icon
giftClose
profile
frame

MACA MODEL สอนวิทยาศาสตร์อย่างไรให้โดนใจนักเรียน

1700718

การมีส่วนร่วมของนักเรียนเป็นสิ่งสำคัญในทุกวินาทีของการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนอนไลน์ ...

นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทำให้ระบบการศึกษาต้องมีการปรับเปลี่ยนและพัฒนา เพื่อให้การเรียนรู้เกิดความต่อเนื่อง เมื่อต้องจัดกิจกรรกมารเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ โดยเฉพาะการเรียนการสอนในรายวิชาวิทยาศาสตร์ ที่เน้นการเรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติ การทดลอง การสืบเสาะหาความรรู้ นักเรียนเป็นผู้สร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง ซึ่งการเรียนออนไลน์ไม่ได้เอื้อต่อการจัดกิจกรรมและการเรียนรู้ของนักเรียนเลย ส่งผลให้นักเรียนขาดการเชื่อมโยงความรู้กับชีวิตจริ นักเรียนเกิดความเบื่อหน่ายในการเรียนและมีเจคติในเชิงลบต่อการเรียนวิทยาศาสตร์ อีกทั้งทำให้ครูและนักเรียนมีปฏิสัมพันธ์ในการเรียนร่วมกันน้อยลง ดังนั้นครูจึงต้องออกแบบกิจกรรม หาเทคนิคและวิธีการในการดึงดูดความสนใจของนักเรียน ให้เสมือนกับการมานั่งเรียนด้วยกันในห้องเรียนตามปกติ ด้วยเหตุนี้ ครูจึงมีการปรับเปลี่ยนขั้นตอนและกิจกรรมการเรียนการสอนด้วยเทคนิคใหม่ ๆ เน้นการมีส่วนร่วมและให้นักเรียนได้ฝึกใช้ทักษะที่จำเป็นแห่งการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ท้าทาย จึงนำไปสู่การออกแบบการเรียนรู้ที่ให้นักเรียนเป็นผู้สร้างข้อค้นพบการเรียนได้ด้วยตนเอง สร้างสรรค์ชิ้นงานที่เชื่อมโยงความรู้วิทยาศาสตร์กับชีวิตประจำวัน เน้นการสื่อสารจากนักเรียนเป็นหลัก ให้นักเรียนมีบทบาทในทุกขั้นตอนของการทำกิจกรรม โดยมีครูเป็นผู้คอยให้คำชี้แนะหรืออำนวยการเรียนรู้ให้กับนักเรียน ดังนี้


Motivation : เตรียมพร้อม นำนักเรียน ให้ชวนคิด

เตรียมความพร้อมของนักเรียน สร้างความสนใจ กระตุ้นความคิดด้วยสถานการณ์ข่าวในปัจจุบัน รวมทั้งการใช้เกมส์ คำถามชวนคิด สื่อภาพยนตร์ โปรแกรมหรือเว็บไซต์ของหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีเนื้อหาสาระสอดคล้องกับสาระการเรียนรู้ในหลักสูตร ฯ ใช้คำถามเป็นตัวกระตุ้นให้นักเรียนมีกระบวนการคิดอย่างเป็นลำดับขั้นตอน แสดงความคิดเห็นและอภิปรายร่วมกันอย่างมีเหตุผล  คำตอบของนักเรียนจะเป็นประเด็นที่เชื่อมโยงเข้าสู่บทเรียนประจำวัน

ตัวอย่างกิจกรรมขั้น Motivation


Activity & Application : ด้วยตัว กิจกรรม น่าค้นหา

เนื่องจากเป็นการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ นักเรียนส่วนใหญ่ไม่เปิดกล้อง ดังนั้นกิจกรรมที่นำมาใช้ในขั้นตอนนี้จึงเน้นไปที่การมีส่วนร่วมของนักเรียนทุกคนให้ห้องเรียน ผ่านการลงมือปฏิบัติ การศึกษาค้นคว้า สืบค้น รวบรวมข้อมูลจากสื่อและแหล่งเรียนรู้ที่ครูออกแบบไว้ การทดลองอย่างง่ายหรือการทดลองผ่านโปรแกรมทดลองออนไลน์เสมือนจริงต่าง ๆ เช่น PhET, SciMath, physicclassroom, javalab เป็นต้น พร้อมทั้งมีการบันทึกข้อมูลการทดลองและนำเสนอเสนอผลการทดลองผ่าน Google Doc หรือ Google Slide กิจกรรมการถาม-ตอบในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับวิทยากรภายนอก กิจกรรมการสืบค้นข้อมูลเพื่อนำมาแลกเปลี่ยนในกระดานสนทนา Padlet โดยทุกกิจกรรมที่จัดขึ้น ครูผู้สอนจะทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ให้กับนักเรียนมากกว่ามุ่งเน้นการสอนแบบบรรยาย ทั้งนี้เพื่อพัฒนานักเรียนให้เป็นบุคคลที่มีคุณลักษณะของเด็กในศตวรรษที่ 21 ที่ไม่ได้มีแค่ความรู้ทางวิชาการเท่านั้น แต่จะต้องมีความสามารถในสืบเสาะหาความรู้และนำความรู้เหล่านั้นไปใช้ให้เกิดประโยชน์

ตัวอย่างกิจกรรมขั้น Activity & Application


Conclusion & Communication : ให้สรุป การเรียนรู้ ทุกเวลา

ในขั้นตอนนี้นักเรียนจะต้องสรุปประเด็นการเรียนรู้ประจำวันท้ายคาบหรือสรุปกิจกรรมการเรียนร่วมกันกับเพื่อนและครูผู้สอน โดยมีรูปแบบที่หลากหลาย เช่น การสรุปประเด็นการเรียนรู้ในช่องแชทของ Google Meet กิจกรรมเกมส์ลูกโซ่ใน Google Doc กิจกรรมเกมส์ตอบคำถามต่าง ๆ หรือกิจกรรมสรุปผลการเรียนใน Padlet ทั้งนี้รูปแบบกิจกรรมการสรุปประเด็นการเรียนรู้จะปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมตามเนื้อหาในบทเรียน นับเป็นอีกขั้นตอนที่มีความสำคัญอย่างมากสำหรับการเรียนการสอนออนไลน์ ครูผู้สอนสามารถวัดและประเมินผลการเรียนรู้ของนักเรียนได้ เพื่อตรวจสอบว่านักเรียนมีแนวคิดทางวิทยาศาสตร์คลาดเคลื่อนหรือไม่ นักเรียนยังโฟกัสอยู่กับกิจกรรมการเรียนหรือไม่  ตลอดจนได้เห็นถึงพัฒนาการทางด้านการเรียนของนักเรียนแต่ละคน  

ตัวอย่างกิจกรรมขั้น Conclusion & Communication


Apply : เพื่อนำพา เข้าสู่ ชีวิตจริง

เป้าหมายสำคัญอย่างหนึ่งของการเรียนวิทยาศาสตร์ คือ การที่นักเรียนสามารถนำความรู้ ความเข้าใจจากบทเรียนไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและการดำรงชีวิต  ตลอดจนพัฒนากระบวนการคิด ความสามารถในการแก้ปัญหา ทักษะการจัดการ ทักษะในการสื่อสารความรู้ทางวิทยาศาสตร์และความสามารถในการตัดสินใจอย่างสมเหตุสมผล ดังนั้นเมื่อมีการเรียนการสอนในเรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้วจำเป็นอย่างยิ่งที่ครูผู้สอนจะต้องให้นักเรียนได้ฝึกกระบวนคิดเชื่อมโยงเนื้อหาสาระต่าง ๆ กับชีวิตประจำวันผ่านการสร้างสรรค์ชิ้นงาน การแก้ไขปัญหา การอธิบายเหตุการณ์หรือปรากฎการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้ด้วยตนเอง โดยใช้คำถามเป็นตัวกระตุ้นความคิด เช่น เรื่องที่เรียนรู้ในวันนี้เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของนักเรียนอย่างไร มีเหตุการณ์ใดบ้างในสังคมที่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์สามารถให้คำอธิบายได้ หรือการวิเคราะห์ข่าว Fake New ต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งในขั้นตอนนี้ไม่จำเป็นต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จในชั้นเรียนเสมอไปเนื่องจากข้อจำกัดของเวลา ครูผู้สอนสามารถมอบหมายเป็นชิ้นงานหรือกิจกรรมนอกเวลาเรียนเพิ่มเติมได้ เช่น การถอดบทเรียนในชีวิตประจำวัน กิจกรรม SCIENCE AT HOME วิทยาศาสตร์ในบ้านของนักเรียน เป็นต้น

ตัวอย่างกิจกรรมขั้น Apply


การวัดและประเมินผลการเรียนรู้

มุ่งเน้นไปที่การประเมินเพื่อการเรียนรู้ (Assessment For Learning) ของนักเรียน โดยมีการวัดและประเมิการเรียนในทุกขั้นตอนของการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน เช่น การตอบคำถามของนักเรียนในคาบเรียน การปฏิบัติกิจกรรม การทําแบบฝึก การสังเกตพฤติกรรมการมีส่วนร่วมในชั้นเรียน การสรุปประเด็นการเรียนรู้ เป็นต้น ตลอดจนการสอบกลางภาคและปลายภาคที่ใช้วิธีการหลากหลาย ไม่ได้มุ่งเน้นการสอบด้วยแบบทดสอบเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีการการวัดและประเมินผลด้วยการนำเสนองาน การสัมภาษณ์ การสะท้อนคิดผ่านชิ้นงาน การมอบหมายงาน

นอกจากคะแนนจะมาจากครูผู้สอนแล้ว คะแนนจากการประเมินตนเองของนักเรียนและการประเมินโดยเพื่อนจะถูกนำมาเป็นส่วนหนึ่งของการวัดและประเมินผลด้วย

ตัวอย่างการวัดและประเมินผลการเรียนรู้


ผลที่เกิดขึ้นจากการจัดกิจกกรมการเรียนรู้

  • นักเรียนเป็นผู้สร้างแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ผ่านการลงมือปฏิบัติกิจกรรมด้วยตนเองทุกขั้นตอน
  • นักเรียนได้รับการพัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และทักษะแห่งการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21
  • ช่วยพัฒนากระบวนการคิดของนักเรียน ให้คิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล และลงข้อสรุปด้วยการหยิบยกหลักฐานมาเป็นตัวสนันสนุนประกอบการอธิบาย โดยเฉพาะการเรียนรู้ผ่านสถานการณ์จริงที่พบเห็นได้ในชีวิตประจำวันของตนเองหรือเป็นสถานการณ์ที่นักเรียนมีประสบการณ์ร่วม
  • พัฒนาทักษะทางด้านเทคโนโลยีให้กับนักเรียน เนื่องจากต้องทำการบันทึกผลการทดลองในรูปแบบออนไลน์ เพื่อให้เพื่อน ๆ ที่อยู่ต่างสถานที่ได้เห็นผลงานของทุกคน
  • นักเรียนสร้างสรรค์ชิ้นงานที่มีความหมายต่อการเรียน เกิดความภาคภูมิใจในตนเองจากการสร้างสรรค์ชิ้นงาน และได้สื่อสารความรู้ทางวิทยาศาสตร์ด้วยวิธีการที่หลากหลาย
  • ด้วยกิจกรรมการเรียนการสอนที่เป็น Active Learning นักเรียนจึงรับบทเป็นผู้นำแห่งการเรียนรู้ในทุกขั้นตอน บรรยากาศในชั้นเรียนจึงเป็นไปอย่างสนุกสนาน

ท้ายที่สุดไม่ว่าจะจัดกิจกรรมอะไร เสียงสะท้อนของนักเรียนยังคงสำคัญเสมอ

นอกจากให้นักเรียนได้ประเมินการสอนของครูแล้ว การประเมินการเรียนนรู้ของตนเองก็มีความสำคัญ เพราะจะนำไปสู่การวางแผนการเรียนและพัฒนาตนเองให้ดียิ่งขึ้น


**ขอบคุณแบบฟอร์มการประเมินจาก Inskru ที่ทำให้การประเมินการสอนง่ายขึ้น อีกทั้งได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงและพัฒนาการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนต่อไป


แนวทางการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนวิทยาศาสต์ด้วยกระบวนการ MACA MODEL เกิดมาจากการสังเคราะห์ รวบรวมข้อมูลจุดแข็งและจุดที่ต้องพัฒนาในการจัดกิจกรรมแต่ละคาบเรียน เพื่อให้สามารถนำแนวทางหรือเทคนิคการสอนดังกล่าวไปใช้กับรายวิชาวิทยาศาสตร์ในทุกแขนงทุกศาสตร์ หากมีส่วนใดที่คุณครูเห็นว่าต้องพัฒนาสามารถแนะนำได้เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ทำให้การเรียนออนไลน์มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(40)
เก็บไว้อ่าน
(20)