พื้นที่ปลอดภัยในการเรียนรู้ คือ พื้นที่นักเรียนรู้สึกปลอดภัยทั้งทางร่างกาย จิตใจ และการแสดงออกทางความคิด เป็นพื้นที่ที่ทุกคน ครู : นักเรียน นักเรียน: นักเรียน ต่างเห็นคุณค่าของกันและกัน เคารพในความต่าง ปราศจากการตัดสิน เปิดกว้างและได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน ไม่มีการจัดอันดับหรือแบ่งแยกให้รู้สึกด้อยค่า พื้นที่ที่สามารถเรียนรู้ได้จากความผิดพลาดและมีโอกาสให้เสมอ บนพื้นฐานความเชื่อว่า “คนทุกคนสามารถพัฒนาและเปลี่ยนแปลงได้”
พื้นที่ปลอดภัยส่งผลต่อการเรียนรู้และสังคมอย่างไร
การเรียนรู้ในบรรยากาศที่นักเรียนรู้สึกวางใจ ปลอดภัยและมีความสุขในการเรียน ทำให้นักเรียนกล้าที่จะถาม แสดงความเห็น และให้ความร่วมมือในการจัดกระบวนการเรียนรู้มากขึ้น มีคำกล่าวที่ว่า “คบคนเช่นไรย่อมเป็นเช่นนั้น” หากนำมาเปลี่ยนใหม่เป็น “อยู่ในสังคมเช่นใด ย่อมเป็นเช่นคนในสังคมนั้น” กล่าวคือ เมื่อนักเรียนเติบโตและเรียนรู้อย่างมีความสุขในบรรยากาศที่ปลอดภัยทั้งทางกาย ใจและการคิด ก็มีแนวโน้มว่านักเรียนจะมีคุณลักษณะเช่นนี้ติดตัวไป และนำไปปฏิบัติกับผู้อื่นในสังคมภายหน้า ผลที่ตามมาผู้คนในอนาคตอาจตัดสินกันน้อยลงและเห็นใจกันมากขึ้นก็เป็นได้
I wish … ฉันจะทำให้ห้องเรียนเปลี่ยนแปลงเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยทางการเรียนรู้ โดยเริ่มจาก...
(1) ทำให้นักเรียนทุกคนรู้สึกมีคุณค่าและมีตัวตนในชั้นเรียน เอาใจใส่อย่างทั่วถึง เมื่อเขารับรู้ความใส่ใจและสนใจจากคุณครู พื้นที่ปลอดภัยในใจของนักเรียนก็จะเริ่มเกิดขึ้น
อย่าโฟกัสเพียงแค่คนที่ให้ความร่วมมือ เพิ่มโอกาสให้เด็กหลังห้องได้ตอบ/ แสดงความเห็นในแบบที่เขาถนัด แต่ละคนมีบุคลิกที่แตกต่างกัน พึงระลึกเสมอไม่ใช่ทุกคนที่กล้าแสดงออก (การยกมือขึ้นตอบต่อหน้าเพื่อนๆ อาจเป็นช่วงเวลาที่นักเรียนรู้สึกไม่สบายใจก็ได้) ครูอาจเพิ่มช่องทางการสื่อสารให้หลากหลาย เพื่อเพิ่มขนาดพื้นที่ให้นักเรียนได้มีส่วนร่วม เช่น พิมพ์คำตอบในช่องแชท ส่งสติ๊กเกอร์ หรือให้กดปุ่มยกมือ เป็นต้น
(2) ชื่นชมในทุกความพยายาม เห็นคุณค่าแม้จะเป็น 1 เต็ม 10 ก็ตาม
(3) ฝึกฝนให้นักเรียนมีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ ไม่ตัดสินผู้อื่น ปฏิบัติกับผู้อื่นอย่างเท่าเทียมกัน เพื่อการร่วมกันสรรค์สร้างพื้นที่ที่ปลอดภัยร่วมกันของครูและนักเรียน
โดยผ่านกิจกรรม If I were … หากเราเป็นเขา... (มองเขาผ่านมุมมองเขา) โดยใช้ข่าวหรือเรื่องที่ได้รับความสนใจในปัจจุบัน โดยใช้ชุดคำถาม เช่น
· นักเรียนรู้สึกอย่างไรกับข่าว
· นักเรียนคิดว่าเขารู้สึกอย่างไร
· ถ้านักเรียนเป็นเขาจะทำเหมือนกันหรือไม่
· นักเรียนคิดว่าอะไรจูงใจให้เขาทำเช่นนั้น
(4) รับฟังเสียงของเขาให้มากขึ้น
ทั้งนี้ทั้งนั้น ห้องเรียนที่ปลอดภัยต่อการเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อครูเชื่อมั่นว่า “ทุกคนสามารถพัฒนาและเปลี่ยนแปลงได้” และความปลอดภัยในใจจะเกิดขึ้นได้เมื่อครูทำให้เขารู้สึกวางใจและ “มองเห็นเขา”
เป็นกำลังใจให้มนุษย์ครูทุกคนนะคะ
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย
ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!