icon
giftClose
profile

ความสำคัญของบอร์ดเกมต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้

155641
ภาพประกอบไอเดีย ความสำคัญของบอร์ดเกมต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้

บอร์ดเกมกลายมาเป็นอีกนวัตกรรมที่สำคัญที่สามารถพัฒนาพฤติกรรมการเรียนรู้ของผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ความสำคัญของบอร์ดเกมต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้

ท่ามกลางพลวัตของการเรียนรู้ในปัจจุบัน มีการใช้บอร์ดเกม หรือ เกมกระดาน เพื่อการเรียนรู้มากขึ้น โดยมีทั้งการปรับใช้แนวเกมแบบ Party Games, Family Games หรือ เเม้กระทั่ง Strategy Games มาประยุกต์ใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้อย่างหลากหลาย เริ่มก้าวข้ามระบบเกมแบบเดิม ได้แก่ ระบบเกมเศรษฐี เกมบิงโก เเละเกมบันไดงู เริ่มมีการออกแบบที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งนี้ด้วยกระเเสนิยมของการใช้บอร์ดเกมในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เพิ่มขึ้นตามยุคสมัย บอร์ดเกมจึงกลายมาเป็นอีกนวัตกรรมที่สำคัญที่สามารถพัฒนาพฤติกรรมการเรียนรู้ของผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

การใช้บอร์ดเกมในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ส่งผลทำให้ช่วยในการให้ฝึกสมอง เล่นเกมกระดานทำให้มีความคิดสร้างสรรค์เพิ่มขึ้น ช่วยให้คิดและตัดสินใจแก้ไขปัญหาได้ดีขึ้น เกมกระดานช่วยให้มีสมาธิในการเรียนมากขึ้น (วราภรณ์ ลิ้มเปรมวัฒนาและกันตภณ ธรรมวัฒนา, 2560: 120) โดยเกมเป็นอุปกรณ์เครื่องช่วยสอนที่ช่วยให้นักเรียนได้พัฒนาสติปัญญาด้านการคิด การสังเกต การคิดหาเหตุผล เนื่องจากเกมแต่ละชุด จะมีวิธีการเล่น โดยเฉพาะอาจเล่นคนเดียว หรือเป็นกลุ่ม (ลักคะณา เสโนฤทธิ์, 2551: 29) การใช้เกมการศึกษาเป็นกระบวนการเรียนรู้แบบเน้นให้ผู้เรียนต้องปฏิบัติอย่างจริงจัง หรือลงมือทำ และด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศในยุคศตวรรษที่ 21 เป็นการเรียนรู้ที่แท้จริงเกิดขึ้นเมื่อผู้เรียนมีส่วนร่วมในการปฏิบัติการเรียนรู้นั้นอย่างจริงจัง (Actively Involved) แม้แต่การเรียนรู้จากการฟัง ผู้เรียนก็ต้องได้ปฏิบัติการฟังจริง ๆ อย่างตั้งใจ จึงจะเกิดการเรียนรู้ได้ ที่สำคัญที่สุดในงานที่ใช้การคิดขั้นสูงในระดับวิเคราะห์ สังเคราะห์ และประเมิน เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้สามารถแสวงหาความรู้และประยุกต์ใช้ทักษะต่าง ๆ สร้างความเข้าใจด้วยตนเอง จนเกิดเป็นการเรียนรู้อย่างมีความหมาย (เอกสิทธิ์ ชนินทรภูมิ, 2559: 56) นอกจากนี้เกมการศึกษาเป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการฝึกทักษะ และช่วยให้เกิดความคิดรวบยอดเกี่ยวกับสิ่งที่เรียน การเล่นเกมการศึกษาจึงเป็นวิธีการอย่างหนึ่งที่ส่งเสริมให้เด็กเกิดการเรียนรู้ รวมทั้งช่วยส่งเสริมกระบวนการในการทำงาน และการอยู่ร่วมกันในสังคม (เยาวภา เดชคุปต์, 2528: 11) โดยการวิจัยด้านการใช้เกมการศึกษาของเอกสิทธิ์ ชนินทรภูมิ พบว่า นักเรียนที่ได้รับการจัดการเรียนการสอนโดยใช้เกมมีผลการเปลี่ยนแปลงของการเรียนรู้ต่อนักเรียน ได้แก่ ความรู้ความสามารถ เจตคติ และแนวโน้มพฤติกรรม (เอกสิทธิ์ ชนินทรภูมิ, 2559: 125) การวิจัยของกฤตนัย ชุมวุฒิศักดิ์และลัดดา ศิลาน้อย พบว่า รูปแบบการสอนด้วยเกมสามารถพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในระดับที่สูงขึ้น โดยนักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเฉลี่ยร้อยละ 70 ของคะแนนเต็ม ทั้งนี้เป็นเพราะกิจกรรมการเรียนการสอนรูปแบบการสอนด้วยเกม มีความน่าสนใจนเรื่องการสอนจากเกม นักเรียนได้เล่นเกมและเรียนรู้จากเกม (กฤตนัย ชุมวุฒิศักดิ์และลัดดา ศิลาน้อย, 2558 :183) และการวิจัยของลดาวัลย์ แย้มครวญพบว่า กลุ่มที่ได้รับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบใช้เกมการศึกษามีความรู้ ทักษะ กระบวนการ เจตคติ และผลสัมฤทธิ์สูงกว่ากลุ่มที่เรียนปกติ (ลดาวัลย์ แย้มครวญ, 2559, 112)

สรุป คือ การใช้บอร์ดเกมเพื่อการศึกษา มีส่วนช่วยให้เกิดพฤติกรรมการเรียนรู้โดยสรุป ดังนี้

  • ด้านพุทธพิสัย (Cognitive Domain) บอร์ดเกมสามารถพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน พัฒนาการทางการคิด การคิดหาเหตุผล ช่วยให้เกิดการคิดสร้างสรรค์ คิดวิเคราะห์ คิดสังเคราะห์ เเละคิดประเมินค่า(คิดตัดสินใจ)ได้
  • ด้านทักษะพิสัย (Psychomotor Domain) บอร์ดเกมสามารถพัฒนาทักษะการสังเกตุ การฟัง ส่งเสริมทักษะการทำงาน เเละการอยู่ร่วมกันในสังคมได้เป็นอย่างดี
  • ด้านจิตตพิสัย (Afflictive Domain) มีสมาธิในการเรียนรู้ การจดจ่อ ความตั้งใจในการเรียน เเรงจูงใจในการเรียนรู้ ฝึกคุณลักษณะของการอยู่ร่วมกันในสังคมได้ 

ทั้งนี้ยังช่วยให้เกิดความคิดเป็นรูปธรรม ช่วยเพิ่มบรรยากาศให้มีความสนุกสนานขึ้น หรือพัฒนาความสามารถในการแก้ไขปัญหา เป็นต้น ดังนั้นเกมจึงมีความสำคัญในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ท้าทายสำหรับยุคปัจจุบัน

 

เอกสารอ้างอิง

เยาวภา เดชะคุปต์. (2528). กิจกรรมสำหรับเด็กก่อนวัยเรียน. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์.

เอกสิทธิ์ ชนินทรภูมิ. (2559). การศึกษาแนวทางการจัดการเรียนรู้ตามแนวการสร้างความรู้ใหม่โดยใช้เกมการศึกษา. วารสารศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, 58.

กฤตนัย ชุมวุฒิศักดิ์ และ ลัดดา ศิลาน้อย. (2558). การพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์และเจตคติต่อความเป็นพลเมืองตามวิถีประชาธิปไตยหน่วยการเรียนรู้ เรื่อง พลเมืองดีตามวิถีประชาธิปไตย รายวิชา ส15101 สังคมศึกษา 5 ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โดยใช้รูปแบบการสอนด้วยเกม (GAME-BASED-LEARNING). วารสารศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 283.

วราภรณ์ ลิ้มเปรมวัฒนา และกันตภณ ธรรมวัฒนา. (2560). พฤติกรรมในการเล่นเกมกระดานและองค์ประกอบของปัจจัยทางด้านผลกระทบจากการเล่นเกมของวัยรุ่น ในเขตกรุงเทพมหานคร. วารสารวิจัยสังคม, 114.

ลดาวัลย์ แย้มครวญ. (2559). การออกแบบและพัฒนาเกมเพื่อการเรียนรู้สาหรับวิชาคณิตศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6. นครราชสีมา: มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี.

ลักคะณา เสโนฤทธิ์. (2551). ผลการจัดกิจกรรมเกมการศึกษาที่มีต่อพฤติกรรมทางสังคมของเด็กปฐมวัย. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์ทรวิโรต.

 

ข้อมูลสำหรับอ้างอิงบทความออนไลน์

ธีระวุฒิ ศรีมังคละ (2564). เอกสารประกอบการอบรม หัวข้อ การออกแบบเเละพัฒนาบอร์ดเกมเพื่อการศึกษาสำหรับครู. หน้า 1-2

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(11)
เก็บไว้อ่าน
(6)