icon
giftClose
profile

พื้นที่ปลอดภัยเริ่มจากอะไรนะ?

7143
ภาพประกอบไอเดีย พื้นที่ปลอดภัยเริ่มจากอะไรนะ?

ทุกคนย่อมต้องการพื้นที่ที่ปลอดภัยสำหรับตัวเอง แล้วเราจะสร้างพื้นที่ปลอดภัยขึ้นมาได้อย่างไร? (คำถามที่อยากได้คำตอบ ซึ่งเรายังตอบไม่ได้เช่นกัน)

#Kruอยากเล่า #ครูอยากเล่า

เราเป็นคนหนึ่งที่ในช่วงวัยเด็กมีทั้งพื้นที่ที่ปลอดภัย และไม่ปลอดภัย ซึ่งหลาย ๆ คนก็คงจะมีเหมือนกัน

จากการที่ได้เข้าร่วม workshop กับทาง inskru ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคุณครูหลาย ๆ ท่าน ทำให้เห็นว่าแต่ละคนก็มีทั้งพื้นที่ปลอดภัยและพื้นที่ไม่ปลอดภัยในช่วงวัยเด็กเช่นกัน ซึ่งก็แตกต่างกันไป ทำให้พอจะสรุปลักษณะของพื้นที่ปลอดภัย และพื้นที่ไม่ปลอดภัยได้ประมาณนี้คือ

  • พื้นที่ปลอดภัย คือ การที่เราได้อยู่ในที่ที่เราได้มีความสุข ได้เป็นตัวของตัวเอง สามารถไว้วางใจคนอื่นได้ สามารถแสดงความคิดเห็นได้ ไม่มีถูกไม่มีผิด มีการรับฟังเหตุผลซึ่งกันและกัน ไม่ถูกบีบบังคับ และเราได้รับความเชื่อมั่นจากคนอื่น ๆ ซึ่งทำให้เด็กคนหนึ่งสามารถที่จะมีความสุขในการเรียน สามารถอยู่ร่วมกับเพื่อน ๆ คนอื่นได้ มีความมั่นใจในตนเอง กล้าที่จะไว้ใจผู้อื่น มีทัศนคติที่ดีต่อการเรียน สามารถพัฒนาตนเองไปได้เรื่อย ๆ เพราะมีคนเชื่อมั่นในตัวเรา และเราก็เชื่อมั่นในตัวเอง กล้าคิด กล้าแสดงออก มีเหตุผล เข้าใจผู้อื่น
  • พื้นที่ที่ไม่ปลอดภัย ก็คือสิ่งที่ตรงกันข้ามกับพื้นที่ปลอดภัย นั่นก็คือที่ที่เรารู้สึกไม่สบายใจที่จะอยู่ ไม่สามารถเป็นตัวของตัวเอง ไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้ ถูกกลั่นแกล้ง ถูกบีบบังคับ ไม่ได้รับความเชื่อมั่นจากคนอื่น ๆ ทำให้เราก็สูญเสียความเชื่อมั่นในตนเองเช่นกัน ไม่สามารถไว้ใจใครได้ ไม่กล้าทำสิ่งต่าง ๆ มีทัศนคติที่ไม่ดีต่อการเรียน ไม่มีความสุข เสียโอกาสในการทำสิ่งต่าง ๆ หรืออาจส่งผลระยะยาวคือเป็นปมในใจติดค้างไปจนถึงวัยผู้ใหญ่

การที่มีพื้นที่ปลอดภัยหรือไม่ปลอดภัยมันส่งผลต่อการเรียนรู้และการใช้ชีวิตของคนคนหนึ่งจริง ๆ นะ เพราะมันได้แสดงออกเป็นรูปธรรมคือการใช้ชีวิตของเราในตอนนี้ ที่ยังคงมีปมในใจอยู่ และนึกถึงเรื่องราวที่เลวร้ายในอดีต หากเราได้อยู่ในพื้นที่ที่ปลอดภัยเราก็คงได้เรียนรู้อย่างปกติ ไม่ต้องคอยกังวลว่าชีวิตของเราในแต่ละวันจะต้องพบเจอกับอะไรที่ไม่ดี เราคงมีความกล้ามากกว่านี้ เชื่อมั่นในตัวเองมากกว่านี้ และคงไม่ปิดกั้นโอกาสของตัวเองหลายอย่างเหมือนที่ผ่านมา


ในช่วงวัยอนุบาลเรารู้สึกว่าเป็นช่วงที่ปลอดภัยที่สุดของเรา เท่าที่เราจำความได้ เราสนุกและมีความสุขมาก ๆ ที่ได้ไปโรงเรียน ไปเจอเพื่อน ๆ ไปเจอคุณครู เราได้เรียนรู้อย่างสนุกสนาน เราคิดว่านี่เป็นช่วงเวลาที่เราได้เป็นตัวเองที่สุดแล้ว และนี่แหละที่เราคิดว่าเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยของเรา

ส่วนในช่วงวัยมัธยม หลาย ๆ คนอาจจะมีความทรงจำที่ดี จริง ๆ แล้วเราก็มีแหละ แต่ความทรงจำที่ไม่ดีมันกดทับ ทำให้เราไม่อยากย้อนไปนึกถึงช่วงมัธยม และไม่อยากนับช่วงเวลานั้นเป็นความทรงจำของเราเลย เราโดนเพื่อนแกล้งโดยไม่ทราบสาเหตุ ตอนนั้นเรารู้สึกว่าไม่อยากไปโรงเรียนเลย ไม่อยากไปพบเจอเหตุการแย่ ๆ แบบนั้นทุกวัน เราไม่เข้าใจว่าทำไมเราถึงโดนแกล้ง ทั้ง ๆ ที่เราไม่ได้ทำอะไรผิดเลย หรือถ้าทำอะไรผิดพลาด ก็ควรบอกเรามาตรง ๆ ไม่ใช่การทำร้ายเราทั้งทางร่างกายกายและจิตใจ ซึ่งเรารู้สึกว่ามันเป็นปมในใจเรามาตั้งแต่ตอนนั้น จำได้ว่าช่วงนั้นเป็นช่วงที่ร้องไห้บ่อยเลย แต่ก็ถือว่าโชคยังดีอยู่ที่ต่อมาได้เปลี่ยนห้อง ทำให้ไม่ต้องเจอเหตุการณ์แย่ ๆ แบบนั้นทุกวันเหมือนช่วงแรก ตอนนั้นนึกว่าคงจะต้องลาออกและเรียนไม่จบแล้วซะอีก และนี่แหละที่เราคิดว่าเป็นพื้นที่ที่ไม่ปลอดภัยต่อร่างกายและจิตใจของเรามากที่สุด

ด้วยความที่เราเป็นเด็กไม่กล้าแสดงออก ไม่ค่อยพูด เราจึงต้องอดทนและเก็บความทุกข์ใจนั้นไว้ และบอกใครไม่ได้ เพราะเรากลัวว่าเราจะได้รับอันตรายมากกว่าเดิมหากเราพูดออกไป เราจึงไม่รู้เลยว่าการที่เจอพื้นที่ไม่ปลอดภัย ต้องทำยังไงเพื่อให้มันหลุดพ้นไปได้โดยที่ไม่ต้องอดทนกับสิ่งนั้น

พอเรามาเป็นครู เราเห็นนักเรียนโดนเพื่อนแกล้ง เราอยากช่วยมาก ๆ แต่เราก็ไม่รู้ว่าควรจะช่วยเขายังไง เรากลัวว่าการที่เราเข้าไปช่วยเขา อาจจะเป็นชนวนที่ทำให้เพื่อนแกล้งเขามากกว่าเดิม เราเคยพูดกับนักเรียนในห้องเรียนไปว่า "สิ่งไหนที่เราไม่ชอบ ก็ไม่ควรทำแบบนั้นกับคนอื่น" แต่มันก็ไม่เป็นผล เพราะเขาไม่ได้มีความรู้สึกเข้าใจหรือเห็นใจเพื่อนเลย เคยมีบางมุมแอบคิดว่าถ้าสร้างสถานการณ์ให้พวกเขาได้รับในสิ่งที่พวกเขาทำไม่ดีกับเพื่อนบ้าง มันจะทำให้พวกเขาเข้าใจ เห็นอกเห็นใจเพื่อนบ้างไหม จะลดพฤติกรรมที่ไม่ดีลงได้หรือเปล่า?


สิ่งที่เราคิดว่าเราสามารถที่จะทำให้ห้องเรียนค่อย ๆ เป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยได้ คือ

  • การสร้างห้องเรียน ให้มีบรรยากาศเชิงบวก แต่ละคนสามารถที่จะแสดงความคิดเห็นได้ มีการเคารพความคิดเห็นของผู้อื่น กล้าที่จะถามมากขึ้นเมื่อไม่เข้าใจ พยายามให้บรรยากาศในห้องเป็นกันเองมากที่สุด (แต่ก็ไม่แน่ใจว่าที่ทำอยู่ในตอนนี้มันดีหรือยัง?)
  • พูดจาสุภาพ ระมัดระวังคำพูด ไม่ใช้คำที่ทำร้ายจิตใจของใคร ๆ เพราะ คำพูดบางคำสามารถสร้างบาดแผลในใจได้ตลอดไป


สิ่งที่เราคิดว่าเราอยากทำ (แต่ยังไม่ได้ทำ และทำไม่ได้) คือ

  • ทำกล่องจดหมายน้อย เพื่อให้นักเรียนที่ไม่กล้าพูดหรือถามสิ่งต่าง ๆ ที่ค้างคาใจ ได้สามารถแสดงออกผ่านตัวหนังสือ ให้เราได้อ่าน และให้คำแนะนำกลับไปได้ หรืออย่างน้อย ๆ ก็เป็นการระบายสิ่งที่ค้างคาอยู่ในใจของพวกเขา
  • สร้างกิจกรรมบางอย่างที่สอดแทรกให้นักเรียนที่ชอบแกล้งคนอื่นรู้สึกได้ถึงการเห็นอกเห็นใจผู้อื่น การเข้าใจผู้อื่น รู้ว่าสิ่งที่ตัวเองทำเป็นสิ่งไม่ดี และจะไม่ทำอีก (แต่ตอนนี้ยังคิดกิจกรรมไม่ออก)
  • ถามไถ่ความรู้สึกของนักเรียนบ่อย ๆ ผ่านการเช็คอิน เพื่อให้เราได้เข้าใจนักเรียนมากขึ้น
  • จัดวงคุยเปิดใจ คนที่โดนกลั่นแกล้ง และคนที่กลั่นแกล้งคนอื่น เพื่อให้เขาได้พูดคุยกัน รับฟังกันและเข้าใจกันมากขึ้น และคนที่กลั่นแกล้งคนอื่นจะได้ไม่ต้องแกล้งเพื่อนอีก (ซึ่งอันนี้เราคิดว่ายากมาก ๆ)
  • เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ลองทำกิจกรรมหลาย ๆ อย่างเพื่อหาความถนัดของตัวเอง


เราหวังว่าสักวันหนึ่งเราจะสามารถสร้างพื้นที่ที่ปลอดภัยให้กับตัวเองและนักเรียนหลาย ๆ คนได้

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(0)
เก็บไว้อ่าน
(0)