icon
giftClose
profile

วรรณคดี X อะไรดี?: โครงงานวรรณกรรมในโรงเรียนนวัตกร

34264
ภาพประกอบไอเดีย วรรณคดี X อะไรดี?: โครงงานวรรณกรรมในโรงเรียนนวัตกร

การเรียนวิชาวรรณกรรมในรูปแบบของการบูรณาการศาสตร์ต่าง ๆ ตามที่นักเรียนสนใจ โดยสร้างสรรค์เป็น "Mini Project"

ผู้สอนเป็นครูอยู่ที่ "ดรุณสิกขาลัย โรงเรียนนวัตกรรมแห่งการเรียนรู้" ฝ่ายมัธยมศึกษา รับผิดชอบสอนวิชาภาษาไทย และครูวิชาโครงงานในคนคนเดียวกัน ทางโรงเรียนมุ่งสร้างและผลักดันให้เด็ก ๆ ได้มีโอกาสทำโครงงานจากความสนใจ และความถนัด โดยมีรูปแบบบ้านเรียน (Project House) ซึ่งเป็นกาารจำลองคณะในมหาวิทยาลัย โดยใช้แนวคิด (Career based learning) ผู้สอนพบว่าเด็ก ๆ กลุ่มที่สอนอยู่นี้มีความเป็นนวัตกร นักคิด นักวิทยาศาสตร์ ฯลฯ ซึ่งแน่นอนว่าการที่จะสอนให้เด็ก ๆ เข้าใจในศาสตร์ด้านวรรณคดีหรือวรรณกรรมนั้นเป็นสิ่งที่ทำได้ยากมาก ๆ


จักกล่าวกลับจับความไปตามเรื่อง : ที่มาที่ไป...


  • ที่ผ่านมาตลอดระยะเวลาหลายภาคเรียน ผู้สอนได้เก็บ Feedback จากการประเมินการสอนที่เด็ก ๆ เขียนมาใน "แบบสะท้อนผลการเรียนรู้" (Reflection Form) เกี่ยวกับการเรียนการสอนเรื่อง "วรรณคดีและวรรณกรรม" ซึ่งพบว่า "นักเรียนมองว่าวิชาวรรณคดีมีความไกลตัว และไม่จำเป็นจะต้องศึกษาให้ลึกซึ้งขนาดนั้น"

วิดีโอการบรรยาย : facebook.com/watch/live/?ref=watch_permalink&v=760897594724230


  • และเมื่อช่วงเดือนสิงหาคม 2563 ได้มีโอกาสฟังการบรรยายในโครงการ "อักษรศาสตร์สู่สังคม ของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" ในหัวข้อเรื่อง "เล่นแร่แปรธาตุ ศิลป์และศาสตร์แห่งวรรณคดีไทยในศตวรรษที่ 21" โดย ผศ. หัตกาญจน์ อารีศิลป ซึ่งมีความน่าสนใจมาก เพราะเปิดโอกาสให้นิสิตระดับมหาวิทยาลัยนำวรรณคดีที่ตนเองสนใจไปศึกษาและต่อยอด จนเป็นโครงการที่มีชื่อว่า "THAI ฤทธิ์"

ที่มา : minimore.com/b/bUbHP


  • ผู้สอนเองจึงเกิดแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ห้องเรียนเชิงปฏิบัติการ โดยได้นำเอารูปแบบของโครงการข้างต้นนี้มาประยุกต์ให้เข้ากับนักเรียนระดับมัธยมศึกษา จึงเกิดเป็นห้องเรียนเชิงปฏบัติการด้านวรรณคดีที่มีชื่อว่า "Mini Project Creative Thai" โดยให้นักเรียนได้ลองหยิบยกเอาวรรณคดี วรรณกรรม นิทานพื้นบ้าน ตำนาน เรื่องเล่าต่าง ๆ ที่ปรากฏมากมายในสังคมและวัฒนธรรมไทย มาคิดต่อยอด โดยการใช้คำถามตั้งต้นให้เด็ก ๆ นำไปคิดต่อ ว่า


  • แน่นอนว่าความหลากหลายและความสนใจของเด็กมีค่อนข้างแตกต่างกัน เช่น เกม แฟชั่นและการออกแบบ การออกแบบตัวละคร ประเด็นทางสังคม ศิลปะ ฯลฯ ทั้งนี้ผู้สอนได้มีกรอบแนวคิดอย่างกว้าง ๆ ในการทำกิจกรรมดังกล่าวนี้ คือ กระบวนการเรียนรู้แบบมืออาชีพ (Profressional Learing Process)

กระบวนการ
  • สำหรับกระบวนการทำโครงงานนั้น เริ่มต้นจากกระบวนการตั้งและตอบคำถามเบื้องต้นว่า "วรรณคดีทำให้เกิดอะไรได้บ้าง" เด็ก ๆ มีโอกาสมาแชร์ว่าเรื่องที่ตนเองสนใจ บูรณาการกับศาสตร์ใดได้บ้าง และจะเกิดเป็นอะไรขึ้นมา เมื่อได้ไอเดียคร่าว ๆ แล้วก็จะเข้าสู่กระบวนการในการนำเสนอหัวข้อโครงงาน ตัวอย่างหัวข้อโครงงานที่นักเรียนคิดขึ้นมา
  • เกม RPG วรรณคดีไทย
  • The Gifted X Literature
  • Super Mom แห่งวรรณคดีไทย
  • ปัญหาเชิงโครงสร้างในวรรณคดีไทย
  • แนวคิดเรื่องปิตาธิปไตยในรามเกียรติ์
  • การออกแบบ "เรือนงาม" ของโสนน้อย
  • การวิเคราะห์ตัวละคร "พระศรีศากยมุนี" จากเรื่องมหาศึกคนชนเทพ (Record of Ragnarok)



  • สำหรับการนำเสนอหัวข้อโครงงานนั้น นักเรียนจะต้องบอกว่าที่มาของโครงงานนี้ วัตถุประสงค์ ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ ขอบเขต แผนและวิธีการดำเนินงาน รวมไปถึงชิ้นงานที่จะเกิดขึ้น เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับการนำไปเขียนรายงานโครงงานในลำดับต่อไปด้วย



  • เมื่อเด็ก ๆ ผ่านกระบวนการนำเสนอหัวข้อแล้ว ก็จะเริ่มดำเนินโครงงาน โดยสิ่งแรกที่เด็ก ๆ ทำคือ "การค้นคว้าข้อมูลต่าง ๆ เพิ่มเติม" ในตอนแรกผู้สอนให้ค้นคว้าคร่าว ๆ ประกอบการนำเสนอหัวข้อ (Literature Review) เพื่อให้เห็นแนวทางและแนวคิดว่าเรื่องที่ศึกษา หรือสนใจนั้นจะต้องประกอบไปด้วยข้อมูลเรื่องอะไรบ้าง แน่นอนว่าเด็ก ๆ ในยุคนี้แหล่งของข้อมูลที่พวกเขาค้นคว้าหลัก ๆ มาจากเว็บไซต์ต่าง ๆ ผู้สอนจำเป็นต้องพยายามเน้นย้ำในการอ้างอิงแหล่งที่มาให้ชัดเจน การคัดเลือกเว็บไซต์สำหรับการหาข้อมูลต้องมีวิจารณญาณ และต้องเป็นเว็บไซต์ที่มีความน่าเชื่อถือให้ได้มากที่สุด


  • ขั้นตอนต่อมาคือกระบวนการดำเนินการศึกษาค้นคว้า ขั้นตอนนี้ผู้สอนทำหน้าที่เป็น ผู้อำนวยการเรียนรู้ (Facilitator) ให้กับเด็ก ๆ โดยให้เขาได้มีพื้นที่ในการเรียนรู้ สร้างสรรค์โครงงานอย่างเต็มที่ ผู้สอนคอยให้คำแนะนำต่าง ๆ ซึ่งบรรยากาศนี้จะเป็นภาพที่เด็ก ๆ นั่งทำงานของตนเอง ตามแผนการทำงานที่ตนเองได้วางไว้ตั้งแต่ตอนนำเสนอหัวข้อ และมีคุณครูคอยเดินพูดคุยเป็นระยะ


ภาพบรรยากาศในการเรียนการสอน


  • ขั้นตอนต่อมาคือติดตามความก้าวหน้าของโครงงานเด็ก ๆ วิธีการนี้ผู้สอนใช้การเดินเข้าไปซักถาม พุดคุย ว่า ระหว่างที่ดำเนินการศึกษาค้นคว้านั้น มีปัญหาหรืออุปสรรคอย่างไรบ้าง? (Problem) และมีวิธีการแก้ไขปัญหานั้นอย่างไร? (Solution) รวมไปถึงให้เด็ก ๆ ได้เล่าว่างานที่ทำนั้นความคืบหน้าไปมากน้อยเพียงใด และขั้นตอนต่อไปคืออะไร? (Next step)


  • เมื่อเด็ก ๆ ดำเนินการศึกษาเสร็จสิ้นแล้ว ขั้นตอนต่อมาคือกระบวนการนำเสนอผลจากการศึกษาค้นคว้าในรูปแบบปากเปล่า (Oral Presentation) และนำเสนอชิ้นงาน (Final Product) บอกเล่าถึงภาพรวมการศึกษาในครั้งนี้ว่าพบอะไรบ้าง มีปัญหาและอุปสรรคอะไร และข้อเสนอแนะเพิ่มเติมอื่น ๆ ทั้งนี้ผู้สอนได้เปิดโอกาสให้เพื่อร่วมชั้นให้คะแนน คำแนะนำ กับโครงงานของเพื่อน ๆ คนอื่นด้วย ในลักษณะของ Peer to peer learning ซึ่งฝึกให้เด็ก ๆ รู้จักตั้งคำถาม การแสดงความคิดเห็น นอกจากนี้ผู้ที่ถูกถามคำถามยังได้ฝึกไหวพริบ และการยอมรับคำวิจารณ์ เพื่อไปพัฒนาและปรับปรุงโครงงานในโอกาสต่อไปด้วย


ตัวอย่างแบบฟอร์มสำหรับให้นักเรียนประเมินโครงงานของเพื่อน ๆ



สะท้อนผลการเรียนรู้...สำคัญและจำเป็น

เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการการศึกษาทั้งหมดแล้ว สิ่งหนึ่งที่ทางโรงเรียนให้ความสำคัญมากคือ "การสะท้อนผลการเรียนรู้" หรือ Reflection ซึ่งในรายวิชาภาษาไทยเองก็ได้ให้เด็ก ๆ เขียนสะท้อนผลการเรียนรู้ว่าการทำกิจกรรมดังกล่าวชื่นชอบหรือไม่? มีข้อแนะนำอะไร? อยากให้ครูพัฒนาเพิ่มเติมส่วนไหน? โดยได้รับแรงบันดาลใจจากบทความนี้ inskru.com/idea/-M-ckpgQbgTvCjE0GS1i

บทสรุปกิจกรรม

หลังจากเสร็จสิ้นกิจกรรมผู้สอนได้รวบรวมข้อมูลการสะท้อนผลการเรียนรู้ของนักเรียน และจากการสังเกตพฤติกรรมการเรียนรู้ของนักเรียน สามารถสรุปผลและข้อเสนอแนะดังนี้

  • เด็ก ๆ สนุกและตื่นเต้นกับการได้เลือกวรรณกรรมที่สนใจด้วยตัวเอง และสามารถวางแผนการศึกษาได้ด้วยตนเอง
  • เด็ก ๆ ชื่นชอบวิธีการนี้เพราะได้ใช้เวลาและโอกาสสร้างองค์ความรู้จากการปฏิบัติของตนเอง
  • เด็ก ๆ มีโอกาสได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น นำเสนอมุมมองและไอเดียต่าง ๆ ได้อย่างเต็มที

ส่วนข้อเสนอแนะที่ผู้สอนพบจากการสังเกตพฤติกรรมการเรียนรู้

  • เด็ก ๆ มีความสนใจที่แตกต่างและหลากหลายมาก ผู้สอนต้องค้นคว้าข้อมูล ทำการบ้านมากขึ้น เพื่อที่จะคอยให้คำแนะนำที่ถูกต้องกับเด็ก ๆ
  • เด็กบางคนไม่มีไอเดียว่าจะดำเนินการศึกษาอย่างไร ผู้สอนต้องคอยกระตุ้น คอยถาม และพยายามให้เขานึกว่าสิ่งที่เขาชื่นชอบ สนใจ หรือกำลังทำอยู่ ณ ขณะนั้นคืออะไร และพาเขาเชื่อมโยงกับตัววรรณกรรม เช่น ถามคำถามว่า "แล้วถ้าวรรณคดีเรื่อง ........... ทำเป็นแบบนี้ล่ะ" นักเรียนคิดว่ามันจะเป็นอย่างไร อันนี้สำคัญมาก ๆ เพราะเด็กทุกคนไม่ได้สนใจ หรือไม่ได้มีความถนัดเกี่ยวกับวรรณคดีหรือวรรณกรรมเหมือนกันทั้งหมด


ท้ายที่สุดขอขอบพระคุณแรงบันดาลใจในการสร้างห้องเรียนเชิงปฏบัติการครั้งนี้จาก โครงการ "อักษรศาสตร์สู่สังคม ของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" ในหัวข้อเรื่อง "เล่นแร่แปรธาตุ ศิลป์และศาสตร์แห่งวรรณคดีไทยในศตวรรษที่ 21" โดย ผศ. หัตกาญจน์ อารีศิลป และขอบคุณไอเดียการทำ Reflection form จาก "ระบบประเมินใหม่ (ฉบับคุณครูคิดกันเอง)" โดย นะโมโต๋เต๋ inskru.com/idea/-M-ckpgQbgTvCjE0GS1i

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(9)
เก็บไว้อ่าน
(24)