icon
giftClose
profile

"สิ่งเล็กๆ ที่ครูทำ ไม่เคยสูญเปล่า" - ครูปุ้มไบโอ

15123
ภาพประกอบไอเดีย "สิ่งเล็กๆ ที่ครูทำ ไม่เคยสูญเปล่า" - ครูปุ้มไบโอ

ส่วนหนึ่งจากการคุยกับ "ครูปุ้ม กมลรัตน์ ฉิมพาลี" หรือ "ครูปุ้มไบโอ" นักเรียนทุนวิทย์ที่เลือกเส้นทางมาเป็นครูชีววิทยา ผู้สร้างสรรค์การสอนในทุกๆ วันด้วยความเชื่อที่ว่า “ครูต้องมีเซ้นส์ความเป็นมนุษย์และจริงใจกับการศึกษา” และเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ก็เกิดจากคนตัว “เล็กๆ” ได้

🤔 คาบเรียนวิทยาศาสตร์ที่คุณเคยเรียนตอนเด็กๆ เป็นอย่างไร?


นี่เป็นคำถามที่เกิดขึ้นในใจเราหลังจากได้ลองอ่านไอเดียการสอน 

“หมู่เลือดเจ้าปัญหา: เปลี่ยนห้องสอนให้เป็นห้องสืบสวน” 🩸 ของครูปุ้มไบโอ 

ที่จำลองห้องเรียนให้เป็นฉากฆาตรกรรม เพื่อให้เด็กๆ สืบหาตัวคนร้ายจากหมู่เลือด

แน่นอนว่าเป็นแผนการ(สอน) ของครูปุ้ม ที่จะใส่การสอนเรื่องหมู่เลือดลงไป

พออ่านไอเดียจบเราก็อดคิดไม่ได้ว่า เด็กๆ ที่ได้เรียนชีวะไปด้วย

เล่นเป็นนักสืบไปด้วยในคาบเรียนนี่ “โชคดี” จริงๆ


🤔 แต่การศึกษาที่ดี ไม่ควรเป็นแค่ “โชคดี” ของใครบางคน เราเชื่อว่าครูคนหนึ่ง

สร้างการสอนที่ให้เด็กๆได้เรียนอย่างสนุกและมีประสิทธิภาพได้โดยไม่ต้องรอโชคดี

วันนี้เราได้โอกาสมานั่งคุย (ออนไลน์) กับครูปุ้ม กมลรัตน์ ฉิมพาลี

นักเรียนทุนวิทย์ที่เลือกเส้นทางมาเป็นครูชีววิทยานักสร้างไอเดียการศึกษา

อยู่ที่โรงเรียนถนนหักพิทยาคม จังหวัดบุรีรัมย์

ผู้สร้างสรรค์การสอนในทุกๆ วันด้วยความเชื่อที่ว่า

“ครูต้องมีเซ้นส์ความเป็นมนุษย์และจริงใจกับการศึกษา”

และเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ก็เกิดจากคนตัว “เล็กๆ” คนหนึ่งได้


🌷จากนัก(เรียนทุน)วิทย์ มาเป็นครูวิทย์: ทำไมถึงเลือกมาเป็นครู?


🙋‍♀️ ครูปุ้ม: ตอนแรกเราไม่ได้มีความฝันอยากเป็นครูเลย

เพราะเรามีภาพว่าเป็นครูลำบาก เลยตั้งใจว่าจะไม่เป็นครูเด็ดขาด

แต่ด้วยความที่เราชอบการสอน ชอบอธิบาย ชอบอยู่กับเด็ก

เราก็มองเห็นภาพตัวเองเป็นครูอยู่เหมือนกันลึกๆ ในใจ


ตอนเรียนจบทุนวิทยาศาสตร์ป.ตรี เราก็เลยเจอทางแยก

ว่าเราจะต่อโทเนื้อหาวิทย์เลย หรือว่าจะไปลองเป็นครูดูสักตั้งดี

แต่สุดท้ายแล้วเราก็นึกถึงคำว่า “Begin with the end”

คือเรามองเห็นภาพปลายทางของตัวเองไว้เป็นยังไง

เราเห็นภาพชัดมากว่าเราเดินพาเด็กเรียนรู้แมลง พืชพรรณในสวนดอกไม้ (ฮา)

ใจเราถึงที่สุดแล้วเราก็ชอบการสอน เราเลยตัดสินใจเลือกเป็นครู


💔 อกหักจากการเป็นครูครั้งแรก (และวิธีแก้อาการอกหัก) ❤️‍🩹


🙋‍♀️ ครูปุ้ม: พอมาสอนจริงๆ ห้าปีแรกที่เรา เรา “อกหัก” เลยนะ

ไม่เคยผิดหวังอะไรขนาดนี้มาก่อน

ด้วยความที่เราเป็นนักเรียนทุนที่อ่านหนังสือเอง 

ภาพที่เราคาดหวังคือ เราตั้งใจสอนเนื้อหาจัดเต็ม เทคนิคพร้อม

เราต้องมาสร้างเด็กที่เก่งมากๆ เด็กต้องได้เนื้อหาเน้นๆ 

แต่พอมาสอนจริงเราเจอเด็กหนีเรียนคาบเรา ช็อคเลย

เด็กบอกว่า ครูตั้งใจสอนดีมาก แต่ผมเรียนไม่ไหว

ผมไม่รู้จะเอาเนื้อหาลึกๆ เช่น การหายใจระบบเซลล์ วัฎจักรคัลวินไปใช้ตอนไหน

ทำไมผมต้องเรียนอะไรที่มันยากขนาดนี้ แล้วสุดท้ายไม่ได้นำไปใช้เลย


พอเจอแบบนี้เราเลยกลับมาทบทวนตัวเองว่าเรามีแต่เนื้อหา

แต่เราไม่รู้ว่าทำยังไงให้เด็กสนใจการเรียน

ตอนนั้นเราก็เริ่มเข้าอบรมการสอน เรียนเรื่องการเป็นครูมากขึ้น

เลยได้รู้ว่าการสอนต้องมีขั้นนำ ต้องมีเรื่องราว ทำให้เด็กสนใจ

การเป็นครูต้องมีความรู้ว่า เด็กมีกระบวนการเรียนรู้ยังไง

แล้วแต่ละคนก็มีวิธีการเรียนรู้ที่ต่างกัน เราต้องสังเกต

เราก็ทดลองสอนเยอะมาก ไอเดียไหนเวิรคไม่เวิรคก็มาตกตะกอนดู

ทำให้เราเห็นว่าห้องเรียนจะเป็นคนนั่งฟังกับคนนั่งพูดไม่ได้แล้ว


เราว่าสิ่งที่สำคัญคือ “ออกแบบวิธีการสอนให้ตรงกับเด็กที่เราสอน”

ในแง่แรกคือว่าเขาต้องการอะไร จะเอาไปใช้อะไรต่อ 

มันไม่ได้มีแค่เนื้อหา แต่มีทักษะจำเป็นอื่นๆ ที่เราควรแทรกไปในการสอนด้วย

เช่น ทักษะการนำเสนอ ทักษะการสื่อสาร ทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น ฯลฯ


อีกแง่คือเราต้องยอมรับว่า “เด็กแต่ละคนเรียนรู้ได้เร็ว-ช้าต่างกัน วิธีก็ต่าง”

มันไม่ได้เป็นการยอมรับที่ทำให้หมดหวังนะ 

แต่มันจะทำให้เราได้เปลี่ยนกลยุทธ์การสอนตามความหลากหลายของผู้เรียน

บางคนชอบเรียนแบบ concentrate บางกลุ่มชอบได้ขยับจับของจริง

พอเราหาวิธีที่เด็กจะโฟกัสได้ ครูก็ไม่ต้อง suffer กับการควบคุมห้องเรียน


เราเพิ่งมาเข้าใจคำว่าการจัดการเรียนรู้ที่ “เสมอภาค (Equity)” ก็ตอนนี้
ตอนแรกเราเข้าใจว่ามันคือการที่เด็กทุกคนได้ “เท่ากัน เท่าเทียม”
แต่จริงๆ แล้ว มันคือการที่ให้ทุกคนมี “โอกาสเข้าถึง” ความรู้ได้โดยไม่มีข้อจำกัด
แต่ละคนจะเรียนรู้ได้มากน้อยอันนั้นก็ว่ากันต่อว่าจะพัฒนายังไง



🌷เป็นครู ต้องมี “ความเป็นมนุษย์” และ “ความจริงใจกับการศึกษา”

สิ่งที่สำคัญที่สุดในการเป็นครู?


🙋‍♀️ ครูปุ้ม: เราคิดว่าสิ่งที่มีค่าและสำคัญมากในการเป็นครูคือ 

เราต้องมี “ความจริงใจกับการศึกษา” - จริงใจที่จะทำ

ทุกคนรู้ว่าระบบการศึกษานี้มีปัญหา ทุกคนรู้ว่าต้องแก้ด้วยอะไร

ถึงไม่ค่อยมีใครกล้าลงมาเป็นผู้เล่น แต่เราอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง 

อย่างมีเด็กคนนึงไม่ยอมทำงานกลุ่ม เราก็พยายามหาว่าทำไม

ปรากฏว่าเด็กคนนี้เวลาทำงานกลุ่ม เขาเป็นคนทำคนเดียวตลอดเลยจนเขารู้สึกเหนื่อย 

เราก็ถามเขาต่อว่า “แล้วเราเคยคุยกับเพื่อนในกลุ่มไหม” 

เด็กบอกว่า “ไม่เคยคุย เพราะคิดว่าทุกคนน่าจะรู้หน้าที่อยู่แล้ว” 

เราเลยเสนอว่าตกลงกับเพื่อนก่อนทำงานไหม ลองสื่อสารกันก่อน


🤍 “ความจริงใจสำหรับเราคือ การพยายามหาสาเหตุที่แท้จริงให้เจอว่าทำไม”

ถ้าเราตัดจบแค่ โอเคไม่อยากทำงานกลุ่มก็ทำงานเดี่ยวไป 

เราก็จะไม่มีทางรู้เบื้องหลังเลยว่าทำไมเด็กคนนี้ไม่อยากทำงานกลุ่ม


🤍 ครูต้องมี sense of human being เซ้นส์ของความเป็นมนุษย์ ช่างสังเกต

กรณีการสอนออนไลน์ สมมติเด็กคนหนึ่งที่ตอบตลอด วันหนึ่งเขาไม่ตอบ เข้ามาเช็คชื่อแล้วออก 

เราก็รู้แล้วว่ามีอะไรผิดปกติ วันนั้นเจอเรื่องอะไรที่บ้านมาหรือเปล่า 

หรือเวลาเด็กคนหนึ่งพูดไม่ดีใส่เรา แม้คนอื่นๆ จะบอกเราว่า เด็กก้าวร้าวแบบนี้ ไม่ต้องคุยดีกว่า

แต่เราจับ sense ได้อย่างหนึ่งว่า เด็กต้องมีความทุกข์ขนาดไหนถึงพูดแบบนี้

เราจะคุย ถาม รับฟังเสมอ เพราะบางทีนั่นแหละ คือสิ่งที่เด็กต้องการ

เด็กทุกคนไม่ได้มาเรียนแบบใจว่างๆ หัวโล่งๆ เขามากับเรื่องราวในตัว

ถ้าเราได้รู้เรื่องราวของชีวิตเด็กบางคนแทนที่เราจะรู้สึกว่า เด็กคนนี้ไม่ตั้งใจเรียน เรียนไม่ดีเลย

มองใหม่ว่า เธอเก่งมากเลยที่พาชีวิตมาเรียนกับครูได้ เราจะมองเขาด้วยสายตาที่เปลี่ยนไป

มือที่จะชี้ว่า ทำไมไม่ตั้งใจ ทำไมไม่ส่งงาน ทำไม่… มันจะหมดไป จะกลายเป็นมือที่จะยื่นไปให้เขา

แล้วถามว่า ครูช่วยอะไรเธอได้บ้าง เด็กบางคน แค่เขารู้สึกว่าครูเข้าใจ เป็นทีมเดียวกับเขา

พฤติกรรมเขาจะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นเอง 


เราเป็นครูที่เด็กมาคุยด้วยได้ตลอด เศร้าก็บอก ไม่อยากเรียนก็บอก

ทุกคนมี bad day ได้ พูดกันตรงๆ จะได้แก้ไขปัญหาด้วยกันได้

ถ้าเด็กบอกวันนี้สอนไม่สนุก ครูจะได้ปรับได้


แล้วสิ่งที่เราปฏิบัติกับเด็ก เด็กก็ทำกับเราเหมือนกัน
วันไหนเราสอนแล้วพลังงานเราน้อยๆ เด็กๆ ก็ทักมาถามเราว่าครูเป็นอะไรไหม
กับเพื่อนครูเองก็เหมือนกัน เราดูกันตลอดว่าใครงานล้นไปไหม มาช่วยกัน
เวลาใครให้คุณค่าเรา เราก็อยากให้คุณค่าเขาเหมือนกัน


🌷 “เราก็เป็นแค่ครูตัวเล็กๆ จะไปเปลี่ยนอะไรได้” (?)


โรงเรียน (และครอบครัว) เป็นหน่วยที่ “เล็กแต่สำคัญ” มากนะ

เราเชื่อว่า การศึกษา เปลี่ยนชีวิตคนๆ หนึ่งได้ เพราะการศึกษาเปลี่ยนชีวิตเรามาแล้ว

การศึกษาใช้เวลากว่าจะ “เจริญงอกงาม” บางอย่างเราอาจไม่ทันเห็นด้วยตาเราหรอก
แต่เราเชื่อว่ามันไม่มีอะไรที่เราทำแล้วมันศูนย์เปล่าเลย

มีเด็กคนหนึ่งหลับตลอดเลย แต่เราไม่เคยว่าเขาเลย

เขามาบอกเราว่ามีเหตุผลว่าพ่อแม่ไม่สบาย เขาเลยต้องดูแล นอนดึก

เขามาเล่าความฝันให้เราฟังว่าเขาอยากเรียนโภชนาการ 

เราก็ช่วยสนับสนุนเท่าที่เราช่วยได้ จนตอนนี้เขาได้เรียนหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาลแล้ว


อย่าคิดว่าเราเป็นแค่คนตัวเล็กๆ อะไรที่เราทำได้ทำให้สุดแรงไปเลย

สอนแบบกั๊กๆ กับสอนเต็มที่ หมดวันก็เหนื่อยเหมือนกัน

เราไม่อยากมีคำถามกับตัวเองว่า “ถ้าวันนั้นนะ เราตั้งใจออกแบบกิจกรรมดีๆ กว่านี้อีกนิด

อาจช่วยให้เด็กๆตั้งใจนะ ตอนนี้เขาอาจจะสอบเข้าคณะที่ดีกว่านี้ได้ มีเจตคติที่ดีมากกว่าก็ได้”

เราคิดว่าทุกวันเราออกแบบการสอน คุยกับเด็กเรารับฟังเต็มที่ 

มันเล็กแต่มันสำคัญ การหมดหวังมันไม่ช่วยอะไร 

เราอาจจะวางความคาดหวังลง แต่เราจะทิ้งความฝัน ความหวังไม่ได้


วันนี้เด็กอาจจะมาเรียนแบบไม่ฟังที่เราสอน เพราะเขามีเรื่องในใจอยู่

แต่ถ้าเราพูดกับเขาดีๆ เขารู้ว่าครูหวังดี เขายังเก็บไว้ในใจลึกๆ อยู่นะ

เด็กไม่เรียนรู้จากคนที่เขาเกลียด เราอยากเป็นคนที่รับฟัง เด็กๆ จะได้ไม่ปิดประตูใส่เรา 

เด็กอาจจะไม่ได้เปลี่ยนทันที แต่เขาจะค่อยๆ เปลี่ยน 

เมื่อเขาเห็นว่าครูเปิดประตูรอเขาเสมอ


ปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับเด็กเป็นประตูบานแรกที่จะทำให้เด็กอยากเรียนรู้ที่โรงเรียน

เราเชื่อว่า การเรียนรู้มันคือการสร้างพลัง 

ถ้าเด็กรู้ว่าเจอครูคนนี้แล้วเขาสบายใจ จะนำไปสู่การเรียนรู้ได้

เราไม่ได้ให้ความรู้เด็กอย่างเดียว บางวันเด็กก็ให้ความรู้เราด้วย

อย่าคิดว่าเราตัวเล็ก เปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้
บางทีการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ มันก็เริ่มมาจากคนไม่กี่คนที่เขายังมุ่งมั่น สม่ำเสมอ


จริงๆ แค่การที่ครูมาแชร์ไอเดียเล็กๆ น้อยๆ กัน 

ครูอาจจะคิดว่าห้องเรียนชั้นไม่ได้มีอะไรใหม่เลย

แต่จริงๆ ทุกคาบเรียนของแต่ละคนมีมนต์เสน่ห์ที่ต่างกัน

พอช่วยกันแก้ปัญหา แชร์กัน มันเสริมพลังกัน ต่อให้เราแชร์สิ่งเล็กๆ

เราไม่รู้หรอกว่าอาจจะมีคนเอาไปใช้ก็ได้ 

เด็กอีกสักคนอาจจะได้เจออะไรดีๆ ก็ได้ ต่อให้เป็นเด็กเพียงแค่หนึ่งคนก็คุ้มค่าแล้ว


ครูต้องมีเครือข่าย จับมือกันไว้ ต่อให้กลุ่มเล็กก็ตาม

แต่ถ้าเราสร้างเครือข่ายไปด้วยกันทีละจุด 

แล้ววันหนึ่งจุดเหล่านั้นพร้อมจะเชื่อมกัน การศึกษามันก็จะเปลี่ยนได้ 


เรามีเพื่อนครูที่ยังสู้อยู่ด้วยกัน แต่เราไม่ได้จะ romanticize ว่าครูต้องเสียสละ ต้องสู้ 
เราเชื่อโดยพื้นฐานว่าครูต้องดูแลตัวเองให้ดีก่อน เราถึงจะพาเด็กๆ ไปสู่ทางเลือกดีๆ ได้
เด็กไม่ต้องโตมาเป็นแบบเราหรอก 
แต่เราอยากทำให้แน่ใจว่าทุกๆ ทางเลือก การตัดสินใจของเขา
เด็กๆ จะมีทางเลือกที่ดีกว่าเดิมได้ ถ้าเขาได้เห็นทางเลือกเยอะๆ 


เวลามีองค์กรไหนก็ตามทำอะไรเรื่องครู เรากระโดดเข้าไปร่วมด้วยหมด

บางคนบอกว่าองค์กรนี้จะรู้เรื่องครูเหรอ แต่เราไม่เคยคิดแบบนั้นเลย

เรื่องการศึกษาเป็นเรื่องของคนทั้งประเทศ ใครที่เห็น ใครถนัดจุดไหนก็มาช่วยกัน

เราก็จะได้แลกเปลี่ยนมุมมองใหม่ๆ มาสู่ห้องเรียน

การมีพื้นที่ platform รวบรวม ทำให้เกิดการ collab กัน

อย่างตอนประกวดสื่ออนิเมชั่น เราทำอนิเมชั่นไม่เก่ง

แต่เรามีคอนเท้นเราก็ได้ collab กับครูที่ทำอนิเมชั่นเก่งๆ ได้


🔥 จะสุมไฟการสอนยังไง เมื่อเจอระบบแบบนี้? 🔥


ระบบมีผลแน่ๆ แต่ถ้าตัวครูเองมีความเข้มแข็ง เราทำอะไรแล้วมันลงไปที่เด็กจริงๆ

เราเชื่อว่ายังมีพื้นที่ให้เราสร้างสรรค์กิจกรรมอยู่นะ เราไม่ได้ถูกบังคับทั้งหมด

การที่ส่วนกลางต้องดูแลครูสามแสนกว่าคน เราเข้าใจว่าทำไมต้องมีระเบียบ

แต่ในการเป็นครู เรารู้ว่าจรรยาบรรณคืออะไร ไม่ละทิ้งการสอนเด็ก

เรามีโอกาสได้เล่นกับความคิดของเรา การสอน การผิดพลาดในบางครั้งทำให้เราได้เรียนรู้

เราจะทดลองการสังเคราะห์ด้วยแสง เราต้องจุดเทียนเพื่อให้เกิดเปลวไฟในขวดพลาสติก

เราก็อ่านมาแล้วว่าเป็นไปได้นะ แต่ปรากฏว่า เทียนมันหลอมเร็วไป เพราะมันอันเล็ก

เด็กเขาก็เห็นว่าเราตั้งใจ เขาก็ช่วยคิดวิธีใหม่ 

บางอย่างอ่านแค่ตำรา มันเหมือนง่าย แต่ตอนทำไม่ง่าย เราได้ลงมือทำ

สิ่งที่เราและเด็กเกิดแน่ๆคือการแก้ปัญหา แล้วมันกลายเป็นเราได้เรียนรู้ไปด้วยกัน


🤍 สำหรับคนที่สงสัยและลังเลว่าการเป็นครูจะลำบากไปไหม

ถ้าเราชอบการสอน ครูเชื่อว่ามันมีพื้นที่โอกาสให้ครูได้สร้างสรรค์

เพราะเด็กทุกคน ทุกคาบไม่เคยเหมือนกันเลย 

เรารู้ว่าเด็กชอบอะไร ตัวเราชอบอะไรก็หามาใส่ห้องเรียนได้

อยากจัดคอนเสริตในห้องเรียนก็ทำได้

อยากเป็นแม่ครัวในห้องเรียนเหรอ ก็ทำได้ 

อยากเป็นนักลงทุน เราก็ออกแบบกิจกรรมเป็นเมืองค้าขายได้

เหมือนเราไม่ได้เล่นคนเดียว เรามีเด็กๆ มาช่วยเล่น ช่วยคิด

ช่วยทดสอบสิ่งที่เราคิดหรือการออกแบบของเราด้วย


💕 อยากฝากอะไรถึงคนที่อยากเป็นครู?


ใครที่ชอบการสอน แล้วยังเชื่อมั่นในพลังการเปลี่ยนแปลงของเรา

ว่ามันมีผลกับคนอื่นๆ กับระบบได้จริงๆ  

ถ้ายังมีความหวังในการเปลี่ยนแปลง เราก็อยากชวนมาเป็นผู้เล่นด้วยกัน


เรามองว่ายิ่งเด็กยุคใหม่มี social media ทำให้เขามีความสามารถทวีคูณ

เพราะเขาได้เห็นตัวอย่างว่าอันไหนทำแล้วเวริคไม่เวิรค

รวมทั้งยังเข้าใจสังคมแบบไหนที่เด็กอิน เขาปรับตัวเข้ากับเด็กง่ายกว่ารุ่นเราอีก

เราว่าเขาเป็นฐานสำคัญในการ blend ความรู้ของเขากับเด็ก

ถ้าเราชอบก็มาลองดู ดีกว่าเราต้องคาใจไปตลอดชีวิต

ว่าจริงๆ แล้วเราเหมาะจะเป็นไหม


เราอยากลองเป็นครูแบบไหน ลองสร้างพื้นที่เลย 

ในยูทูปลองอัดคลิปได้ ลองเขียนเพจไหม

แม้สอนในห้อง อาจจะไม่ใช่เด็กทุกคนชอบสไตล์การสอนของเรา

แต่บางทีก็มีเด็กคนอื่นๆ นอกเหนือจากห้องเรียนเราที่เขาชอบวิธีของเราได้

เหมือนเราอัดคลิปลง YouTube ก็มีเด็กที่อื่นได้เข้ามาดู แล้วชอบ

เขาก็เขามาขอบคุณเราก็มี (ยิ้ม)


การที่เรามีพื้นที่ทดลอง ทำให้เรามีพื้นที่ที่เป็นตัวเองได้ด้วย

เราเชื่อว่าอาชีพครูทำได้หลากหลายและสนุกกับการสร้างสรรค์มาก

ถ้าใจมา เราจะหาทางเจอ ถ้าเรามองหา มันจะมองเห็นเอง :-)

.

.

บทสัมภาษณ์ครูปุ้ม กมลรัตน์ ฉิมพาลี

วันที่ 4 ตุลาคม 2564

ขอบคุณครูปุ้มที่มาแบ่งปันเรื่องราวและมุมมองกันนะคะ

.

คุณครูคนไหนมีเรื่องอยากเล่าหรืออย่างให้ insKru นำเสนอประเด็นไหนเพิ่ม

inbox มาได้ที่เพจ insKru - พื้นที่แบ่งปันไอเดียการสอน ได้เลยค่า

.

Interview by Kp.





รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(1)
เก็บไว้อ่าน
(3)