจกรรมการเรียนการสอนออนไลน์ ในการสอนมากกว่าความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาทางด้านวิทยาศาสตร์แล้ว นักเรียนควรจะได้รับพัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ด้วย ถึงแม้จะไม่เต็มที่ 100% แต่อย่างน้อยนักเรียนได้ฝึกคิด ฝึกวางแผนและแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ด้วยตนเอง….

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(4)
เก็บไว้อ่าน
(2)