icon
giftClose
profile

"หรือสยามจะเป็นหมาป่าอีกตัว" การปฏิรูป ร.5 ผ่านภาพ

29422
ภาพประกอบไอเดีย "หรือสยามจะเป็นหมาป่าอีกตัว" การปฏิรูป ร.5 ผ่านภาพ

สอนวิเคราะห์สาเหตุการปฏิรูปรัชกาลที่ 5 ผ่านการถอดรื้อ (deconstruction) ความเข้าใจเดิม ประกอบสร้างความเข้าใจใหม่ (reconstruction) ผ่านหลักฐานประเภทภาพวาด

หลักการออกแบบ


ตามความเข้าใจทั่วไป การปฏิรูปสมัยรัชกาลที่ 5 เกิดขึ้นเพื่อเปลี่ยนแปลงสยามให้ทันสมัยเพื่อมิให้ชาติตะวันตกใช้เป็นข้ออ้างในการคุกคาม แต่ในรายละเอียด เหตุผล และประโยชน์ที่เกิดขึ้นอาจมิได้เกิดขึ้นแค่กับ "ชาติ" (ที่ยังไม่เกิด) แต่ยังมีบุคคล กลุ่มการเมืองที่หลากหลาย ไ้ดรับผลประโยชน์ดังกล่าว


อีกทั้งธรรมชาติของคำอธิบายทางประวัติศาสตร์ที่ไม่สามารถฟันธงได้อย่างแน่อนนว่าทำไม ร.5 ตัดสินใจปฏิรูปประเทศ เราทำได้เพียงคาดเดาอย่างมีเหตุผลผ่านหลักฐาน และแนวคิดที่มีในปัจจุบัน ดังนั้น การสอนประวัติศาสตร์จึงควรเสนอมุมมองที่หลากหลาย แม้มุมมองดังกล่าวอาจไม่สอดคล้อง หรือขัดแย้งกันเลยก็ตาม เป็นหน้าที่เราที่จะต้องสอนให้เขาสามารถจัดการกับความทรงจำที่หลากหลายได้


"เราไม่ได้เรียนประวัติศาสตร์เพื่อหาคำตอบที่จริงแท้ (เพราะมันไม่มี) หากแต่รับรู้ และวิพากษ์ความเป็นไปได้ที่หลากหลาย"


กิจกรรมการเรียนรู้ (โปรดเข้าใจว่าออกแบบสำหรับนักเรียน ม.6 ที่ผ่านการเรียนประวัติศาสตร์มาครบถ้วนแล้ว)


ความตั้งใจของการออกแบบ คือ อยากให้นักเรียนได้ถอดรื้อความเข้าใจเดิม และประกอบสร้างความเข้าใจขึ้นมาใหม่ ดังนั้นเราจึงเลือกหลักฐานเพียงชิ้นเดียวเป็นตัวเริ่มต้น และสิ้นสุดบทเรียน คือ ภาพ “The French Wolf and The Siamese Lamb” (1893) ข้อเสนอของภาพนี้สอดคล้องกับคำอธิบายว่าด้วยสาเหตุของการปฏิรูปที่เราเข้าใจกันดี นั่นตือ สยามไม่มีอำนาจที่จะสู้กับชาติตะวันตก ดุจลูกแกะ (ตัวน้อย) กับหมาป่าใจร้าย (ที่ยืนเหมือนคน แต่งกายเหมือนคน ถือปืนของคน) ในช่วงต้นคาบควรชวนนักเรียนตีความภาพ หรือทำอะไรก็ตามให้รับรู้ถึงคำอธิบายกระแสหลักนี้


กระบวนการที่เกิดขึ้นในขั้นสอนคือการรื้อฟื้นความเข้าใจเก่า เช่น

  • "เคยได้ยินอะไรมาบ้างเกี่ยวกับสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง" \
  • "เคยได้ยินอะไรมาบ้างเกี่ยวกับการเสียดินแดนของสยาม"

ซึ่งประสบการณ์ของนักเรียนในระบบการศึกษาไทยที่ผูกขาดคำอธิบายทางประวัติศาสตร์ย่อมไม่ต่างกันนัก นักเรียนที่สอนมักตอบคล้าย ๆ กันว่า

  • "สนธิสัญญาเบาว์ริ่งทำให้สยามเสียประโยชน์"
  • "สยามเสียดินแดนส่วนน้อยเพื่อรักษาเอกราชส่วนใหญ่"

แต่ในทางประวัติศาสตร์อาจมีความซับซ้อนมากกว่าที่เข้าใจ หน้าที่เราคือค่อย ๆ ถอดรื้อความเข้าใจดังกล่าว ผ่านคำถาม เช่น

  • "ถ้าเสียประโยชน์ทำไมขุนนางถึงมีส่วนผลักดันการลงนามในสนธสัญญานั้น"
  • "รู้ได้ไงว่าดินแดนที่เสียไปเป็นของเรา"

และค่อย ๆ เสนอมโนทัศน์สำคัญอื่น ๆ เช่น การเติบโตของการค้าเสรีช่วงต้นรัตนโกสินทร์กับอำนาจขุนนาง ลักษณะเฉพาะของความสัมพันธ์แบบรัฐโบราณและความแตกต่างจากรัฐสมัยใหม่แบบฝรั่ง


ในขั้นสรุปควรใช้เวลามากเป็นพิเศษ โดยนำภาพ “The French Wolf and The Siamese Lamb” (1893) กลับมาใช้อีกครั้ง และชวนนักเรียนตั้งคำถามกับภาพดังกล่าว ว่าหากจะวาดขึ้นใหม่ให้สอดคล้องกับคำอธิบายทางประวัติศาสตร์ชุดอื่น ๆ ภาพจะเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างไร "สยามจะยังเป็นลูกแกะหรือไม่ ใครคือลูกแกะ" "หรือหมาป่าไม่ได้มีตัวเดียว" ฯลฯ ใช้จินตนาการให้เต็มที่ แต่ต้องมีเหตุผลทางประวัติศาสตร์รองรับว่าเพราะเหตุใดจึงเสนอคำอธิบายเช่นนั้น


ผลที่เกิดขึ้น

คำตอบของนักเรียนในขั้นสรุปน่าสนใจมาก มีตั้งแต่มองสยามเป็นหมาป่าตัวเล็กอีกตัว (ล่าดินแดนเหมือนกันแต่ไม่เก่งเท่าฝรั่งที่เป็นหมาป่าตัวใหญ่แต่งกายทันสมัย) ลูกแกะไม่ใช่สยามแต่คือเจ้ากรุงเทพ (สยามไม่ได้เสียประโยชน์ทั้งหมด คนที่เสียประโยชน์น่าจะเป็นเจ้ากรุงเทพมากกว่า) ลูกแกะคือเจ้าหัวเมืองต่าง ๆ (ที่โดนทั้งหมาป่าสยามและหมาป่าฝรั่งไล่ล่า) หรือ "ไม่มีทั้งแกะ ทั้งหมาป่า" ซึ่งคำตอบนี้น่าสนใจพอสมควร เพราะนักเรียนมองว่าคนในประวัติศาสตร์ก็เหมือนคนมีความต้องการเช่นกัน ทั้งฝรั่ง ทั้งสยาม ข้อเสนอนี้ท้าทายกับคำอธิบายทางประวัติศาสตร์ประเภท "พระเอกผู้ร้าย" อย่างมาก


อย่างไรก็ตาม กิจกรรมนี้ก็ไม่ได้สำเร็จในทุกห้อง ควรสร้างบรรยากาศปลอดภัยทางใจให้นักเรียนสบายใจที่จะเห็นต่างก่อน ไม่งั้นอาจเฟล และต้องตีความเองทั้งหมด ซึ่งไม่ใช่เรื่องดีเท่าไหร่ในการสอนประวัติศาสตร์


คำแนะนำ

หากสอนในห้องเรียนช่วงท้ายคาบให้นักเรียนช่วยกันวาดภาพขึ้นมาใหม่เลยอาจจะเห็นภาพกว่า ไม่ต้องเน้นสวย แต่เน้นสาระสำคัญ และเหตุผลทางประวัติศาสตร์มารองรับว่าทำไมจึงวาดเช่นนั้น


อันนี้เป็นวิดีทัศน์ที่อัดขึ้นย้อนหลังในขั้นสอน (โปรดให้นักเรียนมีส่วนนำบทสนทนา หากสอนในห้องเรียนจริง)

youtube.com/watch?v=fSy2CDqxCEM

ไฟล์ที่เกี่ยวกับไอเดีย

ไฟล์ที่ 1 จากทั้งหมด 1

ชื่อไฟล์​: เอกสารประกอบการบรรยายครั้งที่ 1 เหตุแห่งการปฏิรูปสมัยรัชกาลที่ 5.pdf

ดาวน์โหลดแล้ว 55 ครั้ง


รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(5)
เก็บไว้อ่าน
(7)