icon
giftClose
profile

Critical Thinking ระหว่างฉันและเธอ

6721
ภาพประกอบไอเดีย Critical Thinking ระหว่างฉันและเธอ

ผลลัพธ์จากการเข้าร่วม Online Workshop 3 หัวใจสำคัญ เปิดประตู่สู่ห้องเรียนที่ดีต่อใจ ในประตูหัวใจ Critical Thinking ห้องเรียนเชิงวิพากษ์

ก๊อก ก๊อก ก๊อก


ยินดีต้อนรับเข้าสู่ห้องเรียนเชิงวิพากษ์ Critical Thinking


ฉันได้อะไรเมื่อเข้าไปเรียนรู้ในห้อง Critical Thinking..

ลักษณะพิเศษของห้องเรียนนี้ คือ

มีกิจกรรมแลกเปลี่ยนความคิดและมุมมองในประเด็นต่าง ๆ การแบ่งปันประสบการณ์ เพื่อเรียนรู้กันและกัน

พวกเราได้ "คิด-พูด-ฟัง-คิดอีกครั้ง" ร่วมกันเสมอ

ทุกคนได้รับสิทธิ์และเสรีภาพทางการคิดอย่างเต็มที่

การแสดงความคิดเห็นอย่างไม่มีขอบจำกัด (แม้จะจำกัดตัวเองบ้างในบางประเด็น)

และแน่นอนว่าไม่มีใครถูกตัดสิน (ดี-ร้าย) จากการแสดงตัวตนออกมาสักครั้ง

แถมมีรอยยิ้มกับเสียงหัวเราะกระจายไปทั่ว


ในขณะนี้ที่กำลังสะท้อนกิจกรรม... และก่อนหน้านี้ขณะร่วมกิจกรรม

ห้องเรียนนี้ทำให้ฉันกลับมาทบทวนตัวเองอีกครั้ง

...นานแค่ไหนแล้วที่ไม่ได้แสดงความคิดเห็นของตนเองอย่างไร้ซึ่งความกลัวใด ๆ

และนานแค่ไหนแล้วที่ไม่ได้ตั้งใจฟังและทำความเข้าใจกับคนอื่นมากขนาดนี้...

แต่...ห้องเรียนนี้ได้กระตุ้นการคิด การสื่อสารภายใต้เหตุผล / ตัวตน / ประสบการณ์ของฉันให้หลับมาอีกครั้ง

ความกลัวการพูดคุยได้เปลี่ยนรูปแบบเป็นความกล้าและอยากมีส่วนร่วม


ระยะเวลาที่มีคุณค่าในห้องเรียนนี้

กิจกรรมต่าง ๆ ได้ช่วยเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิด เปิดโอกาสสะท้อนความคิดร่วมกัน

สิ่งนี้ทำให้ฉันค้นพบประเด็นแปลกใหม่และได้เรียนรู้มุมมอง / ความคิด / ความเชื่อ / ประสบการณ์ของผู้อื่นอย่างเข้าใจ

ภายใต้กิจกรรมที่สนุกสนานอย่างกิจกรรม "Spectrum ความหลากหลายทางความคิด" และ "ทายประเด็น"


ผลลัพธ์การเรียนรู้ในวันนี้

ฉันมั่นใจว่าจะไม่ทำให้สิ่งที่มีค่าสิ้นสุดภายในวันนี้

I wish... เพราะฉันจะทำให้ห้องเรียนของนักเรียน เปลี่ยนแปลงไปเป็น Critical Classroom

โดยการนำรูปแบบกิจกรรมที่ได้ทำไปปรับใช้กับห้องเรียนอย่างแน่นอน

นักเรียนจะต้องได้คิด / พูด / แลกเปลี่ยน / เรียนรู้ / ยอมรับ / คิดย้อนกลับ / เชื่อมโยง อย่างแน่นอน

เพราะทักษะการคิดอย่าง Critical Thinking..

จะช่วยพัฒนาทักษะชีวิตและการเรียนรู้ของนักเรียนให้มีคุณภาพที่ดีที่สุดได้อย่างแน่นอน


ไอเดียตั้งต้นที่เราอยากจะลองไปทำ.... คือ ให้นักเรียนได้คิดอย่างอิสระ กล้าที่จะแสดงความคิดเห็น และปลูกฝังจิตสำนึกในการยอมรับผู้อื่นอย่างเข้าใจ


หากลองคิดเล่น ๆ เป็นกิจกรรมดังนี้


ขั้นที่ 1 เตรียมพร้อมนักเรียน โดยการเล่นเกมกระตุ้นความคิด เช่น tic tac toe / จับผิดภาพ

ขั้นที่ 2 สุ่มแบ่งกลุ่มนักเรียนกลุ่มละ 3-5 คน และให้นักเรียนนั่งตามกลุ่มเป็นวงกลม

ขั้นที่ 3 ครูกำหนดกิจกรรมให้นักเรียนร่วมกันทำเป็นกลุ่ม

กิจกรรมที่ 1 "ลองเดาสิว่าฉันพูดถึงอะไร"

รายละเอียด : แต่ละกลุ่มจะได้รับคำที่ครูกำหนดกลุ่มละ 1 คำ และให้สมาชิกในกลุ่มร่วมกันคิดคำอธิบาย

โดยห้ามเอ่ยถึงคำนั้นและตัวแทนสมาชิก 1 คนอ่านให้เพื่อนฟัง ไม่เกิน 1 นาที

กิจกรรมที่ 2 "เธอคิดว่าไงเหรอ"

รายละเอียด : ครูกำหนดประเด็น (ระดับความยาก-ง่ายคละ) หรือคำถามชี้นำ

เพื่อให้นักเรียนแต่ละกลุ่มส่งตัวแทนแสดงความคิดเห็นหรือตอบคำถามพร้อมระบุเหตุผลให้ชัดเจน

กิจกรรมที่ 3 "เราจะทำยังไงกันดี"

รายละเอียด : ครูกำหนดสถานการณ์หรือนำปรากฏการณ์ที่มีปัญหา / ข้อขัดแย้ง / ไม่สมบูรณ์ มาให้นักเรียนแต่ละกลุ่มร่วมกันแลกเปลี่ยนดังนี้

1) ร่วมกันค้นหาและรวบรวมข้อมูล

2) วางแผนหาทางแก้ไขหรือการกระทำเพื่อผลที่ดีกว่า

3) แลกเปลี่ยนความคิดเห็น

4) ประเมินข้อดีและข้อเสีย

5) สมาชิกภายในกลุ่มตัดสินใจเลือกหนทางที่คิดว่าดีที่สุด 1 หนทาง

ขั้นที่ 4 นักเรียนแต่ละคนสะท้อนสิ่งที่ได้เรียนรู้และครูสะท้อนพฤติกรรมของผู้เรียนเพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองซึ่งกันและกัน

**ทุกกิจกรรมจะต้องมีหลักฐานความคิดของผู้เรียน เช่น ให้ผู้เรียนจดบันทึกคำตอบของกลุ่มไว้ หรือครูบันทึกสิ่งที่ผู้เรียนตอบด้วยตนเอง


กิจกรรมทั้ง 4 ขั้นตอนนี้ก็เป็นไอเดียที่เกิดขึ้นจากความต้องการให้ผู้เรียนได้แสดงบทบาท เรียนรู้และพัฒนาตนเองในรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น

โดยมีครูเป็นผู้ดูแล ชี้นำ อำนวยการเรียนรู้ และผู้ที่มีบทบาทสำคัญที่สุดจะต้องเป็นผู้เรียนเสมอในทุก ๆ กิจกรรม


ทั้งนี้ขอขอบคุณ Inskru

และผู้มีส่วนร่วมทางความคิดกลุ่ม 3

โบว์ เจษ ลัค และฟีล์ม

แท็กที่เกี่ยวข้อง

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(1)
เก็บไว้อ่าน
(1)