ทำไมเส้นทางการเรียนรู้ของเด็กคนหนึ่ง และเส้นทางการเป็นครูของครูคนหนึ่ง
ถึงต้องถูกตัดสินด้วยการประเมินวัดผลและคะแนนด้วย?
.
นี่เป็นคำถามที่คุณ Jesse Hagopian คุณครูในรัฐ Seattle ตั้งคำถามกับระบบการสอบ Map Test*
(การสอบเพื่อวัดความรู้นักเรียนโดยใช้ระบบ computer adaptive คือระบบจะเลือกคำถามให้ตรงกับระดับความรู้นักเรียน เป็นการสอบที่เด็ก ๆ ต้องสอบ 2-3 ครั้งต่อปีการศึกษา เพื่อวัด "ความเติบโตทางวิชาการ")
จะเกิดอะไรขึ้นกันนะ เมื่อครูและเด็กๆ ร่วมมือกัน “โหวตยกเลิกการสอบ”!
.
🌷ครู Jesse คุณครูสอนสังคมศึกษาในโรงเรียนแห่งหนึ่งในรัฐ Seattle เล่าให้ฟังว่า
ตอนเด็กๆ เวลาที่ครู Jesse ไปรับผลคะแนนจากครู พร้อมกับคุณแม่ เขามักอยากจะหนีทุกที
เพราะคุณครูมักจะบอกแม่เขาว่า คะแนนของเขานั้นอยู่ “ต่ำกว่าเกณฑ์”
(น่าจะคล้ายกับเด็กๆ หลายๆคนที่ต้องเจอเพราะความกดดันเรื่องคะแนนจากระบบการสอบ)
แต่เมื่อครู Jesse โตขึ้น เรียนมหาวิทยาลัย เขากลับอยากย้อนไปบอกตัวเองตอนเด็กว่า
อย่าเครียดหรืออย่ากลัวไปเลยว่าตัวเองไม่มีความสามารถ “ถึงเกณฑ์”
เพราะจริงๆ แล้ว อาจไม่มีเด็กที่ “คะแนนต่ำกว่าเกณฑ์” หรือ “ความสามารถต่ำกว่าเกณฑ์”
เพียงแต่เด็กบางคนอาจมีกระบวนการการเรียนรู้ หรือทำความเข้าใจ
ได้ “ช้ากว่าเกณฑ์การวัดผลด้วยการสอบและถูกตัดสินด้วยคะแนน”
เมื่อครู Jesse เข้ามหาวิทยาลัยเขากลับค้นพบว่า
ที่จริงแล้วเขามีทักษะการสื่อสารไอเดียตัวเองออกมาได้อย่างชัดเจน
ซึ่งจำเป็นสำหรับการนำเสนองานและการเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมอื่นๆ ที่เขาทำ
ซึ่งทักษะเหล่านั้น อาจะไม่สามรถวัดได้ด้วยข้อสอบปรนัยหลายตัวเลือก
และเขาใช้เวลานานกว่าที่จะเข้าใจว่า จริงๆ แล้วทักษะเหล่านั้นมีคุณค่ามาก
(แม้อาจไม่ได้มีคุณค่าในสายตาหลักสูตรโรงเรียน หรือ การสอบวัดระดับต่างๆ ก็ตาม)
เช่นเดียวกันกับเด็กๆ ทุกคนที่มีทักษะที่เฉพาะตัว เพียงแต่ทักษะบางอัน
อาจะไม่ได้อยู่ในหลักสูตร หรืออาจไม่ได้ถูกวัดได้ด้วยการสอบในโรงเรียน
ทั้งๆ ที่เป็นทักษะที่สำคัญและควรสนับสนุนเด็กๆ
พอเรียนจบมหาลัย เขาเลยตัดสินใจมาทำงานด้านการศึกษาด้วยการเป็นครู
วันหนึ่งเพื่อนร่วมงานของครู Jesse บอกเขาว่า เธอจะ “ไม่จัดการให้มีการสอบ Map Test*”
(การสอบเพื่อตัดสินทักษะทางคณิตศาสตร์เด็กและเพื่อประเมินครู เป็นการสอบที่ดูเหมือนจะต่างจากการสอบวัดเกรดทั่วไป เพราะว่าเป็นการสอบผ่านระบบ computer adaptive ที่เมื่อเด็กตอบคำถามหนึ่งถูก
ระบบจะเด้งคำถามที่ยากขึ้นมาให้ และเมื่อตอบผิดระบบจะเด้งคำถามที่ง่ายลงให้
เป็นการสอบที่เด็ก ๆ ต้องสอบ 2-3 ครั้งต่อปีการศึกษา เพื่อวัด "ความเติบโตทางวิชาการ")
ระบบนี้ว่ากันว่าจะเป็นการช่วยให้ครูได้ดูแลการเรียนรู้ของเด็กๆ ได้ตรงจุดมากขึ้น
แต่ครู Jesse ไม่ได้มองแบบนั้น เขามองว่าแม้เราจะเปลี่ยนรูปแบบ “การสอบ”
จากดินสอ-กระดาษ มาเป็นการใช้ระบบ computer adaptive แล้วก็ตาม
แต่เราจะเรียกสิ่งเหล่านี้ว่าเป็น “พัฒนาการทางการศึกษา” ได้จริงหรือ?
ในเมื่อสิ่งที่เปลี่ยนไปคือแค่เครื่องมือหรือระบบที่ใช้
ไม่ใช่วิธีการคิดในการวัดผลการเรียนรู้ของเด็ก (ที่สุดท้ายก็ใช้วิธีตัดสินอยู่ดี)
สิ่งที่สำคัญไปกว่าคะแนน คือการให้โอกาสเรียนรู้ต่างหาก
🌷ครู Jesse และเพื่อนที่เสนอไอเดียเริ่ม “จัดการโหวตนิรนามในโรงเรียน” ที่จะ "ยกเลิกการสอบ" นี้
โดยการให้เหตุผลต่างๆ เช่น เด็ก ๆ มีการสอบวัดประเมินอยู่แล้ว, ข้อสอบเป็นภาษาอังกฤษ ในขณะที่เด็กๆ ในโรงเรียนมีความหลากหลายในการใช้ภาษาอังกฤษมี คนที่พูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่อาจได้เปรียบด้านภาษามากกว่า ฯลฯ
แต่แน่นอนว่าการโหวตยกเลิกการสอบย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย
ทางเขตไม่ได้รับฟังความกังวลเรื่องนี้ของพวกเขาเลย
แถมศึกษาธิการยังขู่พักงานครูที่ลงชื่อโหวตเป็นเวลา 10 วันอีกด้วย!
ในขณะที่เราคิดว่าเรื่องนี้จะจบลงด้วยการประท้วง (ฮา) ครู Jesse ก็เล่าต่อว่า
ผลปรากฎว่าทั้งโรงเรียนไม่ได้มีใครกลัว ทั้งกลุ่มครูและเด็กร่วมกันลงโหวตยกเลิกการสอบด้วยกัน
(รวมทั้งมีโหวตนิรนามจากสภานักเรียนด้วย!)
หลังจากที่ข่าวการโหวตยกเลิกการสอบของโรงเรียนครู Jesse และเพื่อนครูได้ถึงหูคนในรัฐอื่นๆ
ก็ได้การสนับสนุนจากคนในรัฐอื่นๆ ที่มาร่วมแสดงจุดยืนยกเลิกการสอบนี้ด้วย
ตอนจบเทอมกลายเป็นว่าศึกษาธิการของรัฐ Seattle
ที่ขู่จะพักงานครูที่ออกมาร่วมลงชื่อ 10 วัน ในที่สุดก็ยอมยกเลิกการสอบ Map Test ไป
สิ่งที่น่าทึ่งคือผลการร่วมมือกันโหวตของครูและนักเรียนไปไกลกว่านั้น
มันไม่ได้หยุดแค่ที่รัฐ Seattle แต่กลายเป็นมีเสียงโหวตจากครูรัฐอื่นๆ ทั่วประเทศด้วย
เด็กๆ ก็เดินออกจากห้องสอบนี้ ครูเองก็เริ่มออกมาปฏิเสธการจัดการสอบนี้ด้วยเช่นกัน
แม้แต่ผู้ปกครองเองก็พาลูกๆ ตัวเองออกจากการสอบแบบนี้ด้วย!
🤔 ครู Jesse ถามว่า “เรากำลังสู้กับใครล่ะ ในเรื่องนี้?”
ครู Jesse เรียกมันว่า “ระบอบสอบธิปไตย (Testrocracy)”
ที่มักอ้างว่า การจัดการสอบจะช่วยการันตีคุณภาพการศึกษาในโรงเรียนรัฐบาล
ให้มีมาตรฐานเดียวกัน อันจะนำมาซึ่งความเท่าเทียมด้านการศึกษาได้
แต่การสอบเป็นทางออกในการเพิ่มความน่าเชื่อถือของการวัดผลที่มีประสิทธิผลที่สุดจริงหรือ?
การจัดสอบแบบนี้ในอเมริกา มีบริษัทที่ได้กำไรจากการจัดการสอบ การติว
มากเป็นล้านๆ ดอลล่าร์ แบบนี้การสอบยังนำพามาซึ่งมาตรฐานที่เท่าเทียมอยู่หรือ
ในเมื่อการติวสอบต่างๆ ก็เริ่มต้นด้วยความไม่เท่าเทียมเสียแล้ว
รวมถึงนโยบายการสอบต่างๆ ทำให้เด็กอเมริกัน 1 คน
ตั้งแต่อนุบาลถึงมหาลัย ต้องเจอกการสอบ 112 ครั้งเป็นอย่างน้อย
ต้องใช้เวลาในการสอบวัดผล (และถูกตัดสินซ้ำไปซ้ำมา)
ยังไม่นับรวมเวลาการท่องจำ เตรียมสอบอีกมากมายที่เสียไป
แทนที่จะได้เอาไปพัฒนาการเรียนรู้
🤔 การสอบกลายจึงเป็นเรื่องที่ “มีความเสี่ยงสูง” (high stakes assessment)
เพราะการที่เด็กคนหนึ่งจะเรียนจบหรือผ่านชั้นเรียน
มันอาจขึ้นอยู่กับคะแนนจากการสอบครั้งๆหนึ่ง ๆ
หรืออาจจะแค่ หนึ่งคะแนน เพียงเท่านั้น
อาชีพครูเองก็เช่นกัน
วิชาชีพครูจะเป็นอย่างไรต่อไป กลับถูกตัดสินด้วยคะแนนและการประเมิน
โรงเรียนหนึ่งอาจถูกปิดได้ ก็เพราะคะแนนเฉลี่ยรวม “ไม่ถึงเกณฑ์”
แบบนี้มันใช่แล้วหรือ?
ทั้งที่เราไม่ควรลดทอนกระบวนการสอนและการเรียนรู้ให้เหลือเพียงแค่หลักฐานที่เป็นตัวเลข
🤔 แล้วถ้าไม่มีการสอบ เราจะรู้ได้ยังไงล่ะว่าเด็กเรียนรู้ มีทางเลือกอื่นไหม?
ทางเลือกอื่นที่ว่าก็คือ Authentic Assessment หรือ การประเมินที่มุ่งเน้นการพัฒนาและดูแลเด็กๆ
เพื่อให้เขามีความสามารถในการจัดการกับปัญหาที่เขาต้องเจอจริงๆ
และช่วยให้นักการศึกษาได้เข้าใจว่า พวกเขารู้อะไรมากน้อยแค่ไหน
ไม่ใช่ใช้คะแนนเพื่อเป็นการ “ลงโทษ[หรือตัดสิน]*”
กลับกลายเป็นว่าโรงเรียนหนึ่งใน New York ที่ใช้การวัดผลแบบนี้
เป็นโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จในการที่จะส่งต่อนักเรียนเข้าสู่มหาลัยหรือการศึกษาขั้นที่สูงต่อไปได้
ต่างจากข้ออ้างของ “ระบอบสอบธิปไตย (Testocracy)” ที่บอกว่าโรงเรียนที่วัดผลด้วยการสอบ
จะช่วยการันตีการเรียนรู้ของเด็กได้
เพราะในท้ายที่สุดแล้ว ในการแก้ปัญหาที่มีความเสี่ยงสูงที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้คนจริงๆ
อย่างเช่นเรื่องภาวะโลกร้อน เราไม่สามารถตอบหรือแก้ได้ด้วยตัวเลือก ก ข ค ง อย่างในข้อสอบ
แต่ต้องมาจากการสอนเรื่อง Critical Thinking และการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์
ให้เด็กๆ สามารถมองทะลุได้ไกลกว่าการเลือกคำตอบที่ถูกที่สุด (หรือผิดน้อยที่สุด)
เพราะปัญหาในโลกจริงนั้น ต้องมองเห็นความเชื่อมโยง ที่มาที่ไป
และต้องอาศัยการคิดวิเคราะห์และจินตนาการถึงความเป็นไปได้ในการแก้ปัญหาใหม่ๆ
การวัดผลที่ให้คนอื่นๆ มาร่วมแลกเปลี่ยน ร่วมต่อยอด ให้เด็กได้ฝึกคิดอธิบายด้วยเหตุผล
รวมถึงนำ feedback ที่เขาได้มาปรับปรุงงานของเขาให้ดีได้เรื่อยๆ อาจเป็นหนทางในการสร้างคน
ที่จะแบกรับอนาคตโลกของเรา ให้เป็นคนที่คิดเป็น แก้ปัญหาได้จริง
ไม่ใช่วิธีวัดผลแบบที่คนจะถูกตัดสินให้จบในครั้งเดียวเมื่อกริ่งเวลาดังว่าหมดเวลาสอบแล้ว
พอดูมาถึงจุดนี้ เราเองก็คิดเหมือนกันว่าระบบการศึกษาในอเมริกาและไทย
อาจมีความแตกต่างในการเสนอความคิดเห็น หรือการโหวต
ด้วยระบบวัฒนธรรมและอำนาจในระบบการศึกษา
เราเองก็ไม่แน่ใจว่าถ้าหากใช้วิธีการรวมเสียงโหวตการยกเลิกการสอบแบบนี้
จะสามารถสร้างกระแสและปลุกให้ทุกคนลุกขึ้นมาร่วมโหวตด้วยได้หรือไม่
แล้วสุดท้ายจะสามารถเรียกร้องให้มีการยกเลิกได้แบบที่อเมริกาหรือไม่
แต่สิ่งหนึ่งที่เราเห็นเหมือนกัน (หรือมีความหวังว่าอย่างนั้น)
คือ เราเห็นคนที่อยากเปลี่ยนแปลง และลุกขึ้นมา “ลอง” หาแนวร่วม
ลองหาวิธีในการผลักดันให้ยกเลิกการสอบและเปลี่ยนวิธีวัดผล
เราก็ยังเชื่อว่าน่าจะยังมีทางในการร่วมกันผลักดันในแบบของเรา
เพราะท้ายที่สุดแล้ว เรายังเชื่อว่าเสียงของทุกคนเมื่อรวมกัน
มันจะดังมากพอที่จะเปลี่ยนแปลงได้🤍
บทความนี้มาจากคลิป More than a Score: giving students a solid chance by Jesse Hagopian; "สำคัญมากกว่าให้คะแนน คือให้โอกาสในการเรียนรู้" ดูคลิปเต็มๆ ได้เลยที่:
👉 https://www.youtube.com/watch?v=gL64chNiuJQ
ถ้าคุณครูคนไหนอ่านหรือดูคลิปจบแล้ว เห็นด้วยหรือไม่อย่างไร
หรือว่ามีจุดไหนเพิ่มเติมหรือทางเราทำตกหล่นไป มาแชร์กันได้เลยนะคะ :--)
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย